หากพูดถึง “ดอกซากุระ” หลายคนคงนึกไปถึงดินแดนปลาดิบ หรือประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีดอกซากุระเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกให้เดินทางมาชมความงามอ่อนหวานในช่วงที่ดอกซากุระบาน
แต่สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่อยากจะดูดอกซากุระ แต่ไม่อยากเดินทางไปไกลถึงประเทศญี่ปุ่น ในช่วงฤดูหนาวอย่างนี้ก็เป็นช่วงที่สามารถชมความสวยงามของดอกซากุระในเมืองไทยกันได้เช่นกัน
สำหรับต้นซากุระเมืองไทยที่เราเรียกๆกันนั้น ก็คือต้น “นางพญาเสือโคร่ง” ซึ่งเป็นต้นไม้ที่จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับต้นซากุระของประเทศญี่ปุ่น คือ วงศ์กุหลาบ (Rosaceae) โดยนางพญาเสือโคร่งอยู่ในสกุล Prunus เช่นเดียวกับต้นเชอรี่ แอปริคอต พลัม แอปเปิลท้อ และสาลี่ ซึ่งเป็นพรรณไม้ที่ชอบอากาศหนาวเย็น
ต้นนางพญาเสือโคร่งนี้มักพบอยู่ตามไหล่เขาหรือบนสันเขา บริเวณเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป ซึ่งจะมีอากาศหนาวเย็น ในช่วงก่อนที่ต้นนางพญาเสือโคร่งจะออกดอกนั้น ดูราวกับต้นไม้ใกล้ตาย เพราะมันจะทิ้งใบจนหมดต้น เหลือแต่กิ่งเปล่าๆ เท่านั้น แต่หลังจากที่ดูโกร๋นไปทั้งต้นแล้ว นางพญาเสือโคร่งก็จะผลิดอกออกโดยจะออกเป็นช่อกระจุกตามปลายกิ่ง ให้สีสันชมพูดูสดใส โดยเฉพาะยามที่บานเต็มต้นนั้นจะดูปานประหนึ่งพรมสีชมพูปกคลุมไปทั่วพื้นที่ แลดูสวยงามเป็นที่น่าหลงใหลของผู้ที่ได้พบเห็นเสมอมา
และช่วงเวลาที่เราจะได้ยลโฉมอันงดงามของซากุระเมืองไทยหรือเมื่อต้นนางพญาเสือโคร่ง ออกดอกนั้นก็อยู่ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งการจะผลิบานของดอกนางพญาเสือโคร่งนั้นก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของแต่ละปีนั่นเอง แต่ในปีนี้ ดอกนางพญาเสือโคร่งในเมืองไทยก็ได้เบ่งบานจนร่วงโรยไปบ้างแล้วในบางพื้นที่ แต่ในบางแห่งก็กำลังอยู่ในช่วงรอการผลิบาน เผยความงามให้นักท่องเที่ยวได้ชมกัน แต่จะสามารถไปชมกันได้ที่ไหนบ้างนั้น ไปดูกันเลย
“ดอยวาวี-ดอยช้าง” ชมแปลงซากุระมากที่สุดในเมืองไทย
เริ่มกันที่จังหวัดเชียงรายกันก่อน ที่ดอยวาวี-ดอยช้าง ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย สำหรับดอยวาวีนั้นได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกซากุระที่มากที่สุดในเมืองไทย คือมากถึง 400,000 ต้น ส่วนดอยช้างที่เป็นส่วนหนึ่งของดอยวาวีนั้น เป็นแหล่งชมซากุระที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง เพราะที่นี่ไม่เพียงมีซากุระสีชมพูเท่านั้น แต่ยังมีซากุระสีขาวให้ได้ชมอีกด้วย
นอกจากจะได้ชมดอกซากุระเมืองไทยกันแล้ว ก็ยังสามารถท่องเที่ยวกันต่อได้ที่สถานีวิจัยเกษตรที่สูงของหมู่บ้านชาวเขา อยู่บนระดับความสูงประมาณ 1,500 เมตร มีอากาศเย็นสบาย ในสถานีฯนั้นมีแปลงวิจัยปลูกดอกไม้เมืองหนาวและกาแฟ อาราบิกา มีโรงคั่วบด มีกาแฟคั่วบดใหม่ให้ชิมกันสดๆ อีกทั้งยังเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามมากอีกด้วย ในขณะที่ชุมชนวาวีก็ถือเป็นแหล่งผลิตชาขึ้นชื่อของเมืองไทย ที่ใครไปแล้ว ไม่ควรพลาดการจิบชารสเลิศที่นี่ด้วยประการทั้งปวง
“ดอยแม่สลอง” งดงามซารุกะริมทาง
ดอยแม่สลอง ที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่สามารถชมความงามของซากุระเมืองไทยได้ที่บริเวณยอดดอย โดยดอกซากุระเมืองไทยที่ดอยแม่สลองจะเป็นซากุระพันธุ์ที่เล็กที่สุด มีสีชมพูอมขาว และจะบานสะพรั่งตลอดแนวทางขึ้นดอยแม่สลอง
และหากชมซากุระกันเสร็จแล้วก็อย่าลืมไปเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ บนดอยแม่สลอง โดยที่นี่ถือเป็นแหล่งปลูกชาจีนที่มีคุณภาพของภาคเหนืออีกด้วย มีทั้งชาอู่หลงก้านอ่อน ชาโสม และชาเขียว นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถชมไร่ชาและศึกษาวิธีการผลิตชา ขี่ม้าชมทิวทัศน์รอบหมู่บ้านอาข่า(หมู่บ้านเจียงจาใส) และอนุสรณ์ชาวไทยเชื้อสายจีนได้ด้วย
“ดอยอ่างขาง” ชมซากุระไทย-ญี่ปุ่น
หากใครที่ไม่สามารถไปชมดอกซากุระเมืองไทยที่จังหวัดเชียงรายได้ทัน ก็ลองมาชมที่จังหวัดเชียงใหม่กันได้ เพราะต้นนางพญาเสือโคร่งที่เชียงใหม่นี้จะบานช้ากว่าที่จังหวัดเชียงรายเล็กน้อย โดยสามารถมาชมกันได้ที่ “ดอยอ่างขาง” อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งแหล่งชมซากุระอันสวยงาม
จุดเด่นของที่นี่ นอกจากจะมีซากุระไทยอย่างนางพญาเสือโคร่งให้ชมแล้ว ยังมีต้นซากุระแท้ๆจากญี่ปุ่นปลูกไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชม อยู่ภายในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ซึ่งซากุระต้นนี้เติบโตได้ดีที่อ่างขางและออกดอกสวยงามมาก อีกทั้งเส้นทางที่จะขึ้นไปยังดอยอ่างขางนั้นก็มีต้นนางพญาเสือโคร่งปลูกไว้ตลอดสองข้างทางด้วยเช่นเดียวกัน ไปชมซากุระแล้วก็ยังสามารถเข้าไปเที่ยวชมสถานีเกษตรหลวงอ่างขางที่เป็นแหล่งรวบรวมพรรณไม้ดอกสวยงามนานาชนิด มีทั้งแปลงปลูกไม้ดอกไม้ประดับกลางแจ้ง แปลงปลูกไม้ในร่ม แปลงทดลองกุหลาบ แปลงปลูกผัก แปลงปลูกผักในร่ม สวนท้อ สวนบ๊วย ป่าซากุระ ป่าเมเปิลรวมไปถึงผักและผลไม้เมืองหนาว ที่ปลูกไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชมกัน
“ขุนช่างเคี่ยน” ซากุระบานในหมู่บ้าน
ที่ ขุนช่างเคี่ยน ในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่นั้น ก็มีดอกซากุระเมืองไทยให้ได้ชมกันใกล้ๆ ตัวเมืองเชียงใหม่เลยทีเดียว โดยหากขับรถขึ้นไปยังดอยสุเทพ ผ่านพระธาตุดอยสุเทพ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศร์ ผ่านหมู่บ้านม้งดอยปุยไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะถึงบ้านขุนช่างเคี่ยน ซึ่งเป็นแหล่งชมซากุระเมืองไทยที่สวยงามไม่แพ้ที่อื่นๆ
ต้นนางพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทยที่ขุนเคี่ยนนั้นมีลักษณะเป็นดงอยู่รวมกัน สีของซากุระนั้นบานเป็นสีชมพูสดใส แถมบางช่วงซากุระยังบานแทรกตัวอยู่ในหมู่บ้าน ตามบ้านเรือน ดูแล้วมีชีวิตชีวาน่ายลยิ่งนักซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถมากางเต็นท์ได้ทั้งที่หน่วยดอยปุยและบริเวณสถานีเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยนก็ได้เช่นกัน
“ขุนแม่ยะ” พรมชมพูแห่งดอยสีชมพู
มาปิดท้ายกับแหล่งชมซากุระเมืองไทยกันที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ “หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ” ที่ตำบลแม่ฮี้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่นี่ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวสามารถชมดอกซากุระเมืองไทยกันได้ โดยที่นี่มีการปลูกกันต้นนางพญาเสือโคร่งไว้อย่างหนาแน่นทั่วพื้นที่ เมื่อทุกต้นออกดอกพร้อมๆกันจึงคล้ายมีพรมสีชมพูปกคลุมทั่วดอย
คนที่นี่จึงนิยมเรียกกันว่า “ดอยสีชมพู” และมีบริเวณหลายจุดที่เราสามารถเดินเที่ยวชมดงซากุระกันอย่างจุใจ พร้อมกับบรรยากาศอันเงียบสงบ และยังมีพื้นที่สำหรับกางเต็นท์พักค้างแรมใต้ต้นซากุระอันสวยงามอ่อนหวาน ทำให้เป็นบรรยากาศที่ดีสำหรับการพักค้างแรมในพื้นที่แห่งนี้ และนักท่องเที่ยวยังสามารถไปเที่ยวต่อกันที่อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกันได้อีกด้วย
นอกจาก 5 แหล่งชมซากุระเมืองไทยจุดใหญ่ๆตามที่กล่าวมาแล้ว ยังมีจุดชมซากุระที่น่าสนใจอีกหลายพื้นที่ อาทิ ดอยหลวงเชียงดาว ดอยอินทนนท์ อุทยานฯห้วยน้ำดัง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวางเป็นต้น ซึ่งช่วงเวลาการบานของซากุระเมืองไทยนั้นมีจำกัด (ม.ค.-ก.พ.) ใครที่สนใจก็หาเวลาเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋า แล้วขึ้นเหนือไปหาหนาว ชมซากุระบาน พร้อมเก็บความประทับใจในความงามของโลกสีชมพูที่เคียงคู่มากับดอกซากุระบานกันได้ตามใจชอบ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามข้อมูลซากุระบานแหล่งท่องเที่ยวและการเดินทางของแต่ละแห่งในเนื้อเรื่องได้ที่ ดอยวาวี-ดอยช้าง : สถานีฯเกษตรวาวี 0-5360-5932, 0-5360-5934 อบต.วาวี 0-5360-5950 ดอยแม่สลอง : ททท. สนง.เชียงราย 0-5371-7433,0-5374-4674-5,ดอยอ่างขาง : สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง 0-5345-0107,ขุนช่างเคี่ยน : ททท. สนง.เชียงใหม่ 0-5324-8604 หรือที่ 08-9853-9180 , 0-5324-8607,0-5330-2500,ขุนแม่ยะ : หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่ยะ 0-5321-7453