กลับมาอีกครั้งสำหรับงานแจกรางวัลประจำปีให้กับผู้ผลิตรถยนต์ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการพัฒนาเครื่องยนต์ ซึ่งการแจกรางวัลรายการ International Engine of the Year Awards ปี 2011 ได้มีการประกาศผลออกมาแล้ว พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในหลายสาขา ซึ่งมีหน้าใหม่กลับกลายมาเป็นผู้ชนะ
สำหรับปีนี้ต้องบอกว่า ค่ายที่มาแรงเกินใครเห็นจะเป็นเฟียต กรุ๊ป เพราะว่าเครื่องยนต์บล็อกเล็กในตระกูล TwinAir ของพวกเขาสามารถคว้า 4 รางวัลหลักมาครองได้ ซึ่งรวมถึงรางวัลใหญ่อย่าง International Engine of the Year ซึ่งเป็นการนำผู้ชนะในแต่ละสาขามาให้คณะกรรมการตัดสินได้ร่วมโหวตใหม่ เพื่อคัดเลือกที่สุดของเครื่องยนต์แห่งปี
4 รางวัลสำหรับ TwinAir มาแรงเกินคาด
อาจจะเป็นเพราะกระแสเครื่องยนต์บล็อกเล็ก ประหยัดน้ำมัน และมีสมรรถนะเกินตัวยังคงแรงอย่างต่อเนื่องรับกับสภาวะราคาน้ำมันแพง ก็เลยทำให้บรรดาเครื่องยนต์บล็อกเล็ก ซีซีน้อย ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ และต้องบอกว่าปีนี้ ถือเป็นปีทองของเครื่องยนต์ตระกูล TwinAir ของเฟียต กรุ๊ป
เครื่องยนต์ 2 สูบที่มีความจุเพียง 875 ซีซีและวางอยู่ในรถยนต์เล็กอย่างเฟียต 500 ได้รับการตอบรับที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ และ 4 รางวัลปีนี้ ซึ่งก็คือ สาขาเครื่องยนต์หน้าใหม่, เครื่องยนต์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม, เครื่องยนต์ในกลุ่มที่มีความจุต่ำกว่า 1,000 ซีซี รวมถึงรางวัล International Engine of the Year เป็นเครื่องยนต์ยืนยันถึงความสำเร็จในครั้งนี้
TwinAir ถูกเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว โดยวางอยู่ใต้ฝากระโปรงของซิตี้คาร์รุ่น 500 โดยเป็นเครื่องยนต์เบนซินที่มีเพียง 2 สูบ และความจุ 875 ซีซี พร้อมเทอร์โบของมิตซูบิชิ ทำให้รีดกำลังออกมาได้ 85 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุด 15.3 กก.-ม. ที่รอบต่ำเพียง 2,000 รอบ/นาที เรียกว่ารีดกำลังออกมาใกล้เคียงกับเครื่องยนต์ 3 และ 4 สูบเลยทีเดียว โดยมีอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงใน 11 วินาที ความเร็วสูงสุด 173 กิโลเมตร/ชั่วโมง และความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงแบบผสม 27.9 กิโลเมตร/ลิตร
ในแง่ของความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์รุ่นเดิมของเฟียตแบบ 4 สูบ 8 วาล์ว 1,200 ซีซี ขุมพลังรุ่นนี้คายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง 15% หรือ 95 กรัมต่อ 1 กิโลเมตรแต่มีกำลังมากขึ้น 23% และตรงนี้ทำให้สามารถคว้ารางวัลเครื่องยนต์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมมาครองได้โดยสามารถทิ้งห่างขุมพลังไฟฟ้าของนิสสัน LEAF ไปแบบไม่เห็นฝุ่น (352:161 คะแนน)
นอกจากนั้น ในสาขาเครื่องยนต์กลุ่มที่มีความจุต่ำกว่า 1,000 ซีซี ตรงนี้ต้องถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแจกรางวัลสาขานี้ ที่เฟียตสามารถแทรกขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายที่ 3 ที่คว้ารางวัล เพราะนับจากปี 1999 เป็นต้นมา รางวัลนี้ถูกผูกขาดโดยโตโยต้าและฮอนด้า
โดยในปี 1999 เป็นขุมพลังรหัส 1SZ-FE ของโตโยต้า จากนั้นนับจากปี 2000 เป็นต้นมาจนถึงปี 2006 เครื่องยนต์ IMA ของฮอนด้า อินไซท์ก็คว้ารางวัลนี้ ก่อนที่เครื่องยนต์ 3 สูบรหัส 1KR-FE ของโตโยต้าจะเป็นผู้ชนะระหว่างปี 2007-2010
สำหรับรางวัลใหญ่อย่าง International Engine of the Year เครื่องยนต์ของเฟียตต้องแข่งกับเจ้าของรางวัลนี้ในปีที่แล้วอย่างเครื่องยนต์ 1,400 ซีซี TSI ของโฟล์คสวาเกน และก็สามารถเอาชนะไปได้แบบเฉียดฉิวด้วยคะแนน 372 : 346 คะแนน
นอกจากนั้นเครื่องยนต์ TwinAir ของเฟียตยังเป็นเครื่องยนต์บล็อกที่ 3 ซึ่งสามารถคว้ารางวัลมากถึง 4 ตัวภายในปีเดียวกัน โดยก่อนหน้านี้คือเครื่องยนต์ 1NZ-FXE ของโตโยต้า พริอุสรุ่นที่ 2 ทำได้ในปี 2004 และเครื่องยนต์วี10 ของบีเอ็มดับเบิลยู M5 และ M6 ในปี 2005
และเมื่อรวมทุกบริษัทที่อยู่ในเครือแล้ว ในปีนี้ถือเป็นปีทองของเฟียต กรุ๊ป เพราะว่าเครื่องยนต์ของเฟียตคว้าไปได้ 4 รางวัล ขณะที่เครื่องยนต์วี8 4,500 ซีซีของเฟอร์รารี่บวกเพิ่มมาอีก 2 รางวัลในกลุ่มเครื่องยนต์ทรงสมรรถนะ และเครื่องยนต์ในกลุ่มความจุเกิน 4,000 ซีซี รวมแล้ว 6 รางวัล ถือเป็นการคว้ามากรางวัลที่สุดภายใน 1 ปีของกลุ่มบริษัทรถยนต์เท่าที่การแจกรางวัลนี้เคยมีมาเลย
บีเอ็มดับเบิลยูคว้ารองแชมป์ ซิวมาได้ 4 รางวัล
ปีนี้มีรางวัลทั้งหมด 11 สาขาบวกกับอีก 1 รางวัลใหญ่ รวมแล้ว 12 รางวัล ครึ่งหนึ่งตกเป็นของเฟียต กรุ๊ปเรียบร้อยแล้ว ส่วนอีก 4 ตัวถูกกวาดโดยเครื่องยนต์ของบีเอ็มดับเบิลยู ซึ่งรางวัลที่ค่ายใบพัดสีฟ้าทำได้ก็ประกอบไปด้วยรางวัลเดิมๆ ที่พวกเขาครองอยู่ในปีที่แล้ว เช่น
สาขาเครื่องยนต์กลุ่มที่มีความจุ 1,400-1,800 ซีซี ด้วยขุมพลัง 4 สูบ 1,600 ซีซี เทอร์โบที่ใช้อยู่ในมินิ คูเปอร์ เอส ซึ่งเป็นเครื่องยนต์บล็อกใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาแทนที่เครื่องยนต์ 1,600 ซีซีเทอร์โบ ที่บีเอ็มดับเบิลยูร่วมพัฒนากับทางกลุ่ม PSA
สาขานี้เครื่องยนต์ BMW-PSA ผูกขาดการเป็นผู้ชนะมาตั้งแต่ปี 2007 และเมื่อเครื่องยนต์ 1,600 ซีซี เทอร์โบบล็อกใหม่ที่บีเอ็มดับเบิลยูพัฒนาขึ้นมาเองถูกเปิดตัวเมื่อต้นปี 2011 เครื่องยนต์รุ่นนี้ก็สามารถผงาดขึ้นมาเป็นผู้ชนะ โดยสามารถเบียดเอาชนะเครื่องยนต์ Di 1,750 ซีซี เทอร์โบของค่ายอัลฟาไปแบบทิ้งกันไม่มาก (246:226 คะแนน)
อีก 3 รางวัล เป็นเครื่องยนต์ในกลุ่มที่มีความจุ 1,800-2,000 ซีซีตกเป็นของบล็อกเทอร์โบดีเซล 4 สูบ 2,000 ซีซี ทวินเทอร์โบ ซึ่งวางอยู่ในรุ่น 123d และ X1 23d ซึ่งครองสาขานี้เป็นครั้งแรกในปีที่แล้ว ตามด้วยเครื่องยนต์ในกลุ่มที่มีความจุ 2,500-3,000 ซีซี สำหรับขุมพลัง 6 สูบเรียง 3,000 ซีซี เทอร์โบคู่ ที่ครองรางวัลนี้มาตั้งแต่ปี 2007 ปิดท้ายกับเครื่องยนต์ในกลุ่มที่มีความจุ 3,000-4,000 ซีซีด้วยเครื่องยนต์วี8 4,000 ซีซีของ M3 ที่ครองรางวัลนี้มาตั้งแต่ปี 2008
โฟล์คฯ เก็บ 2 รางวัลที่เหลือ TSI ยังยอดนิยม
เครื่องยนต์ TSI ของโฟล์คสวาเกน ซึ่งเป็นแบบ 4 สูบ 1,400 ซีซี Twincharger ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้คว้ารางวัลเครื่องยนต์กลุ่มที่มีความจุ 1,000-1,400 ซีซีมาครองเป็นครั้งที่ 6 ติดต่อกันนับจากปี 2006 และปีหน้า ถ้าพวกเขาทำได้อีก ก็จะทำสถิติการครองแชมป์สาขาใดสาขาหนึ่งยาวนานที่สุด
ไม่ได้เป็นการครองแชมป์แบบเดี่ยวๆ แต่เป็นแชมป์ร่วม เพราะสถิติครองแชมป์ยาวนานสูงสุดเป็นของเครื่องยนต์ IMA 1,000 ซีซีของฮอนด้า อินไซท์ที่ทำได้ระหว่างปี 2000-2006 รวมแล้ว 7 ครั้งด้วยกัน
และจากการเป็นผู้ชนะสาขา 1,000-1,400 ซีซีทำให้ เครื่องยนต์ TSI มีโอกาสลุ้นอีกรางวัลคือ International Engine of the Year ซึ่งจะเป็นการป้องกันแชมป์รางวัลนี้อีกด้วย แต่ทว่าก็ไม่สามารถทานความร้อนแรงของขุมพลัง TwinAir จากเฟียต กรุ๊ปได้ ก็เลยพ่ายไปด้วยสกอร์ที่ห่างกันเพียง 20 คะแนนเท่านั้น
ส่วนอีกรางวัลของโฟล์คฯ มาจากบริษัทในเครือ คือ ออดี้กับเครื่องยนต์ 5 สูบ ทวินแคม 20 วาล์ว เทอร์โบ 2,500 ซีซีที่วางอยู่ใน RS3 และ TT RS ครองรางวัลในสาขาเครื่องยนต์กลุ่มที่มีความจุ 2,000-2,500 ซีซี โดยถือเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้วที่ออดี้คว้ารางวัลนี้
สรุปผลรางวัล International Engine of the Year Awards ปี 2011
-เครื่องยนต์ใหม่ยอดเยี่ยม (Best New Engine of the year) : เฟียต TwinAir 875 ซีซี
-เครื่องยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยม (Green Engine of the year) : เฟียต TwinAir 875 ซีซี
-เครื่องยนต์สมรรถนะเยี่ยม (Best Performance Engine) : เฟอร์รารี่ วี8 4,500 ซีซี
-เครื่องยนต์ต่ำ กว่า 1,000 ซีซี (Sub 1-litre) : เฟียต TwinAir 875 ซีซี
-เครื่องยนต์ 1,000-1,400 ซีซี (1-litre to 1.4-litre) : โฟล์คสวาเกน TSI 1,400 ซีซี Twincharger
-เครื่องยนต์ 1,400-1,800 ซีซี (1.4-litre to 1.8-litre) : บีเอ็มดับเบิลยู1,600 ซีซี เทอร์โบ
-เครื่องยนต์ 1,800-2,000 ซีซี (1.8-litre to 2-litre) : บีเอ็มดับเบิลยู เทอร์โบดีเซล 2,000 ซีซี
-เครื่องยนต์ 2,000-2,500 ซีซี (2-litre to 2.5-litre) : ออดี้ 5 สูบ 2,500 ซีซี เทอร์โบ
-เครื่องยนต์ 2,500-3,000 ซีซี (2.5-litre to 3-litre) : บีเอ็มดับเบิลยู 6 สูบ 3,000 ซีซี Di ทวินเทอร์โบ
-เครื่องยนต์ 3,000-4,000 ซีซี (3-litre to 4-litre) : บีเอ็มดับเบิลยู วี8 4,000 ซีซี
-เครื่องยนต์ความจุสูงก ว่า 4,000 ซีซี (Above 4-litre) : เฟอร์รารี่ วี8 4,500 ซีซี
-เครื่องยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี International Engine of the year Awards : เฟียต TwinAir 875 ซีซี