xs
xsm
sm
md
lg

จุดพลิกตลาดเก๋งผงาด"บีเซกเมนต์-อีโคคาร์"จ่อคิวลุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวในประเทศ - นับถอยหลังเหลืออีกเพียงไม่กี่วัน จะสิ้นปี 2551 หรือปีหนูไฟ ที่เต็มไปด้วยความปั่นป่วน ไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ จนตลาดรถยนต์ไทยก็กระทบไปด้วย ไม่เพียงเท่านั้นปีหนูไฟยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ผลักดันให้ตลาดเก๋งขยายตัวใกล้เคียงกับปิกอัพตลาดหลักของไทย ส่งผลจากนี้ไปจะเป็นเทรนด์ของเก๋งแน่นอน โดยเฉพาะเก๋งขนาดเล็กแบบซับคอมแพ็กต์ หรือบี-เซกเมนต์ และอีโคคาร์ ที่จองคิวเปิดตัวยาวเหยียด ไม่ว่าจะเป็น มาสด้า2 และฟอร์ด เฟียสตา หรือแม้แต่โมเดลในปัจจุบันเช่น โตโยต้า ยาริส และเชฟโรเลต อาวีโอ ที่จะมีการทยอยปรับโฉมส่งบุกตลาด ตั้งแต่ปี 2552 หรือปีวัวไฟเป็นต้นไป เช่นเดียวกับอีโคคาร์ที่มีมูลค่าลงทุนรวมของ 6 ยี่ห้อ เกือบ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ได้มีการลงทุนสร้างโรงงานไปบ้างแล้ว จะมีเพียง โตโยต้า ที่โดนพิษเศรษฐกิจอาจต้องเลื่อนออกไป จากกำหนดเดิมเปิดตัวในปี 2553-2554

ผลกระทบหลายๆ อย่าง ที่รุมกระหน่ำตลอดปี 2551 หรือปีชวดที่เป็นปีหนูไฟ มาจากทั้งเรื่องราคาน้ำมัน การเมือง และวิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่ปัจจัยที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อตลาดรถยนต์ไทย อยู่ที่ความผันผวนของราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก เพราะเหตุการณ์ออยล์ช็อก! เมื่อช่วงไตรมาสสองที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ กว่า 40 บาทต่อลิตร และยังดีดตัวเหนือน้ำมันเบนซิน ทำให้ตลาดรถยนต์ไทยที่กว่า 60% เป็นตลาดปิกอัพเครื่องยนต์ดีเซลจึงเกิดอาการสะดุดหัวทิ่มทันที

เหตุนี้ตลาดปิกอัพที่เริ่มต้นปียังเติบโตปกติ เมื่อเข้าสู่ไตรมาสสองที่เกิดปรากฎการณ์ออยล์ช็อก! สถานการณ์จึงพลิกอย่างฉับพลัน จากเดือนมีนาคมปิกอัพมียอดขาย 36,622 คัน พอมาถึงเดือนเมษายนยอดขายลดลงไปเหลือ 34,304 คัน แต่พอถึงเดือนพฤษภาคมหล่นวูบลงไปเป็น 29,133 คัน และในเดือนมิถุนายนตกหนักเข้าไปอีก 25,268 คัน แม้สถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลังราคาน้ำมันจะเริ่มคลี่คลาย แต่ตลาดปิกอัพก็กลับมาดีดตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้จนถึงเดือนพฤศจิกายนรวม 11 เดือน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมายังติดลบอยู่ 15.5% หรือทำได้เพียง 3.03 แสนคัน

อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์ไทยยังไม่เลวร้ายไปเสียหมด เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดจุดพลิกผันสำคัญในตลาดรถยนต์ไทย นั่นคือพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทย ที่เริ่มหันมามองรถยนต์นั่ง หรือเก๋งมากขึ้น ทั้งจากราคาน้ำมันเบนซินที่ถูกกว่า(ทิศทางต่อไปดีเซลยังจะคงสูงกว่าเหมือนในต่างประเทศ เพราะปัจจุบันรัฐบาลไม่ได้เข้าอุ้มแล้ว โดยปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด) โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลได้ผลักดันให้มีการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และกำหนดให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นไป จะให้สิทธิประโยชน์อัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน E20 เป็นพิเศษ ทำให้ราคาน้ำมัน และรถยนตที่ใช้น้ำมัน E20 ถูกกว่าทั่วไป

ดังนั้นค่ายรถจึงแห่เปิดตัวรถยนต์ใช้น้ำมัน E20 กันอย่างคึกคัก และปลุกให้ตลาดเก๋งของไทยขยายตัวอย่างมาก จากราคารถยนต์ที่ลดลงตั้งแต่ไม่กี่หมื่นบาทไปจนถึงเกือบแสนบาท ประกอบสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถ ที่เคยคิดจะซื้อปิกอัพหันมาใช้เก๋งแทน หรือเปลี่ยนเก๋งขนาดใหญ่มาเป็นประเภทคอมแพ็กต์คาร์ และโดยเฉพาะซับคอมแพ็กต์อย่าง ฮอนด้า ซิตี้ หรือโตโยต้า วีออส ที่มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงน้อยกว่า

ทำให้ตัวเลขยอดขายเก๋งขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเติบโตมาก ดังจะเห็นจากปิดไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 39.1% มาครึ่งปีแรกปิดบวกถึง 32.4% จนมาถึงช่วงครึ่งปีหลังเริ่มได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้ยอดเก๋งลดลงบ้าง ถึงอย่างนั้นเมื่อปิดยอดขาย 11 เดือน(ม.ค.-พ.ย.) ก็ยังบวกถึง 28.4% แต่เนื่องจากปิกอัพตลาดหลักของไทยลดลงมาก จึงทำให้ภาพรวมตลาดรถยนต์ไทยทุกประเภท 11 เดือนแรกของปี 2551 ปิดที่ 556,267 คัน ติดลบ 1.88% และคาดว่าตลอดทั้งปีจะอยู่ที่เพียง 6.3 แสนคัน ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาเท่านั้น จากเดิมที่ประเมินกันเมื่อต้นปีน่าจะทะลุ 7 แสนคัน หรือเติบโต 11%

ผลจากทิศทางของตลาดเก๋งตลอดปีที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบกับปิกอัพตลาดหลักของไทย และยิ่งโครงการรถเล็กประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรืออีโคคาร์ ที่จะทยอยเปิดตัวออกมาในปี 2553 เป็นต้นไป ทำให้ค่ายรถยนต์เริ่มออกมาวิเคราะห์ตลาดรถยนต์ใหม่ โดยมองว่าต่อไปตลาดรถยนต์จะมีสัดส่วนที่เปลี่ยนไป จากเดิมตลาดปิกอัพอยู่ที่กว่า 60 % จะถูกตลาดเก๋งแย่งชิงสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 45-50% หรือตลาดปิกอัพเหลือเพียง 50-55% เท่านั้น

แน่นอนทิศทางดังกล่าวมีความเป็นไปได้ เพราะเมื่อดูแนวโน้มในปีนี้ และแผนงานต่างๆ ของบริษัทรถยนต์ในไทย ตลาดเก๋งจะมีโมเดลใหม่ๆ แนะนำสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทั้งซับคอมแพ็กต์และอีโคคาร์ ในขณะที่ปิกอัพ 1 ตัน ถือว่ามาเกือบครบทุกค่ายแล้ว

ทีนี้ลองมาดูบรรดาเก๋งโมเดลใหม่ๆ บ้าง ซึ่งแน่นอนจะต้องเป็นเก๋งขนาดเล็กตามเทรนด์ของตลาด แม้ปัจจุบันจะมีเก๋งขนาดเล็กหลายยี่ห้อ ทั้งจากมาเลเซีย จีน ตะวันตก และญี่ปุ่น แต่ที่เป็นโมเดลหลักมีเพียง 3 ยี่ห้อ ได้แก่ ฮอนด้า ซิตี้-แจ๊ซ, โตโยต้า วีออส-ยาริส และเชฟโรเลต อาวีโอ ซึ่งล้วนอยู่ในตลาดซับคอมแพ็กต์ หรือกลุ่มบี-เซกเม้นต์

ดังนั้นหากเทียบกับกลุ่มเก๋งคอมแพ็กต์คาร์ ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้า อัลติส, ฮอนด้า ซีวิค, มิตซูบิชิ แลนซอร์, มาสด้า3 นิสสัน ทีด้า และฟอร์ด โฟกัสแล้ว รถในกลุ่มบี-เซกเม้นต์ยังมีอีกหลายยี่ห้อที่ยังไม่เข้ามารุกตลาดในไทย เพียงนับถอยหลังจากนี้ไปอย่างน้อยที่ชัดเจนแล้ว ก็มีเพิ่มเข้ามาอีก 2 ราย คือ มาสด้า และ ฟอร์ด ซึ่งจะทำให้รถยนต์บี-เซกเม้นต์ของค่ายแบรนด์เนมมีทั้งหมดถึง 5 ยี่ห้อในตลาดไทย

โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2552 นี้ ค่ายมาสด้าจะเป็นฝ่ายเปิดฉากลุยก่อน ด้วยการส่ง "มาสด้า2" เก๋งซับคอมแพ็กต์ที่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคอย่างมากในต่างประเทศ โดยจะผลิตขึ้นในไทยที่โรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ (AAT) จ.ระยอง ซึ่งเป็นโรงงานร่วมทุนของมาสด้าและฟอร์ด สำหรับผลิตปิกอัพมาสด้า บีที-50 และฟอร์ด เรนเจอร์ โดยงานนี้เอเอทีได้ลงทุนตั้งโรงงานแห่งใหม่ ในบริเวณพื้นที่เดียวกันกับโรงงานแห่งเดิม เพื่อรองรับการผลิตมาสด้า 2 โดยเฉพาะ

จากนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของ "ฟอร์ด เฟียสตา" เก๋งซับคอมแพ็กต์ที่เพิ่งเผยโฉมเวอร์ชั่นซีดาน 4 ประตู ครั้งแรกในโลกที่ประเทศจีนไปเมื่อเร็วนี้ๆ หลังจากเปิดตัวรุ่นแฮ็ทช์แบ็กในยุโรปแล้ว โดยรถรุ่นดังกล่าวจะผลิตจากโรงานเอเอทีเช่นเดียวกันกับ "มาสด้า2" เหมือนกับที่จีนก็ใช้โรงงานเดียวกัน และปล่อยให้มาสด้าทำตลาดไปก่อน โดยในส่วนของเมืองไทยก็เหมือนกัน ฟอร์ด เฟียสตา รุ่นซีดานจะเปิดตัวประมาณต้นปี 2553

นั่นเป็นโมเดลใหม่ที่ประกาศออกมาชัดเจนแล้ว ยังไม่รวมโมเดลที่ทำตลาดในปัจจุบัน ที่จะมีการปรับโฉมแนะนำสู่ตลาดต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น โตโยต้า ยาริส ที่จะเปิดตัวในต้นปี 2552 นี้ หรือเชฟโรเลต อาวีโอ โฉมใหม่ ที่จะเปิดตัวประมาณปลายปี 2553 เรียกว่าเปิดศึกชิงยอดขายกันดุเดือดแน่นอน

แต่ตลาดเก๋งขนาดเล็กยังไม่จบแค่นี้ เพราะยังมีโครงการใหญ่อย่างอีโคคาร์ ที่เตรียมจะทยอยแนะนำสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป หลังจากบอร์ดคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) มีมติอนุมัติโครงการอีโคคาร์ 6 โครงการ รวมูลค่าลงทุนเกือบ 5 หมื่นล้านบาท ได้แก่ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล โดยใช้เงินลงทุนมูลค่า 7,588 ล้านบาท บริษัท สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด ซึ่งใช้เงินลงทุนมูลค่า 5,500 ล้านบาท บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ ใช้เงินลงทุน 9,500 ล้านบาท บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 4,711 ล้านบาท 2.บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เงินลงทุน 4,642 ล้านบาท และบริษัท ทาทา มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,317 ล้านบาท

สำหรับโครงการอีโคคาร์ของแต่ละบริษัท ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก และปัจจุบันหลายบริษัทก็ประสบปัญหาสภาพคล่องบ้างเล็กน้อยจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่ส่วนใหญ่ยังคงยืนยันที่จะเดินหน้าผลิตอีโคคาร์ในไทยตามแผน

โดยเฉพาะค่ายฮอนด้าที่เพิ่งเปิดโรงงานแห่งที่ 2 มูลค่าการลงทุนกว่า 6,200 ล้านบาท ไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งโรงงานแห่งมีกำลังการผลิตกว่า 1.2 แสนคัน เพื่อรองรับการผลิตรถทุกรุ่น รวมถึงรถยนต์ในโครงการอีโคคาร์ โดยผู้บริหารของฮอนด้ายืนยันโรงงานใหม่แห่งนี้ ได้เตรียมความพร้อมไว้สำหรับการผลิตรถยนต์ของฮอนด้าและอีโคคาร์ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ และคาดว่าจะเปิดตัวได้ตามแผนที่วางไว้ในปี 2553

เช่นเดียวกับ "ซูซูกิ" โดยการเปิดเผยของ "สิทธิศักดิ์ เกสรวิบูลย์" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซูซูกิ ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่าหลังจากบริษัทแม่จากญี่ปุ่นตัดสินใจเข้ามาลงทุน และตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ขนาดเล็กอย่างอีโคคาร์ในเมืองไทยแล้วนั้น ขณะนี้โรงงานดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะจึงจะแล้วเสร็จ ซึ่งจะมีการเปิดเผยรายละเอียดต่อไปในอนาคต

ขณะที่ค่ายรถภารตะ "ทาทา" ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าว อาจจะชะลอแผนการลงทุนผลิตรถยนต์ในโครงการอีโคคาร์ แต่ล่าสุดก็มีแถลงการณ์จากทาทามอเตอร์สออกมาว่า แผนการลงทุนผลิตรถยนต์อีโคคาร์ในไทย ยังคงเดินหน้าต่อไปเช่นเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนเลือกสถานที่ก่อสร้างโรงงานที่จะผลิตอีโคคาร์อยู่

ส่วนที่อาจจะชะลอแผนลงทุน ที่มีการส่งสัญญาณบ้างก็เพียงยักษ์ใหญ่ "โตโยต้า" เท่านั้น โดยการเปิดเผยของ "วุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ระบุเหตุผลว่า จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้สถานการณ์ขณะนี้ไม่สอดคล้องที่จะลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ดังนั้นโตโยต้าจึงต้องพิจารณาถึงโครงการลงทุนอีโคคาร์ในไทยอย่างลึกซึ้ง จากเดิมที่กำหนดจะแนะนำสู่ตลาดในปี 2553-2554 แต่จากปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบทั่วโลก อาจจะเลื่อนโครงการอีโคคาร์ไปก่อน ส่วนจะเป็นเมื่อไหร่ยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ขณะนี้

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม นับจากปี 2552 หรือปีวัวไฟ เป็นต้นไป ตลาดเก๋งในไทยจะมีโมเดลใหม่ๆ เปิดตัวสู่ตลาดต่อเนื่อง และจะกลายมาเป็นตลาดที่ผงาดขึ้นมาเทียบเคียงปิกอัพแน่นอน

กำลังโหลดความคิดเห็น