xs
xsm
sm
md
lg

"ชมพูภูคา"อันซีนเมืองน่าน บานรับรักแห่งเดียวในโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดอกชมพูภูคาเบ่งบานรับวันวาเลนไทน์
ย่างเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์เดือนแห่งความรักกันอีกครั้ง เดือนของคนมีคู่ สำหรับคนมีความรักคงจะอารมณ์เบิกบานเป็นพิเศษ นอกจากความรักอันแสนหวานของเหล่าคู่รักแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่พร้อมเบ่งบานในช่วงเดือนนี้ก็คือ ดอกไม้ชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า "ชมพูภูคา" ซึ่งเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเคยมีรายงานการสำรวจพบต้นชมพูภูคาทางตอนใต้ของประเทศจีนและทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม จากนั้นก็ไม่มีรายงานการค้นพบต้นไม้ชนิดนี้อีกเลย ทำให้มีการคาดการณ์ว่าอาจจะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ไปแล้ว

กระทั่งในปี พ.ศ. 2532 ดร.ธวัชชัย สันติสุข นักพฤกษศาสตร์ ได้ค้นพบต้นชมพูภูคาอีกครั้งที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จ.น่าน และนั่นทำให้เรื่องราวของชมพูภูคากลายเป็นที่สนใจของสาธารณะชนขึ้นมา

ชมพูภูคา (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bretschneidera sinensis Hemsl. ชื่อวงศ์ : BRETSCHNEIDERACEAE) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 15-25 เมตร จะเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณป่าดงดิบ ตามไหล่เขาสูงชันที่มีความสูงตั้งแต่ 1,200 เมตรขึ้นไปจากระดับน้ำทะเล และมีความชื้นของอากาศสูง มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีค่อนต่ำ

ชมพูภูคา เป็นต้นไม้พันธุ์หายากที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก เป็นดอกไม้ที่จะพบได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้นในโลกที่ ปัจจุบันมีรายงานการพบเพียงแห่งเดียวในโลกที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา
ชมพูภูคา ต้นไม้ที่พบแห่งเดียวในโลกที่ อช.ดอยภูคา
สำหรับลักษณะทั่วไปของต้นชมพูภูคาจะมีเปลือกเรียบสีเทา ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวมีใบย่อยรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายใบแหลมยาว แผ่นใบด้านล่างมีนวลสีขาว ส่วนดอกเมื่อบานจะมีลักษณะคล้ายรูประฆัง กลีบดอกด้านนอกมีสีชมพูจางขาว และกลีบดอกด้านในมีสีชมพูลายเส้นสีม่วง ชูช่อเป็นพวงใหญ่ โดยปัจจุบันได้มีการทดลองเพาะกล้าไม้ชมพูภูคาเป็นผลสำเร็จ ซึ่งก็จะช่วยให้ต้นไม้ชนิดนี้ไม่สูญพันธุ์ไปจากโลกของเรา

พูนสถิตย์ วงศ์สวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคาผู้ที่แม้จะมีนามสกุลเหมือนอดีตนายกฯคนที่แล้ว แต่หาได้มีส่วนเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใดไม่ ได้กล่าวถึง ชมพูภูคาที่กำลังจะบานในปีนี้ว่า คาดว่าชมพูภูคาจะบานรับกับช่วงวันวาเลนไทน์พอดี เพราะตอนนี้กำลังแทงช่อ เมื่อบานแล้วจะออกช่ออยู่ประมาณ 1 เดือน คือ เดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม จากนั้นก็จะโรยราไป ซึ่งในหนึ่งปีจะออกดอกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
 ลานกางเต็นท์ในอุทยานฯที่มีการจัดสรรพื้นที่ไว้เป็นอย่างดี
"ชมพูภูคา ตอนนี้เรามีการเพาะพันธุ์ด้วยเมล็ดได้หลายร้อยต้น การเพาะต้นชมพูภูคาไม่ยาก แต่ยากตรงเมล็ดมีน้อยต้องแย่งกับกระรอกให้ทัน ปีนี้ชมพูภูคาจะบานเยอะมาก เฉพาะต้นที่อยู่ริมถนนที่นักท่องเที่ยวนิยมไปดูนับได้ล่าสุดประมาณ 130 ช่อแล้ว เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมดอกชมพูภูคาอย่างใกล้ชิด เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้จัดทำระเบียงไม้ยื่นออกไป ให้สามารถชมต้นชมพูภูคาที่ยืนต้นสูงขึ้นจากหุบเขาได้อีกด้วย"หน.พูนสถิตย์กล่าว

สำหรับชมพูภูคาต้นแรกของทางอุทยานฯซึ่งเป็นต้นที่ ดร.ธวัชชัย สันติสุข ได้ค้นพบนั้น หลังจากต้านฝนทนแดด มาได้ประมาณ 50 – 60 ปี ปัจจุบันได้โดนฟ้าผ่าไปเรียบร้อยแล้ว

ส่วนต้นที่ดูกันอยู่ปัจจุบันนี้ ซึ่งขึ้นในจุดใกล้เคียงกับต้นแม่ คือ ต้นลูกที่ตกข้างเคียง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องตกอกตกใจแต่ประการใด เพราะปกติไม้เนื้ออ่อนจะเสี่ยงต่อการผุพังอันเกิดจากการถูกหนอนชอนไชได้ง่ายอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่า ทำอย่างไรจะหาวิธีปลูกทดแทนให้ได้เท่านั้นเอง
 รูปเคารพพญาภูคาในศาลพญาภูคา
นอกจากชมพูภูคาจะทำให้อุทยานฯดอยภูคาดูสดใสกลายเป็นสีชมพู หรือ สีจมออนในภาษาเหนือแล้ว ดอกชมพูภูคายังมีความสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่คนน่านแสนภูมิใจ นั่นก็คือ เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้

อนึ่งหากนักท่องเที่ยวต้องการมาชมชมพูภูคาและท่องเที่ยวในอุทยานฯดอยภูคา หน.พูนสถิตย์แนะนำว่า ควรโทรมาแจ้งก่อนล่วงหน้า เพราะตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาทางอุทยานฯดอยภูคา มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 1 เท่าตัวทำให้มีปัญหานักท่องเที่ยวล้น
บ้านพักสะอาดสะอ้านในอุทยานฯพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว
"ฝากถึงนักท่องเที่ยวที่จะมาด้วยว่า อยากให้ช่วยกันรักษาธรรมชาติของภูคาไว้ด้วย อย่าสลักชื่อตัวเองไว้ตามต้นไม้ เมื่อมาแล้วช่วยนำขยะกลับคืนไปด้วย และที่สำคัญอย่าส่งเสียงดัง เพราะรอบที่ทำการอุทยานฯ มี เก้ง เลียงผา ไก่ป่า ไก่ฟ้า นานาชนิดวนเวียนอยู่ อย่างขยะบางทีสัตว์ป่ากินแล้วจะเสียชีวิต"หน.พูนสถิตย์กล่าว

อย่างไรก็ตามความงดงามของอุทยานฯดอยภูคาไม่ได้มีเพียงอันซีนแห่งดงดอยอย่างชมพูภูคาเท่านั้น สำหรับกลุ่มคนรักการดูนกที่นี่ยังมี "นกไต่ไม้สีสวย" ที่เคยมีบนดอยผ้าห่มปกด้วย แต่เดี๋ยวนี้อยู่ที่ดอยภูคาแห่งเดียวเท่านั้น และเหลือเพียง 18 ตัวสุดท้าย รวมทั้งนกหายากอย่าง นกขัตติยา ก็สามารถหาดูได้ที่นี่เช่นกัน

พืชพันธุ์บางชนิดยังอยู่ในรุ่น 145 ล้านปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นเต่าร้างยักษ์ เมเปิ้ล(ก่วมภูคา) ซึ่งต้นเมเปิ้ลนี้ พิเศษตรงที่ว่า เมื่อตอนต้นเล็กใบจะมี 5 แฉก และเป็นสีแดงทั้งต้น เมื่อโตขึ้นมาใบจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวและเหลือเพียง 3 แฉก แต่พอแก่มาใบจะกลับเป็นสีแดงอีกครั้ง
 ทะเลหมอกดอยภูแว
ชมความงดงามของชมพูภูคาแล้ว ที่อุทยานฯยังมีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหลายอย่างไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติ เช่น เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ซึ่งมีระยะทางประมาณ 3.5 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นบริเวณที่ทำการอุทยานฯ โดยในเส้นทางศึกษาธรรมชาตินี้มีต้นชมพูภูคาชูช่ออวดโฉม ทั้งยังมี ต้นเต่าร้างยักษ์ ซึ่งเป็นปาล์มที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ มีลำต้นสูงใหญ่กว่าต้นเต่าร้างทั่วไปถึง 2 เท่า เมื่อโตเต็มที่จะสูงประมาณ 8-12 เมตร

ป่าปาล์มดึกดำบรรพ์ บริเวณรอบๆ ดอยภูแว มีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 3,000 ไร่ เป็นป่าปาล์มธรรมชาติดงดิบ แทบจะไม่มีพันธุ์ไม้อื่นใดปะปน ซึ่งชาวเขาเผ่าม้งเรียกว่า "ต้นจิ๊ก" โดยไส้ในของลำต้นที่อ่อนใช้ประกอบอาหารได้

ดอยภูแว เป็นดอยสูงที่พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมไปด้วยทุ่งหญ้า โดยในช่วงฤดูหนาวมีนักท่องเที่ยวนิยมเดินขึ้นสู่ยอดดอยภูแวเพื่อชมทิวทัศน์และชมพระอาทิตย์ขึ้น รวมถึงทะเลหมอกที่สวยงามซึ่งปกคลุมไปทั่วทั้งดอย ทั้งนี้ผู้ที่สนใจขึ้นดอยภูแวต้องติดต่อให้เจ้าหน้าที่นำทาง
ทิวทัศน์ขุนเขาแห่งดอยภูคา
น้ำตกต้นตอง เป็นน้ำตกหินปูนที่ตั้งอยู่ริมทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1256 ไม่ไกลจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ มีทางเดินจากถนนเข้าไปถึงตัวน้ำตกระยะทางเพียง 400 เมตร ตัวน้ำตกมีอยู่ด้วยกัน 3 ชั้น มีความสูงรวมกันประมาณ 60 เมตร สภาพรอบน้ำตกรุ่นรื่นเหมาะแก่การเล่นน้ำและเที่ยวพักผ่อน

กางเต็นท์นอนดูดาวในยามค่ำคืนบริเวณ "ลานดูดาว" ที่ในฤดูหนาวที่นี่ จะมีซากุระเมืองไทยอย่าง นางพญาเสือโคร่งบานสะพรั่งรายล้อมทั่วลานดูดาวเลยทีเดียว

มาเยือนยังอุทยานฯดอยภูคา สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดคือการแวะสักการะ “ศาลพญาภูคา”อันเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพของพญาภูคา ที่ตั้งอยู่ติดๆกับต้นชมพูภูคา

ตามประวัติพญาภูคาเป็นชาวเมืองเงินยาง มีถิ่นฐานอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดน่าน เมื่อปี พ.ศ.1812 ได้รับยกย่องให้ขึ้นเป็นพญาครองเมืองล่าง(ต.ศิลาเพชร ในปัจจุบัน)นับได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของราชวงศ์ภูคา

พญาภูคาได้ขยายอาณาเขตการปกครอง โดยส่งราชบุตรสององค์ คือ ให้ขุนนุ่นผู้พี่ไปสร้างเมืองเวียงจันทร์ (หลวงพระบาง) ส่วนขุนฟองผู้น้องไปสร้างเมืองวรนคร (เมืองปัว) และในสมัยพญากานเมือง (หลานพ่อพญาภูคา) ได้ย้ายเมืองจากวรนครไปสร้างเมืองที่แช่แห้งเรียกว่า เวียงภูเพียง เมื่อ ปี พ.ศ. 1902 และได้มีการโยกย้ายเมืองไปที่เวียงใต้ เวียงเหนือ และมาอยู่ที่เมืองน่านจนถึงปัจจุบัน

นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว ดอยภูคายังมีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อาทิ น้ำตกภูฟ้า น้ำตกศิลาเพชร ถ้ำผาเก้า ถ้ำผาแดง ธารน้ำลอด ส่วนบริเวณใกล้ๆอุทยานฯดอยภูคาใน อ.บ่อเกลือ นั้นก็มีจุดน่าสนใจอย่าง บ่อเกลือสินเธาว์ภูเขา ที่บ้านบ่อเกลือ ซึ่งชาวบ้านยังทำการต้มเกลือด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา เป็นโครงการส่งเสริมอาชีพตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
น้ำตกต้นตอง
สำหรับความสำคัญทางการท่องเที่ยวของอุทยานฯดอยภูคาอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ อุทยานฯแห่งนี้เพิ่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 7(รางวัลกินรี) ประเภทแหล่งท่องเที่ยว ปี 2551 ที่ผ่านมา

จากผลงานการบริหารจัดการอุทยานฯอันโดดเด่น ส่งผลให้อุทยานฯแห่งนี้สะอาดสะอ้านเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม รวมถึงการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีโครงการที่จะปั้นมัคคุเทศก์ชาวเขาตัวน้อยไว้คอยแนะนำนักท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย นับเป็นอุทยานฯอันสวยงามที่มากไปด้วยสิ่งน่าสนใจและน่าเที่ยวชมเป็นอย่างยิ่ง

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ตั้งอยู่ที่ ต.ภูคา อ.ปัว จ.น่าน จากตัวเมืองน่านไปตามทางหลวงหมายเลข 1080 สู่ อ.ปัว ระยะทางประมาณ 60 กม.จากนั้นไปตามทางหลวงหมายเลข 1256 (อ.ปัว – อ.บ่อเกลือ) สู่ที่ทำการอุทยานฯดอยภูคา โดยระยะทางส่วนใหญ่จะโค้งลาดชันเนื่องจากเป็นภูเขาสูง ทั้งนี้สามารถสอบถามบ้านพักหรือรายละเอียดต่างๆเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานฯดอยภูคา 0-5470-1000 และสามารถสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวสถานที่น่าสนใจอื่นๆเชื่อมโยงกับอุทยานฯดอยภูคาได้ที่ ททท.สำนักงานแพร่(แพร่,น่าน,อุตรดิตถ์) โทร. 0-5452-1118
กำลังโหลดความคิดเห็น