เช้าวันที่สามของการเดินทาง สมาร์ท คาราวาน 8,800 กม. โดย ไฮลักซ์ วีโก้ วันนี้พวกเราถูกปลุกตอนที่ตี 4 กว่าๆ (สำหรับสมาชิกที่จะไปชมพระอาทิตย์ขึ้นบนยอดดอยภูชี้ฟ้า) เพื่อจะเดินเท้าสู่ยอดภูชี้ฟ้าที่แม้ว่ามีระยะทางเพียง 700 เมตรแต่ก็ทำเอาหลายคนที่ไม่คุ้นเคยกับการเดินขึ้นทางชันและขรุขระต้องแวะพักตามทางบ่อย ๆ สำหรับเพื่อนที่จะขึ้นบนดอยละก็ขอแนะนำให้เอาไฟฉายติดตัวไปด้วยจะดีมาก
พอแสงตะวันเริ่มจับขอบฟ้าจนเกิดแสงสีส้มแดงเรืองรองก็เป็นจังหวะที่นายแบบนางแบบสมัครเล่น และช่างภาพต่างทำหน้าที่กันอย่างแข็งขัน ...หลังชมพระอาทิตย์ขึ้นผ่านพ้นสู่ท้องฟ้าแล้ว ขบวนคาราวานเดินทางต่อโดยวันนี้ระยะทางที่เราต้องวิ่งไปประมาณ 212 กม. ส่วนสมาชิกลูกค้าจากโตโยต้าเชียงรายได้แยกทางกลับสู่มาตุภูมิ
พวกเราเดินทางตามถนนหมายเลข 1093 ประมาณ 45 กม. แวะชมน้ำตกอุ่น หรือน้ำตกภูซาง ซึ่งเป็นน้ำตกชั้นเดียวที่ตกสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง สูงประมาณ 25 เมตร จุดเด่นของน้ำตกแห่งนี้คือ เป็นน้ำตกที่เป็นกระแสน้ำอุ่นมีอุณหภูมิประมาณ 35 องศาเซลเซีย น้ำใสไม่มีกลิ่นกำมะถัน สามารถลงเล่นน้ำอย่างสบาย และในช่วงฤดูหนาวจะมีไอหมอกปกคลุมจนเกือบไม่เห็นพื้นน้ำเลยทีเดียว แต่คณะของเราไม่มีโอกาสสัมผัสน้ำว่าอุ่นจริงหรือไม่เนื่องจากมีการปิดซ่อมบริเวณน้ำตกจึงไม่สามารถเข้าไปชมใกล้ ๆ ได้ และเหนือน้ำตกภูซางมีเส้นชมป่าต้นน้ำซึ่งเป็นป่าดงดิบ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 1 กม.
จากน้ำตกเราเดินทางต่อตามถนน 1148 ผ่านอำเภอเชียงคำ แวะมนัสการพระเจ้านั่งดิน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวในโลกที่ไม่ได้ประทับฐานชุกชีหรือกระแท่นเหมือนกับพระพุทธรูปในวิหารวัดอื่น ๆ ทั่วไป มีเรื่องเล่าขานจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่า เคยมีชาวบ้านได้พากันสร้างฐานชุกชีแล้วอัญเชิญพระเจ้านั่งดินขึ้นประทับ แต่เกิดเหตุอัศรรย์ฟ้าผ่าลงมาที่กลางพระวิหารถึง 3 ครั้ง พุทธบริษัททั้งหลายจึงอาราธนาพระเจ้านั่งดินมาประดิษฐานบนพื้นดินดังเดิม ตราบจนทุกวันนี้ จากนั้นเดินทางต่อผ่านอำเภอสองแคว อำเภอเชียงกลาง ไปอำเภอปัว แวะชมโรงงานหัตถกรรมเครื่องเงินที่ขึ้นชื่อของอำเภอปัว
ผ่านตัวเมืองปัวเลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางถนน 1256 ขึ้นสู่ขุนเขาที่ไต่ระดับขึ้นไปเรื่อย ๆ แรงบิดจากเครื่องยนต์ดีโฟร์ดี คอมมอนเรล ถูกเรียกมาใช้งานอีกครั้ง แต่สภาพถนนยังคงเป็นลาดยาง การเดินทางในวันนี้จึงไม่เหน็ดเหนื่อยมากนัก ด้วยระยะทาง 212 กม. ในช่วงเช้าเป็นการเดินทางลงเขาจากภูชี้ฟ้า ส่วนช่วงบ่ายถึงจะขึ้นสู่ยอดเขาที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จ.น่าน
ค่ำคืนนี้พวกเราจะพักกันที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแดนลาว รวมถึงส่วนปลายเทือกเขาหิมาลัยด้วย มีพื้นที่ครอบคลุม 8 อำเภอของ จ. น่าน รวมทั้งหมด 7,704 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,065,000 ไร่ จึงทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ของสภาพป่าอันจะเห็นได้จากการพบพืชพรรณ และสัตว์ป่าหายากหลากหลายชนิด และนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดน่าน โดยมีจุดเด่นทางธรรมชาติที่น่าสนใจคือ ดอกชมพูภูคาซึ่งเป็นพันธ์ไม้หายากและมีที่เดียวในประเทศไทย รวมถึงต้นเต่าร้างยักษ์ซึ่งเป็นพืชดึกดำบรรพและเชื่อกันว่าเป็นอาหารของไดโนเสาร์กินพืชชนิดหนึ่งด้วย
จุดชมต้นชมพูภูคาอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 1256 (ปัว-บ่อเกลือ) ห่างจากที่ทำการอุทยานฯไปทางบ่อเกลือประมาณ 4 กม. บริเวณนี้ได้จัดทำเป็นระเบียงไม่ยื่นออกไปให้ยืนชมต้นชมพูภูคาที่มีลำต้นสูงขึ้นมาจากในหุบเขา แต่ต้นดังกล่าวปัจจุบันเหลือเพียงต่อไม้เท่านั้นจะมีเหลือเพียงต้นที่ขึ้นอยู่ริมทางพอดี หรืออาจจะชมได้ที่อุทยานฯจะมีขึ้นอีก 2 ต้น ที่ทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯนำมาปลูกไว้ และเส้นทางกลับอุทยานฯจะมีจุดชมวิวจะมีต้นชมพูภูคาอีก 3 ต้น ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีได้ทรงปลูกไว้เมื่อ 14 ปีก่อน
และพวกเราก็มาถึงบ้านพักบนดอยภูคา ซึ่งเป็นอีกค่ำคืนหนึ่งที่คณะคาราวานยังต้องนอนท่ามกลางอุณหภูมิที่หนาวเย็น และวันนี้ขบวนคาราวานเดินทางสะสมกิโลเมตรเพิ่มขึ้นอีก 212 กม.
จากดอยภูคาสู่ดินแดนอีสาน
วันที่ 4 ของการเดินทางถือเป็นวันที่โชเฟอร์ต้องทำงานหนักหน่อย เพราะระยะทางของวันนี้ยาวที่สุดในทริปคือประมาณ 517 กม.และยังต้องแวะท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆอีกไม่น้อย ทำให้พวกเราต้องออกเดินทางกันแต่เช้าตามเส้นทางลงเขาถนน 1080 เข้ามาตัวเมืองน่าน เพื่อชมความงดงามของศิลปะแห่งนันทบุรีศรีนครน่าน ณ วัดภูมินทร์
วัดภูมินทร์ เป็นวัดใหญ่กลางใจเมือง ทีมีมรดกทางภูมิปัญญาชิ้นเอกเลยทีเดียว เพราะช่างโบราณได้ฝากผลงานสุดยอดไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาและภูมิใจ ทั้งงานสถาปัตยกรรมอันได้แก่ วิหารตจัตุรมุข ที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ งดงามแปลกตาไม่เหมือนใคร ถึงขนาดรัฐบาลไทยในสมัยราชการที่ 8 เคยพิมพ์รูปพระวิหารหลังนี้ลงในธนบัตรใบละ 1 บาท ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นของหาดูยาก และงานจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวน่านในยุคก่อน ซึ่งปรากฎอยู่ภายในวิหารจัตุรมุขอย่างงดงามและน่าตื่นตาตื่นใจ
ความพิเศษของวัดนี้ที่ทำให้แตกต่างจากวัดอื่นคือการนำโบสถ์และวิหารมาสร้างรวมเข้าเป็นอาคารเดียวกัน รูปจัตุรมุข มีบันได และประตูออกทั้งสี่ทิศ ที่ราวบันไดเป็นปูนปั้นรูปพญานาค หันเศียรนาคขึ้นสู่เบื้องบน หางขมดเกลียวขึ้นสู่เบื้องบนเช่นกัน โดยกลางลำตัวนั้นกล่าวว่าแบกวิหารไว้ทั้งหลัง ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่สี่องค์หันพระปฤษฎางค์ (หลัง) ชนกัน บ่ายพระพักตร์สู่ประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศ เบื้องหลังพระปฤษฎางค์เป็นฐานเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง ส่วนยอดเจดีย์นั้นจะอยู่เหนือหลังคาวิหารที่มีมุขทั้งสี่ล้อมรอบ
นอกจากนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังศิลปกรรมไทลื้อ ที่เล่าเรื่องชาดก ตำนานพื้นบ้าน และความเป็นอยู่ของชาวน่านในอดีต ประตูไม้ทั้งสี่ทิศแกะสลักลวดลายงดงามโดยฝีมือช่างเมืองน่าน ฝาหนังแสดงถึงชีวิตและวัฒนธรรมยุคสมัยที่ผ่านมา
เสร็จจากการชมวัดภูมินทร์แล้วขบวนเราก็เริ่มออกเดินทางไปยังอำเภอเวียงสา ตามถนนหมายเลข 101 ผ่านอุทยานแห่งชาติศรีน่านไปยังน้ำตกภูสอยดาว เส้นทางสายนี้ต้องถือว่าเป็นด่านสำคัญในการทดสอบระบบช่วงล่างและการควบคุมบังคับรถยนต์ด้วยความเร็วสูง เพราะเป็นทางลาดยางที่ผสมกันไปทั้งสภาพดีเยี่ยมและขรุขระบาง รูปแบบของทางมีทั้งโค้งกว้าง ๆสลับกลับโค้งแคบแบบที่เรียกว่าโค้งพับผ้า ผนวกับเส้นทางที่ขึ้น-ลงเขาตลอดเวลาอันเป็นธรรมชาติของภูมิประเทศของภาคเหนือและโดยเฉพาะในเขตจังหวัดน่าน ซึ่งสภาพป่าเขายังอุดมสมบูรณ์จนมีอุทยานแห่งชาติถึง 3 แห่ง จึงไม่แปลกอะไรที่สมาชิกในขบวนคารางวานบางคนจึงให้ความเห็นว่าสภาพถนนที่นี้ไม่ได้น้อยหน้ากว่าตากหรือแม่ฮ่องสอนแต่อย่างใด
เราเดินทางถึงน้ำตกภูสอยดาวในช่วงเที่ยงพอดี แม้จะเป็นปลายหนาวแต่น้ำตกภูสอยดาวก็ยังมีสายน้ำไหลกระเซ็นให้ได้ชื่นฉ่ำใจ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ตัวน้ำตกภูสอยดาว ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบล ห้วยมุ่น อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ เลยไปไม่ไกลเป็นวัดศรีโพธ์ชัย ตั้งอยู่ที่บ้านแสงภา อ.นาแห้ว จ. เลย ภายในอุโบสถ์เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพชร ส่วนตัวพระอุโบสถที่มีลักษณะของพระอุโบสถ์คล้ายวัดเชียงของเมืองหลวงพระบางประเทศลาว สถาปัตยกรรมในจังหวัดเลยที่สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2197 ปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากศิลปะอยุธยา ศิลปะล้านช้างและศิลปะจีน ภายนอกอาคารเช่นส่วนหน้าบัน คันทวย มักจะตกแต่งด้วยการสลักกลายเป็นลายก้านขด กระหนก นาคเคล้า ภาพรามเกียร์ติ์ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัน เทวดาประจำปีนักษัตร และสัตว์จำพวกสิงห์ กระรอก นกไต่และเกาะไปตามเถาว์ลายผสมกับลายเก๋งจีน
จากนาแห้วเข้า อ.ด่านซ้าย เพื่อเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ผีตาโขน ณ วัดโพนชัย วัดนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดโพน เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของคนอ.ด่านซ้าย ซึ่งจัดให้มีการเทศน์มหาชาติกันในวันบุญเดือน 7 หรืองาน “บุญหลวง” และการละเล่นผีตาโขน ในงานจัดให้มีการแห่พระเวสเข้าเมือง แห่บั้งไฟ และแห่ผีตาโขน โดยจัดเป็นประเพณีประจำ
ทุกปี
สำหรับผีตาโขนนั้นเกิดขึ้นจากการเชื่อว่าเป็นการทำเพื่อถวายเจ้านาย คือ “วิญญาณของผู้ปกครองชาวอ.ด่านซ้าย ซึ่งจะต้องจัดทำทุกปีละเว้นไม่ได้เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดเหตุเภทภัยต่าง ๆ ขึ้นเช่นทำให้คนเจ็บป่วยเกิดฟ้า ฝนแล้งไม่ตกต้องตามฤดูกาล ผีตาโขนมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นการละเล่นร่วมกันกับงานพิธีบุญหลวงหรืองานทำบุญประเพณี การใส่หน้าผีตาโขนเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งในการขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาลเพื่อความอุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรมและยังเป็นงานสมโภชบุญหลวงให้เกิดความสนุกสนานทั้งผู้เล่นและผู้มาร่วมงานนี้ด้วย
ส่วนคำว่า “ผีตาโขน” นั้นบ้างว่าเป็นศัพท์ที่แผลงมาจากคำว่า “ผีตามคน” ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าผีพวกนี้เป็นผีป่าที่ติดตามมาส่งเสด็จพระเวสสันดรเข้าเมือง ดังนั้นจึงเรียกว่า “ผีตามคน” พอนานเข้าก็เพี้ยนมาเป็น “ผีตาโขน” บ้างก็ว่าเป็นเพราะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายหัวโขนที่ปั้นขึ้นหรือทำขึ้น เมื่อคนจะเล่นผีตาโขนต้องนำหัวโขนมาสวมด้วยซึ่งมีลักษณะคล้ายการเล่นโขนของคนภาคกลาง
ห่างจากวัดโพนชัยไปราว 1 กม. เป็นที่ตั้งของ “พระธาตุศรีสองรัก” ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา และพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์สัตนาคนหุต (เวียงจันทร์) เนื่องจากขณะที่กษัติรย์ทั้งสองครองราชสมบัติ ตรงกับสมัยที่พม่าเรืองอำนาจและมีการรุกรานดินแดนต่างๆ เพื่อขยายอำนาจ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์และพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงเห็นตรงกันที่จะรวมกำลังเป็นพันธมิตรเพื่อต่อสู้กับพม่า จึงทรงกระทำสัตยาธิษฐานว่าจะไม่ล่วงล้ำดินแดนของกันและกัน และเพื่อเป็นที่ระลึกในการทำไมตรีต่อกัน จึงได้ทรงร่วมกันสร้างเจดีย์ขึ้นเป็นสักขีพยาน ณ กึ่งกลางระหว่างแม่น้ำน่านและม่น้ำโขง ซึ่งเป็นรอยต่อของทั้งสองอาณาจักร โดยการสร้างเจดีย์ขึ้นและให้ใช้ชื่อว่า “พระธาตุศรีสองรัก”
ออกจากพระธาตุศรีสองรัก ขบวนคาราวานเดินทางต่อไปยังอ.ภูเรือ แวะเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติภูเรือ ซึ่งก็ขอบอกว่าจุดที่เราไปแวะไม่ประทับใจเท่าไร ทั้งสถานที่ที่ทางการจัดให้มีกางเต้นท์หรือห้องน้ำที่มีไว้บริการ ขอบอกว่าไม่น่ามานอนพักค้างแรมเพื่อชื่นชมธรรมชาติสักเท่าไร จากนั้นเดินทางต่อไปยังอ.เชียงคาน แวะพักหลับนอนที่แก่งคุดคู้ ก่อนที่คณะสื่อมวลชนทริปที่สองจะกลับกรุงเทพฯในวันรุ่งขึ้น
จากเมืองเชียงคาน สู่ จ.อุดรธานี ถือเป็นการสิ้นสุดการเดินทางในวันสุดท้ายของทริปที่สอง โดยคณะเราเริ่มออกเดินทางกันแต่เช้าเช่นเคย ผ่านอ.สังคม ท่าบ่อ ไปยังเมืองหนองคาย โดยใช้เส้นทาง Unseen เลาะเลียบแม่น้ำโขงมากที่สุดจากนั้นแวะมนัสการหลวงพ่อพระใส พระพุทธรูปคู่เมืองหนองคายที่วัดโพธิ์ชัย ก่อนบินลัดฟ้ากลับบ้านใครบ้านมัน
ประวัติของหลวงพ่อพระใสนั้น กล่าวกันว่าในปีพ.ศ. 2093 พระราชธิดาสามองค์ของพรเจ้าไชยเชษฐาแห่งอาณาจักรล้านช้าง นามว่า เสริม สุก และใส โปรดให้สร้างพระพุทธรูปประจำองค์ขึ้น พระพุทธรูปทั้งสามองค์มีพระนามเรียกขานตามชื่อของพระราชธิดาว่า พระเสริม พระสุก และพระใส ในปี พ.ศ. 2321 พระเจ้าธรรมเทวงศ์แห่งล้านช้างโปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสามองค์ไปเวียงจันทร์ ต่อมาในรัชการลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทย ขณะลำเลียงข้ามแม่น้ำได้เกิดพายุ พระสุกถูกระแสน้ำพัดพาไปจมลงที่บริเวณปากน้ำงึม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เวินพระสุก” พระเสริมประดิษฐานอยู่ที่วัดหอก่อง จนในสมัยรัชการที่ 4 จึงอัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ ส่วนพระใสประดิษฐานอยู่วัดโพธิ์ชัยจนถึงปัจจุบัน
แม้พวกเราจะกลับถึงบ้านกันแล้วแต่ขบวนโตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ สมาร์ท แค็บ ยังคงต้องรับภาระในการเดินทางกันต่อไปหลังจากที่เดินทางมาแล้วทั้งสิ้น 3,252 กม. ยังเหลือเส้นทางสำหรับการพิสูจน์สมรรถนะ และการท่องเที่ยวไปบนแผ่นดินไทยอีกกว่า 5,000 กม. ซึ่งก็ไม่น่าเป็นห่วงกับเส้นทางที่เหลือ สบาย สบาย ...