xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องอบพลังงานแสงอาทิตย์ ไอเดียรักษ์โลกจาก มทร.ธัญบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าของผลงาน และอาจารย์ที่ปรึกษา
เมื่อวิกฤตขาดแคลนพลังงานเชื้อเพลิงเกิดขึ้น การหันกลับมาใช้พลังงานจากธรรมชาติที่มีอยู่เหลือเฟือ และไม่มีวันหมดอย่าง “พลังงานแสงอาทิตย์” จึงกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง จะเห็นได้จากในปัจจุบันมนุษย์ต่างก็ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือเครื่องใช้ที่สามารถนำมารองรับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์กันมากขึ้น ที่เห็นได้อย่างชัดเจน ก็คือ การจัดเก็บพลังงานแสงอาทิตย์แล้วแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าโดยใช้แผงโซลาร์เซลล์ หรือแม้แต่การใช้พลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์โดยตรงก็ตาม

เครื่องอบแห้งโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ที่ใช้น้ำมันเป็นตัวกลาง ก็เป็นอีกอุปกรณ์หนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกรในยุคที่ ต้องใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ให้คุ้มค่าที่สุด ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวเป็นผลงานการคิดค้นของ มงคล ชัยวิเศษเจริญ, นัฐนันท์ นนทเกียรติกุลและนรงค์ศักดิ์ พลศักดิ์ขวา นักศึกษาจากภาควิชาครุศาสตร์เครื่องกล คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) คำถามคือ เครื่องอบแห้งชุดนี้จะสามารถตอบสนองการใช้งานในยุคขาดแคลนพลังงานได้อย่างไร ในเมื่อก็ยังต้องใช้น้ำมันอยู่ในกระบวนการอยู่ ทั้งนี้ เจ้าของผลงาน บอกว่า น้ำมันที่ว่านี้ ไม่ใช่น้ำมันที่ใช้เติมรถยนต์ที่ราคากำลังพุ่งขึ้นสูงทุกวันแต่อย่างใด แต่เป็นน้ำมันพืช หรือน้ำที่เหลือใช้ตามบ้านเรือนต่างหาก

“การทำงานของเครื่อง เริ่มจากเราจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นตัวให้ความร้อนกับ
น้ำมัน ซึ่งน้ำมันจะเป็นตัวกลางให้ความร้อนเข้าไปในเครื่องอบ โดยผ่านท่อทองแดงขดที่ต่อเข้าไปในเครื่องอบ เมื่อน้ำมันไหลผ่านท่อ ก็จะพาความร้อนที่ได้จากแสงอาทิตย์เข้าไปด้วย และเหตุที่เลือกใช้น้ำมันเป็นตัวกลางในการพาความร้อนเข้าเครื่องอบก็เพราะว่า น้ำมันสามารถเก็บความร้อนได้ดีนั่นเอง”

ทั้งนี้ ตัวเครื่องจะประกอบด้วย สองส่วนคือ ส่วนของชุดตู้อบ มีขนาด 60x60 ซม.ภายในตู้อบมี ขดท่อทองแดงขนาด 1.5875 ซม.ยาว 858 ซม.และส่วนของชุดตากน้ำมัน เพื่อรับแสงอาทิตย์ มีขนาด 70x100x40 ซม.น้ำมันจะไหลเข้าท่อทองแดงเข้าเครื่องอบโดยมีมอเตอร์ขนาด ? แรง ปั๊มน้ำมันเข้าไปให้น้ำมันไหลเวียนอยู่ในขดลวด (ท่อขดลวดจะทำหน้าที่เหมือนฮีตเตอร์) ขณะทำการอบผลิตภัณฑ์ อุณหภูมิที่ใช้อบแห้งอยู่ระหว่าง 39-59 องศาเซลเซียส
จากการทดสอบกับพืชที่มีลักษณะ และปริมาณน้ำที่แตกต่างกันสามชนิดคือ ใบบัวบก พริก และกล้วย แล้วพบว่า ใบบัวบกจากน้ำหนัก 1000กรัม ลดลงเหลือ 193.3 กรัม ใช้เวลาในการอบ 8 ชั่วโมง เป็นเวลาที่ดีที่สุด ส่วนพริกชี้ฟ้า จากน้ำหนัก 1,000 กรัม ลดลงเหลือ 200กรัม ใช้เวลาในการอบ 16 ชั่วโมง เป็นเวลาที่ดีที่สุด ส่วนกล้วยน้ำหว้า จากน้ำหนัก 1,000 กรัม ลดลงเหลือ 493.3 กรัม ใช้เวลาในการอบ 17 ชั่วโมง เป็นเวลาที่ดีที่สุด ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่า อัตราการอบแห้งเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับชนิดของผลิตภัณฑ์ในลักษณะความหนาแน่นของเนื้อผลิตภัณฑ์และปริมาณน้ำที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ กับสภาพอากาศในแต่ละวันที่ทำการอบ ข้อดีที่เห็นได้ชัดในการอบด้วยวิธีนี้คือ สีสันของผลิตภัณฑ์จะยังคงสีเดิม สามารถนำไปอบพืชผลทางการเกษตรได้อีกหลายชนิดนอกเหนือจากพืชที่ใช้ทดสอบ อย่างเช่นพืชสมุนไพรเป็นต้น อีกทั้งยังได้ใช้ของที่เหลือจากบ้านเรือน พลังงานจากธรรมชาติมาทำให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า

ซึ่งโครงการนี้ มี ผศ.อัคครัตน์ พูลกระจ่าง เป็นที่ปรึกษาตลอดโครงการจนสำเร็จ และหากผู้ใดสนใจก็สามารถสอบถามรายละเอียดไปได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-7176
ผลิตภัณฑ์ที่อบแล้ว
ส่วนที่พักน้ำมันเพื่อรับความร้อนจากแสงอาทิตย์
กำลังโหลดความคิดเห็น