xs
xsm
sm
md
lg

ทาทา ซีนอน ซีเอ็นจี "รถทำเงิน-คนขับทำใจ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ของขวัญปีใหม่ของพวกรถตระกูลซีเอ็นจี ในช่วงที่ผ่านมา คงเป็นเรื่องการตรึงราคาขายก๊าซของรัฐบาล (แม้ปตท.อยากขึ้นราคาใจจะขาด) บวกกับการทยอยปรับราคาน้ำมันให้เข้าสู่ความเป็นจริง โดยยกเลิกลดหย่อนภาษีสรรพสามิตตามนโยบายรัฐบาลชุดก่อน และการหักเงินสนับสนุนเข้ากองทุนน้ำมัน ตามรูปแบบและระยะเวลาที่วางแผนไว้

เมื่อน้ำมันแพงขึ้น ราคาก๊าซนิ่ง นับว่ามีผลด้านจิตวิทยาพอสมควร กับธุรกิจขนส่งและพวกใช้รถยนต์ส่วนตัว ที่เริ่มเห็นส่วนต่างพร้อมการการคำนวณต้นทุนได้ชัดเจน ขณะเดียวกันพวกค่ายรถยนต์ ที่เสริมอาวุธด้วยยนตรกรรมซีเอ็นจีรุ่นต่างๆ ก็สามารถดึงจุดขายด้านความประหยัดมาใช้ได้เต็มปากเต็มคำอีกครั้ง เช่นเดียวกับ “ทาทา” ที่เปิดตัวปิกอัพ ซีนอน ซูเปอร์ ซีเอ็นจี ช่วงปลายปีที่แล้ว

ค่ายรถจากอินเดีย ถือเป็นเจ้าแรกที่กล้าเปิดตลาดปิกอัพใช้ก๊าซธรรมชาติอัด100% (Dedicated CNG) ซึ่งต่างจากเชฟโรเลต โคโรลาโด ที่เป็นแบบผสม“ดูอัลฟิว”(Dual fuel) จ่ายก๊าซกับน้ำมันดีเซลในสัดส่วน 65/35 ทั้งนี้ ทาทายังคุยว่าใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีในการวิจัยและพัฒนา ซีนอน ซีเอ็นจี ให้เหมาะกับสภาพการใช้งาน รวมถึงคุณภาพก๊าซหลายมาตรฐานของประเทศไทย

ไม่ว่าจะเป็นการหาจุดลงตัวให้กับอีซียู 16 บิต ของ Bosch สมองกลที่สามารถตรวจจับก๊าซที่ค่ามีเทนต่างกัน(ตามแต่ละสถานีบริการ) และประมวลผลให้ก๊าซผสมกับอากาศในอัตราเหมาะสม พร้อมสั่งงานให้ฉีดจ่ายเข้าไปในห้องเผาไหม้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อการจุดระเบิดอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบซีเอ็นจี ก็ใช้ของดีทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นท่อนำก๊าซ Sandvik ของเยอรมัน ข้อต่อคุณภาพจาก Swagelok สหรัฐอเมริกา วาล์วนิรภัย OMB จากอิตาลี ส่วนถังบรรจุก๊าซ 2 ใบ ขนาด 60 และ 40 ลิตรน้ำ (รวม2 ถังเติมซีเอ็นจีได้ 20 กิโลกรัมก๊าซ)ถูกวางระหว่างแชสซีส์ ใต้กระบะท้าย เพื่อไม่ให้เสียพื้นที่บรรทุก และส่งผลถึงการถ่ายเทน้ำหนักของรถอย่างมีเสถียรภาพ

สำหรับเครื่องยนต์ ซีเอ็นจีทั้งระบบ ขนาด 2.1 ลิตร ที่ออกแบบมารองรับการจุดระเบิดด้วยก๊าซซีเอ็นจีโดยเฉพาะ แต่กระนั้นยังอ้างอิงพื้นฐานความอึดมาจากเครื่องยนต์ดีเซล อย่างพวงเสื้อสูบหรือระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบไดเร็กอินเจกชัน ทั้งยังออกแบบให้วาล์วไอดี ไอเสียทนความร้อนเป็นพิเศษ โดยให้กำลังสูงสุด 155 แรงม้า ที่ 5,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 175 นิวตัน-เมตร มาที่ 3,750 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และปรับอัตราทดเฟืองท้ายไว้ 5.98 ซึ่งจัดพอสมควร

แน่นอนว่าอัตราทดเฟืองท้ายจี๊ดๆแบบนี้ ทางวิศวกรคงหวังถึงกำลังชุดลาก เพื่อรองรับการใช้งานบรรทุก แต่นั้นก็ทำให้ ซีนอน ซีเอ็นจี เป็นปิกอัพรอบสูงทันที โดยความเร็วแค่ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงที่เกียร์สูงสุด รอบก็ทะลุไป 3800 แล้ว หรือถ้าขับสัก 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็เจอกันโน้นครับ 4200 รอบ

ที่สำคัญอัตราเร่งยังมาช้าพอสมควร ทั้งช่วงเกียร์ 2-3-4 การกดคันเร่งลงไป ดูเหมือนจะได้การตอบรับจากเสียงเครื่องยนต์มากกว่า การพุ่งทะยานตามหวัง และอย่างที่บอกในย่านความเร็วปลาย ที่แม้จะอยู่เกียร์ 5 แล้ว ผมยังนึกว่ามันน่าจะมีอีกเกียร์ด้วยซ้ำ เพราะรอบเครื่องที่สูง และรถยังดูตื้อๆ หนืดๆ พอสมควร

การเก็บเสียงในห้องโดยสารยังไม่เนียนเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับปิกอัพยี่ห้ออื่นๆในท้องตลาด และถ้าคุณคิดจะกลบเสียงด้วย วิทยุ-เทป(ยังไม่ต้องพูดถึงซีดี) เจ้า ซีนอน ซีเอ็นจี ก็ไม่ได้ติดตั้งความสุนทรีย์ดังกล่าวมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน

ด้านความเร็วสูงสุดเหยียบได้ไม่เกิน 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เรียกว่าพอถึง 140 ปลายๆ และรอบดีดประมาณ 5200-5300 อีซียูจะสั่งตัดการทำงานทันที ซึ่งตรงนี้ก็นับเป็นผลดีครับ เพราะรถปิกอัพเพื่อการบรรทุกจริงไม่น่าขับระห้ำถึงขนาดนี้ ที่สำคัญพวกเถ้าแก่อาเฮีย น่าจะสบายใจกับการป้องปราบลูกน้องตีนระเบิดได้ระดับหนึ่ง

สำหรับระบบพวงมาลัย ที่แม้จะเป็นแบบลูกปืนหมุนวน ซึ่งผมมองว่าไม่ได้เสียหายอะไร เพราะยังบังคับควบคุมได้พอดิบพอตามสไตล์ปิกอัพ(ถ้าขับความเร็วไม่สูงมาก) ส่วนระบบรองรับที่ หน้าเป็นแบบปีกนกคู่ พร้อมเหล็กกันโคลง หลังเป็นแหนบแผ่นซ้อนนั้น ออกแนวกระเด้งกระดอน สะท้อนความรู้สึกจากพื้นถนนส่งกลับมาในห้องโดยสารแบบ ไร้ความประนีประนอม และจากการเป็นรถยกสูงทำให้ตัวถัง ยังมีอาการโคลงเล็กน้อยยามเปลี่ยนเลน หรือการเข้าโค้งยาวๆด้วยความเร็วสัก 80-90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มือคงต้องกำพวงมาลัยให้กระฉับเข้าไว้เพื่อความมั่นใจ (กรณีนี้กระบะท้ายเปล่า)

อีกจุดหนึ่งที่ตะขิดใจ และส่วนตัวคิดว่าต้องปรับปรุงด่วนคือ ตรงแป้นคลัทซ์ ไม่มีที่วาง(พัก)เท้าซ้าย ขณะเดียวกันยังมีกล่องอะไรสักอย่าง ปูดยื่นออกมาแกะกะเท้าพอสมควร ส่งผลให้เท้าซ้ายของคุณเมื่อไม่ได้เหยียบคลัทซ์ มันจะถูกบังคับให้วางผิดลักษณะ ยิ่งคนเท้าซ้ายใหญ่กว่าเท้าขวา จะพบความลำบากแน่นอน

อย่างไรก็ตามเมื่อถามปัญหานี้ไปยัง ทาทา มอเตอร์ส ก็ได้รับคำตอบว่าไอ้กล่องที่ยื่นมานั้น เรียกว่า “บอดี้ คอนโทรล ยูนิต” เป็นกล่องบรรจุเซ็นเซอร์ควบคุมพวก ระบบไฟส่องสว่างภายในรถ(ค่อยๆหรี่แบบบีเอ็มดับเบิลยู) เสียงเตือนการรัดเข็มขัด กระจกไฟฟ้า และระบบกันขโมย เป็นต้น ซึ่งปัญหาการวางตำแหน่งดังกล่าวทางผู้บริหารยืนยันว่า สามารถแก้ไขได้และจะปรับปรุงโดยเร็วที่สุด

มาถึงอัตราการบริโภคก๊าซของ ซีนอน ซีเอ็นจี หลังจากทดสอบโดยวิ่งระยะทางยาวๆ ต่างจังหวัด และไร้ซึ่งการบรรทุก จะทำได้ประมาณ 10-11 กิโลเมตรต่อกิโลกรัมก๊าซ ดังนั้นถ้าคิดจากพื้นฐานราคา ซีเอ็นจีที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท(กุมภาพันธ์ 2552) ต้นทุนการวิ่งจะอยู่ราว 0.85-0.77 บาทต่อกิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งนับว่าถูกมาก

จากตัวเลขการบริโภคเชื้อเพลิงดั้งกล่าว ถ้าเติมเต็ม(2)ถัง น่าจะวิ่งได้ระยะ 200-220 กิโลเมตร ดังนั้นผู้ประกอบการหรือใครอยากซื้อไปใช้คงต้องสำรวจสถานีบริการในพื้นที่ หรือระยะทางวิ่งให้ละเอียดก่อน (อย่าเพิ่งไปหวังกับการเสกปั๊มมากมายของ ปตท.) ส่วนเรื่องระยะเวลาการเติม(ถ้าไม่นับการต่อคิว) ใช้เวลาเพียง 2-3 นาที เท่านั้น และต้องขอบคุณการออกแบบรถจากโรงงานผลิต ที่ให้หัวรับเติมอยู่บริเวณฝาถังน้ำมัน พร้อมหน้าปัดบอกแรงดัน จึงทำให้รวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ซีนอน ซีเอ็นจี ถือเป็นอาวุธใหม่ที่ ทาทา ตั้งใจส่งเข้าประกวดตาม กลุ่มโลจิสติกส์ หรือการขายล็อตใหญ่(Fleet) ให้กับบริษัทใช้รถเพื่อการขนส่ง รวมถึงพวกรถสองแถวที่มีเส้นทางวิ่งแน่นอน พร้อมตั้งราคาขายไว้ 5.19 แสนบาท

รวบรัดตัดความ...ซื้อใช้ในกิจการ(ให้ลูกน้องขับ) วิ่งงานทำเงิน สร้างผลกำไร ลดต้นทุนต่อหน่วยการวิ่ง พร้อมกับมีเส้นทางประจำ คำนวณระยะทางและปั๊มเติมก๊าซได้แน่นอน ซึ่งถ้าใครคิดกับ“ซีนอน ซีเอ็นจี”มากไปกว่านี้ ก็หาตัวเลือกอื่นครับ



กำลังโหลดความคิดเห็น