xs
xsm
sm
md
lg

ไทยรุ่งพลิกเกมรุกชิ้นส่วน-เสริมTRรุ่นประหยัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ค่ายรถสัญชาติไทย “ไทยรุ่งยูเนียนคาร์” ภายใต้แบรนด์ “ทีอาร์” พลิกเกมฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ และถูกแบรนด์ต่างชาติรุมกระหน่ำ ประกาศยึดฐานธุรกิจชิ้นส่วนรักษาตัวรอด ทุ่มลงทุนขยายการผลิตและเล็งตั้งโรงงานแห่งที่2รองรับโครงการใหม่ๆของค่ายรถยักษ์ใหญ่ พร้อมฉีกหนีตลาดรถอเนกประสงค์แบบพีพีวีแข่งเดือด เมื่อเจ้าของแบรนด์แห่ลงแย่งลูกค้าไปเกือบหมด ด้วยการหาช่องตลาดใหม่ อย่างรถดัดแปลงลีมูซีน และเล็งเพิ่มไลน์รถพีพีวีราคาประหยัด เข็น “ทีอาร์ ออลโรดเดอร์” ราคาประมาณ 8 แสนบาท มาท้าชนกับปิกอัพแบบ 4 ประตู หลังจากประสบความสำเร็จในรุ่น “ทีอาร์ แอดเวนเจอร์” เผยเป็นโอกาสดีอาฟต้าเปิดเสรี ทำให้การส่งออกสดใสมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นยังเดินหน้าพัฒนารถเฉพาะกิจทางทหารอย่างต่อเนื่อง หวังถูกตากองทัพเปิดโอกาสเข้าร่วมประมูล ช่วยให้ผู้ผลิตรถยนต์คนไทยยืนหยัดได้ต่อไป
สมพงษ์ เผอิญโชค
ด้วยสภาพตลาดและการแข่งขันอันแสนโหดของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่ปัจจุบันถูกกำหนดทิศทางและครอบงำจากค่ายรถต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทรถญี่ปุ่น จึงเป็นเรื่องยากของรถยนต์ยี่ห้อใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเจาะตลาด โดยเฉพาะแบรนด์ของคนไทยแท้ๆ แทบจะไม่มีพื้นที่ให้ยืนเลยในปัจจุบัน เช่นเดียวกับค่ายรถยนต์คนไทย “ไทยรุ่งยูเนียนคาร์” ภายใต้แบรนด์รถดัดแปลง “ทีอาร์” จึงต้องดิ้นหาทางรอด และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เพื่อให้สามารถยืนหยัดอยู่บนถนนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้ต่อไป...

“ปีที่แล้วเราสาหัสมาก เพราะโดนวิกฤตเศรษฐกิจ และการถดถอยของอุตสาหกรรมยานยต์ จนทำให้ผลประกอบการไทยรุ่งฯ ขาดทุน แต่ปีนี้เราเชื่อมั่นว่าจะกลับมาตั้งหลัก และทำให้บริษัทฯ พลิกกลับมามีผลกำไรอีกครั้ง”

เป็นการเปิดอกยอมรับความจริงจาก “สมพงษ์ เผอิญโชค” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) และกล่าวว่ากับ “ASTVผู้จัดการมอเตอริ่ง” ว่า ทั้งนี้ในปี 2552 ที่ผ่านมา รายได้รวมของบริษัทอยู่ที่ 1,400 ล้านบาท แต่ปีนี้น่าจะทำได้ถึง 1,900 ล้านบาท หรือเติบโต 35% โดยธุรกิจหลักอยู่ที่การรับจ้างผลิตชิ้นส่วน ที่มีสัดส่วน 60% จากรายได้ทั้งหมด ส่วนธุรกิจขายรถยนต์ดัดแปลงและบริการ มีสัดส่วน 25% และที่เหลืออีก 15% เป็นธุรกิจทำแม่พิมพ์และจิ๊ก

จากผลประกอบการของไทยรุ่งฯ จะเห็นว่าธุรกิจชิ้นส่วนกลายสายเลือดหลักไปแล้ว จึงไม่แปลกที่สมพงษ์จะยึดเกาะธุรกิจชิ้นส่วนไว้ และเดินหน้ารุกอย่างต่อเนื่อง ด้วยการลงทุนขยายโรงงานที่จังหวัดระยอง และกำลังพิจารณาสร้างโรงงานใหม่อีก 1 แห่งในพื้นที่เดียวกัน เพื่อรองรับโครงการใหม่ๆ จากบริษัทรถยนต์ข้ามชาติ ในช่วง 1-3 ปีจากนี้ไป

แต่ถึงกระนั้นธุรกิจที่เคยสร้างชื่ออย่างรถดัดแปลง “ทีอาร์” สมพงษ์ยังย้ำว่าไม่ทิ้งแน่นอน เพียงแต่ต้องรอจังหวะที่เหมาะสมเท่านั้น และโอกาสดังกล่าวก็ใกล้มาถึงแล้ว เมื่อมีการปรับกฎกระทรวงการคลัง ให้สามารถแก้คุณลักษณะของปิกอัพดัดแปลง หรือพีพีวี(PPV) โดยอนุญาตให้ผู้ผลิตสามารถปรับระยะฐานล้อ หรือขยายความยาวแชสซีส์ได้ รวมถึงเปลี่ยนกฎเดิมที่บังคับให้รถประเภทนี้ต้องมีไม่ต่ำกว่า 7 ที่นั่ง แต่ล่าสุดยืดหยุ่นให้ทำกี่ที่นั่งก็ได้

เหตุนี้ ไทยรุ่งฯ จึงไม่รอช้า จัดการประเดิมส่ง “ทีอาร์ เอ็กซ์คลูชีฟ ลีมูซีน” ที่ใช้พื้นฐานแชสซีส์ เครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง มาจากปิกอัพอีซูซุ ดีแมคซ์ และ เชฟโรเลต โคโรลาโด โดยนำมาปรับเพิ่มความยาวแชสซีส์อีก 600 มิลลิเมตร พร้อมออปชันสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย หวังให้เป็นลีมูซีนหรูที่ราคาไม่แพง โดยเปิดตัวชิมลางไปตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

สมพงษ์บอกว่าตั้งแต่ทีอาร์ เอ็กซ์คลูชีฟ ลีมูซีน เปิดตัวมีลูกค้าให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ทั้งผู้ประกอบการโรงแรม บริษัทรถซีมูซีน ล่าสุดบริษัทยังปรับใช้ช่วงล่างหลังเป็นแบบคอยสปริง ที่ให้ความรู้สึกนุ่มสบายกว่าแหนบ โดยจะเข้ามาเป็นออปชันให้ลูกค้าเลือก สนนราคาตั้งแต่ 1.3-1.5 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าขายปีนี้ 200-300 คัน
ทีอาร์ เอ็กซ์คลูชีฟ ลีมูซีน
“เรายังเตรียมเสริมไลน์ ส่งรถอเนกประสงค์ทีอาร์ ออลโรดเดอร์ รุ่นประหยัด ที่ใช้พื้นฐานเชฟโรเลต โคโรลาโด เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 2.5 ลิตร ขับเคลื่อนสองล้อ เกียร์ธรรมดา โดยตั้งราคาเพียง 8 แสนต้นๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า หลังจากปีก่อนได้เปิดตัวรุ่นประหยัดของ ทีอาร์ แอดเวนเจอร์ (ใช้พื้นฐาน อีซูซุ ดีแมคซ์) แล้วได้การตอบรับจากลูกค้าดีพอสมควร”

สำหรับ ทีอาร์ ออลโรดเดอร์ รุ่นประหยัด บริษัทตั้งใจจะนำมาชนกลุ่มลูกค้าที่ต้องการรถปิกอัพตัวถังดับเบิลแค็บ ซึ่งระดับราคาใกล้เคียงกัน แต่ทีอาร์ ออลโรดเดอร์ จะให้ออปชันและความอเนกประสงค์มากกว่า ส่วนช่องทางจำหน่ายจะผ่านโชว์รูม2 แห่งของบริษัท (เพชรเกษม, บางนา) และดีลเลอร์เชฟโรเลตทั่วประเทศ พร้อมออกอีเวนท์เข้าถึงตัวลูกค้าโดยตรง

“ปีนี้เราจะเน้นการทำตลาดแบบเข้าถึงตัวลูกค้าโดยตรง ทั้งบางกอกฯมอเตอร์โชว์ 2010 ที่ไทยรุ่งฯ ออกงานร่วมกับทางเชฟโรเลต จากนั้นตลอดทั้งปีจะจัดอีเวนท์ตามต่างจังหวัด เพื่อดันยอดขายรถอเนกประสงค์ตระกูลทีอาร์ให้ถึง 600 คัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนการขายของ ทีอาร์ ออลโรดเดอร์ มากกว่า 50%”สมพงษ์กล่าว

จากความเคลื่อนไหวดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าไทยรุ่งฯ ยังคงมุ่งมั่นทำตลาดรถอเนกประสงค์แบรนด์ “ทีอาร์” ต่อไป และไม่เพียงเท่านั้นไทยรุ่งฯ ยังเดินหน้าโปรเจกต์รถตรวจการณ์ MUV4 (Military Utility Vehicle) ที่เปิดตัวในงานแสดงอาวุธ ยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีทางด้านการรักษาความปลอดภัย ประจำปี 2552 โดยหวังว่าจะถูกอกถูกใจกองทัพ จนสั่งซื้อไปใช้ในกิจการ แม้จะยังไม่มีความคืบหน้าชัดเจน

โดยสมพงษ์กล่าวถึง MUV4 ว่า ปัจุบันอยู่ในขั้นตอนพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของกองทัพ และอีก 3 เดือนข้างหน้าบริษัทเตรียมเปิดตัวต้นแบบเจเนอเรชันที่สอง ซึ่งในรุ่นใหม่นี้ได้ปรับปรุงให้ตัวรถมีความยืดหยุ่น ใช้งานได้หลากหลาย สนนราคารุ่นหลังคาผ้าใบ (Soft Top) ไม่เกิน 1 ล้านบาท ถือว่าคุ้มค่ามาก
รถตรวจการณ์ MUV4

“เราต้องรอดูว่ากองทัพจะเปิดประมูลเมื่อไหร่ เพื่อเตรียมทำเรื่องเสนอราคา แต่ถึงอย่างไรเราก็คงไม่นั่งรอความหวังจากกองทัพเพียงอย่างเดียว แต่จะพยายามหากลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ทั้งประเทศแถบอาเซียน และเอเชียใต้ โดยเชื่อว่ารถตรวจการณ์ลาดตระเวน ที่ผลิตจากพื้นฐานปิกอัพอันแข็งแกร่ง ทั้งยังปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลายรูปแบบ พร้อมราคาไม่แพงจะได้รับความสนใจ และถ้าหากมีความต้องการเข้ามา เราก็พร้อมขึ้นไล์การผลิตจริงได้ต้นปีหน้า”

สำหรับMUV4 พัฒนาบนพื้นฐานปิกอัพอีซูซุ ดีแมกช์ รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ เครื่องยนต์ ดีเซล คอมมอนเรล เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ ขนาด 3.0 ลิตร 163 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 343 นิวตันเมตร ที่ 1,400-3,200 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 สปีด เป็นรถตรวจการณ์ลาดตระเวน รยบ. ขนาดเบา แบ่งเป็น 3 รุ่น คือ หลังคาเหล็ก (Hard Top) หลังคาผ้าใบ (Soft Top) และรุ่น Station wagon หลังคาเหล็ก 5-11 ที่นั่ง

ขณะเดียวกันเพื่อต่อยอดโปรเจกต์รถตรวจการณ์ลาดตระเวน ไทยรุ่งฯ กำลังพัฒนารถหุ้มเกราะกันกระสุน โดยใช้ทีอาร์ ออลโรดเดอร์ (เชฟโรเลต โคโรลาโด) ตอนนี้พยายามศึกษาถึงการใช้วัสดุน้ำหนักเบา พร้อมปรับปรุงช่วงล่าง เบรก ให้สอดคล้องกับน้ำหนักตัวรถที่เพิ่มขึ้น ส่วนราคานั้นขึ้นอยู่กับระดับของการกันกระสุน แต่ไม่น่าจะต่ำกว่า 1 ล้านบาท (ไม่นับค่าตัวรถ)

สมพงษ์บอกว่ารถทหารหรือรถกันกระสุน เป็นรถที่เจ้าของแบรนด์ไม่ทำ และเชื่อว่าตลาดรถกลุ่มนี้ยังมีศักยภาพอีกมาก จึงเป็นโอกาสของไทยรุ่งฯที่เปิดตลาดนี้ ขณะเดียวกันยังมองไปที่การส่งออก หลังจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟต้า ลดภาษีนำเข้ารถยนต์ระหว่างประเทศภาคีสมาชิกเป็น 0% ตั้งแต่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้จากนี้ไปอาเซียนจะเป็นตลาดเดียวกัน ส่งผลให้ไทยรุ่งฯ ได้รับประโยชน์ และได้เปรียบเรื่องการผลิตที่มีความยืดหยุ่นสูง มีบุคลากรผู้ชำนาญงาน พร้อมมีจุดคุ้มทุนที่ต่ำ

“ข้อตกลงอาฟฟต้าดังกล่าว ไทยถือว่าได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เพราะเป็นฐานการผลิตใหญ่ ส่วนไทยรุ่งฯ เองก็มีศักยภาพ เพราะมีการออกแบบ รวมถึงผลิตชิ้นส่วน และแม่พิมพ์เอง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นรถลักษณะไหน ถ้ามีปริมาณการขายระดับ 1,000 ต่อปี เราสามารถขึ้นไลน์ผลิตได้ทันที แต่ประเด็นสำคัญต่อไปต้องอยู่ที่การหาตลาดให้ได้ ”

...เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามที่ “สมพงษ์” กล่าวทิ้งท้ายกับ “ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง” ไว้ เพราะไม่เพียงตลาดส่งออก และรถดัดแปลงทีอาร์ที่ขายในประเทศ หากไม่สามารถเจาะหรือหาช่องว่างทางตลาดได้ รถดัดแปลงสัญชาติไทยรายนี้ก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน!
กำลังโหลดความคิดเห็น