xs
xsm
sm
md
lg

มิชลิน ลดกำลังผลิต40%รับมือวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่ามกลางภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่ลามไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อทุกภาคอุตสาหกรรม มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจ โดยแวดวงอุตสาหกรรมซึ่งดูจะหนักหนาสาหัสสำหรับบ้านเรายามนี้คือ ภาคชิ้นส่วนยานยนต์ โดยรับผลกระทบเป็นลูกโซ่มาจากยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ร่วงหล่นลงถึง 30%

หนึ่งในภาคธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างขาดไม่ได้สำหรับยานยนต์ก็คือ “ยางรถยนต์” ซึ่ง ASTVผู้จัดการ สัมภาษณ์ “เชน ฦาไชย” กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มสยามมิชลิน ถึงภาพรวม และทิศทางของอุตสาหกรรมยางในขณะนี้ว่าเป็นเช่นไร รวมถึงกลยุทธ์ในการรับมือวิกฤตที่กำลังถาโถมเข้ามา
“เชน ฦาไชย” กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มสยามมิชลิน
-ภาพรวมตลาดยางของไทย

ตลาดรวมยางของไทยจะแบ่งเป็น 2 ตลาดหลักคือ 1. ตลาดยางทดแทนหรือ REM เป็นตลาดของรถเก่าที่ถึงเวลาเปลี่ยนยาง รวมทั้งรถเก๋งและรถปิกอัพมีขนาดประมาณ 6 ล้านเส้นต่อปีสำหรับปีที่แล้ว ส่วนของปีนี้ คาดว่าขนาดตลาดคงจะใกล้เคียงกัน

2. ตลาดรถใหม่หรือ OEM เป็นตลาดยางของรถใหม่ป้ายแดงที่ผู้ผลิตยางจะป้อนให้กับโรงงานผลิตรถภายในประเทศ ซึ่งตลาดดังกล่าวมูลค่าและขนาดจะปรับเปลี่ยนตามยอดการจำหน่ายรถ หากรถขายได้น้อยยางก็น้อยตามไปด้วย โดยสถานการณ์ปัจจุบันยอดจำหน่ายรถยนต์อย่างที่ทราบว่า 2 เดือนที่ผ่านมาตกลงไปราว 30% จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ

-ผลกระทบกับมิชลิน

ตลาดยางทดแทนยังคงรักษาระดับการขายได้อยู่ แต่ในส่วนของยางรถใหม่ เราต้องลดกำลังการผลิตที่โรงงานแหลมฉบัง ลงประมาณ 40% โดยมีการคาดการณ์จำนวนรถที่ผลิตในปีนี้ของไทยจากเดิม ปี 2008 ทำได้ถึง 1.4 ล้านคัน (ส่งออก+ขายในประเทศ) ลดลงมาเหลือเพียง 9 แสนคันเท่านั้น เนื่องจากปัญหาภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่ลุกลามไปทั่วโลก ส่งผลให้ตลาดส่งออกรถยนต์หลายแห่งของไทยลดยอดการสั่งซื้อลง

ทั้งนี้เฉพาะของมิชลิน จะผลิตเพื่อส่งออกประมาณ 60-70% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ฉะนั้นเมื่อเกิดวิกฤตภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนจะยาวนานแค่ไหนหรือหนักเพียงไรยังเป็นสิ่งที่ประเมินยาก ปัจจุบันเราต้องปรับแผนเป็นรายเดือน

-แนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ในส่วนของมิชลินเองได้รับผลกระทบพอสมควร แต่ยังพอรับมือไหว โดยบริษัทฯ จะไม่ผลักภาระไปให้กับลูกจ้างและสังคมด้วยวิธีการปลดหรือเลิกจ้างพนักงาน เราเลือกใช้วิธีการลดเวลาทำงาน จาก 5.75 วัน/คน เหลือ 5 วัน หรือลดลงราว 13% ทำให้รายได้ของลูกจ้างลดลงบ้างตามเวลาการทำงาน แต่เราช่วยอีกทางด้วยการนำโบนัสที่จะจ่ายปลายปีที่ปกติจะจ่ายเป็นก้อน มาแบ่งจ่ายให้ก่อนทุกเดือนเป็นเวลา 10 เดือน

รวมถึงการนำเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงที่บริษัทฯจะช่วยจ่ายให้พนักงาน นำมาใช้ก่อนโดยให้เลือกรับก่อนได้ 5% ทั้งนี้เพื่อให้พนักงานและลูกจ้างทุกคนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่ก็มีลูกจ้างบางส่วนไม่พอใจออกมาประท้วงดังที่เป็นข่าวไปนั้นขณะนี้ก็เข้าใจเรียบร้อยดีแล้ว

ขณะเดียวกัน โรงงานอีก 2 แห่งของมิชลิน ที่หนองแคและพระประแดงยังคงดำเนินการผลิตตามปกติโดยไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เนื่องจากที่หนองแคจะผลิตยางรถบรรทุกเป็นหลัก และที่พระประแดงจะผลิตยางรถเก่ง, ยางรถจักรยานยนต์ส่งออก และยางรถบรรทุกเป็นหลัก แต่ในอนาคตหากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นอาจจะมีการปรับลดการทำงานของทั้ง 2 โรงงานก็เป็นได้

นอกจากนั้นในส่วนขององค์กร ใช้วิธีการลดค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่ไม่จำเป็น และพยายามใช้เงินให้น้อยที่สุด การลงทุนอะไรที่ไม่สำคัญในช่วงนี้ให้เลื่อนออกไปก่อน ด้านความช่วยเหลือจากภาครัฐ ขณะนี้คงยังไม่มีอะไรต้องกังวลของขนาดต้องพึ่งรัฐ เพียงแค่อยากให้ภาครัฐเข้าใจว่า บริษัทฯ ไม่ต้องการสร้างภาระให้สังคงมด้วยการเลิกจ้างพนังงาน

-กลยุทธ์หลักสำหรับการทำตลาด

สำหรับการทำตลาดยางยังคงเดินหน้าใช้นโยบายเหมือนเช่นเดิม ทั้งในส่วนของงบประมาณ และช่องทางการจำหน่าย ทั้งผู้แทนการขายและไทร์พลัส (Tyre Plus) ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าขยายสาขาของไทร์พลัส จาก 72 แห่งเป็น 95 แห่ง คลอบคลุมทั่วประเทศ
ด้านยางรถยนต์ใหม่ ล่าสุดมีการออกรุ่นใหม่ ไพร์มาซี่ แอลซี ได้รับกระแสตอบรับดีมากจากดีลเลอร์ และในปีนี้จะมียางรุ่นใหม่ออกมาอีกอย่างแน่นอน แต่ยังไม่สามารถเผยได้ในเวลานี้

-ทิศทางตลาดยางในอนาคต

ขึ้นอยู่กับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของโลกว่าจะเป็นเช่นไร รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาของ อเมริกาและยุโรป ว่าจะส่งผลดีมากน้อยเท่าไหร่ ถ้าหากให้เราประเมินคาดว่า ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ อาจจะเห็นสัญญาณทางบวกของภาวะเศรษฐกิจ แต่ถ้าการเมืองในประเทศแย่ก็คงกระทบตลาดและไม่เป็นไปตามคาดอย่างแน่นอน

นั่นคือแนวทางการรับมือของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งจะหนักหนาสาหัสเพียงไรยังคงเป็นเรื่องยากในการประเมิน ฉะนั้นสิ่งใดที่ทำได้และคิดว่าเป็นผลดีควรทำเสียแต่เนิ่นๆ

กำลังโหลดความคิดเห็น