ยักษ์ใหญ่ “โตโยต้า” ส่อโดนมรสุมกระหน่ำหนักหลายลูก โดยที่กำลังฝ่าอยู่เป็นหางเลขจากมหาตภัยสึนามิที่ญี่ปุ่น จนต้องลดกำลังการผลิตลง 50% ทำให้ล่าสุดรถในโชว์รูมเริ่มขาดสต็อก ไม่มีรถรับจองและส่งมอบจนกว่าจะถึงเดือนสิงหาคม และหากลูกค้าจองตอนนี้ไม่เพียงรอนาน 4-6 เดือนแล้ว ยังได้แค่รถและป้ายทะเบียนเท่านั้น ไม่มีเงื่อนไขหรือแคมเปญใดๆ ให้ทั้งสิ้น ขณะที่แผนการเปิดตัว “โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้”รุ่นใหม่ ที่จะทำการไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่ เพื่อฟาดฟันกับปิกอัพโฉมใหม่ของ 4 ค่ายคู่แข่ง อีซูซุ, เชฟโรเลต, มาสด้า และฟอร์ด ซึ่งจะส่งบุกตลาดช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่ผลกระทบจากปัญหาการผลิต ทำให้ต้องเลื่อนแนะนำปิกอัพวีโก้ใหม่สู่ตลาด ไปเป็นอย่างช้าต้นปีหน้า จากเดิมกำหนดประมาณเดือนสิงหาคมปีนี้ เท่านั้นไม่พอโตโยต้ายังต้องมาลุ้นภาษีสรรพสามิตรถไฮบริด หากรัฐบาลนำโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์กลับมาพิจารณาใหม่ หลังจากที่ประชุมครม.รัฐบาลอภิสิทธิ์นัดส่งท้ายตีตกไป และมอบหมายให้ 3 กระทรวงไปปรับแก้ไข และนำกลับมานำเสนอในอีก 3 เดือนข้างหน้า งานนี้หากโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ไม่สามารถใช้พลังภายในเบรกรัฐบาลใหม่ไว้ได้ ย่อมทำให้รถไฮบริด 2 รุ่น “โตโยต้า คัมรี ไฮบริด” และ “โตโยต้า พริอุส” ราคาพุ่งแน่ และอาจจะส่งผลสะเทือนถึงอนาคตฐานการผลิตรถไฮบริดในไทยได้?!
ปั่นป่วนไปกันหมดจากอุบัติภัยสึนามิที่ญี่ปุ่น ที่สั่นสะเทือนมาถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย จนหลายค่ายรถต้องประกาศลดกำลังการผลิตลง ซึ่งประเมินว่าในช่วงตั้งแต่ปลายเมษายน-มิถุนายนนี้ จะทำให้กำลังการผลิตในไทยหายไปถึง 1.5 แสนคัน อย่างไรก็ตามล่าสุดค่ายที่ไม่โดนหนักก็กลับมาฟื้นบ้างแล้ว อย่าง “มิตซูบิชิ” ยืนยันพร้อมเดินหน้าการผลิตเช่นเดิม เพราะบริษัทแม่ให้การสนับสนุนมากขึ้น จึงทำให้การผลิตไม่มีปัญหา เช่นเดียวกับ “มาสด้า” ที่มีการส่งชิ้นส่วนให้กับโรงงานในไทยก่อนประเทศอื่นๆ จึงทำให้กลับมาเร่งการผลิตได้เร็วขึ้น และส่งผลให้มาสด้า3 โฉมใหม่ จะเริ่มส่งมอบได้ในเดือนมิถุนายนนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะเป็นเดือนกรกฎาคมถัดไป แต่ค่ายที่เจอหนักๆ อย่าง “ฮอนด้า” ก็ยังต้องชะลอการผลิตอยู่ หรือยักษ์ใหญ่ “โตโยต้า” ที่ไม่เพียงต้องลดกำลังการผลิตลง 50% ยังส่งผลกระทบต่อแผนการเปิดตัวรถใหม่ และเท่านั้นไม่พอยังลุ้นว่าจะเจอมรสุมจากโครงสร้างภาษีใหม่ที่ตกไป กลับมาหลอกหลอนอีกหรือไม่?...
โดยค่ายโตโยต้าในประเทศไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่น จนต้องลดการผลิตรถยนต์ลง 50% และหยุดทำงานในบางวัน ขณะที่ในส่วนของรถนำเข้าจากญี่ปุ่น “โตโยต้า คอมมิวเตอร์” ได้มีการหยุดรับจองรถชั่วคราว ตามที่ “ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง” ได้รายงานไปแล้วนั้น ซึ่งจากการตรวจสอบสถานการณ์ของโตโยต้าปัจจุบัน ผลจากการลดการผลิตรถในประเทศลง ทำให้การส่งมอบรถกับลูกค้าล่าช้าออกไปหลายเดือน
ทั้งนี้มีรายงานว่ารถโตโยต้าในโชว์รูมเริ่มขาด โดยเฉพาะรถรุ่นที่ลูกค้านิยม ไม่สามารถให้คำตอบลูกค้าได้ว่า จะสามารถส่งมอบรถได้เมื่อใด เหตุนี้จึงต้องให้พนักงานขายสลับกันหยุดและทำงาน เพราะช่วงนี้ไม่มีรถในสต็อกขายเลย อย่างเช่น “โตโยต้า วีออส” ที่รถจะเริ่มเข้ามาในช่วงเดือนสิงหาคม แต่ก็ไม่ยืนยันแน่นอนว่าจะได้รับรถทันที และหากลูกค้าจองไว้ช่วงนี้จะได้เฉพาะตัวรถและป้ายทะเบียนเท่านั้น โดยไม่ได้รับแคมเปญหรือเงื่อนไขอะไรเลย เช่นเดียวกับ “โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้” ที่อาจจะต้องรอนานถึง 6 เดือน
จากปัญหาการผลิตรถของโตโยต้า ไม่เพียงจะทำให้การส่งมอบรถล่าช้าเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงแผนการเปิดตัวปิกอัพ “โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้” รุ่นไมเนอร์เชนจ์อีกด้วย ซึ่งตามกำหนดเดิมโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จะส่งรุ่นปรับโฉมของปิกอัพวีโก้สู่ตลาด ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ แต่เมื่อการผลิตมีปัญหาและรถรุ่นเก่าไม่สามารถส่งมอบได้ จึงจำเป็นต้องเลื่อนการเปิดตัวโฉมใหม่ออกไปเป็นช่วงต้นปีหน้า หรืออย่างเร็วสุดเป็นโค้งสุดท้ายของปีนี้แทน
สำหรับแผนการส่งปิกอัพไฮลักซ์ วีโก้ ใหม่ ที่จะเป็นการไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่ เพื่อรับมือกับการโมเดลเชนจ์ของปิกอัพคู่แข่งในตลาด ที่จะมีการเปิดตัวโฉมใหม่ในเวลาไล่เลี่ยถึง 4 รุ่น โดยเฉพาะคู่แข่งสำคัญ “อีซูซุ ดีแมคซ์” โฉมใหม่ ที่กำลังซุ้มรอแนะนำสู่ตลาดในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่จะถึงนี้ และจากรายงานล่าสุดอีซูซุยังยืนยันแผน ที่จะแนะนำปิกอัพดีแมคซ์ใหม่สู่ตลาดตามกำหนดเดิม
ส่วนอีก 3 รุ่น ได้มีการเผยโฉมให้เห็นกันในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2011 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นปิกอัพต้นแบบของ “เชฟโรเลต โคโลราโด” ใหม่ รวมถึงการเผยโฉมคันรูปลักษณ์เสมือนรุ่นขายจริงของปิกอัพ “ฟอร์ด เรนเจอร์” ใหม่ และอีกรุ่น “มาสด้า บีที-50” ที่แม้จะยังไม่นำเข้ามาให้ชมกันในไทย แต่ได้มีการเผยโฉมไปก่อนหน้านี้ ในงานออสเตรเลีย มอเตอร์โชว์ 2010 ที่ผ่านมา โดยทั้ง 3 รุ่น จะเปิดตัวทำตลาดอย่างเป็นทางการในประเทศไทยช่วงปลายปีนี้แน่นอน
ดังนั้นหากโตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ ใหม่ เลื่อนการเปิดตัวตามรายงานข่าวล่าสุด ย่อมทำให้เสียเปรียบในตลาดพอสมควร รวมถึงรถที่ใช้โครงสร้างพื้นฐานเดียวกับปิกอัพวีโก้ อย่าง “โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์” ที่ต้องเลื่อนการเปิดตัวโฉมใหม่ไปเช่นเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะสูญเสียโอกาสทางการตลาด จากการไม่สามารถส่งมอบรถรุ่นปัจจุบันให้กับลูกค้าแล้ว ยังถูกคู่แข่ง “มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต” แย่งชิงยอดขาย และทำตัวเลขไล่จี้ขึ้นมาเรื่อยๆ ผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ จึงสะเทือนถล่มโตโยต้าในประเทศไทยมากทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้นโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ยังต้องลุ้นเจอมรสุมลูกใหม่อีกระลอก แม้จะหายใจโล่งจากโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ ไม่ผ่านการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) นัดส่งท้ายของรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ใช่ว่าโครงสร้างภาษีใหม่จะไม่กลับมาหลอกหลอนโตโยต้าอีกครั้ง เพราะได้มีการมอบหมายให้กระทรวงการคลัง, อุตสาหกรรม และพลังงาน ไปพิจารณาร่วมกัน และนำกลับมาเสนอรัฐบาลชุดใหม่ในอีก 3 เดือนข้างหน้า
สำหรับสาเหตุที่โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ที่เพิ่งตกไป ไม่เป็นที่พอใจของโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เพราะไม่เพียงเห็นว่าช่วงระยะเวลาให้บังคับใช้ 3 ปีเร็วไป ยังมีอัตราภาษีของรถยนต์ไฮบริด(น้ำมัน+ไฟฟ้า) ได้ปรับเป็น 20%(แต่รถปลั๊ก-อินไฮบริด 10%) แม้จะได้รับส่วนลดอีก 5% หากปล่อยก๊าซ CO2 ต่ำกว่า 150 กรัมต่อกิโลเมตร ซึ่งไม่เป็นปัญหากับรถไฮบริดอยู่แล้ว แต่นั่นก็ทำให้ภาษีสรรถสามิตรถยนต์ไฮบริดใหม่ปรับเพิ่มจากเดิมอย่างน้อย 5% (เพิ่มสูงสุด 15% หาก CO2 สูงกว่า 200 กรัมต่อกิโลเมตร) เพราะปัจจุบันรถยนต์ไฮบริดทุกแบบเสียภาษีในอัตรา 10% เท่านั้น
ทั้งนี้โตโยต้าให้ความสำคัญกับการทำตลาดรถยนต์ไฮบริดมาก ดังจะเห็นจากนโยบายของโตโยต้า มอเตอร์ และในประเทศไทยได้มีการขึ้นไลน์ผลิตรถยนต์ไฮบริด เพื่อทำตลาดในไทยถึง 2 รุ่น ได้แก่ โตโยต้า คัมรี ไฮบริด และล่าสุดโตโยต้า พริอุส ที่เพิ่งเปิดตัวสู่ตลาดเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา และเป็นเพียงยี่ห้อเดียวเท่านั้น ที่ถึงกับลงทุนขึ้นไลน์ผลิตและทำตลาดในไทย
แน่นอนหากมีการนำโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ กลับมานำเสนอรัฐบาลใหม่และได้รับการอนุมัติ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อการทำตลาดรถไฮบริดของโตโยต้าในไทยมาก เพราะจะต้องมีการปรับราคาเพิ่มตามภาษีใหม่ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ของโตโยต้า พริอุส แม้จะเป็นไปตามเป้าหมาย แต่กับยอดส่งมอบเดือนละ 1 พันคัน นับว่าค่อนข้างออกตัวอืดไปพอสมควร สำหรับรถโมเดลใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวสู่ตลาด เนื่องจากยิ่งนานไปตัวเลขการขายต้องลดลงเรื่อยๆ ตามธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม คงต้องมาลุ้นจะมีการนำเสนอโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์กลับมาให้รัฐบาลใหม่พิจารณา และจะมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขหรือไม่ แต่หากดูสาเหตุของการไม่ผ่านครม.รัฐบาลอภิสิทธิ์ ปัญหาอยู่ที่เรื่องรถยนต์ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี85 (85) ที่มีอัตราภาษีใหม่สูงกว่าเดิม ไม่ใช่มาจากการท้วงติงของโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เรื่องระยะเวลาบังคับใช้และภาษีรถไฮบริดแต่อย่างใด
เหตุนี้หากภาษีโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ ถูกกลับนำมาเสนอรัฐบาลชุดใหม่ในอีก 3 เดือนข้างหน้า หรือจะเป็นช่วงไหนก็ตาม เรื่องที่กระทรวงรับผิดชอบ จะไปปรับแก้ไขย่อมเป็นภาษีของรถใช้น้ำมัน E85 ไม่ใช่เรื่องของรถไฮบริด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น นี่จะเป็นมรสุมที่จะกระหน่ำโตโยต้าอีกระลอก และอาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฮบริดในอนาคตได้…
แต่ทุกอย่างก็มีโอกาสพลิกกลับได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะกำลังภายในของ “โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย” เป็นที่รู้กันมีพลังแค่ไหน?