xs
xsm
sm
md
lg

Land Rover Defender 110 SW ตัวลุยพันธุ์เก๋า...น่าเอาไว้เก็บ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถ้านึกถึงพวกตัวลุยพันธุ์เก๋า ที่ผ่านสมรภูมิสมบุกสมบัน รถอันดับต้นๆน่าจะมีชื่อของ “ฮัมวี่” “จี๊ป แรงเลอร์” แล้วก็ “แลนด์โรเวอร์ ดีเฟนเดอร์” ที่คุ้นหูคุ้นตาคนไทย ซึ่งสองรุ่นแรกเป็นรถสัญชาติอเมริกัน ส่วนรุ่นหลังเป็นแบรนด์อักฤษที่ถูกอินเดียซื้อไปแล้ว (ทาทา ซื้อ แลนด์โรเวอร์กับจากัวร์มาจากฟอร์ด)

อย่างไรก็ตามการทำตลาดรถยนต์แลนด์โรเวอร์ในไทย ปัจจุบันเป็นของ บริษัท บริติช มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งถึงวันนี้นับเป็นเวลาปีกว่าแล้ว ที่เข้ามาดูแลการขายและบริการหลังการขาย แทน “ไทยอัลติแมทคาร์”(ไทยรุ่ง)

…มีรถแลนด์โรเวอร์หลายรุ่นครับ ที่“บริติช มอเตอร์”นำเข้ามาเปิดตัว ส่วนรุ่นที่“ASTVผู้จัดการมอเตอริ่ง” นำมาลองขับอย่าง “ดีเฟนเดอร์ 110 สเตชันแวกอน” (Defender 110 SW) ราคา 3.25 ล้านบาท ไม่รู้ว่าถูกพ่วงเชิงยัดเยียด หรือตั้งใจนำมาขายจริง เพราะดูอย่างไรแล้วรถรุ่นนี้ก็ไม่น่าจะทำยอดขายได้มากนัก เนื่องจากเข้าสู่ช่วงปลายของอายุการทำตลาด ทั้งยังอนุรักษ์เทคโนโลยียานยนต์เมื่อ 10 ปีที่แล้วเอาไว้อย่างเหนียวแน่น

นับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อมาใช้ “ดีเฟนเดอร์” ทำตลาดตั้งแต่ปี 1990 เพื่อให้เข้ากับพวก “เรนจ์โรเวอร์” หรือ “ดิสคัฟเวอรี่” (เดิมใช้ระยะฐานล้อเป็นชื่อ 90,110) ออฟโรดรุ่นดังก็ยึดหน้าตาคลาสสิกโบราณมาตลอด หรือมีการปรับโฉม พร้อมออกรุ่นพิเศษ และเสริมทางเลือกพลังขับเคลื่อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ส่วนรุ่นที่เห็นอยู่นี้เป็นการไมเนอร์เชนจ์ล่าสุด(แต่ก็เปิดตัวมา 2-3 ปีแล้ว) และเป็นการปรับครั้งสุดท้ายก่อนเตรียมยุติการทำตลาดอย่างเป็นทางการ โดยแลนด์โรเวอร์กำลังพัฒนาตัวแทนของ “ดีเฟนเดอร์” ภายใต้โปรเจกต์ “ไอคอน” Icon ซึ่งมีคิวเปิดตัวภายใน1-2 ปีนี้

...ถือเป็นความโชคดีของผู้เขียน ที่มีโอกาสได้ลองขับตำนานออฟโรดที่ยังมีชีวิตอยู่ แถมยังเป็นรถป้ายแดงเสียด้วย

ด้วยรูปลักษณ์เหลี่ยมสันคันโต ตัวถังผลิตจากอะลูมิเนียมเป็นส่วนใหญ่ (เห็นตรงซุ้มล้อใช้ไฟเบอร์) บึกบึนพร้อมบุกป่าฝ่าตะลุย ส่วนการเข้าออกต้องใช้คำว่าปีนครับ โดย2 ตำแหน่งผู้ขับและผู้โดยสารด้านหน้า ไม่มีมือจับให้โหนตัวขึ้น ผิดกับด้านหลังที่ติดมาให้แต่ก็ดึงตัวไม่ค่อยถนัดนัก แถมบานประตูคู่หลังองศาการเปิดแคบนิดเดียว

โดยระยะต่ำสุดจากพื้น(Ground Clearance) 250 มม. ตำแหน่งผู้ขับจึงอยู่ในระดับสูง และสามารถมองไปข้างหน้าได้ไกล หรือถ้าขับเทียบกับเอสยูวีอื่นๆ หรือ“ฟอร์จูนเนอร์” แล้ว พวกนี้ดูเด็กไปเลย

แม้ตัวถังกว้าง แต่พอนั่งในตำแหน่งผู้ขับหรือผู้โดยสารด้านหน้าแล้ว ขยับขยายลำบาก โดยเบาะนั่งปรับได้แค่เลื่อนหน้า-ถอยหลัง และเอนพนักพิง ส่วนพวงมาลัยปรับระดับไม่ได้เลย ที่สำคัญอุโมงค์เกียร์กินพื้นที่เยอะ ทำให้การวางขา(ซ้าย)ค่อนข้างจำกัด และเหยีบคลัตช์ยาก

การขับ“ดีเฟนเดอร์ 110 สเตชันแวกอน”ในเมืองก็เทอะทะพอสมควร ยิ่งกรณีกลับรถ ต้องใช้เลนฝั่งตรงข้างอย่างต่ำ 3 เลน และถ้าใครคิดว่า“นิสสัน นาวารา” หนักแล้ว เจอคันนี้สุดๆไปเลย ด้วยรัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 7 เมตรกว่าๆ ที่สำคัญพวงมาลัยยังเป็นแบบบอลแอนด์นัท(ลูกปืนหมุนวน) เสียด้วย

สำหรับพวงมาลัยแบบบอลแอนด์นัท มาพร้อมพาวเวอร์ผ่อนแรง อาจจะไม่ต้องใช้แรงเอี้ยวเลี้ยวมากมาย แต่การเลี้ยวต้องใช้สมาธิ และกะจังหวะระยะฟรีกันให้ดี

ในส่วนช่วงล่างหน้าและหลังเป็นแบบคานแข็ง พร้อมโช้กอัพและคอยล์สปริง ขับถนนดำรู้สึกมั่นคง ตัวรถนิ่ง การทรงตัวใช้ได้ และไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ส่วนพวงมาลัยพอคุ้นมือแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร การบังคับควบคุมในโค้งยังทำได้สบายมือ

แต่เหนืออื่นใดเราจะรับรู้ถึงแรงสะท้านมาที่ขาเล็กๆ หรือจังหวะผ่านเนิน ขึ้น-ลงคอสะพานก็ดีดเด้งพอสมควร เอาเป็นว่าขับถนนปกติ ระยะทางประมาณ 80-90 กิโลเมตร ทั้งคนขับและผู้โดยสาร ก็จะมีอาการล้าแล้วละครับ

ส่วนเก็บเสียงภายในห้องโดยสาร ถือว่าพอใช้ได้ หรือถ้าจะคิดว่าเป็นรถรูปทรงต้านลม และความดิบของการออกแบบตลอดจนวัสดุต่างๆที่สัมผัสได้ด้วยตาแล้ว เสียงจากภายนอกไม่ได้เข้ามารบกวนจนน่ารำคาญมากนัก

สำหรับขุมพลังดีเซลเทอร์โบ ขนาด 2.4 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 122 แรงม้า ที่ 3,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 360 นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 6 สปีด ให้การตอบสนองการขับขี่ได้น่าชื่นชม จังหวะการโยกเปลี่ยนเกียร์เข้าง่ายกว่าที่คิด โดยเลือกเกียร์ให้เหมาะสม ขับทางตรงถนนดี เรียกแรงบิดออกมาใช้ได้ต่อเนื่อง แต่กระนั้นก็ทำความเร็วสูงสุดทำได้เพียง 140 กม./ชม.

อย่างไรก็ตามการลองขับ“ดีเฟนเดอร์” ครั้งนี้มีเวลาจำกัด ผู้เขียนไม่มีโอกาสนำรถไปลุยป่าที่ไหน จึงอดลองเกียร์ขับเคลื่อน 4 ล้อ พร้อมความสามารถในการปีนป่ายอันเลื่องชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอยู่เหมือนกัน

ด้านอัตราบริโภคน้ำมันเฉลี่ย แลนด์โรเวอร์ เคลมไวั้ 11 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร หรือประมาณ 9.09 กิโลเมตรต่อลิตร

รวบรัดตัดความ...ในปัจจุบันมีรถยนต์หลากรุ่นหลายยี่ห้อ ทั้งเรียกตัวเองเป็น เอสยูวี เอสเอวี ครอสโอเวอร์ ที่ตอบสนองการขับขี่หลากหลาย พร้อมความอเนกประสงค์ แต่“ดีเฟนเดอร์” ถือเป็นออฟโรดขับเคลื่อน 4ล้อแท้ๆ ซึ่งถือเป็นปู่ผู้บุกเบิกในเซกเมนต์นี้ โดยสร้างชื่อมากับความสามารถในการบุกตะลุย พร้อมความแข็งแกร่ง ทนทาน ซ่อมบำรุงง่าย

แต่เมื่อรถเดินทางมาถึงปลายอายุการทำตลาด และยังไม่รู้ว่าแลนด์โรเวอร์จะมาไม้ไหนกับโปรเจกต์ “ไอคอน” ที่เปรียบเสมือนตัวตายตัวแทนของ “ดีเฟนเดอร์” ดังนั้นเศรษฐีไทยใจรัก ไม่น่าพลาดซื้อความคลาสสิกระดับตำนาน มาเก็บไว้ในโรงรถสักคัน




กำลังโหลดความคิดเห็น