xs
xsm
sm
md
lg

"ฟรอสท์ แอนด์ ซัลลิแวน"เชื่ออุตฯยานยนต์ไทยยังรุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม้หลายค่ายรถยนต์จะออกมาเห็นตรงกันว่าปีนี้ สภาพตลาดจะหดตัวอย่างหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยยักษ์อย่างโตโยต้ามองว่า ยอดขายรวมปีนี้น่าจะอยู่ระดับ 520,000 คัน หรือลดลง 15% เมื่อเทียบกับปี 2551 เช่นเดียวกับเจ้าพ่อปิกอัพ “อีซูซุ” ก็ให้ความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่ตลาดส่งออกยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ว่าปีนี้จะหายไปเท่าไหร่
วิเวก เวดหยา
แต่ในสายตานักวิเคราะห์อย่าง วิเวก เวดหยา ผู้อำนวยการอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง เอเซียแปซิฟิก บริษัท ฟรอสท์ แอนด์ ซัลลิแวน ที่ปรึกษาและพัฒนาธุรกิจชั้นนำ กลับมองว่า ตลาดรถยนต์เมืองไทยไม่น่าจะเลวร้ายมากนัก และคาดว่าในช่วงไตรมาส 3 จะกลับมาฟื้นตัว ส่งให้ยอดขายทั้งปีน่าจะอยู่ประมาณ 572,000 คัน หรือลดลงไม่เกิน 7% เมื่อเทียบกับปี 2551

โดยยอดขายปิกอัพ 1 ตันจะทำได้ 284,140 คัน ลดลง 15% เมื่อเทียบกับปี 2551 (334,282 คัน) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีโปรดักต์ใหม่ออกสู่ตลาด ด้านรถยนต์นั่งจะขายได้ 242,681 คัน โต 7% เมื่อเทียบกับปี 2551(226,805) โดยเฉพาะรถขนาดเล็กยังได้รับความนิยมอยู่ ส่วนที่เหลือเป็นยอดขายของรถบรรทุกและอื่นๆอีก 46,056 คัน

“เรามองว่าผู้บริโภคยังคงมีกำลังซื้อ เพียงแต่ที่ผ่านมามีการชะลอการใช้เงินลง เนื่องจากไม่มั่นใจกับสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่เชื่อว่าเมื่อปัญหาทุกอย่างคลี่คลาย สถานการณ์จะกลับมาดีขึ้น ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยหนุนอย่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ด้วยเม็ดเงินกว่า 3 แสนล้านบาทที่จะนำมาใช้ในปีนี้ รวมถึงการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ พร้อมการจัดแคมเปญอย่างต่อเนื่อง”วิเวก กล่าวและว่า

อย่างไรก็ตามคงต้องระวังปัจจัยลบที่จะมีผลต่อยอดขาย เช่น ราคาน้ำมันที่เริ่มปรับราคาสูงขึ้น การเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน รวมถึงตัวรัฐบาลเองต้องมีเสถียรภาพเพื่อสร้างความเชื่อมั่น

สำหรับประเทศไทยยังมีจุดแข็งด้านอุตสาหรรมยานต์ อีกหลายอย่าง โดยในสายตา วิเวกมองว่า ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างชัดเจน ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ รวมถึงผู้ผลิตสิ้นส่วนจากกญี่ปุ่นเตรียมย้ายกำลังการผลิตบางส่วนมายังไทย เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงานหลังจากที่ค่าเงินเยนยังแข็งอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของรถยนต์นั่งขนาดเล็กประหยัดพลังงาน ที่ในระยะยาวจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ให้กับไทย เพราะนอกจากผลิตเพื่อขายในประเทศแล้ว ยังส่งขายไปทั่วโลกอีกด้วย

“ฮอนด้า น่าจะเปิดตัวรถในโครงการอีโคคาร์ได้ ไตรมาส 2 ของ ปี 2553 รวมถึงนิสัน และ ซูซกิ ที่จะมีรถลุยตลาดช่วงไตรมาส 4 ของปีเดียวกัน และจากนั้นค่ายที่เหลืออย่าง มิตซูบิชิ โตโยต้า และทาทา จะทยอยเปิดตัวตามมา”

ทั้งนี้ไทยยังมีความโดดเด่นในยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนที่รัฐบาลสนับสนุนหลากหลาย และไม่เหมือนใครในภูมิภาค ซึ่งถือเป็นแรงดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะค่ายรถยนต์นอกเหนือญี่ปุ่น (non-Japanese) อาทิ เจเนอรัล มอเตอร์ หรือ จีเอ็ม

วิเวก ยังเสนอแนะรัฐบาลว่า แม้ช่วงนี้สภาพตลาดรถยนต์อาจชะลอตัว ซึ่งเป็นเหมือนกันทั่วโลก ดังนั้นในระหว่างนี้ต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการฟื้นตัวของตลาดในอนาคต เพราะเมื่อตลาดกลับมาฟื้นตัวทุกอย่างจะมาเร็วจนตั้งตัวไม่ทัน ที่สำคัญต้องมีโปรดักต์หลากหลาย พัฒนาเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นรถพลังงานทางเลือก หรือรถไฮบริด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

นั่นเป็นการมุมมองของ“วิเวก เวดหยา”ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์โลก วิเวก ยังมองในแง่บวกเช่นกัน เพราะคาดว่าในปีนี้และปีหน้ายอดขายรวมทั้งโลกจะหดตัวประมาณ 2%

"จริงอยู่ว่าตลาดใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น ยอดขายและยอดผลิตลดลง แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่มีการเติบโตสูงอย่างจีน อินเดีย รัสเซีย และบราซิลแล้ว จะชดเชยกันไปได้ระดับหนึ่ง จึงเชื่อว่ายอดขายรวมทั่วโลกในช่วงสองปีนี้จะอยู่ราว 60 ล้านคัน "วิเวก กล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น