ขณะที่อนาคตของวอลโว่กับการคงอยู่ในเครือฟอร์ด มอเตอร์ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด แบรนด์ดังจากสวีเดนจัดการกระตุ้นตลาดรถยนต์หรูครั้งใหม่ กับการอัพเดตสายพันธุ์เอส80 ปรับโฉมเพิ่มความสดใหม่ที่พอจะสังเกตเห็นความแปลี่ยนแปลงในเชิงรูปลักษณ์ภายนอกได้ในระดับหนึ่ง และเพิ่มทางเลือกใหม่ด้วยเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลรุ่นใหม่ล่าสุด
เอส80 เป็นรถยนต์ระดับหรูรุ่นสูงสุดของวอลโว่ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการปรับเปลี่ยนชื่อรุ่นและระดับตลาดครั้งใหม่ ซึ่งรุ่นแรกเปิดตัวปี 1998 และเข้ามาแทนที่รุ่นเอส90 ส่วนรุ่นที่ 2 ซึ่งทำตลาดในปัจจุบันเปิดตัวเมื่อปี 2006 และได้รับการพัฒนาบนพื้นตัวถังรหัส Y20 ร่วมกับรถยนต์ในเครืออย่างแลนด์โรเวอร์ ฟรีแลนเดอร์ และฟอร์ด มอนเดโอ รวมถึงรถยนต์แบรนด์เดียวกันอย่างวี70 และเอ็กซ์ซี60
สำหรับการปรับโฉมครั้งนี้ใครที่คาดหวังในเรื่องการเปลี่ยนแปลงชนิดที่เห็นมาแต่ไกลคงต้องผิดหวัง เพราะเป็นการอัพเดตหน้าตาที่แทบจะไม่ได้ยุ่งในส่วนของชิ้นส่วนหลัก เช่น ไฟหน้า ไฟท้าย หรือฝากระโปรงหน้าและหลัง แต่เป็นการปรับเปลี่ยนในส่วนของกันชนหน้าซึ่งออกแบบให้สปอร์ตขึ้นพร้อมกับเปลี่ยนรูปทรงของสปอตไลท์ด้านหน้า เช่นเดียวกับโลโก้วอลโว่บนกระจังหน้าซึ่งมาในแบบไดคัตและมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ไม่ได้อยู่ในกรอบเหลี่ยมเหมือนกับรุ่นก่อนหน้านี้
ห้องโดยสารยังใช้แผงหน้าปัดและมาตรวัดเหมือนเดิมแต่มีการใช้อะลูมิเนียมในการตกแต่ง ส่วนสิ่งที่เปลี่ยนไปก็มีพวงมาลัยลายใหม่เสริมความสปอร์ตด้วยแถบโครเมียม เบาะหนังมีลวดลายของการเย็บตะเข็บที่แตกต่างไปจากเดิม เช่นเดียวกับการอัพเกรดในเรื่องของวัสดุที่ตกแต่งภายในซึ่งดูดีมีระดับขึ้น ประเด็นหลักของการเปลี่ยนแปลง คือ การเพิ่มทางเลือกใหม่ของเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลแบบ 5 สูบเรียง ทวินแคม 20 วาล์ว เทอร์โบคู่ทำงานในแบบซีเควนเชี่ยล ไล่เรียงการทำงานระหว่างเทอร์โบลูกเล็กและลูกใหญ่ และปรับบูสต์สูงสุดได้ถึง 1.8 บาร์
สำหรับความจุยังเท่าเดิม 2,400 ซีซี พร้อมระบบคอมมอนเรลรุ่นใหม่ โดยขุมพลังบล็อกนี้จะทำตลาดในรหัส D5 แทนที่แบบเดิมซึ่งใช้เทอร์โบเดี่ยว ทำให้มีการขยับกำลังจาก 185 แรงม้าในรุ่นเดิมมาเป็น 205 แรงม้า และแรงบิดสูงสุดเพิ่มจาก 40.1 กก.-ม. มาเป็น 42.9 กก.-ม. มีความประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงในระดับ 18.5 กิโลเมตรต่อลิตรสำหรับการขับนอกเมือง อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในไอเสีย 164 กรัมต่อการแล่น 1 กิโลเมตร สามารถผ่านมาตรฐาน Euro5 ได้อย่างสบายๆ อีกทั้งยังลดมลพิษช่วงของการสตาร์ทขณะที่กำลังเครื่องยนต์เย็นอยู่ เพราะมีการปรับระบบการทำงานให้เครื่องยนต์สามารถเพิ่มความร้อนของก๊าซไอเสียได้ถึง 1,000 องศาเซลเซียสในเวลาเพียง 2 วินาทีเท่านั้น
ส่วนเทอร์โบดีเซลรุ่นธรรมดาในชื่อ 2.4D เป็นบล็อกเดิมแบบ 5 สูบ 2,400 ซีซี เทอร์โบเดี่ยวแต่มีเรี่ยวแรงเพิ่มจาก 163 มาเป็น 175 แรงม้า และแรงบิดขยับจาก 34.5 เป็น 42.9 กก.-ม. เท่ากับรุ่น D5 ใครที่ต้องการความประหยัดในแบบความจุน้อยก็ยังมีทางเลือกของรหัส DRIVe ซึ่งเคยทำตลาดไปก่อนหน้านี้กับรุ่นซี30, เอส40 และวี50 โดยนำเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซล 1,600 ซีซี 109 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 24.4 กก.-ม. มาปรับแต่งการทำงานรวมถึงซอฟต์แวร์ของสมองกล พร้อมกับปรับอัตราทดของเกียร์ที่ 3,4 และ 5 ใหม่เพื่อให้เกิดความประหยัด ทำให้มีตัวเลขความสิ้นเปลืองที่ 23.3 กก.-ม. สำหรับการใช้งานนอกเมือง และมีระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในไอเสียเพียง 129 กรัมต่อการใช้งาน 1 กิโลเมตร ทางเลือกของเครื่องยนต์เบนซินยังเหมือนกับเวอร์ชันปี 2008 เริ่มกับ 4 สูบเรียง 2,000 ซีซี 141 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 18.8 กก.-ม. มีขายทั้งแบบเบนซินธรรมดา และ FFV หรือ Flex Fuel Vehicle ซึ่งใช้ได้ทั้ง E85 และเบนซินธรรมดา
เช่นเดียวกับรุ่น 6 สูบ 2,500 ซีซี 200 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 30.6 กก.-ม. ส่วนทางเลือกพลังแรงก็มีเหมือนเดิมกับเครื่องยนต์ 6 สูบ 3,200 ซีซี 238 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 32.6 กก.-ม. และรหัส T6 ตัวเทอร์โบ 6 สูบ 2,953 ซีซี มีกำลังสูงสุด 286 แรงม้าและแรงบิดสูงสุด 42.9 กก.-ม. โดยระบบเกียร์มีให้เลือกทั้งแบบธรรมดาหรืออัตโนมัติ 6 จังหวะขึ้นอยู่กับรุ่นเครื่องยนต์
การเปิดตัวมีขึ้นครั้งแรกที่เจนีวา มอเตอร์โชว์ 2009 และทำตลาดพวงมาลัยซ้ายในยุโรปทันที ส่วนตลาดพวงมาลัยขวามีกำหนดเริ่มขายที่อังกฤษช่วงกลางปีนี้ และยังไม่มีการเปิดเผยราคาออกมาตอนนี้