xs
xsm
sm
md
lg

"เอ็กซเรย์"ตลาดรถQ1 เจาะรุ่นฮิตรายเซกเมนต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ ยังคงเป็นปิกอัพที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
ตลาดรถไทยแรงจนฉุดไม่อยู่จริงๆ ปี 2553 ที่ผ่านมาว่าทุบสถิติแล้วทุบสถิติอีก แต่มาปีกระต่ายบินยิ่งแรงกว่า จนไม่รู้จะบรรยายยังไง? แม้แต่บรรดาเกจิในวงการยังยากที่จะค้นหาคำตอบมาอธิบายเหตุผลได้ชัดเจน เพราะยอดขายไตรมาสแรกของปี 2554 นี้(ม.ค.-มี.ค.) พุ่งไป 2.4 แสนคัน และยิ่งเฉพาะมีนาคมเดือนเดียว ตัวเลขยอดขายกระโดดค้ำถ่อไปร่วม 1 แสนคัน เรียกว่าสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่กันเลยทีเดียว ทั้งที่ช่วงเดือนมีนาคมเจอปัจจัยลบเข้ามากระทบไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาน้ำมันแพง หรืออุทกภัยน้ำท่วมทางภาคใต้

และหากจะว่ามีรถยนต์บางกลุ่มตลาด หรือเซกเมนต์ มาช่วยผลักดันให้ตลาดรถไทยไตรมาสแรกเติบโตก็ไม่ใช่ทีเดียว เพราะจากการสำรวจเข้าไปแต่ละเซกเมนต์แล้ว ล้วนขยายตัวเป็นบวกกันถ้วนหน้า อาจจะมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป แต่นั่นก็แสดงให้เห็นว่าตลาดรถไทยปีนี้เติบโตอย่างชัดเจน ส่วนเซกเมนต์ไหน? รุ่นใด? ฮอตมากฮอตน้อย “ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง” จะเอกซเรย์เป็นรายเซกเมนต์หลัก เพื่อให้เห็นกันอย่างแจ่มแจ้งไปเลย...

จากรายงานตัวเลขยอดขายรถยนต์ไตรมาสแรกปีนี้(ม.ค.-มี.ค.) ของกลุ่มผู้ประกอบการรถยนต์ญี่ปุ่น(JCC) และสหรัฐอเมริกา รวมถึงค่ายรถทาทาจากอินเดีย ปรากฏว่าตลาดรถยนต์ไทยในช่วงไตรมาสแรกปีนี้(ม.ค.) มียอดขายกว่า 2.4 แสนคัน (เฉพาะ JCC+สหรัฐอเมริกา 2.38 แสนคัน) หรือเติบโต 43.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ดูตารางประกอบ) และหากรวมกับรถหรูจากยุโรป ตลอดจนรถในประเทศเอเชียอื่นๆ ตลาดรถไทยไตรมาสแรกปีนี้มีจำนวนมากถึง 2.45 แสนคัน

เฉพาะเดือนมีนาคม นับว่าเป็นอีกก้าวสำคัญของตลาดรถไทย เพราะสามารถทำตัวเลขมากถึง 9.3 หมื่นคัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 48% และหากรวมกับรถยุโรปและอื่นๆ มียอดขายทั้งหมดร่วม 1 แสนคันเลยทีเดียว

เมื่อเจาะเข้าไปแต่ละกลุ่มตลาดรถ หรือเซกเมนต์ โดยอาศัยข้อมูลจากตัวเลขยอดขายของ JCC และค่ายรถอเมริกัน จะเห็นว่าตลาดปิกอัพ 1 ตัน ยังคงเป็นตลาดหลักสำคัญของไทย แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายฝ่ายมองแนวโน้มสัดส่วนยอดขาย จะถูกเก๋งขนาดเล็กไล่เบียดจี้ขึ้นมาติดๆ แต่ ณ วันนี้ตลาดปิกอัพ 1 ตัน ยังคงเป็นตลาดหลักสำคัญของไทย เพราะมีสัดส่วนมากสุดเกินกว่า 50% โดยมีปริมาณการขาย 1.03 แสนคัน เติบโต 31.7%

โดยปิกอัพที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ยังคงเป็นโตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ ด้วยยอดขายกว่า 3.9 หมื่นคัน โดยมีอีซูซุ ดีแมคซ์ ตามมาเป็นอันดับ 2 แม้จะมีข่าวเปิดตัวปิกอัพอีซูซุโมเดลใหม่ มาแทนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ก็ตาม แต่ยอดขายดีแมคซ์กลับไม่ตกลง ทำได้กว่า 3.6 หมื่นคัน ยังรักษาการเติบโตไว้ได้ 17% เช่นเดียวกับปิกอัพ มาสด้า บีที-50 แม้จะเผยโฉมรุ่นใหม่ให้เห็นกันแล้ว แต่ยอดขายกับพุ่ง 140% ทำให้อยู่อันดับ 4 ของตลาดปิกอัพ รวมถึงเชฟโรเลต โคโรลาโด ที่จะเปิดตัวโฉมใหม่ช่วงปลายปีนี้เช่นกัน ยอดขายยังพุ่ง 98% ซึ่งนั่นมาจากแคมเปญกระตุ้นยอดขาย ที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่าที่จะซื้อรถรุ่นเก่าอยู่


นอกจากนี้ ที่น่าสนใจเห็นจะเป็นปิกอัพ มิตซูบิชิ ไทรทัน ที่มียอดขายเพิ่มถึงเกือบ 2 เท่าตัว และทำให้ผงาดมาอยู่อันดับ 3 นั่นน่าจะมาจากการเริ่มจับตลาดถูกทาง ไม่ว่าจะเป็นการวางเครื่องยนต์รองรับพลังงานก๊าซธรรมชาติ หรือซีเอ็นจี(CNG) รวมถึงการเปิดตัวเครื่องยนต์ใหม่ 2.5 วีจีเทอร์โบ เมื่อบวกกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ดีขึ้น จากความนิยมของรถอเนกประสงค์พีพีวี “มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต” จึงทำให้ยอดขายปิกอัพรุ่นไทรทันได้รับผลดีไปด้วย และอีกค่ายที่มีความชัดเจนในการทำตลาด เห็นจะเป็น “ทาทา ซีนอน” ที่ชูความเป็นรถระบบซีเอ็นจีเพียวๆ มุ่งเจาะกลุ่มผู้ประกอบขนส่ง ทำให้ยอดขายเติบโตเช่นเดียวกัน

มาที่เก๋งคอมแพ็กต์ โตโยต้า อัลติส ยังคงครองความเป็นผู้นำ และยิ่งการเปิดตัวรุ่นไมเนอร์เชนจ์ ทำให้อัลติสกลับมาเติบโตได้อย่างน่าพอใจ และอันดับสองยังคงเป็น ฮอนด้า ซีวิค ที่ใกล้จะตกรุ่นทุกที เพราะโฉมใหม่จะมาทำตลาดแทนในปลายปีนี้แล้ว จึงไม่แปลกที่จะมียอดขายเติบโตน้อยสุดกว่า 5 อันดับแรกด้วยกัน แต่ที่น่าเหนื่อยเห็นจะเป็น มิตซูบิชิ แลนเซอร์ ที่ยอดขายกลับตกลง ทั้งที่โฉมใหม่เพิ่งเปิดตัวได้ปีกว่าๆ เท่านั้น และเชฟโรเลต ครูซ เป็นอีกรุ่นที่ต้องลุ้น เพราะเพิ่งเปิดตัวเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ยอดขายยังไม่ถึงหลักพันคันต่อเดือน เป้าหมายหลังปีแรก 1 หมื่นคันท่าจะลำบากซะแล้ว
การไมเนอร์เชนจ์ของ “ฮอนด้า แอคคอร์ด กระตุ้นยอดขายได้ส่วนหนึ่ง

ส่วนที่น่าจับตามองอีกรุ่น เห็นจะเป็นรถไฮบริด โตโยต้า พริอุส ที่ทำยอดขายได้เดือนละประมาณ 1 พันคัน ถือว่าเฉลี่ยยอดขายเป็นไปตามเป้าหมายตลอดปี 1 หมื่นคัน แต่ก็ต้องลุ้นเช่นกัน เพราะช่วงเปิดตัวยังทำตัวเลขไม่เกินเป้า แล้วระยะยาวย่อมต้องลดลงตามสภาพความสดใหม่ของรถ นี่จึงเป็นการบ้านที่หนักพอสมควรกับเดิมพันของโตโยต้า ในการที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถไฮบริดต่อไป เหตุนี้ล่ะมั้งเพียงแค่ 3 เดือน โตโยต้าจึงออกรุ่นตกแต่งพิเศษมาช่วยดันยอดเสียแล้ว

แต่ที่ร้อนแรงจริงๆ เห็นจะเป็นกลุ่มตลาดเก๋งขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นซับคอมแพกต์ หรืออีโคคาร์ ที่มียอดขายรวมกันมากถึง 6.4 หมื่นคัน มากกว่าปีที่ผ่านมา 89% นับเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด เรียกว่าใครผลิตรถในตลาดนี้ออกมาเป็นขายดีเทน้ำเทท่า และมีที่น่าแปลกใจเห็นจะเป็น โตโยต้า วีออส เจ้าตลาดซับคอมแพ็กต์ ที่เดือนมีนาคมกวาดยอดไปกว่า 8 พันคัน ทำเอาคู่แข่งงงไปตามๆ กัน ซึ่งหากมองแบบตาเห็นทั่วไป น่าจะมาจากการทุ่มโฆษณา และจัดแคมเปญ โดยเฉพาะการให้เงื่อนไขพิเศษแก่ข้าราชการแบบสุดๆ นั่นเอง
มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต มีแนวโน้มได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ
ในส่วนของอีโคคาร์ก็น่าสนใจไม่น้อย เดิมมีเฉพาะ นิสสัน มาร์ช เพียงรุ่นเดียวทำตลาด คู่แข่งที่มีก็เป็นรถนำเข้าจากมาเลเซีย หรือจีน ชื่อชั้นจึงต่างกันเยอะ ทำให้ยอดค้างส่งมอบมาร์ชนับหมื่นคัน หรือลูกค้าต้องรอรถนาน 4-5 เดือน แต่ทันทีที่อีโคคาร์คู่แข่ง “ฮอนด้า บริโอ” เปิดตัวสู่ตลาด นิสสันสามารถเนรมิตรุ่นมาร์ชส่งมอบได้ทันที เห็นได้จากเดือนมีนาคมส่งมอบลูกค้าไปถึง 5 พันคัน จากปกติส่งมอบได้แค่เดือนละ 2 พันคันเท่านั้น

สำหรับตลาดเก๋งขนาดกลาง โตโยต้า คัมรี ยังคงได้รับความนิยมสูงสุด แต่ก็เริ่มเห็นแนวโน้มลดลงชัดเจน ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการไมเนอร์เชนจ์ของคู่แข่ง “ฮอนด้า แอคคอร์ด” เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และอีกส่วนน่าจะมาจากกลุ่มลูกค้าหลักที่ซื้อรุ่นไฮบริด ที่ได้หันไปซื้อโตโยต้า พริอุส รถไฮบริดเช่นเดียวกันแทน แม้จะเล็กกว่าก็ไม่ได้มาก แต่ดูหรูหราเช่นเดียวกัน ที่สำคัญมีราคาถูกกว่ามาก นี่น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ยอดขาย โตโยต้า คัมรี่ ตกลง 10%

เช่นเดียวกับตลาดรถอเนกประสงค์แบบพีพีวี ที่แม้โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ จะครองความเป็นผู้นำ แต่ยอดขายก็ตกลงเช่นกัน ซึ่งน่าจะมาจากลูกค้าบางส่วน หันไปให้ความนิยมแก่ มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง และถือเป็นคู่แข่งสำคัญที่จะโค่นฟอร์จูนเนอร์ หากเทียบกับอีซูซุ มิว-7 ที่มีรูปลักษณ์และการออกแบบค่อนข้างอนุรักษ์นิยม จึงมีลูกค้าที่เฉพาะกลุ่มตัวเองเท่านั้น ขณะที่รถเอสยูวี ฮอนด้า ซีอาร์-วี ยังคงสามารถประคองความนิยมได้ดีทีเดียว แม้จะถูกรถพีพีวีแย่งลูกค้าไปบ้าง โดยมีเชฟโรเลต แคปติวา มาคอยกวนใจให้พอรำคาญตาเล่นๆ

นี่เป็นภาพรวมของตลาดรถหลักๆ ในไทย(ดูรายละเอียดจากตารางประกอบ) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมของผู้บริโภคชาวไทย ที่มีต่อรถยนต์แต่ละยี่ห้อแต่ละประเภทในปัจจุบัน รวมถึงทิศทางแนวโน้มของตลาดและค่ายรถต่อไป...
กำลังโหลดความคิดเห็น