นับจากรถยนต์คันแรกในโลกของคาร์ล เบนซ์ ในตอนนี้อุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกเดินทางมาถึง 125 ปีแล้ว และด้วยเหตุที่มีความเกี่ยวพันกันโดยตรง ทางเมอร์เซเดส-เบนซ์ จึงฉลองช่วงเวลาของความพิเศษด้วยต้นแบบสุดสปอร์ตที่มาพร้อมกับความล้ำสมัยของงานออกแบบและเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนแบบเซลล์เชื้อเพลิง หรือ Fuel Cell ที่มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนมากขึ้นกว่าเดิม
ต้นแบบรุ่นนี้มีชื่อว่า F125! และเปิดตัวเป็นครั้งแรกในงานแฟรงค์เฟิร์ต มอเตอร์โชว์ 2011 ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 15-25 กันยายน โดยประเด็นหลักในการนำเสนอคือ สิ่งที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ต้องการสะท้อนถึงมุมมองของพวกเขาต่อรถยนต์ในยุคหน้า ซึ่งนอกจากจะมีหน้าตาล้ำสมัย ตอบโจทย์ทั้งในด้านความสปอร์ต ความหรู และสมรรถนะในการขับเคลื่อนแล้ว ยังจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วยภายใต้แนวคิด Look Ahead
ประเด็นหลักที่ถือว่าน่าสนใจ และมีแนวโน้มว่าจะสามารถนำมาประยุกต์เพื่อใช้กับรถยนต์ในยุคนี้ได้คือ การปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงใน F125! ทีมวิศวกรของค่ายดาว 3 แฉกสามารถอัพเกรดระบบนี้ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของระยะทางที่ทำได้ต่อการเติมไฮโดรเจนเหลว 1 ถัง
เมอร์เซเดส-เบนซ์ เผยว่าจุดหลักที่ทำให้ตัวรถสามารถแล่นได้ไกลขึ้นมาจาก ระบบเซลล์เชื้อเพลิงที่ถูกดัดแปลงให้เป็นแบบ Plug-in หรือสามารถเสียบปลั๊กชาร์จไฟได้ในกรณีที่ไม่แล่น ตามด้วยปฏิวัติการออกแบบและผลิตถังเก็บไฮโดเรเจนที่ถือว่าเป็นหัวใจของระบบเซลล์เชื้อเพลิง ตามด้วยการพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีขนาดกะทัดรัด และน้ำหนักเบา โดยใช้แบตเตอรี่แบบลิเธียม-ซัลเฟอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เมอร์เซเดส-เบนซ์พัฒนาควบคู่กับแบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไอออนที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบัน
สมรรถนะในการขับเคลื่อนถือว่าเร้าใจพอตัว กับอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงใน 4.9 วินาที และความเร็วสูงสุด 220 กิโลเมตร/ชั่วโมง พร้อมอัตราความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 0.79 กิโลกรัมต่อ 100 กิโลเมตร หรือเทียบเท่ากับน้ำมันดีเซล 2.7 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร หรือ 37 กิโลเมตรต่อลิตร
แบตเตอรี่แบบลิเธียม-ซัลเฟอร์ให้ความเข้มข้นของพลังงานเหนือกว่าแบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไอออนเมื่อเปรียบเทียบกับขนาด โดยแบตเตอรี่แบบนี้สามารถจัดวางเอาไว้ที่เบาะหลังรถ และสามารถรองรับกับการรับและจ่ายกระแสไฟฟ้าเพื่อให้ตัวรถสามารถแล่นทำระยะทางต่อการเติมไฮโดรเจน 1 ถังอยู่ที่มากกว่า 1,000 กิโลเมตร โดยในโหมด EV ที่ขับเคลื่อนแบบไม่ต้องอาศัยกระแสไฟฟ้าที่มาจากการทำปฏิกิริยาระหว่างไฮโดรเจนกับออกซิเจนผ่านแผงเซลล์เชื้อเพลิง หรือ Fuel Cell Stack นั้น สามารถให้เก็บกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนรวมระยะทาง 50 กิโลเมตร
ในส่วนของถังไฮโดรเจนเป็นถังเก็บที่มีความทนทาน และทนต่อแรงดันสูงในระดับ 700 บาร์ โดยมีความจุอยู่ที่ 7.5 กิโลกรัมในการบรรจุไฮโดรเจนเหลว และเมื่อเปรียบเทียบกับถังที่ใช้ในรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงยุคปัจจุบันแล้ว ถังเก็บรุ่นนี้มีขนาดเล็กลงแต่บรรจุไฮโดรเจนเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังให้ความรวดเร็วในการเติมเพราะสามารถทนแรงดันในระหว่างการเติมไฮโดรเจนได้สูงถึง 30 บาร์
ในแง่ของโครงสร้างตัวถังมีความล้ำสมัยไม่แพ้กัน โดยนอกจากการออกแบบจะโดดเด่นในด้านรูปลักษณ์แล้ว ยังมีความทนทานต่อการบิดตัวและมีน้ำหนักเบา เพราะมีการนำวัสดุใหม่มาใช้ในการผลิตโดยเฉพาะพวก Fiber Reinforced Plastic ทั้งหลาย ซึ่งถูกจับมาผสมผสานกับเหล็กกล้าที่มีความทนทานสูง แต่น้ำหนักเบา อีกทั้งโครงสร้างตัวถังแบบปีกนกซึ่งไม่มีเสากลาง หรือ B-Pillar ทำให้การเลือกใช้วัสดุที่ผลิตตัวถังลักษณะนี้ต้องมีความทนทาน โดยเฉพาะในแง่ของการบิดตัวในขณะที่กำลังขับเคลื่อน
นอกจากนั้น F125! ยังได้รับการติดตั้งเทคโนโลยีการเชื่อมต่อภายในรถยนต์ที่มีความทันสมัยโดยอิงอยู่บนพื้นฐานของระบบ Network Telematics ที่เรียกว่า @yourCOMMAND สามารถเชื่อมต่อกับโลกภายนอกผ่านทางอินเตอร์เนต ทำให้สามารถเข้าถึงโปรแกรมต่างๆ ได้ เช่น การเข้า Social Network การควบคุมการสั่งงานด้วยเสียง และระบบความบันเทิงแบบต่างๆ
F125! เป็นผลผลิตสำหรับใช้ในการจัดแสดงเป็นหลัก ส่วนเรื่องการผลิตขายจริงหรือไม่นั้นคาดว่าคงจะไม่มี นอกจากจะแยกส่วนเทคโนโลยี และมีการพัฒนาต่อเนื่องสำหรับใช้กับรถยนต์รุ่นที่ขายอยู่ในปัจจุบัน ส่วนจะมีอะไรบ้านั้น คงต้องติดตามดูกันต่อไป