xs
xsm
sm
md
lg

คุยกับแชมป์ดาการ์"บรูซ การ์แลนด์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลัง"ดาการ์ แรลลี่ 2009"เปลี่ยนมาใช้เส้นทางในทวีปอเมริกาใต้ แทนแผ่นดินแอฟริกาเดิม ซึ่งมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยจากผู้ก่อการร้าย...กับภูมิประเทศใหม่ อุปสรรคความท้าทายใหม่ ที่เพิ่งปิดฉากอย่างทุลักทุเลไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ด้วยระยะทางกว่า8,000 กิโลเมตร จากกรุงบัวโนสไอเรส อาร์เจนติน่า มุ่งสู่เมืองวัลปาไรโซ ประเทศชิลี (และวกกลับมาจบที่จุดเริ่มต้น) การเดินทางข้ามทวีปจากฝั่งมหาสมุทรหนึ่ง(แอตแลนติก) ไปยังมหาสมุทรหนึ่ง (แปซิฟิก) แหวกฟ้าฝ่าเทือกเขาแอนดีส ผจญความแห้งแล้งในทะเลทรายอันร้อนระอุ หรือบางช่วงต้องไต่ระดับขึ้นไปถึง 4,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล...จะมีรถสักกี่คันที่ถึงจุดหมาย หรือกี่ทีมที่จะสมหวังตามเป้าประสงค์
บรูซ การ์แลนด์
"การ์แลนด์มอเตอร์สปอร์ต" หนึ่งในทีมแข่งรถออฟโรดของประเทศออสเตรเลีย นำโดย“บรูซ การ์แลนด์” พร้อมด้วยทีมงานจากหลายประเทศ ภายใต้การการสนับสนุนของ บริษัท อีซูซุโอเปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด...เมื่อทีมแข่งที่ระดมด้วยทีมงานสหประชาชาติ แต่เลือกพาหนะคู่ใจเป็น "อีซูซุ ดีแมคซ์" ปิกอัพสัญชาติไทย ความน่าสนใจจึงเกิดขึ้น และยิ่งดูดีขึ้นไปอีกเมื่อรู้ว่า กลุ่มชายฉกรรพวกนี้สามารถนำรถเข้าป้ายเป็นที่หนึ่งในรุ่น ปิกอัพดีเซล T 1.2 (Amateur) และเป็นอันดับที่ 11 ในประเภทเวลารวม

ในวาระที่ทีม"การ์แลนด์มอเตอร์สปอร์ต" มาเยือนเมืองไทยในงานบางกอกฯมอเตอร์ 2009 "ASTVผู้จัดการมอเตอริ่ง" มีโอกาสได้สัมภาษณ์ "บรูซ การ์แลนด์" หัวเรือใหญ่ และเป็นนักขับมือหนึ่ง ถึงภาระกิจ และความสำเร็จล่าสุด

-จุดเริ่มต้นกับอีซูซุ

จริงๆผมเริ่มใช้อีซูซุทรูปเปอร์ เครื่องเบนซิน ตั้งแต่ปี 1993 แล้ว โดยนำไปแข่งขันในหลายรายการ อาทิ Australasian Safari Rally ที่เคยคว้าแชมป์มาแล้ว 5 ครั้ง แต่ล่าสุดช่วงปี 2008 ได้คุยกับ อีซูซุ ประเทศไทย ซึ่งเราเป็นพันธมิตรกันมานานกว่า 16 ปี และเห็นตรงกันว่า น่าจะเอา ดีแมคซ์เครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรลใหม่ ที่เพิ่งเริ่มส่งออกไปยังออสเตรเลีย เข้าแข่งขัน เพื่อเป็นการเสริมภาพลักษณ์ไปในตัว

-พูดถึงดีแมคซ์

ในภาพรวมเราก็ปรับแต่งรถเป็นไปตามกฎข้อบังคับของผู้จัดงาน และมาตรฐานสากล ด้วยการเสริมอุปกรณ์ความปลอดภัย หรือตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก พยายามทำให้รถเบาที่สุด ขณะเดียวกันเรายังใช้เครื่องยนต์ 3.0 ลิตรเป็นบล็อกเดิมๆที่ติดมากับรถจากโรงงานผลิตไม่มีการเปลี่ยนแปลง(แต่อาจมีการจูนกล่องนิดหน่อย)

“ กับเส้นทางโหดๆแบบนี้ รถยนต์ที่ใช้ต้องมีความอึดมาก ซึ่งดีแมคซ์ก็ขึ้นชื่อเรื่องนี้อยู่แล้ว ขณะเดียวกันยังมีจุดเด่นตรงแรงบิด และการประหยัดน้ำมัน โดยพิสูจน์ให้เห็นในดาการ์แรลลี่ ที่ผมเติมน้ำมันน้อยกว่ารถบางรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินถึงครึ่งต่อครึ่ง"

-การเตรียมตัวก่อนแข่งแรลลี่ดาการ์

ก่อนเข้าแข่งขัน “ดาการ์ แรลลี่ 2009” ผมและทีมงานได้ทดสอบรถในแรลลี่มา 2 สนาม (ในปี2008)ทั้งรายการ The Australasian Safari Rally 2008 ในเดือนสิงหาคม (ได้ที่ 1 ในประเภทรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล แต่ก็ได้ที่ 3 ในรถที่เข้าร่วมแข่งทั้งหมด ) หลังจากนั้นได้ส่งรถคันเดียวกันนี้จากออสเตรเลียไปยังดูไบ เพื่อเข้าร่วมรายการ The UAE Desert Challenge 2008 โดยต้องแข่งขันในสภาวะอุณหภูมิที่สูงถึง 52 องศาเซลเซียส ในทะเลทรายอันร้อนระอุ ทั้งนี้เพื่อต้องการรับรู้และปรับปัญหาต่างๆ เพราะแน่นอนว่าเราต้องเจออุปสรรคที่ยากกว่าในดาการ์แรลลี่

-ปัญหาอุปสรรคในดาการ์แรลลี่

ต้องยอมรับว่าการย้ายสถานที่มาแข่งขันที่อเมริกาใต้เป็นครั้งแรก ของดาการ์แรลลี่ จึงมีความวุ่นวายเยอะ ทั้งในแง่ของอุปสรรค ภูมิประเทศรวมถึงความพร้อมของทีมงานจัดการแข่งขัน โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากการสำรวจเส้นทางแข่งในฤดูหนาว แต่เอาเข้าจริงเราต้องแข่งในฤดูร้อน ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องกัน ทั้งสภาวะการขับขี่ รวมถึงระยะเวลาแข่งที่ใช้มากกว่าที่ทีมงานคาดการณ์

"เรายังมีเวลาพักผ่อนน้อยมาก เนื่องจากต้องตื่นเช้าทุกวัน ตั้งแต่ตี 4 ตี 5 เพื่อเตรียมรถและเตรียมความพร้อม กว่าจะกลับมาก็หลังเที่ยงคืน อีกทั้งบางวันอุณหภูมิขึ้นสูงมากถึง 40 องศาเซลเซียส แล้วก็มีฝุ่นหนาเต็มไปหมด เป็นสภาพการขับรถที่อันตรายมาก โดยเฉพาะการขับในช่วงที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแข่งจริงมีระดับความสูง 3800 เมตรหรือ 4800 เมตร ออกซิเจนมีน้อยมากจนแทบหายใจไม่ออกและขับรถไม่ได้ เพราะเมื่อสมองได้รับออกซิเจนน้อยลง ทำให้สั่งงานช้า แล้วร่างกายมีปฏิกิริยาตอบกลับที่ช้ามาก"

-เป้าหมายต่อไป

ผมจะตั้งความหวังไว้สูงมากในการเข้าแข่งขันในรายการต่างๆ รวมถึง ดาการ์แรลลี่ ดังนั้นเมื่อสามารถจบการแข่งขัน และได้ตำแหน่งที่น่าพอใน ผมจึงภูมิใจกับผู้ร่วมงานทั้งหมดที่ทำให้ความฝันที่จะได้รางวัลจากการแข่งขัน “ดาการ์แรลลี่ 2009” เป็นความจริง

เราเป็นทีมระดับนานาชาติ เพราะนอกจากความร่วมมือจากประเทศไทย เจ้าของผลิตภัณฑ์รถ “อีซูซุดีแมคซ์” ซึ่งเป็นรถที่มีคุณสมบัติที่ดีมากแล้ว ยังมีทีมงานอื่นๆ รวมทั้งหมด 5 ประเทศด้วยกันคือ ไทย สวีเดน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แล้วก็มาเลเซีย ซึ่งทั้งหมดเป็นโครงการที่ทำร่วมกัน ดังนั้นรางวัลที่ได้รับจึงไม่ได้เป็นรางวัลสำหรับผมแค่คนเดียว แต่เป็นรางวัลสำหรับทุกๆประเทศที่ได้ร่วมมือกันในครั้งนี้

สำหรับเป้าหมายต่อไป ผมและ แฮรี่ ซูซูกิ (เนวิเกเตอร์) พร้อมทีมงาน จะกลับเข้าร่วมการแข่งขันดาการ์แรลลี่ 2010 อีกครั้งแน่นอน แต่ก่อนจะถึงการแข่งขัน เรามีแผนลงแข่งมาราธอนแรลลี่ในออสเตรเลียอีก 2 สนาม ได้แก่ Finke Desert Race และ Australian Asian Safari ซึ่งเราจะพยายามทำผลงานให้ดีที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น