เพียงเข้าสู่เดือนแรกช่วงครึ่งปีหลัง ตลาดรถยนต์ไทยก็คักคักทันที เพราะมีรถรุ่นใหม่เปิดตัวมาห้ำหั่นกัน โดยเฉพาะตลาดซับคอมแพกต์ และที่ฮือฮาเห็นจะเป็น “แจ๊ซ ไฮบริด” รถพลังงานทางเลือกของฮอนด้า พร้อมยังจะมีรุ่นใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือซีเอ็นจี(CNG) ที่ติดตั้งใน “ฮอนด้า ซิตี้” มาเขย่าตลาดอีก แต่ในรูปแบบและพิกัดเดียวกันทั่วไป “เชฟโรเลต โซนิค” เป็นซับคอมแพกต์รุ่นใหม่ล่าสุดที่ถูกส่งมาชนคู่แข่งส่วนใหญ่โดยตรงมากกว่า งานนี้จึงขอเอ็กซ์เรย์ตรวจสอบโซนิคว่าจะมีดีสามารถสู้คู่แข่งได้สบายๆ หรือจะกลายเป็นกระดูกคนละเบอร์กันแน่?
“เชฟโรเลต โซนิค” เปิดตัวมาแทนรุ่น “อาวีโอ” (ปัจจุบันยังมีรุ่นซีเอ็นจีขายอยู่) ซึ่งทำตลาดในกลุ่มซับคอมแพกต์ แต่ครั้งนี้เชฟโรเลตเพิ่มทางเลือกให้กับโซนิค มีทั้งตัวถังแบบซีดาน 4 ประตู (NB) และแฮทช์แบ็ก 5 ประตู(HB) เช่นเดียวกับคู่แข่งในตลาด แต่กลับมาทำตลาดเครื่องยนต์ 1.4 ลิตรอีกครั้ง แต่เป็นเครื่องใหม่เบนซิน ECOTEC รหัส A14XFR แบบ DOHC แถวเรียง 4 สูบ 16 วาล์ว พร้อมวาล์วแปรผัน Double CVC ขนาด 1.4 ลิตร 100 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่นาที และแรงบิดสูงสุด 130 นิวตัน-เมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 6 จังหวะ
แน่นอนหากเทียบกับคู่แข่งซับคอมแพกต์ด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่อง 1.5 ลิตร จะมีรุ่น 1.4 ลิตรบ้าง แต่เป็นเพียงแค่รุ่นประกอบไม่ใช่ตัวหลัก นอกจากรถนำเข้าอย่าง “เกีย ริโอ” 1.4 ลิตร 107 แรงม้า ซึ่งราคาก็ปาเข้าไป 7.49 แสนบาท โดยซับคอมแพกต์ที่ประกอบในไทย จะมีเพียง “ฟอร์ด เฟียสต้า” ที่มีเครื่องยนต์ 1.4 ลิตร 95 แรงม้า แต่อย่างที่บอกตัวหลักปัจจุบันของเฟียสต้าเป็นเครื่องใหม่ 1.5 ลิตร 109 แรงม้า เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 6 จังหวะ ที่เพิ่งเปิดตัวทำตลาดเช่นกัน เพื่อรับสิทธ์รถคันแรก และขยับราคารุ่นธงเดิมเครื่อง 1.6 ลิตร 121 แรงม้า ขึ้นไปทะลุ 7 แสนบาท
โดยในตลาดยังมีรถนำเข้า โปรตอน นีโอ และเจน2 ที่วางเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร 110 แรงม้า เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 4 จังหวะ แต่ส่วนใหญ่ของเก๋งซับคอมแพกต์ในตลาดไทย จะเป็นเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร ไม่ว่าจะเป็นเจ้าตลาด “โตโยต้า วีออส” ที่ให้กำลัง 109 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 141 นิวตัน-เมตร ที่ 4,200 รอบต่อนาที เป็นบล็อก 1NZ-FE เช่นเดียวกับ โตโยต้า ยาริส ซึ่งต่างส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 4 จังหวะ เหมือนกันกับ “มาสด้า 2” ทั้งแบบ 4 และ 5 ประตู ที่วางเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร 103 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 135 นิวตัน-เมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที
แต่ที่รีดแรงม้าได้สูงสุด ในกลุ่มซับคอมแพกต์เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร เห็นจะเป็น “ฮอนด้า ซิตี้” และ “แจ๊ซ” ซึ่งพกพาม้ามาถึง 120 ตัว ที่ 6,600 รอบต่อนาที โดยแรงบิดสูงสุดอยู่ที่ 148 นิวตัน-เมตร ที่ 4,800 รอบต่อนาที พร้อมกับขับเคลื่อนด้วยเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับ ฟอร์ด เฟียสต้า 1.6 ลิตร
มาดูกันที่มิติตัวถังและน้ำหนัก เชฟโรเลต โซนิค มีความยาวรวม 4,399 มม. ในรุ่นซีดาน และรุ่นแฮทช์แบ็ก 4,039 มม. ความกว้างเท่ากัน 1,735 มม. เช่นเดียวกับความสูง 1,517 มม. และความยาวช่วงล้อเป็น 2,525 มม. โดยน้ำหนักรวมประมาณ 1,173-1,295 กก. แล้วแต่รุ่น
นับว่าโซนิคในรุ่นซีดานขนาดภายนอกเป็นรองเพียง ฮอนด้า ซิตี้ เท่านั้น ขณะที่รุ่นแฮทช์แบ็กเหนือกว่าทุกรุ่น ถึงอย่างนั้นด้วยฐานล้อที่ไม่มากกว่าคู่แข่ง ทำให้ส่งผลต่อห้องโดยสารไม่โดดเด่นนัก แต่กลับเป็นรุ่นแฮทช์แบ็ก 5 ประตู ที่เชฟโรเลต โซนิค จะยาวกว่ารุ่นอื่นๆ โดยในซับคอมแพกต์รุ่นซีดาน โปรตอน เจน2 ฐานล้อยาวสุด 2,600 มม. และรุ่นซิตี้ 2,550 มม. ซึ่งจากมิติตัวถังของโซนิคน่าจะทำน้ำหนักใกล้เคียงกับคู่แข่ง แต่กลับมีน้ำหนักสูงสุดระดับเดียวกับโปรตอน โดยในกลุ่มรถที่มีน้ำหนักเฉลี่ยเบาสุดเป็นมาสด้า 2 ประมาณ 1,020 - 1072 กก. จึงมีส่งผลต่ออัตราเร่งและอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันพอสมควร
ช่วงล่างของเชฟโรเลต โซนิค ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบแม็กเฟอร์สันสตรัท, คอยล์สปริง, โช๊คอัพแก๊ส และเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นทอร์ชันบีมรูปตัววี, คอยล์สปริง และโช๊คอัพแก๊ส ซึ่งหลักๆ ก็ไม่แตกต่างจากคู่แข่งเท่าไหร่ ขณะที่ระบบเบรกของโซนิคล้อหน้าเป็นดิสก์เบรก พร้อมครีบระบายความร้อน และหลังเป็นดรัมเบรก ซึ่งเป็นแบบเดียวกับ มาสด้า2 และฟอร์ด เฟียสต้า ส่วนคู่แข่งรายอื่นๆ จะมีให้เลือกทั้งแบบดิสก์เบรก 4 ล้อ และแบบล้อหลังเป็นดรัมเบรก(ยกเว้นฮอนด้า แจ๊ซเป็นดิสก์เบรกหมด)
ส่วนระบบความปลอดภัยอื่นๆ เชฟโรเลต โซนิค ให้ระบบป้องกันล้อล็อก ABS และถุงลมนิรภัยด้านคนขับเกือบทุกรุ่น ยกเว้นรุ่นต่ำ LS แต่ในรุ่นท็อป LTZ มีถุงลมนิรภัยฝั่งผู้โดยสารด้วย จะเห็นว่าไม่แตกต่างจากคู่แข่งอย่าง โตโยต้า วีออส ที่มีให้เลือกแล้วแต่รุ่น แต่วีออสและยาริสจะมีตัวกระจายแรงเบรก EBD และระบบเสริมแรงเบรก BA มาให้ด้วย เช่นเดียวกับฮอนด้า ซิตี้-แจ๊ซ, ฟอร์ด เฟียสต้า และมาสด้า2 (ยกเว้นระบบ BA) เพียงแต่ยี่ห้ออื่นๆ มีถุงลมนิรภัยคู่หน้ามาให้ครบ นอกจากฟอร์ด เฟียสต้า รุ่น 1.4 ลิตร และบางรุ่นของโปรตอน เจน2-นีโอ ที่มีเฉพาะด้านคนขับ นอกจากนี้โซนิคยังติดตั้งกุญแจนิรภัย IMMOBILIZER ป้องกันการโจรกรรมมาให้ครบทุกรุ่น เหมือนกับฮอนด้า ซิตี้-แจ๊ซ, ฟอร์ด เฟียสต้า, โปรตอน และเกีย ริโอ ส่วนคู่แข่งรายอื่นๆ ให้มาเพียบบางรุ่นเท่านั้น
สำหรับอุปกรณ์ความสะดวกสบาย เชฟโรเลต โซนิค จอแสดงผลข้อมูลในการขับขี่เป็นแบบ Board Computer ในรุ่นท็อป LTZ ที่เหลือจะเฉพาะ Odometer ส่วนระบบเครื่องเล่นรองรับ CD/MP3 พร้อมช่องต่ออุปกรณ์เสริม (AUX Port) และช่องต่อ USB ซึ่งสามารถควบคุมเครื่องเสียงบนพวงมาลัย ให้ขับผ่านลำโพง 4 และ 6 ตัว พร้อมรับโทรศัพท์ Bluetooth Handfree แล้วแต่รุ่น
หากวัดกันที่มาตรฐานทั่วไป เชฟโรเลต โซนิค ให้มาครบเช่นเดียวกับยี่ห้ออื่นๆ เพียงแต่คู่แข่งอาจจะมีลูกเล่นมากกว่า อย่างฟอร์ดรุ่นบนๆ ที่มีระบบสั่งด้วยเสียง พร้อมจอแสดงข้อมูลอเนกประสงค์ขนาดใหญ่(ยกเว้นรุ่น 1.4 ลิตร) ส่วนอุปกรณ์มาตรฐานอื่นๆ ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
เชฟโรเลต โซนิค เปิดตัวทำตลาดทั้งแบบซีดาน 4 และแฮทช์แบ็ก 5 ประตู(รุ่นนี้จะขายเป็นทางการเดือนสิงหาคมนี้) ซึ่งตัวถัง NB หรือแบบซีดาน มีให้เลือก 3 เกรด 5 รุ่นย่อย แบ่งเป็นรุ่นต่ำ LS ราคา 5.48-5.78 แสนบาท, รุ่นกลาง LT ราคา 5.88-6.15 แสนบาท และรุ่นท็อป LTZ ราคา 6.79 แสนบาท ส่วนรุ่นแฮทช์แบ็ก(HB) แบ่งเป็น 2 เกรด เฉพาะรุ่น LT มีทั้งหมด 2 รุ่นย่อย ราคา 6.01-6.32 แสนบาท และรุ่นท็อป LTZ ราคา 6.87 แสนบาท เรียกว่าเป็นราคาค่อนข้างถูกพอสมควร โดยเฉพาะในรุ่นกลางถึงท็อปน่าสนใจทีเดียว (เปรียบเทียบราคาคู่แข่งจากตาราง)
ทั้งหมดนี้เป็นการเอ็กซ์เรย์จากข้อมูลบนกระดาษ หรือเอกสารเผยแพร่ของบริษัทรถ ซึ่งขอย้ำอีกครั้งว่า... ควรจะไปสัมผัสตัวรถ และทดสอบสมรรถนะจากการลองขับจริง ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อในรถทุกรุ่น!!
ตารางแสดงเก๋งซับคอมแพกต์ในไทยปัจจุบัน
ยี่ห้อ/รุ่น | แบบ | เครื่องยนต์(ลิตร) | กำลัง(แรงม้า) | ราคา(แสนบาท) |
เชฟโรเลต โซนิค | ซีดาน 4 ประตู (NB) | 1.4 | 100 | 5.48-6.79 |
เชฟโรเลต โซนิค | แฮตช์แบ็ก 5 ประตู (HB) | 1.4 | 100 | 6.01-6.87 |
โตโยต้า วีออส | ซีดาน 4 ประตู | 1.5 | 109 | 5.20-7.20 |
โตโยต้า ยาริส | แฮตช์แบ็ก 5 ประตู | 1.5 | 109 | 5.44-7.34 |
ฮอนด้า ซิตี้ | ซีดาน 4 ประตู | 1.5 | 120 | 5.59-7.04 |
ฮอนด้า แจ๊ซ | แฮตช์แบ็ก 5 ประตู | 1.5 | 120 | 5.90-7.15 |
มาสด้า 2 เอลิแกนซ์ | ซีดาน 4 ประตู | 1.5 | 103 | 5.50-7.05 |
มาสด้า 2 สปอร์ต | แฮตช์แบ็ก 5 ประตู | 1.5 | 103 | 5.50-7.05 |
ฟอร์ด เฟียสต้า | ซีดาน 4 ประตู | 1.4 | 95 | 5.49-5.84 |
ฟอร์ด เฟียสต้า | แฮตช์แบ็ก 5 ประตู | 1.4 | 95 | 5.94 |
ฟอร์ด เฟียสต้า | ซีดาน 4 ประตู | 1.5 | 109 | 6.44-6.89 |
ฟอร์ด เฟียสต้า | แฮตช์แบ็ก 5 ประตู | 1.5 | 109 | 6.54-6.99 |
ฟอร์ด เฟียสต้า | ซีดาน 4 ประตู | 1.6 | 121 | 6.99-7.04 |
ฟอร์ด เฟียสต้า | แฮตช์แบ็ก 5 ประตู | 1.6 | 121 | 6.54-7.59 |
โปรตอน เจน2 | ซีดาน 4 ประตู | 1.6 | 110 | 5.49-6.29 |
โปรตอน นีโอ | แฮตช์แบ็ก 5 ประตู | 1.6 | 110 | 4.99-6.98 |
เกีย ริโอ | แฮตช์แบ็ก 5 ประตู | 1.4 | 107 | 7.49 |
หมายเหตุ-ผู้จัดการมอเตอริ่งรวบรวม/ข้อมูลจากประกาศและเว็บไซต์ทางการบริษัทรถ