ข่าวในประเทศ – “มิตซูบิชิ” ฟันธง! อนาคตตลาดเก๋งจะมากกว่าปิกอัพ ทำให้ต้องเร่งศึกษาแผนการผลิตเก๋งในไทย โดยเฉพาะโครงการอีโคคาร์ แต่ยังติดปัญหาความต้องการของตลาด ระหว่างขนาดตัวถังเท่าเก๋งบีเซกเม้นท์ และซิตี้คาร์ เผยเดือนมีนาคม 2553 จะต้องเคาะให้จบ ด้านค่าย “ซูซูกิ” ประกาศเดินหน้าผลิตอีโคคาร์ในไทย 30 พ.ย.นี้ทำพิธีวางวางศิลาฤกษ์ ก่อสร้างโรงงานมูลค่า 7.5 พันล้านบาท พร้อมปรับโครงสร้างองค์กรใหม่รับ
นายโนบะยูกิ มูราฮาชิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส(ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดรถยนต์ในไทยปัจจุบัน รถยนต์นั่งขนาดซับคอมแพ็กต์ หรือบีเซกเม้นท์ มีการขยายตัวขึ้นมากประมาณ 22-23% และจะส่งผลให้สัดส่วนตลาดรถยนต์ในไทยเปลี่ยน เชื่อว่าอนาคตปิกอัพจะมีสัดส่วนตกลง เหลือเพียงกว่า 40% ที่เหลือจะเป็นรถยนต์นั่ง จากปัจจุบันปิกอัพจะอยู่ที่กว่า 50-60%
อีโคคาร์เคาะมีนาคม-ลังเลขนาดรถ
จากทิศทางความต้องการของตลาดดังกล่าว ทำให้มิตซูบิชิวางแผนที่จะผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็ก และได้เข้าร่วมโครงการอีโคคาร์ที่รัฐบาลไทยให้สิทธิประโยชน์พิเศษ ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาความต้องการของตลาดในไทยและทั่วโลก ระหว่างขนาดตัวถังระดับเดียวกับรถกลุ่มบีเซกเมนท์ และซิตี้คาร์ แบบไหนที่ตลาดจะให้การตอบรับมากกว่า
การผลิตรถเล็ก หรือซิตี้เป็นเรื่องไม่ยาก ที่จะทำให้ได้เงื่อนไขอัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน 20 กม./ลิตร แต่ปัญหาอยู่ที่ความต้องการของตลาด ว่าลูกค้าจะตอบรับรถที่มีขนาดตัวถังเท่าบีเซกเมนท์ หรือซิตี้คาร์มากกว่ากัน ซึ่งหากเป็นบีเซกเม้นท์ก็ต้องมาดูว่า จะสามรถทำให้เข้าเงื่อนไขอีโคคาร์ได้หรือไม่ เรื่องนี้เรากำลังศึกษาอยู่ และบริษัทแม่ยังไม่ประกาศที่จะผลิตอีโคคาร์ในไทย โดยมิตซูบิชิจะสรุปในเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายที่จะต้องยื่นรายละเอียดทั้งหมด เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ในการผลิตอีโคคาร์จากรัฐบาลไทย” นายมูราฮาชิกล่าว
ในส่วนปัญหาอื่นๆ ของอีโคคาร์ ณ ปัจจุบันไม่น่าจะมีแล้ว รวมถึงเงื่อนไขกำลังการผลิตในปีที่ 5 ของอีโคคาร์ที่จะต้องมีไม่ต่ำกว่า 1 แสนคัน ซึ่งหากดูจากสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในปัจจุบัน เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้เรื่องเงื่อนไขกำลังการผลิตของอีโคคาร์ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป
ปีนี้ตลาดทะลุ5แสนคันปีหน้าโต3%
นายมูราฮาชิกล่าวว่า จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้มิตซูบิชิเชื่อว่าตลาดรถยนต์ในช่วงไตรมาสสุดท้าย จะมีไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5 หมื่นคัน ซึ่งแสดงให้เห็นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยทำได้กว่า 5.1 หมื่นคัน จึงคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีตลาดรถยนต์ไทย น่าจะปิดยอดขายอยู่ที่ประมาณ 5.09-5.1 แสนคัน
“ในส่วนของปีหน้ามิตซูบิชิเชื่อว่า ตลาดรถยนต์ไทยจะฟื้นตัวอย่างชัดเจน คาดว่าจะเติบโตประมาณ 3-5% หรืออยู่ที่ประมาณ 5.2-5.4 แสนคัน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ”
สำหรับการดำเนินงานของมิตซูบิชิในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการผลิตและส่งออกเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้นชัดเจน โดยจะเห็นว่าในช่วงครึ่งปีแรกมีการผลิตรถยนต์สำเร็จรูปประมาณ 3 หมื่นคัน แต่ในช่วงครึ่งปีหลังมีการผลิตเกือบ 7 หมื่นคัน ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ทำให้ตลอดทั้งปีนี้มิตซูบิชิจะมีการผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนคัน เช่นเดียวกับการส่งออกที่ช่วงครึ่งปีแรก มีส่งออกรถสำเร็จรูปเพียง 3.8 หมื่นคัน และครึ่งปีหลังเพิ่มเป็น 5.2 หมื่นคัน ทำให้ภาพรวมการส่งออกปีนี้ น่าจะอยู่ที่กว่า 1.11 แสนคัน แบ่งเป็นรถยนต์สำเร็จรูป 9 หมื่นคัน และชิ้นส่วนรถยนต์ 2.1 หมื่นคัน
“ขณะที่ยอดขายตลอดทั้งปีนี้ มิตซูบิชมั่นใจจะสามารถทำยอดขายได้ตามเป้า 1.9 หมื่นคัน หรือตามปีงบประมาณระหว่างเดือนเมษายน-มีนาคม อยู่ที่ประมาณ 2.37 หมื่นคัน ซึ่งมากกว่ายอดขายตามปีงบประมาณของปีที่แล้ว ที่ทำได้เพียง 1.9 หมื่นคัน โดยเป็นผลมาจากการเปิดตัว มิตซูบิชิ แลนเซอร์ อีเอ็กซ์ใหม่ ส่วนแลนเซอร์รุ่นเดิมก็ยังได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า แสดงให้เห็นแผนงานการตลาดของเรามาถูกทางแล้ว ”นายมูราฮาชิกล่าว
ซูซูกิเดินหน้าลุยอีโคคาร์7.5พันล.
รายงานข่าวจากบริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า หลังจากซูซูกิได้รับการอนุมัติจากไทย ให้สามารถผลิตอีโคคาร์ได้ในเดือนธันวาคม 2550 แต่ทางบริษัทฯ ได้ชะลอแผนดังกล่าวออกไป แต่ล่าสุดแผนการผลิตอีโคคาร์ได้เดินหน้าอีกครั้ง โดยในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ จะมีการทำพิธีวางศิลาฤกษ์ ณ นิคมอุตสาหกรรม เหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ซูซูกิในไทยต่อไป
ทั้งนี้ซูซูกิวางแผนที่จะลงทุนผลิตรถยนต์อีโคคาร์ ด้วยเงินจำนวน 20 พันล้านเยน หรือประมาณ 7,500 ล้านบาท ในการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ ซึ่งมีขีดความสามารถในการขึ้นรูป เชื่อม พ่นสี ประกอบ และผลิตเครื่องยนต์ โดยวางแผนที่จะเริ่มการผลิตอีโคคาร์ที่โรงงานแห่งนี้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ซูซูกิยังได้เตรียมการ ที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการดำเนินงาน ด้านการขายในประเทศไทยอีกด้วย ปัจจุบันมีการทำตลาดรถยนต์ในประเทศไทย ผ่านทางบริษัท ซูซูกิ ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งถือเป็นบริษัทลูก และเป็นบริษัทผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทยในขณะนี้ โดยทางบริษัทแม่วางแผนที่จะเริ่มถ่ายโอนการดำเนินงานด้านการขายไปยังบริษัทผู้ผลิต คือ บริษัท ซูซูกิ ออโตโมบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด อย่างค่อยเป็นค่อยไป