ช่วงนี้คงได้อ่านรายงานผลทดลองขับ รถยนต์ฮอนด้ากันจนตาแฉะ เพราะกว่า 5 เดือนที่ผ่านมา ฮอนด้ามีการแนะนำรถใหม่สู่ตลาดถึง 9 รุ่น (เป็นรถนำเข้าจากต่างประเทศ 4 รุ่น) และเร็วๆ นี้จะมีรุ่นที่ 10 ตามออกมาอีก แต่ที่เปิดตัวเป็นทางการล่าสุด “ฮอนด้า ซีอาร์-วี” (Honda CR-V)โฉมใหม่ ซึ่งผ่านไปสักครึ่งเดือน ฮอนด้า โอโตโมบิล ประเทศไทย ได้จัดให้สื่อมวลชนได้ขับแบบกรุ๊ปเทสต์ทันที...
ฮอนด้า ซีอาร์-วี โฉมใหม่นี้ เป็นเจนเนอเรชั่นที่ 4 แล้ว ซึ่งได้มีการพัฒนาให้ตอบสนองการขับขี่สะดวกสบายและใส่นวัตกรรมใหม่ๆ ยิ่งขึ้น ด้วยความยาวและความสูงลดลงเล็กน้อย แต่มีช่วงฐานล้อเท่าเดิม โดยยังคงไว้เอกลักษณ์ของรถสปอร์ตอเนกประสงค์ (SUV : Sport Utility Vehicle) แม้เส้นสายบางอย่างจะรักษาตัวตนไว้ ถึงอย่างนั้นยังมองเห็นความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกรอบไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์ เฉียงยาวลงมารับกับกระจังหน้าแบบ 3 ชั้น พร้อมคิ้วโครเมียม ที่กินลงมาถึงกันชนหน้า ดูแล้วผสมผสานเส้นสายลงตัวและดุดันดี
กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยวดีไซน์ใหม่ ชุดไฟท้ายและไฟเบรกแบบมิลติรีเฟล็กเตอร์ ยังมาในแนวตั้งขนานไปกับแนวเสาหลังคา แต่ได้มีการออกแบบใหม่ให้เรียวเล็กลง แต่กันชนท้ายทรงใหม่ขนาดใหญ่ ทำให้ดูแข็งแกร่งในแบบของเอสยูวี โดยล้อแม็กติดมากับรุ่น 2.0 มีขนาด 17x6.5J พร้อมยาง 225/65 R17 ซึ่งลายของแม็กในรุ่น 2.0S และ 2.0E(4WD) จะแตกต่างกัน ขณะที่รุ่น 2.4 2WD และ 4WD แม็กเหมือนกันกับขนาด 18x7J ยาง 225/60 R18
ซีอาร์-วี ใหม่ ทำตลาดทั้งหมด 4 รุ่นย่อย เป็นเครื่องยนต์ 4 สูบ 16 วาล์ว แบบ SOHC i-VTEC ขนาด 2.0 ลิตร 155 แรงม้า ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 190 นิวตัน-เมตร ที่ 4,300 รอบ/นาที โดยมีให้เลือก 2 รุ่น 2.0S ขับเคลื่อน 2 ล้อ ราคา 1.164 ล้านบาท และ 2.0E แบบขับเคลื่อน 4 ล้ออัตโนมัติ (4WD) ราคา 1.274 ล้านบาท และรุ่นเครื่องยนต์ 4 สูบ 16 วาล์ว DOHC i-VTEC ขนาด 2.4 ลิตร 170 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 220 นิวตัน-เมตร ที่ 4,300 รอบ/นาที โดยมีให้เลือกทั้งแบบขับเคลื่อน 2 ล้อ (2.4EL 2WD) ราคา 1.444 ล้านบาท และ 4 ล้ออัตโนมัติ (2.4 EL 4WD) ราคา 1.524 ล้านบาท ซึ่งทุกรุ่นส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ
โดยรถที่ใช้ในการทดลองขับของ “ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง” เป็นรุ่น 2.0S 2WD หรือรุ่นล่างสุด ฉะนั้นอุปกรณ์ต่างๆ จึงมีมาให้เฉพาะจำเป็นเท่านั้น อย่างคอนโซลกลางที่มีจอข้อมูลการขับขี่และความบันเทิง i-MID ระบบ ECON Mode และระบบช่วยขับขี่ประหยัดน้ำมัน Eco Assist ที่ดูจะกลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของรถฮอนด้าโมเดลใหม่ๆ แล้ว และยังมีเครื่องเสียงวิทยุ-ซีดีแบบ 1 แผ่น สวิตซ์ควบคุมระบบ i-MID และเครื่องเสียงบนพวงมาลัย ช่องเชื่อมต่อ USB และจำนวนลำโพง 4 ตัว ขณะที่รุ่น 2.0E 4WD เพิ่มไฟตัดหมอกคู่หน้า ระบบปรับอากาศแยกซ้าย-ขวา เบาะนั่งคนขับปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง ระบบเชื่อมต่อ Bluetooth
ส่วนรุ่น 2.4 นอกจากอุปกรณ์ที่มีในรุ่น 2.0 ยังจัดเต็มมาให้ครบ ไม่ว่าจะเป็นไฟหน้าแบบ HID ระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์อัตโนมัติ ระบบการเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย เบาะนั่งผู้โดยสารปรับ 4 ทิศทาง ระบบนำทางเนวิเกเตอร์ เครื่องเล่นดีวีดี พวงมาลัยยังมีปุ่มรับ-วางสายโทรศัพท์ และลำโพงเพิ่มทวิตเตอร์อีก 2 ตัว
สำหรับระบบความปลอดภัย ที่ทุกรุ่นจะต้องมีอุปกรณ์พื้นฐาน คือ ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ระบบป้องกันล้อล็อค ABS ระบบกระจายแรงเบรก หรือ EBD เหมือนกันหมด ในรุ่น 2.0E ยังเพิ่มกล้องส่องภาพหลัง และรุ่น 2.4 มีทั้งถุงลมนิรภัยด้านข้างคู่หน้า ระบบช่วยควบคุมการทรงตัว(VSA) ระบบช่วยควบคุมการบังคับพวงมาลัย(MA-EPS) ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน (HSA) กระจกหน้าต่างคู่หน้าลดการเกาะตัวของหยดน้ำ เป็นต้น
ในการทดลองขับใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-ปากช่อง-เขาใหญ่-วังน้ำเขียว รวมระยะทางไป-กลับเกือบๆ 500 กิโลเมตร มีผู้โดยสารทั้งหมด 4 คน แต่ขับเพียง 2 คน และแน่นอนก่อนออกเดินทาง ได้ลองระบบกลไกพับเบาะหลังราบ หรือ One Motion Seat เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระได้สะดวกและมากยิ่งขึ้น โดยมีก้านโยกเหมือนกับที่เปิดประตูด้านใน ติดตั้งอยู่ผนังห้องเก็บสัมภาระสองฝั่ง เมื่อดึงจะทำให้เบาะหลังแบบแยก 60 : 40 พับราบเป็นพื้นเดียวกัน นับว่าสะดวกสบายทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกที่รับอาสาเป็นผู้โดยสาร จึงมีโอกาสได้สำรวจเบาะนั่งของซีอาร์-วีใหม่ ซึ่งทุกรุ่น เป็นเบาะแท้และวัสดุสังเคราะห์ การตัดเย็บประกอบดีทีเดียว แต่รู้สึกไม่ค่อยโอบกระชับตัวเท่าไหร่ โดยเฉพาะเมื่อย้ายมานั่งเบาะหลัง ที่ดูจะออกแบบแบนราบเรียบไปหน่อย น่าจะเป็นเพราะต้องการรองรับการพับเบาะราบ และเบาะนั่งดูจะสั้นไปนิด ทำให้การรองรับต้นขาไม่เต็มเท่าที่ควร น่าจะเพราะต้องการให้มีพื้นที่วาง-เหยียดขาได้มากขึ้น รวมถึงห้องโดยสารดูโปร่งโล่ง และกว้างขวางขึ้น และอีกอย่างเบาะหลังน่าจะเอนได้มากกว่านี้คงจะดีทีเดียว
เมื่อเปลี่ยนมาลองขับ พบว่าการใช้งานทั่วๆ ไปไม่มีปัญหา น้ำหนักพวงมาลัยในความรู้สึกอาจจะเบาไปนิด แต่ยังคงมีความแม่นยำดี ทำให้ขับขี่ง่ายและคล่องตัวดีเวลาขับในเมือง รู้สึกเบาและคล่องตัวคล้ายๆ กับเก๋ง ไม่ให้อารมณ์เหมือนกับเอสยูวีทั่วๆ ไปเท่าไหร่
แต่ในช่วงที่ต้องการเรียกอัตราเร่งแบบทันทีทันใด เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ที่มีการปรับปรุงให้กำลังเพิ่มขึ้น 5 แรงม้า กลับรู้สึกค่อนข้างอืดทีเดียว อาจจะดีขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ถึงอย่างนั้นการไล่รอบความเร็วก็ยังช้าอยู่ หากจะให้อุ่นใจเวลาเร่งแซงแบบทันใจ ต้องมีการคิ๊กดาวน์ช่วย รอบถึงจะดีดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นต้องทำให้มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันตามมา
ดังนั้นการวิ่งทางไกลบนทางหลวงหลักที่มีรถเยอะๆ ยิ่งน้ำหนักพวงมาลัยที่ดูเบาไปหน่อย ทำให้รู้สึกไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ ดูแล้วพวกขับปรู๊ดปร๊าดคงเหนื่อยน่าดู นอกจากจะรักษารอบที่เหมาะสมเอาไว้ ซึ่งช่วยได้พอสมควร
สำหรับโหมด ECON หากเป็นคนที่ขับรถเนียนๆ อยู่แล้ว จะไม่เห็นความประหยัดแตกต่างกันมากนัก แต่ถ้าเป็นคนขับดุดันจะรู้สึกถูกดึงไว้ เหมือนถูกบังคับให้ไปแบบนุ่มๆ นั่นเป็นผลมาจากระบบการทำงานของโหมดประหยัดนี่เอง โดยอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันในการขับรถรุ่นนี้ ที่ความเร็วประมาณ 110-120 กม./ชม. มีเร่งทำความเร็วและท็อปสปีดเป็นบางครั้ง จอข้อมูลเฉลี่ย 12 กม./ลิตร (ในการทดสอบใช้ E10) จากอัตราของทางโรงงานใช้น้ำมันเบนซินธรรมดา อยู่ที่ 12.6 กม./ลิตร และในรุ่น 2.0E อยู่ที่ 12.2 กม./ลิตร
ขณะที่การทำงานของดิสก์เบรก 4 ล้อ ให้ความรู้สึกทีดี ไม่ว่าจะความสัมพันธ์ของการเหยียบเบรกกับแรงเบรก และระยะการชะลอความเร็ว หรือหยุดรถได้ตามต้องการ ทั้งการเหยียบเบรกปกติและกะทันหัน ขณะที่ช่วงล่างระบบกันสะเทือนอิสระ พร้อมเหล็กกันโคลง ที่ด้านหน้าแบบแม็กเฟอร์สันสตรัท และหลังดับเบิลวิชโบน ให้ความนุ่มนวลมากขึ้นแต่ก็ยังหนึบ เห็นได้จากช่วงถนนคดโค้งลาดชัน เส้นทางระหว่างเขาใหญ่-วังน้ำเขียว ถึงจะใช้ความเร็วสูงก็ยังเอาอยู่ อาจจะมีท้ายโยนปัดบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับน่ากลัว แม้ในรุ่น 2.0S จะไม่มีตัวช่วยมากมายก็ตาม
สรุป… ฮอนด้า ซีอาร์-วี 2.0S 2WD เป็นรถที่ให้อารมณ์ขับขี่ง่ายๆ สบายๆ ไม่ได้มุ่งตอบสนองพวกชอบขับดุดันดันหรือเร้าใจ ซึ่งหากคิดว่าตนเองขับขี่ลักษณะนี้ และไม่ได้ต้องการออปชั่นมากมายนัก และราคายังต่ำสุดในรุ่นนี้ 1.164 ล้านบาท น่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง?!