หอนิทรรศการโตโยต้าไคคัง และโรงงานซึซึมิ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่โตโยต้าได้นำคณะครู-นักเรียน เจ้าหน้าที่เทศบาล 3 จังหวัด 24 ชีวิต เรียนรู้ –รู้จัก ถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยรายนี้มีความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมมาก-น้อยขนาดไหน
หอนิทรรศการโตโยต้าไคคัง ตั้งอยู่ที่เมืองโตโยต้า เป็นสถานที่จัดนิทรรศการสื่อภาพและเสียง เพื่อถ่ายทอดวิสัยทัศน์และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของโตโยต้า ทั้งในด้านการผลิตรถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ,การรับผิดชอบต่อการรีไซเคิลรถเก่า ตลอดจนกิจกรรมเพื่อสังคมที่เกี่ยวกับอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากมาย รวมทั้งเทคโนโลยีการผลิตยานยนต์ที่เหนือชั้นของ โตโยต้า และเลกซัส
ผู้ที่เข้าชมจะได้เห็นพลังขับเคลื่อนไฮบริดและรุ่นไฟน์-เอ็กซ์ ยานยนต์ในทศวรรษหน้าที่กำลังพัฒนาขึ้นเพื่อกานำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ด้านในโถงมีการจัดการแสดงของหุ่นยนต์เล่นดนตรีให้ชมกันด้วย
ภายในหอนิทรรศการมีการจัดแบ่งออกทั้งหมด 7 โซน โดยโซนแรกเป็นการแสดงเทคโนโลยีเกี่ยวกับไฮบริด โดยมีรถ ไฟน์-เอ็น ,พรีอุส และ Fuel cell มาให้ชมกัน ขยับเข้าไปนิดเป็นโซนเกี่ยวระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ, มีรถยนต์ที่ผ่านการทดสอบการชนมาโชว์ และไอ-ยูนิต ยานยนต์ส่วนบุคคล ต่อด้วยโซนที่แสดงระบบการผลิตแบบโตโยต้า ซึ่งเป็นจำลองการผลิตรถยนต์ในโรงงานมาให้ชมกัน
โซนที่ 4 เป็นการแสดงกิจกรรมเพื่อสังคม และโซนที่ 5 เป็นเรื่องเกี่ยวกับมอเตอร์สปอร์ต มีรถแข่ง F1 มาโชว์ หลังจากนั้นก็มาเจอห้องโถงใหญ่ที่มีรถยนต์ของโตโยต้าเกือบทุกรุ่นมายืนอวดโฉมและสามารถเข้าไปสัมผัสได้ตามใจชอบ และสุดท้ายเป็นโรงละครโตโยต้า ซึ่งคณะนักเรียน ครู ได้มีโอกาสเข้าชมการแสดงหุ่นยนต์เล่นดนตรีด้วย ซึ่งเด็กตื่นเต้นและประหลาดใจในความสามารถของหุ่นยนต์ที่สามารถเล่นดนตรีได้เหมือนกับคน
สำหรับโรงงานซึซึมิ ตั้งอยู่ในเมืองโตโยต้า เช่นกัน ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 5 โรงงานโตโยต้าทั่วโลก (โรงงานซึซึมิ ประเทศญี่ปุ่น, โรงงานบ้านโพธิ์ ประเทศไทย, โรงงานโตโยต้า ประเทศอังกฤษ, โรงงานโตโยต้า ประเทศฝรั่งเศส , โรงงานโตโยต้า มิสซิสซิปปี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา) ที่เป็นต้นแบบของการผลิตแบบยั่งยืน โรงงานซิซิมิ มีพนักงานทั้งหมด5,600 คน เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อปี 2513 ผลิตรถทั้งหมด 7 รุ่น ได้แก่ พรีอุส , คัมรี, พรีมีโอ, อัลไลอัน,ไซออน ทีซี,และโคโรลล่า
นอกจากนี้โรงงานซิซิม เป็นโรงงานโตโยต้าแห่งแรกที่ประสบความสำเร็จในการวางระบบกำจัดขยะโดยไม่นำขยะไปฝังกลบ (Zero Landfill) ในปี 1999 และยังคงดำเนินการกำจัดขยะในวิถีทางดังกล่าวจวบจนปัจจุบัน ทั้งนี้ปริมาณขยะได้รับการจำกัดปริมาณลงถึง 73 % เทียบกับปี 2000
ดังนั้นจึงไม่แปลที่ภายในบริเวณโรงงานได้มีการปลูกป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียวรอบโรงงาน 4 กิโลเมตร, ติดตั้งเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์บริเวณโรงงานประกอบ ซึ่งผลิตไฟฟ้าใช้ได้ถึง 50 % ( 2000 kW),ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยใช้พลังงานธรรมชาติ ผลิตไฟฟ้าใช้ได้ถึง 50 % ที่สำคัญโรงงานซึซึมินำแหล่งพลังงานจากธรรมชาติมาใช้ (ท่อนำแสง) เพราะประโยชน์ที่ได้รับคือ การใช้แสงสว่างตามธรรมชาติช่วยประหยัดพลังงาน แม้ในตึกที่ไม่มีหน้าต่างก็สามารถใช้แสงสว่างตามธรรมชาติได้ และการใช้แสงสว่างตามธรรมชาติสามารถเร่งอัตราการเติบโตของต้นไม้ภายในอาคารได้ด้วย
เหนืออื่นใดการทำอากาศให้สะอาดขึ้นโดยใช้สีโฟโตคาตาไลติก เป็นสีชนิดพิเศษที่ผู้ผลิตได้พัฒนาคุณสมบัติโดยการติดตั้งส่วนประกอบพิเศษให้สามารถทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรค กำจัดสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ปนเปื้อนในน้ำหรืออากาศได้ ที่สำคัญสีชนิดพิเศษนี้ช่วยพัฒนาคุณภาพอากาศให้ดีขึ้นเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 2,000 ต้นเลยที่เดียว
การทัศนศึกษาของครู-นักเรียน และเจ้าหน้าที่เทศบาล จาก 3 โรงเรียน 3 จังหวัด ต่างทึ่งในกระบวนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมภายในโรงงานของโตโยต้า และแอบปลื้มว่าบริษัทยักษ์ใหญ่รายนี้ก็ไม่ละเลยต่อภาวะโลกร้อน ทุกคนต่างเก็บเกี่ยวความรู้ที่ได้รับเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชุมชนของตนเองแม้จะไม่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ 100 % แต่มั่นใจว่าสิ่งที่ได้รับ เรียนรู้จะไม่สูญเปล่า