xs
xsm
sm
md
lg

เลาะเลียบโขงอีสาน จากเชียงคานสู่เวียงจันทน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ริมโขงเมืองเชียงคาน
          บทเพลงบทนี้ คือสื่อรักอันยิ่งใหญ่
มิตรภาพลาวไทย มั่นในสัมพันธ์น้องพี่
ย้ำเตือนหัวใจ มั่นคงสัมพันธ์ไมตรี
คนโขงสองฟากฝั่งนี้ มีแสงเดือนตะวันดวงเดียว
เสียงแคนเสียงขลุ่ย เสียงซอคลอเคล้าเสียงพิณ...
          เพลง : โขงสัมพันธ์

ในยุคล่าอาณานิคมแม้ฝรั่งเศสจะพยายามใช้สายน้ำโขงแบ่งแยกความเป็นไทย-ลาว แต่ เราเชื่ออยู่ลึกๆว่าสายน้ำโขงทำได้เพียงแบ่งแยกเขตแดนเท่านั้น ส่วนสายสัมพันธ์ของคนริมโขงไทย-ลาวยังคงแนบแน่นกันอยู่ ซึ่งปัจจุบันเส้นทางเลาะเลียบฝั่งโขงในภาคอีสานถือเป็นหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
พระใหญ่ประดิษฐานโดดเด่นที่ภูคกงิ้ว
ทริปนี้ “ตะลอนเที่ยว” ขอพาไปสัมผัสกับเส้นทางเลียบริมฝั่งโขง โดยเริ่มต้นที่ “ปากเหือง”บริเวณบ้านท่าดีหมี อ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำกั้นชายแดนไทย-ลาวสองสายไหลมาบรรจบ คือ ลำน้ำเหืองและแม่น้ำโขง โดยผู้สนใจเข้าชมบริเวณดังกล่าว สามารถขับรถเข้าไปจอดในบริเวณสำนักสงฆ์ได้เลย

เมื่อออกจากปากเหืองแล้ว เราสามารถแวะไปนมัสการ “พระใหญ่ภูคกงิ้ว” บนยอดภูเขาด้านหลัง พร้อมชมทัศนียภาพอันงดงามของของแม่น้ำโขงในมุมสูง ซึ่งถือเป็นจุดที่มีความสวยงามไม่ยิ่งหย่อน กว่าจุดใด โดยเฉพาะในยามที่อาทิตย์อัสดง

เสน่ห์ริมโขงใน อ.เชียงคานยังไม่หมดแค่นั้น เพราะในตัวเมืองเชียงคานอันสงบงามนั้น คือเสน่ห์ชั้นดีที่มัดใจนักท่องเที่ยวผู้รักความสงบไม่พลุกพล่านให้หลงใหลเมืองเล็กๆแห่งนี้ไปอีกนานเท่านาน
วัดศรีคุณเมือง
เชียงคานมีวัดวาอารามเก่าแก่ที่ส่วนใหญ่เป็นงานศิลปะล้านช้างผสมล้านนา โดยผู้สนใจสามารถกราบนมัสการและชมความงามเหล่านี้ได้ตามวัดในเมือง อาทิ วัดศรีคุณเมือง วัดโบราณที่มีอายุกว่า 160 ปี มีพระอุโบสถที่เป็นชั้นลดหลั่นในแบบล้านนา ภายในวัดมีพระพุทธรูปไม้จำหลักลงรักปิดทองปางอภัยทานแบบล้านช้าง สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 24 - 25

นอกจากนี้ ยังมีธรรมาสน์เก่าแก่ แกะสลักไม้ลงรักปิดทองอย่างวิจิตร และฮางฮด หรือ รางรดในลักษณะเดียวกัน ซึ่งเป็นเครื่องใช้แบบล้านนาที่ทำเป็นราง คล้ายรูปเรือสุวรรณหงส์ เพื่อใช้ในพิธีทรงน้ำพระสงฆ์ วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นวัดที่อยู่คู่บ้านคู่เมือง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2197 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย และพระพุทธรูปไม้ศิลปะล้านช้าง
แก่งคุดคู้
หลังเที่ยวเชียงคานแล้วเราไปต่อตามเส้นทางหมายเลข 211 ทางไป อ.ปากชมประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยงซ้ายไปอีก 2 กิโลเมตร จะพบกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของเชียงคาน คือ “แก่งคุดคู้” ซึ่งเป็นแก่งหินขนาดใหญ่ขวางกั้นลำน้ำโขง แต่ในช่วงหน้าฝนแก่งดังกล่าว จะอยู่ใต้น้ำ

ไม่ไกลจากแก่งคุดคู้ เป็น“วัดท่าแขก” วัดโบราณมีอายุหลายร้อยปี สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย โดยพระโอรสของกษัตริย์ล้านช้างแห่งเมืองหลวงพระบาง ภายในวัดยังมีพระพุทธรูปสลักหินโบราณ 3 องค์ประดิษฐานในอุโบสถหลังใหม่ที่สร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมล้านช้าง วัดท่าแขกได้รับการบูรณะฟื้นฟูโดยพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ภายหลังจากที่ถูกทิ้งร้างมานาน
วัดหินหมากเป้ง
ออกจากวัดท่าแขกเราไปตามเส้นทาง 211 ที่ระหว่างทางมีป้ายบอกทางแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ น้ำตก ธารทิพย์ น้ำตกธารทอง แต่ที่ถือว่าเป็นไฮล์ในเส้นทางสายนี้ก็คือ “วัดผา ตากเสื้อ” ที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพานน้อย เขตปากน้ำโสม สูงจากระดับน้ำทะเล 550 เมตร ซึ่งเป็นจุดชมวิวสองฝั่งแม่น้ำโขงที่สวยมากแห่งหนึ่งของเมืองไทย

จากนั้นเราแวะไปนมัสการหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เทสก์ เทสก์รังสี ที่ประดิษฐานอยู่ใน “วัดหินหมากเป้ง” ที่ภายในวัดยังมีหินหมากเป้ง เป็นหินสามก้อนที่ตั้งเรียงกันอยู่ ลักษณะคล้ายตุ้มชั่งทองคำสมัยโบราณ ที่เรียกว่า “เต็ง” หรือ “เป้งย้อย” ส่วนคำว่า “หมาก” ภาษาอีสานใช้เรียกผลไม้ที่มีผลกลม ชาวบ้านจึงเรียกหินสามก้อนนี้ว่า หินหมากเป้ง และ ณ จุดนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งสำหรับการพักชมวิวแม่น้ำโขง
หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย
ถนนสาย 211 พาเราลัดเลาะมาถึงยังจังหวัดหนองคาย ซึ่งระหว่างทางมีแหล่งท่องเที่ยวตามรายทางให้แวะชมมากมาย อาทิ หลวงพ่อองค์ตื้อ สำหรับกราบไหว้สักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล พระธาตุบังพวน ที่เชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐาน “พระธาตุหัวเหน่า” ของพระพุทธเจ้า ภายในวัดมีการจำลองสถานที่ในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า 7 แห่ง สัตตมหาสถานที่วัดพระธาตุบังพวน เป็น 1 ใน 4 แห่งของโลก โดยจำลองมาจากพุทธคยาประเทศอินเดีย ประเทศไทยมีอยู่ 2 แห่ง อีกแห่งอยู่ที่วัดเจ็ดยอดจังหวัดเชียงใหม่

อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนน้ำพุพญานาค ซึ่งเป็นหนึ่งในคำขวัญของจังหวัดที่ว่า “วีรกรรมปราบฮ่อ หลวงพ่อพระใส สะพานไทย-ลาว” โดยเป็นการระลึกถึงทหารผู้ปกป้องเมืองหนองคายจากการรุกรานของพวกฮ่อที่ยกมาตีเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว เรื่อยมาจนถึงหนองคาย

ส่วน หลวงพ่อพระใส พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานอยู่ที่ “วัดโพธิ์ชัย” ตามด้วยการเดินทางไปเยี่ยมชม “ศาลาแก้วกู่” ซึ่งเป็นสถานที่แสดงประติมากรรมปูนปั้นกลางแจ้งขนาดใหญ่ ทั้งพระพุทธรูป เทวรูป เทวาลัย ในศาสนาพุทธ พราหมณ์ และฮินดู พร้อมแก่นธรรม และคติเตือนใจ
ประตูชัย เวียงจันทน์
สำหรับสถานที่ท้ายสุดปิดทริปเราเลือกข้าม“สะพานมิตรภาพไทย-ลาว” ไปเมืองเวียงจันทน์ ดูวิถีความน่าสนใจของเมืองหลวงประเทศเพื่อนบ้านอย่างสปป.ลาว ซึ่งในเวียงจันทน์มีสถานที่ท่องเที่ยวเด่นๆให้เลือกเที่ยว อาทิ

ประตูไซ (ประตูชัย) ที่จำลองแบบมาจากประตูชัยที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อระลึกถึงประชาชนชาวลาวผู้เสียสละชีวิตในสงครามก่อนหน้าการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ลาว

หอคำ ซึ่งอดีตเป็นพระราชวังหลวงของเจ้ามหาชีวิต หรือกษัตริย์ของคนลาว สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ผู้ก่อตั้งเมืองเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้าง โดยได้ใช้หอคำเป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิตองค์ต่อมาเรื่อยจนถึงรัชสมัยพระมหาศรีสว่างวัฒนา เจ้ามหาชีวิตลาวองค์สุดท้าย หอคำ ได้รับอิทธิพลในการดัดแปลงต่อเติมด้านศิลปะสถาปัตยกรรมจากฝรั่งเศส ซึ่งแต่เดิมเป็นเรือนไม้ แต่เนื่องจากกาลเวลาและภาวะสงครามความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง ทำให้หอคำทรุดโทรม จนได้มีการปรับปรุงซ่อมใหม่เป็นตึกปูนรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสในปัจจุบัน
หอพระแก้ว เวียงจันทน์
วัดสีสะเกด สร้างขึ้นโดยเจ้าอนุวงศ์ เมื่อปี 2361 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 ของประเทศไทยว่ากันว่า รูปแบบการก่อสร้างวัดสีสะเกด เจ้าอนุวงศ์นำมาจากศิลปะไทย โดยเฉพาะระเบียงล้อมรอบพระอุโบสถ ซึ่งช่างลาวน่าจะได้แบบมาจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดอรุณราชวราราม หรือวัด เชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ภายในวัดมีหอไม้โบราณ ที่เรียกว่า “หอไตร” มีรูปทรงสวยงาม คล้ายมณฑป หลังคาสูงลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้น ๆ

หอพระแก้ว เป็นที่ที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกต ซึ่งพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่ เมื่อคราวพระองค์ครองอาณาจักรล้านนา โดยได้สร้างวัดหลวงและหอพระแก้วขึ้น เพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกต และอยู่ยาวนานมาถึง 214 ปี
พระธาตุหลวง เวียงจันทน์
วัดศรีเมือง เป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองประจำนครเวียงจันทน์ ตั้งแต่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชก่อสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น เดิมได้มีการก่อสร้างสิมครอบเสาหลักเมืองไว้ แต่คราวกองทัพสยามเข้าตีเมืองเวียงจันทน์ก็ได้ทำลายไป ภายในวัดมีพระพุทธรูปองค์หนึ่งเก่าแก่อายุประมาณ 200 ปี ชาวลาวเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิมาก ใครขออะไรแล้วได้หมด

พระธาตุหลวง พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของลาว เป็นที่ยึดเหนี่ยวและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนลาวอย่างไม่เสื่อมคลาย พระธาตุหลวงเชื่อว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 236 โดยพระภิกษุลาว 5 รูปเดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดีย แล้วได้อัญเชิญ พระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้ามาเวียงจันทน์ พระยาจันทบุรีประสิทธิศักดิ์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์จึงให้สร้างพระธาตุหลวงขึ้น เพื่อให้ชาวลาวได้กราบไหว้บูชา

และนั่นก็คือเสน่ห์แห่งเส้นทางเลาะเลียบโขงจากเชียงคานเมืองไทยไปยังเวียงจันทน์เมืองลาว ที่หากใครมีโอกาสหรือสนใจในเส้นทางสายนี้ก็สามารถเดินทางไปเที่ยวกันได้ตามสะดวก
*****************************************

ผู้สนใจท่องเที่ยวเส้นทางสายนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานเลย(เลย,หนองบัวลำภู) โทร. 0-4281-2812 ททท. สำนักงานอุดรธานี (หนองคาย,อุดรธานี) โทร. 0-4232 5406-7

นอกจากนี้ยังสามารถสัมผัสประเพณี วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม เส้นทางท่องเที่ยวภาคอีสาน และบริการด้านการท่องเที่ยวต่างๆไม่ว่าจะเป็น แพ็กเกจทัวร์ โรงแรม รีสอร์ท ได้ในงาน “เทศกาลเที่ยวอีสาน 2009” หรือ Amazing E-San Fair 2009 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 15 – 18 ม.ค.52

กำลังโหลดความคิดเห็น