xs
xsm
sm
md
lg

ท่อง"สุพรรณ" เติมสีสันให้วันหยุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตึกมังกรตัวใหญ่โตมโหฬารด้านหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ
วันหยุดสุดสัปดาห์นี้ มีแผนไปเที่ยวที่ไหนกันหรือยัง?? ถ้ายังไม่มีล่ะก็ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ขอแนะนำอีกหนึ่งที่เที่ยวใกล้กรุงอย่างเมืองขนมสาลี่เลื่องชื่อ หรือ"เมืองสุพรรณบุรี"ที่อยู่ใกล้กรุงฯ เพียงขับรถจากกรุงเทพฯ ไม่เกิน 1 ชั่วโมงก็ถึง

สำหรับ"ผู้จัดการท่องเที่ยว" เมื่อเดินทางมาถึงเมืองสุพรรณ เราก็มุ่งหน้าไปสักการะ "ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี"(อ.เมือง) เพื่อเอาฤกษ์เอาชัยตามแบบฉบับไทยๆ โดยทริปนี้เรามี อ.คฑา ชินบัญชร เป็นไกด์กิตติมศักดิ์ นำเที่ยวอีกครั้ง
อุโมงค์ปลาน้ำจืดแห่งแรกของประเทศไทย ที่บึงฉวาก
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองที่นี่ สันนิษฐานว่าเมื่อประมาณ 150 ปีมาแล้ว ชาวจีนเป็นผู้พบเจ้าพ่อหลักเมืองจมโคลนอยู่ริมคลองจึงได้ช่วยกันอัญเชิญขึ้นมา พร้อมกับสร้างศาลให้เป็นที่ประทับ ตามหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์แสดงว่ามีเฮียกงหรือกรรมการจีนดูแลรักษาเรื่อยมา

ใครที่มาถึงยังศาลหลักเมืองแห่งนี้แล้วจะต้องตะลึง ตึง ตึง ถึงความอลังการงานสร้างของมังกรตัวใหญ่โตมโหฬารอยู่ด้านหน้าศาล สูงประมาณตึก 10 ชั้น ยาวประมาณ 135 เมตร ภายในจะจัดแสดงประวัติศาสตร์อารยธรรมของชาวจีนย้อนหลังไปประมาณ 5 พันปีก่อน ความเป็นมาของชาวจีนในประเทศไทย แต่ขณะนี้อาคารรูปมังกรยักษ์ใหญ่นี้ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างยังไม่เปิดให้เข้าชมได้ในได้
ตลาดสามชุก ตลาดห้องแถวไม้ริมน้ำท่าจีนอายุกว่า 100 ปี
จากอาคารรูปมังกรยักษ์ เราเดินเข้าไปยังศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ด้านหน้ามีมังกรพันเสาสูงประมาณ 22 เมตร สวยงามยิ่ง จากนั้นก็เป็นเวลาอันศักดิ์สิทธิ์ พวกเราพากันจุดธูปจุดเทียนไหว้ขอพรศาลเจ้าพ่อหลักเมืองด้านนอก เรียบร้อยแล้วจึงได้เข้าไปด้านในอาคารด้านหลังซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน "พระนารายณ์สี่กร" เจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นประติมากรรมสลักหินแบบนูนต่ำในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน อายุเก่าแก่ราว 1,300-1,400 ปีมาแล้ว

ด้านข้างยังมีศาลากลางน้ำ 7 ชั้นอันโดดเด่นสวยงามอีกด้วย หลักจากสักการะและเดินชมรอบๆศาลกันแล้ว ก็ต้องเก็บภาพสวยๆภายใต้ท้องฟ้าแจ่มๆกันยกใหญ่ แล้วจึงเดินทางต่อไปยัง "พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำบึงฉวาก"ใครที่ชื่นชอบสัตว์น้ำ จะน้ำจืดก็มีพันธุ์สัตว์น้ำที่น่าสนใจทั้งพันธุ์ปลาไทย อาทิ ปลาเสือตอ ปลากระเบนราหู ปลาช่อนงูเห่า ปลาบึก หรือปลาม้าที่เป็นที่มาของชื่ออำเภอบางปลาม้าก็มีให้เราได้ชมกัน หรือจะเป็นพันธุ์ปลาต่างประเทศ เช่น ปลากดลายเสืออเมซอน ปลากดหางแดง สำหรับสัตว์น้ำเค็มก็มีโชว์ให้ได้ดูได้ชมเช่นกัน อาทิ ปลาโนรี ปลากระเบนจุดฟ้า ปลาวัว ปลาฉลามกบ ม้าน้ำ เป็นต้น
พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
นอกจากนี้แล้วยังมี "อุโมงค์ปลาน้ำจืด" ซึ่งถือได้ว่าเป็นแห่งแรกของประเทศไทย เป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่จุน้ำได้กว่า 400 ลูกบาศก์เมตร ยาวประมาณ 8.5 เมตร เราสามารถเดินดูปลาได้รอบตู้อุโมงค์ และยังมีนักประดาน้ำหญิงคอยสาธิตการให้อาหารปลาโชว์ให้พวกเราได้ยลกันด้วย

ภายในบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้ยังมีสถานที่น่าสนใจอีกมากมายอาทิ อุทยานผักพื้นบ้าน ที่มีผักพื้นบ้านกว่า 500 ชนิด สวนสัตว์ กรงนกใหญ่ บ่อจระเข้ กว้างประมาณ 3 ไร่ ซึ่งเป็นบ่อที่ได้จำลองให้มีบรรยากาศใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ภายในมีจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยกว่า 100 ตัว "ผู้จัดการท่องเที่ยว" เห็นพี่เข้เขานอนอ้าปากกว้างอย่างสบายอกสบายใจก็อยากจะไปถ่ายรูปคู่ด้วย แต่ก็เกรงใจไม่อยากกวนพี่เข้เขาเลยได้แต่ไปถ่ายรูปคู่กับพี่เข้จำลองตัวใหญ่หน้าบ่อจระเข้แทน

แต่แล้วกองทัพต้องเดินด้วยท้องฉันใด พวกเราก็ต้องแวะหาอาหารอร่อยๆใส่กระเพาะฉันนั้น จุดมุ่มหมายต่อไปของเราจึงไปลงเอยที่ "ตลาดสามชุก" ตลาดห้องแถวไม้ริมน้ำท่าจีนอายุกว่า 100 ปี หากย้อนกลับไปในสมัยตลาดสามชุกเฟื่องฟู ชาวบ้านจะนำของพื้นเมืองต่างๆ อาทิ อาหาร ฝ้าย แร่ สมุนไร มาแลกเปลี่ยนชื้อขายให้กับพ่อค้าชาวเรือ

ช่วงเวลาเฟื่องฟูของตลาดสามชุกกินเวลานานหลายสิบปีจนกระทั่งมีถนนตัดผ่านสามชุก วิถีชีวิตของผู้คนจึงเปลี่ยนไปจากการสัญจรทางเรือ ก็หันมาใช้รถยนต์มากขึ้น ตลาดจึงซบเซาแต่ก็ยังคงความเป็นตลาดห้องแถวต่อมาเรื่อย กระทั่งปัจจุบันตลาดสามชุกร้อยปีแห่งนี้ก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมากลายเป็นตลาดมีชีวิต พิพิธภัณฑ์มีชีวา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง
พระนอนหงาย หนึ่งในอันซีนไทยแลนด์ ที่วัดพระนอน
ภายในตลาดสามชุกนี้มีร้านรวงให้จับจ่ายมากมายทั้งบะหมี่ ข้าวหน้าเป็ด ข้าวห่อใบบัว กาแฟโบราณ ขนมหวานไทยๆมากมาย ร้านถ่ายรูปย้อนยุค ร้านขายของเล่นและขนมโบราณที่หากได้เห็นแล้วจะนึกย้อนหลังไปยังสมัยเด็กได้อย่างทันทีทันใด เป็นต้น หรือถ้าใครสนใจในด้านความเก่าแก่โบราณที่ตลาดสามชุกยังมีพิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ นายอากรคนแรก ให้ได้ศึกษาอดีตอันน่าสนใจของสามชุก และยังสามารถเดินชมสถาปัตยกรรมเก่าแก่ได้มากมายเช่นกัน

พวกเราแยกย้ายกันไปแวะกินแวะชิมตามร้านต่างๆตามใจปากกันจนอิ่มหนำสำราญพุงกันแล้ว ก็ออกเดินทางต่อไปยัง "วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ" หรือเรียกสั้นๆว่า วัดพระธาตุ อำเภอเมือง ถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของสุพรรณบุรี มีอายุไม่ต่ำกว่า 600 ปี วัดนี้มีพระปรางค์องค์ใหญ่เป็นเจดีย์ประธานของวัด บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งสันนิษฐานว่าพระปรางค์องค์นี้น่าจะเป็นศิลปะการก่อสร้างสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ เพราะจากหลักฐานการก่อสร้างองค์ปรางค์เป็นการก่ออิฐไม่ถือปูน ซึ่งเป็นวิธีการเก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา
หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ อายุเก่าแก่กว่า 1,000 ปี
ก่อนที่พวกเราจะขึ้นบันไดสูงไปกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุบนพระปรางค์ อ.คฑา ชินบัญชร ได้นำพวกเราทำพิธีจุดธูปเวียนเทียนรอบองค์พระปรางค์ 3 รอบก่อน แล้วจึงขึ้นไปกราบไหว้ขอพรพระบรมสารีริกธาตุ สร้างความอิ่มเอมใจแก้วชาวคณะเราเป็นยิ่งยวด

จากนั้น "ผู้จัดการท่องเที่ยว" และพรรคพวกก็พากันไปกราบไหว้หลวงพ่อปิยะทัสสะสี พระประธานหินทรายในพระวิหาร นอกจากพระประธานแล้วภายในวิหารยังมีพระพุทธรูปหินทรายกว่า 200 องค์ และภายในวัดพระธาตุนี้ยังมีมณฑปพระผงสุพรรณที่ใหญ่ที่สุดด้วย เซียนพระคงจะไม่พลาดที่จะต้องแวะมาสักการบูชากันที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุแห่งนี้

ต่อจากวัดพระธาตุ เรามุ่งหน้าไปสู่ "วัดพระนอน" อำเภอเมือง เป็นวัดเก่าแก่สมัยสุพรรณภูมิ ที่ปรักหักพังแล้วและได้บูรณะขึ้นมาใหม่ จุดเด่นของวัดพระนอนแห่งนี้ก็แน่นอนต้องเป็นพระนอนเป็นแน่แท้ อาจจะฟังดูแล้วธรรมดาพระนอนก็มีตั้งมากมายหลายที่ แต่พระนอนที่วัดพระนอนแห่งนี้จะแปลกกว่าที่วัดอื่นๆก็ตรงที่ พระนอนองค์นี้อยู่ในลักษณะนอนหงาย เป็นศิลปะสุโขทัยสลักจากหิน ขนาดยาวประมาณ 2 เมตร หากใครที่เคยมีโอกาสไปอินเดียแล้วจะรู้ว่าลักษณะคล้ายกับพระนอนที่เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งใน Unseen Thailand อีกด้วย

หลักจากที่ได้เข้าไปกราบพระนอนหงายในวิหารจัตุรมุขแล้ว ก็รู้สึกว่าแปลกจริงๆ ปกติเราจะเห็นพระพุทธรูปนอนตะแคงขวา แต่พระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์นี้อยู่ในลักษณะนอนหงายเช่นนี้แทบไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนเลย เมื่อพวกเราทำบุญกันแล้ว ก็ไปทำทานโดยการให้อาหารปลากันที่ "อุทยานมัจฉาแห่งชาติ" ภายในวัดพระนอนแห่งนี้กันอย่างเพลิดเพลิน ปลาก็ได้อิ่มท้องคนก็ได้อิ่มใจ มีความสุขจริงๆ
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี
สุดท้ายชาวคณะของเราก็มาปิดท้ายทริปเมืองสุพรรณกันที่ "วัดป่าเลไลยก์" (อ.เมือง) มีอายุกว่า 1,000 ปี ถือว่าเก่าเก่าที่สุดในสุพรรณบุรี ภายในมี หลวงพ่อโต พระพุทธรูปปางเลไลยก์ ศิลปะสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ สูง 23.46 เมตร รอบองค์ 11.20 เมตร มีลักษณะประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายคว่ำบนพระชานุ พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุอีกข้างหนึ่งในท่าทรงรับของถวาย มีรูปสลักนูนต่ำของพญาช้างถวายน้ำในกระบอกไม้ไผ่ และพญาลิงถวายรวงผึ้งแด่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าตามพุทธประวัติ

มีผู้สันนิษฐานว่าหลวงพ่อโตองค์เดิมเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา สร้างไว้กลางแจ้งเหมือนวัดพนัญเชิง จังหวัดอยุธยา ในสมัยแรกๆ เพราะมักจะพบว่าพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สร้างในสมัยก่อนอยุธยาและอยุธยาตอนต้นส่วนมากนิยมสร้างไว้กลางแจ้งเพื่อให้สามารมองเห็นได้แต่ไกล เมื่อพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาได้ชำรุดทรุดโทรมจึงได้บูรณะซ่อมแซมใหม่กลายเป็นพระพุทธรูปปางเลไลยก์ในปัจจุบัน
ร้านขายของเล่นโบราณ ที่เราๆคงจะคุ้นหน้าคุ้นตากัน
นอกจากนี้แล้วภายในหลวงพ่อโต พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ยังได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากพระมหาเถรไลยลายจำนวน 36 องค์ อีกทั้งภายในวัดป่าเลไลยก์แห่งนี้ยังมีรูปเล่าวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนอันเลื่องชื่อ พร้อมทั้งด้านหลังวัดยังมีคุ้มขุนช้าง ซึ่งสร้างเป็นเรือนไทยไม้สักหลังใหญ่กว้างขวางตามบทพรรณนาเรือนของขุนช้างในวรรณคดี บนเรือนมีภาพวาดขุนช้าง ภาพบรรยายเรื่องขุนช้างขุนแผน มีตู้จัดแสดงภาชนะเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ อีกด้วย

เมื่อสักการะขอพรหลวงพ่อโต และเที่ยวชมเรือนขุนช้างแล้ว ก็ขอเก็บรูปเป็นที่ระลึกแต่ดูแล้วเหมือนจะเป็นที่ระทึกใจกันชั่วครู่ ก่อนที่จะเดินทางกลับกันอย่างอิ่มบุญ อิ่มทาน อิ่มใจ และอิ่มท้องกันถ้วนหน้า วันหยุดสุดสัปดาห์นี้ใครยังไม่มีโปรแกรม จะนำเส้นทางนี้ไปประยุกต์เที่ยวก็ถือว่าเข้าท่าไม่น้อยเลย
พระนารายณ์สี่กร องค์พี่น้อง เจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

เส้นทางนี้เป็นหนึ่งในโครงการ "เที่ยวทั่วไทย สุขใจเสริมมงคล" สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวสุพรรณฯเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี โทร.0-3553-6030 หรือที่ สำนักงาน ททท.ภาคกลางเขต 1 โทร.0-3451-2500, 0-3451-1200 หรือที่ ศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยว ททท. 1672

แผนที่จังหวัดสุพรรณบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น