xs
xsm
sm
md
lg

4 ล้อ… ‘ฟอร์จูนเนอร์’ ไต่ดอยชมซากุระเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลายเป็นคำพูดสุดฮิตของชาวบ้านไปแล้ว… “ใครๆ ก็…ไฮลักซ์ วีโก้” ซึ่งแสดงถึงความนิยมได้เป็นอย่างดี และไม่เพียงเท่านั้นรถยนต์จากดีเอ็นเอเดียวกัน “โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์” ก็ได้รับการกล่าวขาน ในแวดวงผู้ที่ชื่นชอบรถอเนกประสงค์คล้ายๆ กันว่า… “ใครๆ ก็…ฟอร์จูนเนอร์” แม้ปัจจุบันจะต้องเหนื่อยมากขึ้น จากการเปิดตัวของคู่แข่งหน้าใหม่ “มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต” จนโตโยต้าเองก็ต้องรับมือ ด้วยการแต่งหน้าทาปาก และปรับปรุงสมรรถนะให้ดีขึ้น ซึ่ง “ ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง” ได้รายงานไปบ้างแล้ว ในรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ คราวนี้ถึงเวลาของรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อบ้าง

“โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์” รุ่นไมเนอร์เชนจ์ เปิดตัวมาตั้งแต่ต้นไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งก็คงจะได้เห็นรูปลักษณ์กันไปพอสมควรบนท้องถนน แม้จะไม่ร้อนแรงเท่าโฉมแรกที่สร้างชื่อกระฉ่อนให้กับฟอร์จูนเนอร์ เนื่องจากสภาพตลาดได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ แถมเจอพิษราคาน้ำมันแพง และการเปิดตัวของคู่แข่งรายใหม่อย่างที่กล่าวไปแล้วอีก

แน่นอนหากมองผิวเผินไม่สังเกตจริงๆ ก็คงจะไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ เพราะฟอร์จูนเนอร์ได้มีการปรับเปลี่ยนภายนอกเพียงไม่กี่ชิ้น ที่ชัดเจนเห็นจะเป็นไฟหน้าแบบมัลติรีเฟลคเตอร์เป็นโปรเจ็คเตอร์ และจากเดิมปลายโคมไฟจะตัดเฉียงก็เปลี่ยนเป็นเว้าเข้า รับกับกระจังหน้าใหม่รูปตัวยู พร้อมช่องลมลวดลายรังผึ้ง ส่วนด้านท้ายโคมไฟหลังรูปทรงเดิม แต่เปลี่ยนรายละเอียดภายในใหม่ โดดเด่นกับสปอยเลอร์หลังมี ไฟเบรค LED ในตัว กันชนหลังติดตั้งเซนเซอร์กะระยะ ให้ความสะดวกสบายในการจอด


หากจะให้ฟันธง! ว่าแจ่มขึ้นหรือไม่? เรื่องนี้คงตอบยาก! เพราะต่างคนก็ต่างนานาจิตตัง บ้างก็ว่าดูกระชับและหรูขึ้น แต่บางคนก็บอกว่าไม่ดุดันเท่ากับรุ่นก่อน ซึ่งสิ่งที่คอนเฟิร์มสไตล์ความชอบแบบไหนมากกว่า? คงไปว่ากันที่ยอดขายอีกที

แต่ที่เชื่อว่าส่วนใหญ่จะต้องชอบ เห็นจะเป็นล้อแม็กอัลลอยที่ใหญ่ขึ้น จากเดิมขนาด 16 นิ้ว มาเป็นขนาด 17 นิ้ว ลาย 6 ก้าน พร้อมยางขนาด 265/65R17 ตามเทรนด์ของรถอเนกประสงค์ยุคนี้ได้เป็นอย่างดี

ในรุ่นที่ทางบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้นำมาให้ลองขับเป็นรุ่นท็อปสุด “ฟอร์จูนเนอร์ 3.0V Navi” แบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ฉะนั้นภายในห้องโดยสารจึงเพียบพร้อมไปด้วยความหรูหราและสะดวกสบาย เฉกเช่นเดียวกับรถอเนกประสงค์สุดหรูทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเบาะนั่งหนังแท้ขนาดใหญ่ 7 ที่นั่ง ด้านคนขับปรับด้วยไฟฟ้า มาตรวัดเรืองแสงแบบออพทิทรอน มองเห็นชัดเจน แผงคอนโซลลายไม้ที่ถูกขับให้โดดเด่นจากแถบลายเมทัลลิก และสิ่งที่เพิ่มเข้ามาลบจุดด้อยในรุ่นที่แล้ว คือการติดตั้งช่องแอร์บริเวณที่นั่งแถว 2 และ 3 บนเพดาน ทำให้กระจายลมได้ทั่วถึงมากกว่า ด้วยระบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบดิจิตอล ควบคุมแบบแยกส่วน 2 ตอนหน้า/หลัง

สิ่งที่โดดเด่นและถือเป็นจุดขายอีกอย่างในรุ่นท็อปสุด คือระบบนำทาง หรือ Navigator ผ่าน GPS ที่แสดงผลผ่านจอ LCD แบบสัมผัส พร้อมความบันเทิงกับเครื่องเล่น DVD และเครื่องเสียงทันสมัย เล่นวิทยุ/ดีวีดี 1 แผ่น เล่น MP3 และ WMA พร้อมระบบ ASL ปรับระดับเสียงอัตโนมัติ แถมยังติดตั้งบลูทูธ และไมโครโฟนที่หลังคา และมีจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID (Multi-information Display) ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิภายนอก อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันโดยเฉลี่ย และในขณะขับขี่ ความเร็วเฉลี่ย และระยะเวลาในการขับขี่ ระยะทางที่สามารถขับขี่ได้ และเข็มทิศ

จากฟังก์ชั่นที่มากมาย ทำให้ฟอร์จูนเนอร์เพิ่มความปลอดภัย โดยติดตั้งสวิตซ์ควบคุมที่พวงมาลัยหุ้มหนัง ไม่ว่าจะเครื่องเสียง และหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ พร้อมกันนี้ยังมีระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (Cruise Control) มาให้ด้วย


นี่ยังไม่รวมความสะดวกสบายเล็กๆ น้อยๆ อีกจิปาถะ ที่ฟอร์จูนเนอร์ใหม่นำมามอบให้ลูกค้า ฉะนั้นในการลองขับระยะทางไกลกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ได้เพียงสัปดาห์เดียว เพื่อไปดอกของต้น “นางพญาเสือโคร่ง” หรือ “ซากุระ” เมืองไทย บนดอยขุนช่างเคี่ยน และดอยขุนแม่ยะ จ.เชียงใหม่ ที่กำลังเบ่งบานออกดอกสีชมพูเต็มต้น ในช่วงสุดท้ายก่อนจะร่วงโรยและผลิใบใหม่ขึ้นมาแทน ซึ่งหากพลาดครั้งนี้ก็ต้องรออีกทีสิ้นปี หรือต้นมกราคมปีหน้าโน้น

ตลอดการเดินทางยามค่ำคืน ความเร็วที่ทำเฉลี่ยประมาณ 120-140 กิโลเมตร จากขุมพลังของเครื่องยนต์บล็อก เดิมรหัส 1KD-FTV ดีเซลคอมมอนเรล ขนาด 3.0 ลิตร 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว พร้อมเทอร์โบแปรผัน และอินเตอร์คูเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 163 แรงม้า ที่ 3,400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 343 นิวตัน-เมตร ที่ 1,400-3,200 รอบต่อนาที ซึ่งไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด มีเพียงพัฒนาให้สามารถรองรับน้ำมันไบโอดีเซล บี5 ได้ ส่วนเกียร์แบบอัตโนมัติ ECT 4 จังหวะ ควบคุมด้วยระบบอิเลคทรอนิก พร้อมระบบเฟลกซ์ ล็อกอัพ คลัทช์คอนทโรล ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา (FULL-TIME 4WD)

เรียกว่าสมรรถนะของเครื่องยนต์รุ่นนี้ ตอบสนองการขับขี่ได้เร้าใจเหมือนเดิม ยิ่งเวลาได้ติดลมบนแล้วแรงไหลลื่น แรงบิดเหลือเพียงพอ ทำให้จังหวะเร่งแซงทำได้ดี การเปลี่ยนเกียร์ต่อเนื่อง ตอบสนองได้รวดเร็วเป็นที่น่าพอใจ มีเพียงจังหวะออกตัวจากจุดหยุดนิ่งรู้สึกอืดนิดหน่อย แต่โดยมาตรฐานแล้วไม่น่าเกลียดนัก

สายของวันใหม่เราได้ลองสมรรถนะของฟอร์จูนเนอร์ใหม่อีกครั้ง ด้วยการขับขึ้นสู่ดอยสุเทพ-ปุย แม้จะผ่านวันหยุดเทศกาลปีใหม่ไปหมาดๆ แต่เนื่องจากเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ ทำให้มีนักท่องเที่ยวมากเช่นเดิม รถราจึงค่อนข้างหนาแน่น บนถนนขึ้นเขาและเป็นเลนสวน ทำได้เพียงขับตามๆ กันไป นานๆ มีจังหวะเร่งแซง ขุมพลังของเครื่อง 1KD-FTV ทำได้อย่างที่ใจต้องการ ไม่ต้องลุ้นหรือมีอาการหวาดเสียวแต่อย่างใด

เป้าหมายของวันอยู่ที่สถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยนเลยจากดอยปุยไป ซึ่งเส้นทางจากพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จะมีทางตรงไปถึงทางแยกซ้ายมือไปหมู่บ้านชาวเขาดอยปุย ขวามือจะมีทางแยกเล็กๆ ไปดอยปุยและขุนช่างเคี่ยน โดยถนนตัดมุดเข้าไปในป่าพอดีกับรถคันเดียว ดูแล้วปิกอัพหรือรถอเนกประสงค์น่าจะเหมาะที่สุด แต่ปรากฏว่ามีเก๋งวิ่งสวนออกมาตลอดเวลา ซึ่งต้องยอมรับนับถือใจจริงๆ เพราะไหนจะทางขรุขระ ก้อนหิน และร่องน้ำลึกข้างๆ ถนนอีก แต่ในสภาพเส้นทางเด็กๆ สำหรับฟอร์จูนเนอร์แล้ว ทำให้เราต้องเอื้อเฟื้อเพื่อนร่วมทาง ทั้งหลบทั้งมุดลงป่าข้างทางอยู่ตลอดการเดินทางกว่า10 กิโลเมตร จากทางแยกจนถึงสถานีฯขุนช่างเคี่ยน

เราได้ลองสมรรถนะฟอร์จูนเนอร์อีกรูปแบบในวันต่อมา เมื่อเดินทางลงจากดอยขุนช่างเคี่ยนสู่ดอยขุนแม่ยะ บนถนนสาย 1095 อยู่เลยอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังไป 2-3 กิโลเมตรทางขวามือ หรือก่อนถึงอำเภอปายประมาณกว่า 20 กิโลเมตร

ถนนเส้นดังกล่าวนอกจากขึ้นลงเขาแล้ว ก็มีเพียง 2 โค้ง คือโค้งซ้ายกับโค้งขวาเท่านั้น แทบจะไม่มีทางตรงให้ได้ใส่เลย ฟอร์จูนเนอร์ได้แสดงประสิทธิภาพในการขับเข้าโค้งได้เป็นอย่างดี หนึบเกาะถนนดี และมั่นใจได้ เพราะนอกจากระบบรองรับช่วงล่างที่เป็นมาตรฐานแต่เดิมแล้ว ในรุ่นใหม่ยังติดตั้งเทคโนโลยีทันสมัย เทียบชั้นรถอเนกประสงค์ระดับหรูมาเพียบ ไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมการทรงตัว (VSC) ช่วยควบคุมการทรงตัวได้ดี และมีเสียงเตือนแจ้งให้รู้ว่าระบบกำลังทำการแก้ไขการทรงตัวอยู่ หรือหากเกิดอาการลื่นไถล ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี (TRC) ก็จะช่วยลดอาการ ทำให้สามารถควบคุมรถได้ง่ายและปลอดภัย

สิ่งหนึ่งที่ต้องพิสูจน์สมรรถนะ เห็นจะเป็นระบบเบรกที่เกือบทำเอาฟอร์จูนเนอร์หัวทิ่มมาแล้วในการทำตลาดใหม่ๆ คราวนี้โตโยต้าเรียกศรัทธากลับมาได้ดีทีเดียว โดยเบรกหน้าจานใหญ่ขึ้นเป็น 16 นิ้ว พร้อมคาลิเปอร์เบรกคู่ และระบบเอบีเอส และมีระบบเสริมแรงเบรก (BA) กับระบบกระจายแรงเบรก อีเลคทรอนิคส์ (EBD) ช่วยให้มีประสิทธิภาพเบรกที่ดี

ตลอดการขับขี่ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ระบบเบรกของฟอร์จูนเนอร์ใหม่ ทำงานได้ดีเป็นที่ไว้ใจได้ ทำให้การขับขี่เต็มไปด้วยความมั่นใจ แม้จะเจอกับสภาวการณ์ฉุกเฉินก็ตาม

ในสุดท้ายเข้าสู่ดอยขุนแม่ยะจากปากทาง แม้จะกว้างกว่าถนนสู่ดอยขุนช่างเคี่ยน แต่ก็เป็นหลุมบ่อ บางช่วงก็เปียกลื่น และต้องขับผ่านร่องน้ำเป็นช่วง รถขับเคลื่อน 4 ล้อน่าจะเหมาะสมที่สุด หรือหากจะเป็นปิกอัพขับเคลื่อน 2 ล้อ ต้องพ้นฝนมาสักหน่อย
ไม่มีปัญหาสำหรับฟอร์จูนเนอร์ 3.0Navi ที่ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบตลอดเวลา และยัง

ติดตั้งเฟืองท้ายกลาง(CENTER DIFFERENTIAL) ทำหน้าที่ปรับความแตกต่างของล้อ ระหว่างความเร็วในการหมุนล้อคู่หน้าและหลัง มีกลไกดิฟฟ์ล็อกใน TORSEN LSD ป้องกันล้อจากการลื่นไถล และเรายังสามารถเลือกรูปแบบการขับเคลื่อน โดยปรับเปลี่ยนจากโหมด H เป็น HL (HIGH LOCK) หรือ LL (LOW LOCK) ให้เหมาะกับสภาพถนนได้

จากนั้นเพียงรักษารอบให้สม่ำเสมอ เรื่องขุมพลังไม่ต้องห่วงมีเหลือล้น ไม่นานป่าดอกไม้สีชมพูของ “ซากุระเมืองไทย” ก็ปรากฏอยู่เบื้องหน้าเต็มขุนเขาไปหมด เรียกว่าสวยงามไม่แพ้ดอยขุนช่างเคี่ยนเลย ซึ่งนั่นก็ต้องขอขอบคุณ “โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์” แถมยังช่วยให้สบายกระเป๋าอีก เพราะจากเชียงใหม่-กรุงเทพฯ น้ำมันถังเดียวยังมีเหลือให้วิ่งได้อีกกว่า 50 กิโลเมตร
กำลังโหลดความคิดเห็น