ข่าวในประเทศ - ค่าย“ไทยรุ่ง ยูเนียนคาร์” ปรับตัวหนีธุรกิจรถอเนกประสงค์ดัดแปลง หลังจากบริษัทรถลงมาเล่นกันทุกค่าย หันไปรุกธุรกิจชิ้นส่วนที่กำลังเติบโตแทน ทุ่มลงทุนปีนี้กว่า 500 ล้านบาท รองรับคำสั่งซื้อ และโครงการอีโคคาร์ พร้อมลุยหาพันธมิตรต่างชาติร่วมทุน หวังเดินทางลัดเจาะตรงหาผู้ผลิตรถยนต์ และพลิกไปรับจ้างประกอบรถรุ่นพิเศษให้กับค่ายรถแทน มั่นใจปีนี้รายได้พุ่ง 2.5 พันล้านบาท หรือเติบโต 15%
นายสมพงษ์ เผอิญโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรุ่งยูเนียนคาร์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์อุตสาหกรรมรถยนต์เปลี่ยนไปมาก ขณะนี้ผู้ผลิตรถยนต์ต่างเข้ามาลงทุนในไทย และมีการผลิตสินค้าใหม่ๆ ออกมา โดยเฉพาะรถยนต์อเนกประสงค์ ที่ใช้โครงสร้างพื้นฐานจากปิกอัพ หรือรถพีพีวี(PPV) ซึ่งค่ายรถปิกอัพผลิตออกมาจำหน่ายเอง จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจประกอบรถอเนกประสงค์ปิกอัพดัดแปลง “ทีอาร์” (TR) ของไทยรุ่งฯ เป็นอย่างมาก
“ปัจจุบันรายได้จากธุรกิจรถอเนกประสงค์ทีอาร์เหลือเพียงกว่า 10% จากเดิมที่เป็นธุรกิจหลักมีสัดส่วนมากกว่า 60% ดังนั้นไทยรุ่งฯ จึงต้องปรับโครงสร้างการทำธุรกิจใหม่ โดยรายได้ 50% จะมาจากกลุ่มผลิตชิ้นส่วนและแม่พิมพ์ และ 30% เป็นการรับจ้างประกอบให้กับบริษัทรถต่างๆ ซึ่งตลาดนี้ปัจจุบันโตมาก ส่วนอีก 20% จะมาจากรถดัดแปลง และอื่นๆ คาดว่ารายได้ปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 2,400-2,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 15%”
ทั้งนี้กลุ่มผลิตชิ้นส่วนและแม่พิมพ์มีการเติบโตค่อนข้างดี เนื่องจากการขยายตัวของตลาดรถไทย และมีการย้ายฐานการผลิตของบริษัทรถเข้ามาไทยอย่างต่อเนื่อง และโดยเฉพาะโครงการอีโคคาร์ ที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยเพิ่มขึ้นอีกปีละ 5 แสนคันในอนาคต โดยปัจจุบันไทยรุ่งฯ เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนให้อีโคคาร์หลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น นิสสัน มาร์ช, ผลิตแม่พิมพ์ให้กับฮอนด้า และกำลังเตรียมชิ้นส่วนอีโคคาร์ให้กับซูซูกิ และมิตซูบิชิ
“เพื่อรองรับโครงการอีโคคาร์ ไทยรุ่งฯ จึงสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนใหม่ ที่จังหวัดระยอง มูลค่าการลงทุนกว่า 300 ล้านบาท โดยตอนนี้กำลังก่อสร้างโรงงานและจะแล้วเสร็จช่วงเดือนตุลาคม และเริ่มไลน์ผลิตได้ประมาณช่วงปลายปีนี้ ซึ่งโรงงานแห่งใหม่หากเดินกำลังการผลิตเต็มที่ จะทำให้มีรายได้เพิ่มเป็น 500-600 ล้านบาทต่อปี และนอกจากนี้จะลงทุนปรับไลน์ผลิตโรงงานไทยรุ่งฯ ที่หนองแขม อีกประมาณ 200 ล้านบาท รวมปีนี้ไทยรุ่งฯ จะมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท” นายสมพงษ์กล่าวและว่า
ขณะเดียวกันไทยรุ่งฯ พยายามมองหาพันธมิตรต่างประเทศร่วมลงทุน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และที่สำคัญจะเป็นการเปิดช่องให้เข้าไปเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนบริษัทรถมากขึ้น เพราะแต่ละบริษัทรถจะมีผู้ผลิตชิ้นส่วนในเครือข่ายประเทศตัวเองอยู่แล้ว การที่จะเข้าไปรับงานโดยตรงจึงยาก และช่วงนี้เป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนญี่ปุ่น ได้ย้ายโรงงานออกจากญี่ปุ่นจากปัญหาค่าเงินเยนแข็ง และแน่นอนเขาต้องมาลงทุนในไทย นี่จึงเป็นโอกาสที่จะขยายตลาดชิ้นส่วนของไทยรุ่งฯ
โดยปัจจุบันไทยรุ่งฯ ได้เข้าไปร่วมทุนกับบริษัทในเครือโตโยต้า เพื่อผลิตเบาะและอุปกรณ์เสริมให้กับรถโตโยต้า และได้ร่วมทุนกับบริษัทเดลต้า ภายใต้ชื่อบริษัท เดลต้า-ไทยรุ่ง จำกัด เพื่อผลิตเบาะให้กับรถยนต์มาสด้า และขณะนี้กำลังมองชิ้นส่วนพลาสติกที่มีแนวโน้มจะขยายตัวมาก ซึ่งไทยรุ่งฯ กำลังพิจารณาหาผู้ร่วมทุนในธุรกิจชิ้นส่วนพลาสติกอยู่เช่นกัน
นายสมพงษ์กล่าวว่า ส่วนการรับจ้างประกอบรถเป็นอีกธุรกิจที่มีอัตราเติบโตมาก เดิมไทยรุ่งฯ จะเน้นประกอบรถอเนกประสงค์ดัดแปลงทีอาร์ แต่เมื่อสถานการณ์ตลาดเปลี่ยนไป จึงได้หันมารับจ้างประกอบรถแทน เพราะปัจจุบันมีบริษัทรถที่ผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการตลาด หรือรถรุ่นพิเศษต่างๆ ที่มีปริมาณการผลิตไม่มากนัก บริษัทรถก็จะมาจ้างประกอบแทน ซึ่งปัจจุบันไทยรุ่งรับจ้างประกอบกระบะพื้นเรียบให้กับปิกอัพทาทา, อีซูซุเวอร์ชั่นพิเศษ และนิสสัน นาวารา เป็นต้น
“ในส่วนการประกอบรถของไทยรุ่งฯ ยังมีอยู่ เพราะจะเป็นการแสดงศักยภาพให้ลูกค้าได้เห็น แต่ได้มีการปรับแนวทางไปทำรถเฉพาะกลุ่ม อย่างล่าสุดได้พัฒนารถตรวจการณ์ลาดตระเวน MU4 รองรับความต้องการใช้งานทางทหาร, ตำรวจ และหน่วยงานราชการอื่นๆ ซึ่งปีหนึ่งมีปริมาณตลาด 3,000-4,000 คัน โดยปีแรกนี้เราคาดว่าจะมียอดขายจากตรงนี้ 300-400 คันได้”
สำหรับรถตรวจการณ์ลาดตระเวน(Military Utility Vehicle) รุ่น MU4 ได้พัฒนาต่อเนื่องจากรถต้นแบบรุ่นก่อน โดยนำเอาโครงสร้างของปิกอัพขับเคลื่อน 4 ล้อ เครื่องยนต์ดีเซล ขนาด 3.0 ลิตร ที่มีการผลิตขายในประเทศมาพัฒนาและออกแบบผลิตตัวถังใหม่ทั้งหมด ให้ได้ตามมาตรฐานสากล แต่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า เพราะใช้ชิ้นส่วนหลักเช่นเดียวกับรถทั่วไป ปัจจุบันได้พัฒนาออกมา 2 รุ่น คือ รุ่นหลังคาเหล็ก และรุ่นหลังคาผ้าใบ โดยใช้พื้นฐานของปิกอัพโตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ 3.0 ลิตร และในงานบางกอกฯ มอเตอร์โชว์ 2011 ปลายเดือนมีนาคมนี้ จะเปิดตัวรุ่นสำหรับประชาชนทั่วไป ราคาน่าจะอยู่ที่ 1.3-1.4 ล้านบาท