xs
xsm
sm
md
lg

หนุนเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้ารางเบาแก้จราจรภูเก็ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เร่งผลักดันโครงการรถไฟฟ้าขนาดเบารอบเกาะภูเก็ตแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่ แต่ต้องหาเจ้าภาพหลักในการผลักดัน แนะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านการจราจรและขนส่งระดับจังหวัดภูเก็ตอีกครั้งเพื่อหาข้อยุติผลักดันให้เป็นรูปธรรม

นายประณต สุริยะ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจรจร (สนข.) พร้อมคณะ ได้ประชุมหารือแนวทางการดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนาดเบารอบเกาะภูเก็ต และเส้นทางสนามบินภูเก็ต รวมทั้งการแก้ปัญหาการขนส่งและจราจรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ร่วมกับนายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายทศพร เทพบุตร ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันภูเก็ตมีปัญหาด้านการจราจรขนส่งค่อนข้างมาก เนื่องจากไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่สมบูรณ์แบบ รวมทั้งปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณผิวจราจรยังคงไม่เท่าเดิม และไม่สามารถขยายถนนได้อีก ประกอบกับขณะนี้ในส่วนของท่าอากาศยานภูเก็ตอยู่ระหว่างการปรับปรุง เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารให้ได้ 12.5 ล้านคนซึ่งจะทำให้ปัญหาจราจรเกิดตามมากไปด้วย

นอกจากนั้นยังมีโครงการศูนย์ประชุมนานาชาติที่เกิดขึ้นอีกในอนาคต ตนคิดว่าเรื่องของการสร้างรถไฟฟ้ารางเบา จึงมีความจำเป็นสำหรับจังหวัดภูเก็ต และควรที่จะเกิดขึ้นโดยเร็ว

จังหวัดพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะขณะนี้ทางจังหวัดก็ได้วางแนวทางในการตัดถนนเพิ่มอีก 1 สาย คือ บริเวณใต้เสาไฟฟ้าแรงสูง ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าของที่ดินซึ่งถูกรอนสิทธิ์อยู่แล้ว และมีการคืบหน้าไปในระดับหนึ่ง

ด้านนายทศพร เทพบุตร ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พร้อมที่จะสนับสนุนและผลักดันโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนาดเบาอย่างเต็มที่ เพราะหากไม่เริ่มกันตั้งแต่ตอนนี้ภูเก็ตก็จะเสียโอกาสเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้สนามบินก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับการขยายให้รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 12.5 ล้านคน ดังนั้น จังหวัดจะต้องชัดเจนก่อนว่าจะดำเนินการหรือไม่อย่างไร ส่วนของการลงทุนก็จะต้องมาพิจารณาเป็นลำดับต่อไปว่า จะเป็นการลงทุนโดยรัฐบาลทั้งหมด หรือ เป็นการลงทุนร่วมระหว่างรัฐกับเอกชน หรือเอกชนเป็นผู้ลงทุน

อย่างไรก็ตาม นอกจากความชัดเจนของจังหวัดแล้ว ก็จะต้องมีการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารที่มีอยู่เดิมว่า การมีรถไฟฟ้าขึ้นมานั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพแต่จะมาช่วยเสริม ส่วนตัวจึงคิดว่าระยะแรกควรเริ่มจากเส้นทางสนามบิน-ห้าแยกฉลองก่อน สำหรับเทคโนโลยีที่จะใช้ก็ต้องศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้หลังจากที่มีความชัดเจนว่า จะมีการก่อสร้างและเลือกเส้นทางแล้ว

ขณะที่นายประณต สุริยะ รองผู้อำนวยการ สนข.กล่าวว่า ปัญหาของภูเก็ตต้องแยกออกเป็น 3 ส่วน คือ เรื่องของถนนใต้เสาไฟฟ้าแรงสูงจัดอยู่ในส่วนของโครงข่าย เรื่องการรถสาธารณะที่ใช้ขนส่งระหว่างตัวเมือง กับพื้นที่ภายในตัวจังหวัดเอง และระบบการบริหารจัดการ หากมีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วใครจะเป็นผู้ดำเนินการต่อเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งส่วนนี้ทางจังหวัดก็จะต้องมีความชัดเจน เพื่อจะได้นำเสนอต่อรัฐบาลกลางได้ เพราะทราบว่าเมื่อปี 2549 ก็ได้มีการศึกษาในเรื่องนี้ไว้แล้ว

ทั้งนี้ นายธวัชชัย เหล่าศิริหงส์ทอง ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ให้ข้อมูลผลการศึกษาเมื่อปี 2549 ว่า ในการพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทางจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน จำนวน 3 เส้นทาง คือ

สายที่ 1 สนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.40 กม.ใช้เงินลงทุนประมาณ 7,064 ล้านบาท สายที่ 2 ป่าตอง-อ.เมืองภูเก็ต ระยะทาง 18.40 กม. ใช้เงินลงทุนประมาณ 2,844 ล้านบาท และสายที่ 3 สามแยกบางคู-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 16.80 กม.ใช้เงินลงทุนประมาณ 2,908 ล้านบาท กับระยะที่ 2 จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่ สี่แยกท่าเรือ-ป่าตอง, ป่าตอง-ห้าแยกฉลอง,กะรน-ห้าแยกฉลอง และสถานีตำรวจทางหลวงภูเก็ต- สามแยกบางคู

อย่างไรก็ตาม หลังจากการร่วมหารือในครั้งนี้ได้ข้อ ให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านการจราจรและขนส่งระดับจังหวัดภูเก็ตอีกครั้ง และให้เชิญผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาร่วมหารือด้วย เพื่อให้ได้ความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันซึ่งจะทำให้การผลักดันเกิดเป็นรูปธรรม เมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็ให้นำมติเสนอต่อรัฐบาล และแจ้งให้ สนข.ทราบ

ส่วนการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาบริหารจัดการ การลงทุนและการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลางซึ่งมี สนข.เป็นผู้ให้คำแนะนำอยู่แล้ว ส่วนเรื่องของการลงทุนก็จะต้องมีการหารือกันจะเป็นลักษณะใด
กำลังโหลดความคิดเห็น