xs
xsm
sm
md
lg

ฮาร์เลย์ เดวิดสัน 1940:มรดกสงครามโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้ว่าในช่วงรอยต่อระหว่างทศวรรษที่ 30-40 ค่ายผู้ผลิตรถจักรยานยนต์สัญชาติอเมริกันอย่าง “ฮาร์เลย์ เดวิดสัน” จะต้องทำหน้าที่หลักโดยการส่งผลผลิตเข้าร่วมสมรภูมิรบระดับนานาชาติ สำหรับใช้เป็นยานพาหนะของเหล่าหทารหาญในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ขณะเดียวกันในด้านสายการผลิตเพื่อวางจำหน่ายให้กับสิงห์นักบิดก็ยังเปิดทำการควบคู่กันไป โดยรูปโฉมจะมีความแตกต่างกันตามลักษณะการใช้งาน และสำหรับคันที่ “ASTVผู้จัดการมอเตอริ่ง” นำมาให้ชมคันนี้ก็คือ ผลผลิตของฮาร์เลย์ เดวิดสัน ปี 1940 ในโฉมของรูปแบบพลเรือนนั่นเอง

“กว่าจะรวบรวมอะไหล่เพื่อบูรณะให้เป็นคันสมบูรณ์ และวิ่งใช้งานได้ปกติแบบนี้ ผมต้องใช้ความอดทนรอคอยนานกว่า 3ปี” เจ้าของรถผู้มีพื้นเพมาจากจังหวัดนครสวรรค์ หรือมีชื่อเรียกเป็นที่รู้จักในแวดวงรถโบราณว่า “โจ-นครสวรรค์” เริ่มต้นเล่าถึงความเป็นมาของสองล้อคันโปรดด้วยความภาคภูมิใจ

“ตัวรถผมเน้นเดิมๆ ทุกอย่าง ตั้งแต่ระบบเครื่องยนต์อันเป็นเอกลักษณ์สูบวีทวิน ขนาด 1,200 ซีซี. ไซด์วาล์ว เสื้อเหล็ก ระบายความร้อนด้วยอากาศ สตาร์ทเท้า เกียร์มือ 4 สปีด โดยเฉพาะระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์ทองเหลืองทั้งดุ้น ซึ่งถือเป็นเจเนอเรชันแรกๆ ของฮาร์เลย์ เดวิดสันก็ว่าได้”

ของดีหาดูยาก คาร์บูเรเตอร์ผลิตจากทองเหลืองทั้งลูก
โจ นครสวรรค์ เล่าต่อว่า ในด้านสมรรถนะการใช้งานไม่มีงอแง ซิ่งออกทริปพร้อมคลับวินเทจไบค์ ไทยแลนด์ ไป-กลับ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ได้อย่างชิลๆ ด้วยความเร็วเฉลี่ย 65 ไมล์/ชม. หรือประมาณ 100 กม./ชม.

“การขับขี่ควบคุมอาจจะดูแปลกไปสักหน่อย เพราะใช้การเหยียบคลัทช์เหมือนรถยนต์คือเท้าซ้าย เปลี่ยนเกียร์ด้วยมือข้างๆ ถังน้ำมัน คันเร่งที่แฮนด์ด้านซ้ายใช้เร่งองศาไฟจุดระเบิด ส่วนด้านขวาใช้เร่งการจ่ายเชื้อเพลิงให้เครื่องยนต์ สองส่วนนี้ต้องสมดุลกัน ส่วนผสมมันถึงจะกลมกล่อมวิ่งได้อย่างสมบูรณ์ ขณะที่เบรกหน้าอยู่แฮนด์ซ้าย เบรกหลังอยู่ที่เท้าขวาเหมือนมอเตอร์ไซค์ทั่วไป”
สายไฟซ่อนอยู่ในท่อแฮนด์ เก็บรายละเอียดได้อย่างเรียบร้อย
ครั้นถามถึงอัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน เจ้าของรถยิ้มก่อนตอบว่า “ไม่ต้องพูดถึงครับ เพราะเป็นของคู่กันกับรถโบราณอยู่แล้ว ถ้าจะให้ไปเปรียบเทียบกับรถใหม่ยิ่งพวกหัวฉีดมันเป็นรถคนละกลุ่ม พวกนั้นสำหรับวิ่งใช้งานในชีวิตประจำวัน แต่อย่างคันนี้เอาไว้ขี่ทางไกลท่องเที่ยว หรือเอาไปโชว์ตัวตามงานรวมรถโบราณต่างๆ”

สำหรับงบประมาณที่ทุ่มลงไป ให้กับฮาร์เลย์ เดวิดสัน ปี 1940โฉมพลเรือนคันนี้ เจ้าของรถเล่าอย่างตรงไปตรงมาว่า ต้นทุนตัวเลขเกินกว่า 7 หลักไปแล้ว ของแต่งบางส่วนต้องไปแข่งประมูลตามอีเบย์ หากเป็นของแท้ตรงรุ่นราคาก็ยิ่งแพงและหายาก ดังนั้น อย่าแปลกใจว่าอุปกรณ์บางส่วนที่เห็นจะเป็นของที่ผลิตในยุคนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าหาง่ายกว่าจึงต้องยอมใช้ทดแทนกันไป

“ของแต่งที่ใส่เพิ่มมีกันล้มรอบคัน ดุมล้อโครเมียมหน้า-หลัง ขอบคิ้วข้างถังน้ำมัน เบาะไอ้เข้พร้อมสปริงรับน้ำหนักสำหรับคนซ้อนท้าย (เบาะเดิมนั่งได้คนเดียว) กระเป๋าข้าง 2 ใบ และสปอร์ตไลท์อีก 2 ดวง”
เบรกหน้าอยู่ที่แฮนด์ฝั่งซ้าย พร้อมปุ่มแตรและสวิตซ์สัญญาณไฟสูง
สองล้อโบราณหนึ่งในมรดกยานยนต์ที่มีจุดกำเนิดมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งตกทอดมาถึงปัจจุบันนี้ โจ นครสวรรค์ ยืนยันว่ามีไม่ถึง 10 คันในเมืองไทย เพราะคนเล่นเฉพาะกลุ่ม เห็นรถก็รู้ว่าเจ้าของคือใคร และถ้านับเฉพาะในกรุงเทพ รุ่นโฉมพลเรือนแบบนี้มีอยู่แค่ 3 คันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาไม่อยากอย่างที่คิด เจ้าของผลผลิตฮาเลย์ เดวิดสัน ปี 1940 บอกว่า “แค่เช็คน้ำมันเครื่อง โซ่สเตอร์อย่าให้แห้ง แบตเตอรี่ไฟอย่าให้อ่อน ก่อนสตาร์ทตอนเช้าๆ กระทึบทิ้ง 3 ที แล้วค่อยบิดสวิตซ์สตาร์ทจริง ส่วนถ้าเป็นงานถอดประกอบหรือเกี่ยวกับเครื่องยนต์ ต้องหาช่างที่รู้ลึกและรู้จริงเฉพาะด้านเป็นผู้ดูแลครับ”

ขอบคุณข้อมูลและเอื้อเฟื้อการถ่ายภาพ คุณโจ นครสวรรค์
โช้คหน้าแบบสปริงเกอร์ สามารถปรับความแข็ง-อ่อนได้
เรือนวัดความเร็วหน่วยเป็นไมล์ติดตั้งอยู่บนถังเชื้อเพลิง 2 ใบประกบคู่ แม้ว่าภายในจะเชื่อมต่อกัน แต่เวลาเติมน้ำมันควรใช้ทั้งสองฝั่งเพื่อความรวดเร็ว
หน้าตาของเบาะไอ้เข้ ความกว้างเหลือเฟือใช้รองรับคนขี่และซ้อนท้ายนั่งอยู่บนเบาะเดียวกัน
ถ้านั่งคนเดียวระบบรับน้ำหนักใต้เบาะเอาอยู่ แต่ถ้าซ้อนสองต้องมีสปริงตัวช่วยเสริมอีกหนึ่งออฟชัน
สวยแปลกตากับคันสตาร์ทรูปร่างคล้ายบันไดปั่นจักรยาน
ใบครีบเครื่องยนต์ออกแบบให้มีขนาดใหญ่ เพื่อรับลมระบายความร้อนขณะขับเคลื่อน
เกียร์มือ 4 สปีด อยู่ฝั่งซ้ายของถังน้ำมัน
ได้อารมณ์เหมือนขับรถยนต์ เพราะต้องใช้เท้าซ้ายเหยียบคลัทช์ควบคุมการเปลี่ยนเกียร์
ท่อไอเสียทรงโบราณมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า หางไก่
กันล้มหรือกันชนด้านท้าย เป็นอีกหนึ่งของแต่งเพิ่มได้ทั้งความหล่อและปกป้องรถคันโปรด

กำลังโหลดความคิดเห็น