สุดท้ายแล้วข่าวลือก็กลายเป็นจริงกับเรื่องที่ว่าต้นแบบในงานเจนีวา มอเตอร์โชว์ 2009 จะถูกผลิตจริงออกขายในตลาดจนได้ โดยคราวนี้คำว่า Sportback ซึ่งมีจุดเริ่มต้นอยู่กับตัวถัง 5 ประตูของรุ่น A3 จะมาถูกแปะอยู่กับสายพันธุ์ A5 ด้วยรถยนต์สไตล์ฟาสต์แบ็กทรงสปอร์ตเพื่อผสมผสานความโดดเด่นในเรื่องความสปอร์ตบนความอเนกประสงค์ของการใช้งาน
Sportback จะเป็นตัวถังที่ 3 ของ A5 ในการทำตลาดต่อจากรุ่นคูเป้ และเปิดประทุน โดยออดี้ชูจุดเด่นในเรื่องของความเหนือชั้นในทั้ง 2 ด้านของตัวถังนี้อย่างชัดเจนว่ามีความสวยและสปอร์ตตามแบบฉบับรถสปอร์ต แต่เปี่ยมด้วยประโยชน์ใช้สอยหากคิดจะใช้งาน เพราะจากการที่มากับตัวถังแบบฟาสต์แบ็ก ซึ่งฝากระโปรงหลังสามารถเปิดขึ้นพร้อมกับกระจกบังลมหลัง ทำให้การใช้งานมีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่ของการเก็บสัมภาระจากเดิมที่มีขนาด 480 ลิตรมาเป็น 980 ลิตรเมื่อพับเบาะหลังลงทั้งหมด
นอกจากรูปทรงของโครงสร้างโดยรวมของตัวรถแล้ว ในเรื่องของรูปลักษณ์มีการปรับปรุงจากตัวต้นแบบอย่างชัดเจนทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งก็เพื่อให้เป็นไปตามความสอดคล้องของการลดต้นทุนการผลิต ตัวถัง Sportback จะแชร์ชิ้นส่วนตัวถังและรายละเอียดทางวิศวกรรมของตัวรถด้านหน้าจนถึงเสากระจกบังลมหน้า รวมถึงแผงหน้าปัดร่วมกับตัวถังอื่นๆ ของสายพันธุ์ A5
ขนาดตัวถังถูกย่อให้สั้นกว่า A4 รุ่นซีดานอยู่เล็กน้อย ด้วยมิติตัวถังที่มีความยาว 4,711 มิลลิเมตร กว้าง 1,854 มิลลิเมตร สูง 1,391 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ 2,810 มิลลิเมตร ซึ่งจุดเด่นอยู่ที่การออกแบบเสากระจกบังลมหลัง หรือ C-Pillar ให้มีความลาดเท เพื่อทำให้แนวหลังคามีลักษณะเตี้ยลงจนทำให้เกิดสัมผัสของความสวยแบบสปอร์ตในเชิงสายตา โดยเป็นการผสมผสานความลงตัวของรถสปอร์ตรุ่นคลาสสิคอย่างออดี้ 100 Coupe รุ่นปี 1969 ให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน
เพื่อให้น้ำหนักของตัวรถไม่มากจนเกินไป และอยู่ในระดับ 1.5 ตันบวกลบมีการนำวัสดุที่มีน้ำหนักเบาอย่างอะลูมิเนียมมาใช้ในการผลิตชิ้นส่วนตัวถังโดยเฉพาะด้านหน้า และในส่วนของระบบกันสะเทือน ซึ่งด้านหน้าเป็นแบบยึด 5 จุด และด้านหลังแบบ Trapezoidal Link
6 ทางเลือกของเครื่องยนต์ในช่วงแรกที่จะทำตลาด รุ่นเบนซินเริ่มกับขุมพลัง 4 สูบ 2,000 ซีซีแบบ TFSI เทอร์โบ ไดเร็กต์อินเจ็กชัน ซึ่งมีให้สัมผัส 2 ความเร้าใจ คือ 180 และ 211 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 32.6 กก.-ม. ที่ 1,500-3,900 รอบต่อนาที และ 35.6 กก.-ม. 1,500-4,200 รอบต่อนาที ตามลำดับ ส่วนรุ่นท็อปของเบนซินเป็นวี6 3,200 ซีซีแบบ FSI 265 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 33.6 กก.-ม. ที่ 3,000-5,000 รอบ/นาทีมีอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงใน 6.6 วินาที และความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ที่เหลือเป็นเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลคอมมอนเรล ทั้ง 4 สูบ 2,000 ซีซี 170 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 35.6 กก.-ม. ตามด้วยวี6 2,700 ซีซี 190 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 40.7 กก.-ม. และ 3,000 ซีซี 240 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 50.9 กก.-ม. โดยที่ระบบขับเคลื่อนมีทั้งแบบล้อหน้า และ 4 ล้อตลอดเวลา Quattro ขึ้นอยู่กับรุ่นเครื่องยนต์ เช่นเดียวกับเกียร์ซึ่งมีทั้งแบบธรรมดา 6 จังหวะ และกึ่งอัตโนมัติแบบคลัตช์คู่ 7 จังหวะรุ่น S Tronic
ส่วนในช่วงต้นปี 2010 จะมีรุ่นประหยัดซึ่งเป็นเครื่องยนต์ 4 สูบ 1,800 ซีซีเทอร์โบแบบ TFSI 160 แรงม้า แบบขับเคลื่อนล้อหน้า พร้อมเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่อง หรือ CVT ที่ออดี้เรียกว่า Multronic ตามออกมาขาย
อีกสิ่งที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาสำหรับรถยนต์รุ่นนี้คือ การนำแนวคิดของรถยนต์ไฮบริดมาใช้ โดยนำระบบดับเครื่องยนต์อัตโนมัติเมื่อจอดติดอยู่กับที่ หรือ Start/Stop มาใช้เพื่อช่วยลดความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซพิษ
โดยจะมีติดตั้งกับรุ่นเครื่องยนต์ 4 สูบ 2,000 ซีซีทั้งเบนซินและเทอร์โบดีเซลที่ใช้เกียร์ธรรมดา เช่นเดียวกับระบบชาร์จกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บในแบตเตอรี่ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ กับตัวรถคล้ายกับแนวคิด Brake Energy Regeneration ของบีเอ็มดับเบิลยู
การทำตลาดมีขึ้นแล้ว และจะเริ่มส่งมอบรถให้กับดีลเลอร์ในเยอรมนีได้ในเดือนกันยายน 2009 นี้ โดยมีราคาขายอยู่ระหว่าง 36,050-47,000 ยูโร หรือ 1.66-2.11 ล้านบาท พร้อมสีตัวถังที่มีให้เลือกทั้งหมด 15 สี