xs
xsm
sm
md
lg

เผย 3 รุ่นใหม่ถูกผลิตเพื่อ...ลุยสนามแข่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นอกจากการทำตลาดทั่วไปแล้ว อีกบทบาทของบรรดารถยนต์ในสายการผลิตเหล่านี้ คือ การถูกพัฒนาเพื่อแสดงสมรรถนะการขับเคลื่อน หรือหวังชิงชัยในโลกของมอเตอร์สปอร์ต

แน่นอนว่าชัยชนะและความสำเร็จในสนามแข่ง นอกจากจะหมายถึงถ้วยรางวัลและเกียรติยศแล้ว ยังหมายถึงโอกาสและช่องทางในการนำมาใช้ในเชิงการตลาด เพื่อกระตุ้นยอดขาย และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของรถยนต์เหล่านี้เพื่อทำให้ลูกค้าเกิดความสนใจ และนี่คือ รถยนต์ในสายการผลิตอีก 3 รุ่นที่ถูกพัฒนาเพื่อการใช้งานในสนามแข่ง โดย 2 รุ่นแรกเป็นตัวแข่งสำหรับขับเคี่ยวกับคู่แข่งในสนาม ส่วนอีกหนึ่งเป็น Safety Car ที่บรรดาตัวแรงทั้งหลายจะต้องขับตามหลังเพียงอย่างเดียว และไม่มีใครคิดที่จะกล้าแซงขึ้นหน้า

McLaren MP 4-12C GT3 : สวมชุดแข่งพิสูจน์สมรรถนะ

เช่นเดียวกับรุ่นพี่อย่างแม็คลาเรน F1 นอกจากเวอร์ชันที่ผลิตขายเป็นปกติแล้ว ทางแม็คลาเรน ซึ่งในตอนนี้แตกบริษัทใหม่เป็นแม็คลาเรน ออโตโมทิฟเพื่อดูแลการทำธุรกิจรถยนต์นั้น จะต้องจับเอารถสปอร์ตรุ่นใหม่ล่าสุดของตัวเองออกพิสูจน์ฝีมือในสนามแข่งทางเรียบระดับโลก อาจจะเพื่อหวังผลนำความสำเร็จมาสร้างยอดขาย หรือเพื่อการควานหาถ้วยรางวัลมาประดับตู้โชว์เพียงอย่างเดียวก็ไม่อาจทราบได้ แต่ทว่า MP 4-12C ก็พร้อมกระโดดสู่สนามแข่ง ด้วยการสวมชุดนักแข่งรอเอาไว้แล้ว

ในช่วงทศวรรษที่ 1990 การแข่งรถในแบบ GT ต่างประจักษ์กับความแรงและความสำเร็จของแม็คลาเรน F1 มาแล้ว ไม่ว่าจะการคว้าแชมป์เลอมังส์ หรือการแข่งขัน GT ที่จัดโดยทาง FIA ส่วนในทศวรรษที่ 2010 เป็นหน้าที่ของ MP 4-12C ซึ่งจะเบนเข็มเข้าร่วมการแข่งขันในคลาส GT3 ต่างจากแม็คลาเรน F1 ที่เข้าร่วมในรุ่น GT1 และเป็นอีกครั้งที่นอกจากจะลงแข่งขัน F1 แล้ว ทางแม็คลาเรนยังเข้าร่วมการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตระดับนานาชาติอีกรายพร้อมๆ กัน

ในคลาส GT3 จะเป็นเวทีที่ MP4-12C จะได้พิสูจน์ฝีมือและสมรรถนะอย่างเต็มที่เพราะรถแข่งที่ถูกพัฒนาเพื่อเข้าร่วมในการแข่งขันคลาสนี้ต่างก็เป็นคู่ปรับอยู่ในตลาดด้วยเช่นกัน โดยโปรเจกต์นี้เป็นการพัฒนาร่วมกับทีม CRS Racing และแม็คลาเรนจะนำตัวแข่ง MP4-12C GT3 เข้าร่วมการแข่งขันเพื่ออุ่นเครื่องกันหลายรายการ เช่น Blancpain Endurance Series ที่สนามในสเปน, ฝรั่งเศส และอังกฤษ ตามด้วยการเข้าร่วมการแข่งขันรายการ 24 ชั่วโมง Total 24 Hours of Spa ที่สนามสปาในประเทศเบลเยี่ยม จากนั้นในปี 2012 ก็จะสนับสนุนรถแข่งให้กับทีมแข่งต่างๆ ที่สนใจ

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของรายละเอียดทางเทคนิคเกี่ยวกับตัวรถ ในตอนนี้ทางแม็คลาเรนยังไม่ได้เปิดเผยออกมา แต่โครงสร้างพื้นฐานถูกพัฒนาให้สอดคล้องตามกฎการแข่งขันในคลาส GT3 ของ FIA โดยอิงอยู่กับพื้นฐานของ MP 4-12C รุ่นขายอยู่ในตลาด ซึ่งถือว่าเป็นซูเปอร์คาร์ฝีเท้าจัดที่ได้รับการจับตามองรุ่นหนึ่งของโลก


สำหรับตัวแข่งรุ่นนี้ได้รับการพัฒนาจากองค์ความรู้ของทีมแม็คลาเรน ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงมอเตอร์สปอร์ตระดับโลกอย่างฟอร์มูลา วัน มามากกว่า 40 ปี และจุดเด่นของตัวรถคือ การนำเทคโนโลยีคาร์บอนไฟเบอร์จากรถแข่งมาใช้กับรถบ้าน ซึ่งแม็คลาเรนถือเป็นทีมแข่งแรกๆ ของโลกที่นำวัสดุนี้มาใช้กับรถแข่ง F1 ที่เข้าร่วมการแข่งขันในวันที่ 5 มีนาคม 1981 ในรายการบริติช กรังด์ปรีซ์ และตรงนี้ถูกถ่ายทอดมาสู่ MP4-12C ทั้งรุ่นที่ขายในตลาดและรถแข่ง GT3

ตัวรถแข่งใช้โครงค็อกพิต หรือ MonoCell ที่มีน้ำหนัก 75 กิโลกรัมร่วมกับรุ่นในสายการผลิต รวมถึงมีการลดน้ำหนักตัวรถลงอย่างมาก เพียงแต่ไม่ได้บอกว่ามากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ เบากว่ารุ่นขายจริงซึ่งมีน้ำหนักอยู่ที่ 1,301 กิโลกรัมอย่างแน่นอน

ในตอนนี้ตัวรถเสร็จสิ้นการพัฒนาแล้ว และรอทดสอบอย่างเต็มตัวอีกครั้งก่อนเริ่มลุยสนามแข่งตามรายการต่างๆ ตามที่ระบุข้างบน หลังจากนั้นทางแม็คลาเรนก็จะผลิตเวอร์ชันตัวแข่งของ MP4-12C ให้กับทีมแข่งต่างๆ ที่สนใจเป็นลูกค้าซื้อตัวแรงรุ่นนี้ไปเข้าร่วมการแข่งขันคลาส GT3 ในการแข่งขัน GT ของ FIA โดยคาดว่าระหว่างปี 2012-2014 จะมีรถแข่งรุ่นนี้ถูกผลิตออกมาประมาณ 20 คัน

Nissan LEAF NISMO RC Concept : พลังไฟฟ้าก็ลุยสนามแข่งได้

นอกจากจะสร้างความฮือฮาในตลาดรถยนต์ปกติแล้ว ดูเหมือนว่าทางนิสสันจะไม่หยุดสร้างกระแสให้กับรถยนต์พลังไฟฟ้ารุ่นดังของตัวเองอย่าง LEAF เพียงแค่นี้ เพราะล่าสุดจัดการมอบหน้าที่ให้กับทาง NISMO จับเอา LEAF มาดัดแปลงให้กลายร่างเป็นรถแข่งทางเรียบไปแล้ว

LEAF NISMO RC Concept ถูกเปิดตัวครั้งแรกในงานนิวยอร์ก มอเตอร์โชว์ 2011 เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเป็นต้นแบบที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่านอกจากการเป็นรถยนต์ปลอดมลพิษและไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงในการแล่นแล้ว ยังสามารถแปลงร่างและเปลี่ยนบทบาทมาเป็นรถแข่งสำหรับใช้ลุยในสนามแข่งทั่วโลกได้อีกด้วย โดยชื่อรุ่น RC มีความหมายถึง Racing Competition ที่เกิดขึ้นมาภายใต้แนวคิด Racing Green ซึ่งเป็นมอเตอร์สปอร์ตสีเขียวที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม

แน่นอนว่าตัวรถถูกพัฒนาโดยยึดพื้นฐานของ LEAF ซึ่งเป็นรถยนต์แฮทช์แบ็ก 5 ประตู แต่คราวนี้ถูกปรับสภาพใหม่ด้วยการขึ้นรูปตัวถังใหม่ แปลงร่างมาเป็นตัวถังแบบสปอร์ตคูเป้ 2 ประตู พร้อมโครงสร้างตัวถังแบบโมโนค็อกที่ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ โดยงานออกแบบในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของ Global Design Center ของนิสสันที่ญี่ปุ่น

ในเวอร์ชันตัวแข่งต้นแบบมาพร้อมกับระยะฐานล้อที่สั้นกว่ารุ่นจำหน่ายจริงของ LEAF อยู่ 3.9 นิ้ว หรือ 99 มิลลิเมตร ซึ่งหมายความว่าระยะฐานล้อของ LEAF NISMO RC จะมีตัวเลขที่ 2,600 มิลลิเมตร ขณะที่ความกว้าง และยาวจะเพิ่มขึ้นจากรุ่นมาตรฐาน 45 และ 170 มิลลิเมตรตามลำดับ พร้อมกับลดความสูงใต้ท้องรถลงมาอยู่ที่ 2.4 นิ้ว หรือ 60 มิลลิเมตรเท่านั้นเอง (รุ่นขายจริง Ground Clearance อยู่ที่ 6.3 นิ้ว หรือ 160 มิลลิเมตร)


สำหรับน้ำหนักตัว จากเดิมน้ำหนักรถยนต์พลังไฟฟ้ามีน้ำหนักค่อนข้างมากเพราะว่าแบตเตอรี่ แต่ในตัวแข่งรุ่นนี้ นิสสันสามารถลดน้ำหนักลงจากรุ่นปกติได้ถึง 40% ซึ่งนั่นหมายความว่าตัวแข่งรุ่นนี้มีน้ำหนักในระดับ 940 กิโลกรัมเท่านั้น ส่วนเลย์เอาท์ในการจัดวางระบบพลังขับเคลื่อนไฟฟ้าไม่แตกต่างจากรุ่นปกติ เพียงแต่มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องของระบบขับเคลื่อนจากเดิมในแบบล้อหน้ามาเป็นแบบล้อหลัง ขณะที่ระบบช่วงล่างก็เปลี่ยนมาเป็นแบบปีกนก 2 ชั้นทั้งด้านหน้าและหลัง พร้อมระบบปรับแรงดันเบรกด้านหน้าและหลัง ส่วนล้อแม็กเป็นขนาด 18 นิ้วจับคู่กับยางแข่งไซส์ 225/40R18 ของบริดจสโตน

แบตเตอรี่ที่ใช้ในตัวแข่งเป็นแบบลิเธียม-ไออน ซึ่งประกอบไปด้วยโมดุลย่อยในระบบ 48 ส่วน และจะทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 80 กิโลวัตต์ที่มีขนาดกะทัดรัด และสามารถรีดกำลังออกมาได้ 107 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 28.5 กก.-ม.

ตัวรถสามารถชาร์จกระแสไฟฟ้าจากระดับ 0 จนมาอยู่ที่ 80% ของแบตเตอรี่ได้ภายใน 30 นาทีภายใต้โหมด Quick Charge ซึ่งพอร์ตสำหรับเสียบปลั๊กชาร์จจะติดตั้งอยู่ที่บริเวณตัวถังด้านหลัง ส่วนสมรรถนะของตัวรถจะมีอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ที่ 6.85 วินาที และความเร็วสูงสุด 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยที่ตัวรถสามารถแล่นได้นานถึง 20 นาทีภายใต้สภาพการขับในสนามแข่งหากมีการชาร์จแบตเตอรี่จนเต็ม

นี่ไม่ใช่ผลผลิตที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเรียกเสียงฮือฮาในการจัดแสดงเท่านั้น แต่นิสสันเผยว่าจะมีการนำต้นแบบตัวแข่งรุ่นนี้ออกแล่นในสนามแข่งเพื่อเป็นการสร้างความตื่นตัวและเพื่อให้ทุกคนได้รับทราบว่า “อีกไม่นาน มอเตอร์สปอร์ตที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้ากำลังจะเกิดขึ้นแล้ว”

Mercedes-Benz C63AMG : รับหน้าที่ Safety Car ใน DTM

ในการแข่งขันทัวริงคาร์รายการ DTM ของเยอรมนีปีนี้ นอกจากการเข้าร่วมเป็นหนึ่งในรถแข่งที่แล่นอยู่ในสนามแล้ว เมอร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาส ยังรับหน้าที่ในการเป็น Safety Car หรือรถสำหรับใช้ควบคุมการแข่งขันในรายการ DTM 2011 อีกด้วย

ตรงนี้ถือเป็นอีกครั้งที่รถยนต์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ มีส่วนร่วมในการเป็น Safety Car ของการแข่งรถรายการบิ๊กเนม โดยก่อนหน้านี้ตัวแรงในรหัส AMG มักจะถูกส่งมาทำหน้าที่ Safety Car ในการแข่งขันฟอร์มูลา วันเป็นประจำทุกปีนับจากปี 1996 เป็นต้นมา ซึ่งในปัจจุบันหน้าที่นี้เป็นงานของ SLS AMG

สำหรับงาน Safety Car ในสนามแข่ง DTM ปีนี้เป็นหน้าที่ของ C63AMG ตัวถังซีดานที่เพิ่งจะมีการปรับโฉม หรือไมเนอร์เชนจ์ตามรุ่นปกติของซี-คลาส โดยตัวรถได้รับการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับงานในสนามแข่งโดยแผนก Overall Vehicle Development และ Performance Studio ของ AMG

ทาง Deutsche Motorsportbund (DMSB) ซึ่งเป็นผู้ออกกฎและดูแลการแข่งขัน DTM จัดการเลือก C63AMG เข้ามารับหน้าที่นี้ และมี Jürgen Kastenholz อดีตนักแข่งวัย 43 ปีรับหน้าที่ในการนั่งหลังพวงมาลัยของ Safety Car คันนี้

หน้าที่หลักของ Safety Car ใน DTM ก็ไม่แตกต่างจาก F1 โดยนอกจากจะขับนำขนวนบรรดารถแข่งในสนามช่วงรอบวอร์มอัพแล้ว ก็จะออกมาควบคุมการแข่งขันในจังหวะที่เกิดอุบัติเหตุอย่างหนัก และเจ้าหน้าที่สนามต้องเคลียร์แทร็ก หรือฝนตกจนการแข่งขันต้องยุติชั่วคราวเพื่อให้พื้นผิวสนามและทัศนวิสัยกลับมาพร้อมสำหรับการแข่งขันอีกครั้ง

ดังนั้น เพื่อให้พลขับมีความพร้อมและทันต่อเหตุการณ์ ภายในห้องโดยสารของตัวรถจะถูกดัดแปลงในการรับข้อมูลและข่าวสารจากทางผู้จัดการแข่งขันทั้งวิทยุสื่อสารกับผู้ควบคุมการแข่งขัน และภาพที่ดึงมาจากการถ่ายทอดสด เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุจะได้ออกไปแล่นได้อย่างทันท่วงที

รูปลักษณ์ภายนอกถอดแบบมาจาก C63AMG ตัวปรับโฉม แต่เพิ่มความสดแปลกใหม่ด้วยไซเรนที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาพร้อมกับไฟสัญญาณสำหรับใช้สื่อสารกับนักแข่งที่ขับตามหลัง ในแง่ของความสวยงาม มาพร้อมกับล้อแม็กลายใหม่ขนาด 19 นิ้วจับคู่กับนยาง 235/35 ที่ล้อหน้า และ 255/30 ที่ล้อหลัง พร้อมกับสปอยเลอร์หลังผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์

ในด้านสมรรถนะยังเหมือนเดิม เพราะใต้ฝากระโปรงหน้าของตัวรถมากับเครื่องยนต์วี8 ขนาด 6208 ซีซี พร้อมกับติดตั้งชุดเพิ่มสมรรถนะที่เรียกว่า AMG Performance Package มาด้วย ซึ่งนั่นทำให้กำลังขับเคลื่อนเพิ่มจาก 457 แรงม้าในแบบปกติขึ้นมาอยู่ที่ 487 ตัว และแรงบิดสูงสุด 61.1 กก.-ม. ซึ่งชุดแพคเกจนี้มีการผลิตขายเป็นอุปกรณ์เลือกติดตั้งพิเศษให้กับบรรดาลูกค้าเท้าขวาหนักอยู่แล้ว ส่งกำลังสู่ล้อหลังด้วยเกียร์ AMG SPEEDSHIFT MCT แบบ 7 จังหวะ ซึ่งถูกออกแบบและปรับเซตมาเพื่อความเหมาะสมทั้งการใช้งานบนท้องถนนและในสนามแข่ง

ในรุ่นนี้มาพร้อมกับความเร้าใจด้วยอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงใน 4.3 วินาที และความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับการใช้งานในสนามแข่ง

สำหรับการแข่งขัน DTM ในปีนี้เริ่มสนามแรกไปแล้วที่ฮ็อคเคนไฮม์ ประเทศเยอรมนี และสนามต่อไปมีขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่สนาม Zandvoort ประเทศฮอลแลนด์ ส่วนการแข่งขันในปีนี้มีทั้งหมด 11 สนามด้วยกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น