xs
xsm
sm
md
lg

ท่องสิงคโปร์ เยือนมาเลเซีย ผุด “โมโนเรล” ให้เมืองกรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานโดย : รัชญา จันทะรัง

หลังจากที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เปิดให้บริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพอย่างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายบีทีเอสจากสถานีตากสิน-สถานีวงเวียนใหญ่ ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมาซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างจากชาวฝั่งธนฯ ขณะเดียวกันก็ถึงเวลาที่ กทม.จะมองหาระบบขนส่งมวลชนรูปแบบใหม่ๆมาอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมากขึ้น กทม.จึงร่วมกับ บ.กรุงเทพธนาคม จำกัด นำโดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.นำคณะไปศึกษาดูงานที่สหพันธรัฐมาเลเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์ เมื่อเร็วๆ นี้

การให้บริการเดินรถ KL Monorail
ทันทีที่ล้อเจ้านกยักษ์แตะรันเวย์สนามบินแห่งชาติ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์แห่งสหพันธรัฐมาเลเซีย ที่นั่นเราก็ได้พบกับระบบขนส่งมวลชนในสนามบินที่ประเทศไทยกำลังจะมี นั่นคือรถไฟฟ้าที่ให้บริการในสนามบินเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสาร (Aero Train) และส่งเข้าระบบรถไฟฟ้า KLIA Ekspres เพื่อเดินทางเข้าสู่กรุงกัวลาลัมเปอร์ด้วยเวลาเพียง 28 นาที จากระยะทาง 57 กิโลเมตร ซึ่งจะมีรถออกทุกๆ 15 นาที ราคาตั๋วโดยสาร 35 ริงกิต หรือประมาณ 350 บาท

ณ เมืองหลวงทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย ซึ่งระบบคมนาคมขนส่งในตัวเมืองนอกจากจะมีรถเมล์ รถแท็กซี่เหมือนบ้านเราแล้ว ยังมีระบบขนส่งมวลชนที่เรียกว่า “KL Monorail” ระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว ซึ่งวิ่งให้บริการพื้นที่ชั้นใน ระยะทาง 8.6 กิโลเมตร มี 11 สถานี ใช้งบก่อสร้าง 318.2 ล้านดอลล่าสหรัฐหรือประมาณ 11,137 ล้านบาทมีจำนวน 48 ที่นั่ง ยืนได้ 166 คน

KL Monorail สามารถรับผู้โดยสารได้ 40,000 เที่ยวคนต่อวัน และระหว่างที่ก่อสร้างก็ส่งผลกระทบต่อการจราจรน้อย เนื่องจากมีขนาดเล็ก มีรางคู่ขนานที่ใช้พื้นที่เพียง 4.5 เมตร ขณะที่ระบบรถไฟฟ้าขนาดเบา Light rail ใช้พื้นที่สำหรับวางราง 8-10 เมตร ซึ่งผู้บริหารKL Monorailให้ความเห็นว่าโมโนเรลเหมาะกับการให้บริการพื้นที่ชั้นในเมืองมากที่สุด เนื่องจากใช้พื้นที่น้อย สามารถซอกแซกไปตามที่แคบๆได้ ค่าโดยสารคิดตามระยะทางเริ่มตั้งแต่สถานีที่ 1 คิด 1.20 ริงกิตหรือประมาณ 12 บาท สูงสุดจะอยู่ที่ 2.50 ริงกิต
ภายในรถไฟฟ้า KLIA Ekspres
ขณะที่ระบบรถไฟฟ้าขนาดเบาของเมืองสิงคโปร์อย่าง SMRT Light rail สายบูกิต (Bukit) ระยะทาง 7.8 กิโลเมตร มีจำนวน 14 สถานี รถโดยสารเป็นแบบล้อยาง ไม่มีพนักงานขับรถแต่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุม โดยราคาค่าตั๋วโดยสารจะเก็บตามระยะสามารถรับส่งผู้โดยสารได้ 45,000 เที่ยวคนต่อวัน รัฐบาลถือหุ้น 40% เอกชนถือหุ้น 60% ซึ่งขณะนี้ยังขาดทุนนับแต่เปิดให้บริการเมื่อปี 2542 ใช้เงินลงทุนกิโลเมตรละ 900 ล้านบาท

สิงคโปร์เชื่อมที่อยู่อาศัย และแหล่งท่องเที่ยวเข้ากับระบบรถไฟฟ้า เช่น เกาะเซ็นโตซ่าแหล่งพักผ่อนสำหรับชาวสิงคโปร์และนักท่องเที่ยวก็จะมี “Sentasa monorail” พาทุกคนเดินทางสู่เกาะเซ็นโตซ่าได้อย่างสะดวกสบายในเวลาไม่ถึง 5 นาที ด้วยระยะทางเพียง 2.1 กิโลเมตร จำนวน 3 สถานี 2 ตู้ขบวน จุได้ 184 คนเปิดให้บริการปี 2549 หลังจากใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี โดยบริษัทฮิตาชิ เป็นคนสร้างและให้ข้อแนะนำว่าโมโนเรลสามารถนำมาวิ่งบนดินหรือลงใต้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยเซ็นโตซ่าโมโนเรลมีรถวิ่ง 5 คัน แต่ละคันก็จะมีสีที่แตกต่างกันไป
เซ็นโตซ่า โมโนเรล
รองผู้ว่าฯ ธีระชน ได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ว่า จากทั้ง 3 ระบบที่ได้ใช้บริการ ได้แก่ รถไฟฟ้า รถฟ้ารางเดี่ยวและรถฟ้าขนาดเบาแบบล้อยาง มีความเหมือนกันตรงที่มีการใช้กระแสไฟฟ้า ขณะที่ความแตกต่างนั้นจะขึ้นอยู่ที่จำนวนผู้โดยสาร ซึ่งหากไม่ถึง 1 แสนคนก็ควรที่จะใช้ระบบ Light rail ซึ่งมีทั้งแบบล้อยางและล้อเหล็กหากเป็นล้อยางไม่ต้องศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA) แต่ล้อเหล็กจะใช้งบก่อสร้างที่แพงกว่าประมาณ 2,000 ล้านต่อกิโลเมตร แต่ก็มีศักยภาพในการให้บริการผู้โดยสารได้สูงกว่า รวมถึงระบบโมโนเรลก็ได้เช่นกัน แต่หากมากกว่านี้ ก็ควรที่จะเป็นรถไฟฟ้า โดยโมโนเรลของมาเลเซียจากเดิมที่มีผู้ใช้บริการ 24,000 คนต่อวัน 6 ปีต่อมาเพิ่มขึ้นเป็น 60,000 คนต่อวัน ส่วนเซ็นโตซ่า โมโนเรล ใช้ไม่ถึง 3 ปี ขณะนี้มีผู้ใช้บริการถึง 2 แสนคนต่อวันซึ่งของเซ็นโตซ่ามีการใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ที่ทำให้รถวิ่งได้ราบเรียบมากขึ้นด้วย

“ความเป็นไปได้ที่จะเกิดระบบขนส่งรูปแบบใหม่ในกรุงเทพฯนั้น ทางผู้ว่าฯกทม. อยากได้โมโนเรลที่มีสีสันสวยงามอย่างเซ็นโตซ่า โมโนเรล ซึ่งสายแรกที่จะมีโอกาสได้เห็นได้แก่เส้นทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างกิโลเมตรละประมาณ 1,300 ล้านบาท ขณะที่บีทีเอสค่าก่อสร้างตกอยู่ที่ 3,000 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ทั้งนี้ มีความตั้งใจว่าอยากเริ่มก่อสร้างในปี 2553 หรืออย่างน้อยที่สุดให้เริ่มต้นในสมัยที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.”

เราคนกรุงเทพฯก็คงต้องรอลุ้นกันว่าในยุคสมัยผู้ว่าฯ ที่ชื่อ “สุขุมพันธุ์” จะมีโมโนเรลเกิดขึ้นตามที่ขายฝันได้จริงหรือไม่ 3 ปีต่อจากนี้ต้องดูกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น