ถนนลูกรังคดเคี้ยวและลาดชันที่ตัดผ่านทิวเขาสูงสลับซับซ้อน ผ่านเส้นทางยาวไกลและยากลำบาก จุดหมายอยู่ที่ยอดดอยซึ่งมีความสูงเกือบ 1,700 เมตรจากระดับน้ำทะเล
ไม่ใช่ดอยสุเทพ-ปุย, ดอยแม่อูคอ, ภูชี้ฟ้า หรือสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมไหนๆ แต่เป็นดอยที่ขึ้นชื่อว่ายากเย็นเข็ญใจในการเดินทางมายุคก่อน แม้ปัจจุบันจะมีการตัดถนนลาดยางเป็นช่วงๆ แต่เส้นทางขึ้นสู่ยอดดอยนั้นส่วนใหญ่ยังเป็นลูกรัง ท้าทายเหล่าสิงห์ออฟโรดที่ชอบวัดใจกับถนนหนทาง ไปจนถึงผู้ที่ชื่นชอบใช้ชีวิตกลางแจ้งแบบลุยๆ
แต่อีกมุมหนึ่ง…พระอาทิตย์ขึ้นและลับขอบฟ้าที่ยอดดอยแห่งนี้ ก็เป็นมนต์เสน่ห์ดึงดูดผู้คนจำนวนหนึ่งให้มาเยือนดอยม่อนล้านทุกปี ไม่ใช่เพียงแค่ดูดวงอาทิตย์ขึ้นและตกอันเป็นวัฏจักรวนเวียนตามธรรมชาติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเท่านั้น เพราะดอยสูงแห่งนี้ยังมีอะไรมากกว่าการถ่ายรูปคู่กับวิวหรือป้าย และไม่ได้เป็นแค่สถานที่สวมใส่แฟชั่นเมืองหนาวของคนกรุงที่ต้องการเปลี่ยนบรรยากาศมานอนตากน้ำค้างเล่น ท่ามกลางอุณหภูมิต่ำกว่าเก้าองศาในตอนกลางคืน
หากใครมาสัมผัสดอยม่อนล้าน ดินแดนอลังการแห่งสายหมอกและดอกไม้เมืองหนาว อย่างน้อยๆ คงต้องมีภาพ “จำ” ประทับใจกลับไป ไม่ใช่เพียงรูปถ่ายอย่างเดียว
ฤดูดอกเสี้ยวบาน
ทริปเดินทางขึ้นเหนือส่งท้ายปีต้อนรับคณะของพวกเราด้วยอากาศที่เย็นเฉียบ ทันทีที่ก้าวเท้าลงแตะพื้นสนามบินเชียงใหม่ หลายคนต้องรีบคว้าเสื้อคลุมและผ้าพันออกมาสวมใส่เพิ่ม เพราะอากาศด้านนอกท่าอากาศยานนั้นเย็นจัดกว่าภายในที่ติดเครื่องปรับอากาศไว้เสียอีก
ขบวนรถตู้จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่นำสื่อสัญจรมาชมโครงการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริและการดำเนินงานของสหกรณ์พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จอดรออยู่ด้านหน้าสนามบินอยู่แล้ว เมื่อทุกคนพร้อมล้อรถก็หมุนเคลื่อนจากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ไปตามทางหลวงหมายเลข 1001 มุ่งหน้าสู่อำเภอพร้าว
แม้จะไม่ติดหนึ่งในสิบ ดอยที่สูงที่สุดในประเทศไทย แต่ดอยม่อนล้าน หรืออีกนัยหนึ่งคือพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติศรีล้านนานั้น จัดว่าเป็นพื้นที่ภูเขาสูงที่มีอากาศเย็นสบายเกือบตลอดทั้งปี ในฤดูหนาวตั้งแต่เดือนตุลาคม-มกราคม อุณหภูมิเฉลี่ยที่ดอยแห่งนี้อยู่ที่ประมาณ 6 องศาเซลเซียส ด้วยลักษณะภูมิประเทศภูเขาสูง มีป่าดิบเขา 70% ของพื้นที่ พันธุ์ไม้ที่พบในแถบนี้ จึงเป็นจำพวกสนสามใบ จำปีป่า ก่อเดือย ก่อตาหมู ก่อแป้น ทะโล้ และยอหอม ที่เหลือเป็นป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าผลัดใบ พันธุ์ไม้ที่พบก็เช่น ประดู่ รถฟ้า ยมหิน และไผ่ชนิดต่างๆ
ปลายเดือนธันวาคม ระหว่างเส้นทางบนเทือกเขาซึ่งแบ่งเขตระหว่าง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย กับ อ.พร้าว ของเชียงใหม่ ดอกเสี้ยวป่าสีขาวสะอาดตาบานอวดความงามสองฝั่งข้างทาง หลังจากนางพญาเสือโคร่งบานสะพรั่งเต็มดอยไปก่อนหน้านี้ ในขณะที่ช่วงฤดูแล้งป่าเต็งรังเริ่มเปลี่ยนสีแต้มราวป่าให้มีชีวิตชีวา ดึงดูดสายตาและเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเริ่มมาเยือนดอยแห่งนี้มากขึ้น
แต่ก่อนหน้านี้ ดอยม่อนล้านไม่ได้มีสภาพเช่นในปัจจุบันนี้ ผืนป่าดึกดำบรรพ์ที่เคยอุดมสมบูรณ์ในศตวรรษก่อนนั้น ถูกโค่นทำลายจนเหลือแต่ดอยโล่งเตียนในชั่วระยะเวลาไม่กี่ปี
ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ การปลูกฝิ่น ตลอดจนเส้นทางลำเลียงที่เป็นทางผ่านยาเสพติดในอดีต เหมือนกระแสน้ำป่าหลากครั้งที่สองที่ซัดกระหน่ำให้ดอยม่อนล้านแทบจะเหลือเพียงแต่ชื่อ
แต่เดิมประมาณ 100 ปีก่อนนี้ สภาพป่าไม้ดอยม่อนล้าน ยังเป็นป่าดงดิบมีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขาเผ่าแม้ว เผ่าลีซอ และเผ่ามูเซอ โดยชาวเขาทั้ง 3 เผ่า ทำการเกษตรเป็นหลัก ปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด ปลูกฝิ่น และเก็บหาของป่า ทำให้สภาพป่าถูกทำลายลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นเขาหัวโล้น ชาวเขาทั้ง 3 เผ่า เริ่มอพยพไปหาที่อยู่ใหม่ จนในปี พ.ศ. 2524 ชาวเขาเผ่าอาข่าอพยพจากจังหวัดเชียงราย ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บริเวณดอยม่อนล้าน จำนวนทั้งหมด 3 หมู่บ้าน
กระทั่งในปี พ.ศ.2547 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯไปทอดพระเนตรพื้นที่ดอยม่อนล้าน ทรงพบว่าพื้นที่ดังกล่าวถูกบุกรุกแผ้วถางทำไร่หมุนเวียนเป็นบริเวณกว้าง ประมาณ 11,000 ไร่ ทรงห่วงใยว่า ถ้าหากไม่มีการบริหารจัดการในการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม พื้นที่ป่าต้นน้ำก็จะถูกบุกรุกเกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้น เกิดความเสียหายต่อเขตอุทยานแห่งชาติศรีล้านนา ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของลุ่มน้ำแม่งัด สาขาแม่น้ำปิงตอนบนทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนแม่งัดลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวเชียงใหม่
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยม่อนล้านขึ้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาความเป็นอยู่และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎร โดยให้สถานีเป็นแหล่งจ้างงานแก่ราษฎรในพื้นที่ อีกทั้งเป็นแหล่งการเรียนรู้ ด้านการเกษตร ป่าไม้ ปศุสัตว์ การฝึกอบรมอาชีพ รวมทั้งการอนุรักษ์สภาพป่าและสิ่งแวดล้อมแหล่งต้นน้ำลำธารให้กลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์ดังเดิม และพัฒนาโครงการเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
หอมดอกชาเคล้ากลิ่นดอกเหงื่อ
ภาพหญิงชาวอาข่าสวมชุดประจำเผ่า พร้อมกับแบกตะกร้าและจอบไว้บนบ่า โดยมีเด็กหนุ่มสาวรุ่นๆ ในชุดเสื้อผ้าทันสมัยสีสันสดใสเดินนำหน้า ตัดกับไร่ชาที่กำลังออกดอกสะพรั่งตามไหล่เขา ดึงดูดให้เราก้าวเข้าไปหา
และเมื่อเข้าไปใกล้ ทำให้ต้องยิ้มออกมา…เมื่อพบว่าเสียงเพลงที่ได้ยินแว่วๆ นั้น ไม่ใช่เพลงประจำเผ่า หากแต่เป็นเพลงนักร้องวัยรุ่นบอยแบนด์ยอดนิยมวงหนึ่งแห่งยุค และเด็กสาวผู้ที่ร้องก็ดูเพลิดเพลินดื่มด่ำ เรียกว่าออกเสียงคีย์โน้ตได้ไม่ผิดเพี้ยนจากต้นฉบับเลย
เสียงทักทาย “สวัสดี” และยกมือไหว้ ทำให้รู้ว่าเด็กๆ วัยรุ่นชาวอาข่ากลุ่มนี้ คุ้นเคยกับภาษาและวัฒนธรรมของคนไทยพื้นราบเป็นอย่างดี และเมื่อสอบถามก็พบว่าเด็กสาวสองคนในจำนวนนี้ เรียนหนังสืออยู่ในเมือง ช่วงนี้โรงเรียนหยุดคริสต์มาส พวกเธอจึงกลับมาหาครอบครัวและเดินจากหมู่บ้านเป็นระยะทางเกือบสองกิโลเมตรทุกวัน เพื่อมาทำงานที่สถานีแล้วนำเงินค่าจ้างที่ได้ให้ครอบครัวไว้ใช้จ่าย
อย่างวันนี้ พวกเธอกับเพื่อนๆ และผู้ใหญ่ที่มาจากหมู่บ้านเดียวกัน ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ขุดถางหญ้าและวัชพืชในไร่ชา เงินจำนวนหลักร้อยที่ได้อาจดูไม่มากอะไร เมื่อเทียบกับหยาดเหงื่อและแรงงานที่แลกมา ในขณะที่เงินจำนวนเท่ากันนี้ วัยรุ่นในเมืองใหญ่อาจใช้ซื้ออาหารฟาสต์ฟู้ดมื้อหนึ่ง ยิ่งเดี๋ยวนี้เงินร้อยหนึ่ง ซื้อตั๋วหนังสักใบยังไม่พอด้วยซ้ำ…
พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ กวีศรีชาวไร่ ตั้งชื่อไร่ของเขาว่า “ไร่ดอกเหงื่อ”
เด็กๆ ชาวอาข่ากลุ่มนี้ก็กำลังใช้หยาดเหงื่อรดน้ำพรวนดิน พลิกฟื้นผืนแผ่นดินที่เคยแห้งแล้งของดอยม่อนล้านให้กลับมาเขียวชอุ่มอีกครั้งหนึ่ง
ทุกวันราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านอาแย บ้านอาบอเน และบ้านอาบอลาชา จะเข้ามาเรียนรู้วิถีด้านการเกษตรที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ นอกจากนี้ทางสถานียังส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาเหล่านี้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าอีกด้วย
นางพญาเสือโคร่ง แอปเปิ้ลป่า ยมป่า ไม้ไผ่ และเสี้ยวดอกขาว คือตัวอย่างพันธุ์ไม้ที่ปลูกในพื้นที่ดอยม่อนล้าน โดยดำเนินการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวพระราชดำริ จำนวน 300 ไร่ เมื่อย่างถึงฤดูหนาว เราจึงเห็นไม้ป่าเมืองหนาวเหล่านี้ออกดอกเปลี่ยนสีสะพรั่งไปทั้งหุบเขา
กันยาศักดิ์ โบราณ เจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยม่อนล้าน บอกเล่าถึงการเข้าไปให้ความรู้ทางการเกษตรแก่ชาวไทยภูเขาให้ฟังว่า แรกเริ่มจะมีชาวเผ่าอาข่าประมาณ 70 คนจากสามหมู่บ้านมาดูและฝึกงานด้านการเกษตรกับทางสถานี จากนั้นมีหลายรายนำความรู้ที่ได้กลับไปทำการเกษตรบนที่ดินของตนเอง ส่วนคนที่ไม่มีที่ดินทำกิน ทางสถานีก็รับไว้ให้ช่วยงานและจ่ายค่าจ้างรายวันที่นี่
ตั้งแต่ริเริ่มโครงการเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2548 มาจนถึงวันนี้ อีกไม่กี่วันข้างหน้าก็จะครบ 5 ปีเต็ม กันยาศักดิ์กล่าวว่าแต่ก่อนพื้นที่ตรงนี้จะมีปัญหาเรื่องความมั่นคงและทางผ่านของยาเสพติด อีกทั้งยังมีการปลูกฝิ่นในพื้นที่ แต่ต่อมาพอมีโครงการพระราชดำริให้กรมชลประทานจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนกิจกรรมของสถานีฯ และราษฎรบ้านอาบอเน อีกทั้งพื้นที่ทำกินของราษฎรบ้านอาแย เนื่องด้วยสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ดอยม่อนล้านเป็นที่ลาดชันบนภูเขา ในพื้นที่สูงขึ้นไปก็เป็นแหล่งต้นน้ำ ทำให้ราษฎรขาดแคลนที่ทำกิน จึงจัดสรรที่ดินภายในโครงการบางส่วนให้ชาวไทยภูเขาเหล่านี้ทำการเกษตร
ภายในพื้นที่ 546 ไร่ ของสถานีฯ เป็นแหล่งความรู้และสาธิตการทำการเกษตรที่ถูกต้อง โดยได้ดำเนินการทดสอบปลูกพืชเมืองหนาวและพืชพื้นเมืองชนิดต่างๆ เช่น ชา กะหล่ำแดง บรอกโคลี มะเกี๋ยง ปูเลย์ กาแฟ เป็นต้น ด้านปศุสัตว์ ได้ทดลองเลี้ยงแกะ 36 ตัว และดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงของราษฎรทั้ง 3 หมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการทำการเกษตรที่ถูกต้องให้แก่ราษฎร
ผู้ที่สนใจยังสามารถมาเที่ยวชมกิจกรรมด้านส่งเสริมการเกษตร เช่น แปลงปลูกแครอท ดอกไม้จีน ผักตระกูลกะหล่ำ เบบี้แครอท มันฝรั่ง บล็อคโคลี่ รวมไปถึงพลับ พลัม พีซ กาแฟ ชาจีน ซึ่งศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการส่งเสริมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรที่เหลือจากบริโภค มาแปรรูปถนอมอาหารไว้บริโภคนอกฤดูกาลผลิต เช่น การแปรรูปหน่อไม้อัดปี๊บ ผักกาดเขียวปลีดองเค็ม น้ำพริกเผาถั่วแดง ฯลฯ ที่สำคัญ สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยม่อนล้าน ยังเป็นแหล่งผลิตพืชผักปลอดสารพิษที่มีคุณภาพส่งออกจำหน่ายที่ร้านดอยคำอีกด้วย
สุพัตรา ธนเสนีย์วัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า การส่งเสริมสหกรณ์ตามโครงการหลวงนั้น เป็นโครงการที่กรมทำร่วมกับโครงการหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการพัฒนาการเกษตรที่สูง ลดการปลูกพืชเสพติด และอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร โดยมีพระราชประสงค์ "ช่วยชาวเขาให้ช่วยตนเองได้ในการปลูกพืชที่มีประโยชน์และมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น" โดยหลังจากที่โครงการหลวงและทางกรมร่วมกันปูพื้นฐานให้เกษตรกรชาวเขารวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ที่เข้มแข็ง พวกเขาจะได้สามารถพึ่งพาตนเองต่อไปได้ในอนาคต
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง มีทั้งหมด 38 ศูนย์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดทางภาคเหนือตอนบน พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลเกินกว่า 800 เมตร มีสภาพเป็นพื้นที่ในหุบเขาหรือพื้นที่มีความลาดชัน อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกลจากชุมชนทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าสงวน จึงต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดการชะล้างพังทลายของผิวหน้าดิน และเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทางด้านวิทย์ นพรัตน์ สหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ อธิบายว่า ในการเข้าไปส่งเสริมปลูกพืชในส่วนของการส่งเสริมสหกรณ์ตามโครงการหลวงนั้น พืชที่ปลูกผลผลิตทั้งหมดทางโครงการหลวงจะรับซื้อเข้าร้านดอยคำผ่านระบบสหกรณ์ เพื่อให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกลดต้นทุนในการขนส่งลงไปขายที่จังหวัดเชียงใหม่
"เดิมชาวเขาปลูกฝิ่น กรมวิชาการเกษตรก็จะเข้าไปแนะนำการปลูกพืชเมืองหนาวทดแทน โดยจะเป็นการปลูกในโรงเรือนพลาสติกเพื่อควบคุมคุณภาพพืชผล และทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเข้าไปช่วยให้ชาวเขารวมกลุ่ม ส่งเสริมและแนะนำกิจการสหกรณ์แก่สมาชิก โดยในระยะเริ่มแรกทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จะให้ทุนกู้ยืม และช่วยเหลือในส่วนของการประมูลปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์"
แสงตะวัน (ก่อน) ปีใหม่..
สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยม่อนล้าน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่มีภูมิประเทศอันสวยงาม ณ จุดยอดดอยม่อนล้าน ซึ่งมีความสูง 1,696 เมตรจากระดับน้ำทะเล อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 4 องศาเซลเซียส ในคืนที่อากาศหนาวที่สุด รุ่งเช้าจะมีแม่คะนิ้ง (เหมยขาบ) เกาะตามใบไม้ และยอดหญ้า สามารถมองเห็นทะเลหมอกสีขาวลอยล่องอยู่ท่ามกลางหมู่เมฆ และแสงสีเงินสีทองริมขอบฟ้าของดวงอาทิตย์ยามเช้า
นอกจากจะมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้น - ตกที่ไม่เหมือนใครแล้ว หากยืนอยู่ที่จุดชมวิว ณ ดอยม่อนล้าน ยังสามารถมองเห็นดอยหลวงเชียงดาว รวมทั้งมองเห็นทิวทัศน์ของอำเภอพร้าวทั้งอำเภอในวันที่สภาพอากาศปลอดโปร่งอีกด้วย ในยามค่ำคืนสามารถชม “ดาวบนดิน” ที่ม่อนล้าน และยังได้สัมผัสกับพันธุ์ไม้เมืองหนาวนานาชนิด
สำหรับสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ ดอยม่อนล้านนั้นปัจจุบันมีภูมิประเทศที่เหมาะสมในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรพื้นที่สูง ซึ่งก่อนหน้านี้องคมนตรี มีความเห็นว่าควรจะจัดสร้างที่พักเพิ่มเติมเพื่อรองรับเรื่องดังกล่าว ซึ่งทางสำนักงาน กปร. ได้อนุมัติงบประมาณปี 2550 ที่ผ่านมาเพื่อก่อสร้างบ้านพักเอเฟรม จำนวน 10 หลัง พร้อมทั้งปรับภูมิทัศน์ในคราวเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดแล้ว และได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจเดินทางเข้าพัก เพื่อทัศนศึกษางานในโครงการฯ ซึ่งช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมามีประชาชนจากพื้นราบเดินทางเข้าท่องเที่ยวและศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก
นอกจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางเกษตรแล้ว ดอยม่อนล้านยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางด้านประเพณีวัฒนธรรมของชนเผ่าอาข่า คือชุมชนบ้านอาบอลาชา , บ้านอาบอเน และบ้านอาแย ที่ตั้งอยู่ภายในเขตอุทยานฯ
เช้าปลายเดือนธันวาคมปีที่เพิ่งผ่านพ้นมา ก่อนถึงวันขึ้นปีใหม่ หรือพิธี “ต๊า ท๊อง พ้า เออ” ของชาวอาข่าไม่กี่วัน ชาวอาข่าถือว่าประเพณีนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงวันปีใหม่หรือเปลี่ยนฤดูกาล ซึ่งเป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เสื้อผ้าชุดประจำเผ่าที่ถูกวางทอดทิ้งไว้เกือบทั้งปี จะถูกหยิบขึ้นมาซ่อมแซมสำหรับสวมใส่ในประเพณีนี้อีกครั้ง
ประเพณีปีใหม่ของชาวอาข่า จะมีจุดเด่นก็คือ การเล่นลูกข่าง โดยพิธีปีใหม่อาข่าจะตรงกับเดือนธันวาคมหรือต้นเดือนมกราคมของทุกปี หรือถ้าเป็นเดือนอาข่าแล้วก็จะเป็นเดือนท้องลา (Tahl la) ประเพณีปีใหม่ของอาข่าเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์จากไร่นาหมดแล้ว หลังจากการตรากตรำทำงานมาหนัก 1 ปีเต็ม อันเป็นการฉลองผลผลิตที่เก็บเกี่ยวมาไว้ในบ้านเรียบร้อยแล้ว
ปีใหม่ปีนี้ของชาวอาข่าที่ดอยม่อนล้านจึงเป็นปีที่สดใสเหมือนแสงอาทิตย์… เพราะพวกเขาเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตดี ขณะที่พืชผักดอกไม้ภายในไร่เบ่งบาน ดวงตะวันอันอบอุ่นก็กำลังผลิแสงในหัวใจด้วยความหวังถึงปีหน้าที่ดีกว่าเดิม
สำหรับผู้มาเยือนอย่างพวกเรา การมาดอยม่อนล้านในครั้งนี้ มิได้มุ่งเน้นไปยังการพิชิตยอดดอยที่สูงที่สุดของเทือกเขาลูกนี้ แต่จุดหมายของเราอยู่ที่ระหว่างเส้นทางดังกล่าว มิใช่แค่ปลายทาง ด้วยเพราะเครื่องมือที่เก็บรายละเอียดได้ดีที่สุด ไม่ใช่กล้องถ่ายภาพราคาแพง แต่เป็นความทรงจำที่ประทับใจ…ที่ไม่ว่าจะกี่ปี (ใหม่) ผ่านไปกี่ครั้งก็ไม่มีวันลืม