xs
xsm
sm
md
lg

ดู EuroNCAP ทดสอบชนมาสด้า 3 / อี-คลาส / ครูซ X1 / 5008 ผลงานเยี่ยมคว้า 5 ดาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

EuroNCAP หน่วยงานอิสระที่เกิดจากการรวมตัวของสมาคมรถยนต์ของประเทศต่างๆ ในยุโรป จับรถยนต์ใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวขายในยุโรปมาทดสอบชนกันอีกครั้ง คราวนี้มีความน่าสนใจ เพราะนอกจากจะมีรถยนต์หลายรุ่นอยู่ในกระแสความสนใจของคนไทยเพราะคาดว่าอีกไม่นานจะมีการเปิดตัวขายในบ้านเราอีกด้วย
ตารางสรุปผลการทดสอบชนของรถยนต์ทั้ง 12 รุ่นที่เข้าทำการทดสอบชนโดย EuroNCAP
อีกประเด็นคือ การทำผลงานได้อย่างน่าผิดหวังของแบรนด์ดังอย่างโตโยต้า ซึ่งน่าจะเรียกว่าเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่รถยนต์ของโตโยต้าผ่านการทดสอบชนของ EuroNCAP โดยมีคะแนนติดมือกลับมาเพียงแค่ 3 ดาวเท่านั้น และรถยนต์รุ่นที่ทดสอบคือ เออร์เบิน ครูสเซอร์ ซับคอมแพ็กต์ทรงสูงที่เปิดตัวขายในยุโรปเพียงแห่งเดียวในตอนนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้รถยนต์ใหม่ของโตโยต้าไม่ว่าจะเป็น iQ, อะเวนซิส หรือพริอุสใหม่ล้วนทำผลงานอย่างยอดเยี่ยม ได้ 5 ดาวติดมือกลับมาทุกรุ่น

ตรงนี้ทำให้ทาง EuroNCAP เป็นห่วงไม่น้อย เพราะว่าจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ซื้อรถยนต์ในยุโรปช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาพบว่า ปัจจัยที่ติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของการตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่คือ ความเชื่อมั่นหรือยึดติดแบรนด์ (Brand Loyalty) ซึ่งจากผลงานที่โตโยต้าทำได้ไม่ดีนักในครั้งนี้ หากลูกค้าที่ยึดติดกับแบรนด์เป็นหลักโดยไม่สนใจข้อมูลทางด้านอื่น อาจจะได้รถยนต์ที่มีความปลอดภัยไม่เพียงพอไปใช้งาน
มาสด้า 3 ใหม่มีโครงสร้างที่แข็งแกร่ง และมีระดับการปกป้องผู้ขับและผู้โดยสารที่มีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสุดท้ายแล้ว โตโยต้าน่าจะมีการปรับปรุงตัวรถ และขอแก้มือกับการทดสอบชนอีกครั้ง แม้ว่าผลงานครั้งนี้จะไม่ถึงกับแย่เมื่อเปรียบเทียบกับเชฟโรเลต อาวีโอเคยได้ 2 ดาวเมื่อการทดสอบชนในปี 2006 ก็ตาม

สำหรับการทดสอบชนของ EuroNCAP จะมีการให้คะแนนในด้านภาพรวม หรือ Overall Result โดยพิจารณาจากการปกป้องผู้ขับและผู้โดยสารจากการทดสอบชนทางด้านหน้าแบบ Offset หรือครึ่งหน้าด้วยความเร็ว 64 กิโลเมตร/ชั่วโมง, ด้านข้างด้วยการจำลองจากรถยนต์ หรือ Car-to-Car Side Impact และชนด้านข้างด้วยเสา Pole Side Impact

ตามด้วยการปกป้องเด็กที่นั่งอยู่ในเบาะนั่งนิรภัย, การปกป้องคนเดินถนน ซึ่งจะแยกทดสอบชนต่างหากโดยใช้หุ่มดัมมี่คนเดินถนนเป็นเหยื่อทดสอบ และระบบความปลอดภัยต่างๆ ที่ติดตั้งในรถยนต์ หรือที่เรียกว่า Safety Assist ซึ่งคะแนนทั้งหมดจะแบ่งออกเป็น 1-5 ดาว หรือจากแย่ไปดี คือ 1 ดาว เท่ากับ แย่ (Poor ), 2 ดาว ไม่แข็งแรง (Weak), 3 ดาว ต้องปรับปรุง (Marginal), 4 ดาว พอใช้ (Adequate) และ 5 ดาว ดี (Good)

จุดอ่อนสำคัญของมาสด้า 3 คือ ม่านถุงลมนิรภัยกางตัวไม่เต็มที่ และทำให้คนนั่งด้านหลังมีสภาพของหัวกระแทกเข้ากับเสาหลังในจังหวะของการทดสอบชนทางด้านข้าง
นอกจากนั้น ทาง EuroNCAP ยังมีการทดสอบประสิทธิภาพของเบาะนั่งและการยึดรั้งของรถยนต์รุ่นนั้นๆ ที่จะช่วยลดอาการบาดเจ็บที่ต้นคอจากการชนทางด้านท้าย หรือ Whiplash และก็เช่นเดียวกันกับการทดสอบชนหุ่นคนเดินถนน การทดสอบรูปแบบนี้จะมีการจัดแยกต่างหาก

การทดสอบชนในครั้งนี้มีรถยนต์เข้าร่วมทั้งหมด 12 รุ่น และมีเพียงรุ่นเดียวที่มีขายในเมืองไทยตอนนี้ คือ โฟล์คสวาเกน ซิร็อคโค่ ส่วนที่เหลืออีก 11 รุ่นอย่างน้อยน่าจะมี 3 รุ่นเข้ามาขายในบ้านเราเร็วๆ นี้ คือ มาสด้า 3, เมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาส W212 และเชฟโรเลต ครูซ ซึ่งเป็นตัวแทนของออพตร้า ส่วนที่เหลือคือ บีเอ็มดับเบิลยู X1, เปอโยต์ 5008, ซีตรอง DS3, อินฟินิตี้ FX, เชฟโรเลต สปาร์ค, เมอร์เซเดส-เบนซ์ GLK, โตโยต้า เออร์เบิน ครูสเซอร์ และโอเปิล/วอกซ์ฮอลล์ แอสตรา ดูเหมือนว่า 3 รุ่นแรกน่าจะมีแนวโน้มสูงกว่ารุ่นที่เหลือในการเข้ามาทำตลาดบ้านเราในอนาคต
สภาพของเมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาสในจังหวะที่ชนเข้ากับสิ่งกีดขวางแบบยุบตัวได้ที่ความเร็ว 64 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
สำหรับผลการทดสอบชนในครั้งนี้ ทาง EuroNCAP ค่อนข้างพอใจ เพราะ 10 จาก 12 รุ่นได้คะแนนรวม 5 ดาว มีเพียงแค่เออร์เบิน ครูสเซอร์เท่านั้นที่ได้ 3 ดาว และสปาร์คได้ 4 ดาว ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ 5 ดาวครบทุกรุ่น แต่ 2 รุ่นที่ทำผลงานได้ไม่ดี ก็ไม่อยู่ในเรตที่แย่จนรับไม่ได้ เพียงแต่ยังดีไม่พอเท่านั้น

นอกจากนั้นทาง Dr Michiel van Ratingen เลขาธิการทั่วไปของ Euro NCAP ยังได้กล่าวชมรถยนต์ 2 รุ่นซึ่งเป็นรถยนต์ในกลุ่มคอมแพ็กต์ หรือ C-Segment อย่างเชฟโรเลต ครูซ และโอเปิล/วอกซ์ฮอลล์ แอสตราใหม่ ที่มีผลงานการปกป้องผู้ขับและผู้โดยสารในระดับเปอร์เซ็นต์เรตสูงถึง 96 และ 95% และมากเป็นอันดับที่ 1 และ 2 ในการทดสอบครั้งนี้ แถมยังดีกว่ารถยนต์ในระดับสูงกว่าทั้งบีเอ็มดับเบิลยู, เมอร์เซเดส-เบนซ์ และอินฟินิตี้
ม่านถุงลมนิรภัยของอี-คลาสทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดีสำหรับการปกป้องการชนทางด้านข้าง
ส่วนของครูซนั้นแม้ว่าการทดสอบชนทางด้านหน้าโครงสร้างของเสากระจกบังลมหน้า หรือ A-Pillar จะมีการร่นถอยหลังมามากถึง 5 มิลลิเมตร แต่ระดับแรงกระแทกที่เกิดขึ้นกับหุ่นดัมมี่ทั้ง 2 ตัวกลับอยู่ในระดับต่ำมาก จะมีแรงกระแทกเพียงเล็กน้อยเกิดขึ้นบริเวณหน้าอก ท่อนขา และศีรษะเท่านั้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นแรงกระแทกที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับการทดสอบชนทางด้านข้างจะมีน่าเป็นห่วงก็แค่การชนเข้ากับเสาซึ่งมีแรงกระทำตรงบริเวณหน้าอกของหุ่นดัมมี่ในระดับปานกลาง แต่ก็จัดอยู่ในเกณฑ์ดี

สำหรับมาสด้า 3 ซึ่งเป็นคู่ปรับในตลาดคอมแพ็กต์ของครูซ แม้ว่าจะได้ 5 ดาว แต่เปอร์เซ็นต์เรตในการปกป้องผู้ขับและผู้โดยสารทำได้เพียง 86% แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าระดับการปกป้องจะไม่ดี เพราะจากการทดสอบชนทางด้านหน้า มีเพียงแค่หุ่นดัมมี่ผู้โดยสารด้านหน้าเท่านั้นที่มีแรงกระทำบริเวณหน้าอกที่อยู่ระดับสูงเล็กน้อย ส่วนหุ่นดัมมี่คนขับแทบไม่มีแรงกระทำเลย ขณะที่โครงสร้างตัวถังบริเวณเสากระจกบังลมหน้ามีการร่นถอยหลังเพียงแค่ 2 มิลลิเมตรเท่านั้น

สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับมาสด้า 3 ใหม่คือ การทำงานของม่านถุงลมนิรภัยซึ่งมีติดตั้งมาให้ในรุ่นที่นำมาทดสอบชน ซึ่งตัวม่านถุงลมนิรภัยมีการพองตัวอย่างไม่เต็มที่ เรียกว่าพื้นที่ด้านท้ายกางไม่ครอบคลุมจนถึงเสาหลัง หรือ C-Pillar มีระดับของแรงกระทำเกิดขึ้นตรงศีรษะค่อนข้างสูงเพราะการกระแทกเข้ากับเสาหลัง และตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ให้ 3 ใหม่พลาดโอกาสที่จะได้คะแนนเต็มในการทดสอบชนทางด้านข้างทั้ง 2 รูปแบบ
แม้จะได้ 5 ดาวเหมือนรถยนต์รุ่นอื่น แต่เปอร์เซ็นต์เรตในการปกป้องผู้ขับและผู้โดยสารด้านหน้าของเชฟโรเลต ครูซทำได้ถึง 96% ซึ่งสูงที่สุดในการทดสอบชนครั้งนี้
ทางด้านเมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาสใหม่ รหัส W212 นั้น จากการที่ตัวรถได้รับการติดตั้งระบบ PRE SAFE เป็นอุปกรณ์มาตรฐานจากโรงงาน ทาง EuroNCAP จำเป็นต้องตัดการทำงานของระบบนี้ออก เนื่องจากอาจจะส่งผลกระทบต่อการทดสอบชนทางด้านหน้า สำหรับระบบการปกป้องผู้ขับและผู้โดยสารภายในอี-คลาสใหม่ทำงานได้ดี แต่จากการที่ระดับของแรงกระทำบนหุ่นดัมมี่ทั้ง 2 ตัวที่ค่อนข้างสูงตรงช่วงอกและขาท่อนล่างทั้ง 2 ฝั่งก็เลยทำให้คะแนนในส่วนนี้ไม่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์อย่างครูซและแอสตรา ส่วนการทดสอบชนทางด้านข้างได้คะแนนเต็มเพราะทั้งถุงลมนิรภัยด้านข้างและม่านถุงลมนิรภัยด้านข้างทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ส่วนเอสยูวีน้องใหม่ของบีเอ็มดับเบิลยูอย่าง X1 งานนี้ประเดิมได้สวยกับผลงานระดับ 5 ดาว ซึ่งทาง EuroNCAP ให้ความเห็นว่าแม้เสากระจกบังลมหน้าจะเคลื่อนตัวมาทางด้านหลังร่วมๆ 5 มิลลิเมตร แต่จากการที่ชิ้นส่วนต่างๆ ในห้องโดยสารไม่มีการเคลื่อนตัวรุกล้ำเข้ามา ประกอบกับการที่ระบบยึดรั้งต่างๆ ในตัวรถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็เลยทำให้ระดับแรงกระทำที่เกิดขึ้นบนตัวหุ่นดัมมี่ทั้ง 2 ตัวอยู่ระดับต่ำ ยกเว้นหุ่นคนขับที่มีแรงกระทำสูงตรงส่วนหน้าอกและขาท่อนล่าง ขณะที่คนนั่งด้านหน้ามีแรงกระทำสูงที่ขาท่อนล่างทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ ขณะที่การทดสอบชนทางด้านข้างได้คะแนนเต็ม
สำหรับการทดสอบชนทางด้านข้างครูซก็ทำผลงานได้ดีเช่นกัน
ดูผลงานที่ได้ 5 ดาวเต็มกันมาแล้ว คราวนี้มาทางฝั่งโตโยต้ากันบ้าง ซึ่งเออร์เบิน ครูสเซอร์ รถยนต์ซับคอมแพ็กต์ทรงยกสูงที่เปิดตัวและขายตลาดยุโรป ทำผลงานในการทดสอบชนครั้งนี้ได้ไม่ดี แม้โครงสร้างตัวถังจะมีภาพรวมของห้องโดยสารอยู่สภาพดีและรถยนต์รุ่นนี้มีการติดตั้งถุงลมนิรภัยป้องกันหัวเข่ามาให้ด้วย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ขับมีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้รับบาดเจ็บบริเวณหัวเข่าและขาท่อนบนส่วนซ้าย เพราะการบิดเบี้ยวของแผงหน้าปัดหลังเกิดการชน ซึ่งนอกจากขาซ้ายแล้ว ทางฝั่งผู้โดยสารก็มีความเสี่ยงสูงมากต่ออาการบาดเจ็บที่ท่อนขาทั้ง 2 ฝั่งเพราะการบิดตัวของแผงหน้าปัดอีกด้วย

สำหรับการทดสอบชนทางด้านข้าง ปรากฎว่าม่านถุงลมนิรภัยไม่สามารถปกป้องหุ่นจากการกระแทกเข้ากับชิ้นส่วนแข็งๆ ภายในห้องโดยสารได้ ซึ่งที่หนักสุดคือการทดสอบชนกับเสา ซึ่งระดับแรงกระทำบนศีรษะของหุ่นมีสูงมาก และทำให้เออร์เบิน ครูสเซอร์ได้ 0 คะแนนในการทดสอบชนรูปแบบนี้ ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก

บีเอ็มดับเบิลยู X1 มีโครงสร้างที่แข็งแกร่งเพราะการเคลื่อนตัวของเสา A-Pillar มาทางด้านหลังเกิดขึ้นไม่เกิน  5มิลลิเมตรเท่านั้น
ทางด้านซิร็อคโค่ ถือเป็นสปอร์ตเพียงรุ่นเดียวที่ผ่านเข้ามาทดสอบชนครั้งนี้ และก็มีผลงานที่ดีในระดับ 5 ดาว แต่มีจุดที่น่าเป็นห่วงคือ ความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บที่ขาท่อนล่างของผู้ขับที่มีอยู่ในระดับสูง และจากการทดสอบชนด้านหน้าพบว่าศีรษะของหุ่นดัมมี่มีการพุ่งผ่านถุงลมนิรภัยในจังหวะที่กำลังแฟบ จนกระแทกเข้ากับพวงมาลัยด้วย แม้จะไม่รุนแรงเท่าไร แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ ส่วนสิ่งที่น่าชมเชย คือ การทดสอบชนทางด้านข้าง ซึ่งมีระดับการปกป้องที่ดี และหุ่นทดสอบมีค่าของความเสี่ยงในการเกิดอาการบาดเจ็บอยู่ในระดับต่ำมาก

และนี่คือ รายงานการทดสอบชนครั้งล่าสุดของ EuroNCAP จัดทำออกมาเพื่อเป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจสำหรับผู้ที่กำลังคิดจะซื้อรถยนต์ใหม่สักรุ่น
เช่นเดียวกับรถยนต์รุ่นอื่นๆ ในยุคนี้ ผลงานการทดสอบชนทางด้านข้างของ X1 มีคะแนนออกมาโดยอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
แม้สภาพโครงสร้างของห้องโดยสารจะไม่ดูยับมากตอนชนทางด้านหน้า แต่คะแนนในเรื่องของการปกป้องผู้ขับและผู้โดยสารของโตโยต้า เออร์เบิน ครูสเซอร์ถือว่าต่ำมาก เพียง 58% เท่านั้น และทำให้รถยนต์รุ่นนี้ได้เพียง 3 ดาวในการทดสอบชน
.เช่นเดียวกัน ในการทดสอบชนกับเสา ทาง EuroNCAP ให้ 0 คะแนนเมื่อพบว่า ระดับแรงกระทำบนศีรษะของหุ่นมีสูงมาก
โฟล์คสวาเกน ซิร็อคโค่มีระดับการปกป้องผู้ขับจากการชนทางด้านข้างในระดับที่ดีมาก แม้ว่าตัวรถจะเป็นแบบสปอร์ต 2 ประตูก็ตาม
ในการทดสอบชนทางด้านหน้า โฟล์คสวาเกน ซิร็อคโค่ก็ทำคะแนนได้ดี
.ในการทดสอบความเสี่ยงในการเกิดอาการบาดเจ็บของกระดูกต้นคอเพราะการสะบัดตัวกลับของศีรษะเวลาที่เกิดการชนทางด้านท้าย หรือ Whiplash จะมีการทำแยกออกมาต่างหาก
กำลังโหลดความคิดเห็น