xs
xsm
sm
md
lg

BMW ซีรี่ส์3 คูเป้ หล่อ-แรง-หนึบ ครบเครื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถือว่านี่คือการกลับมาฟื้นตลาดซีรี่ส์ 3 แบบ 2 ประตู คูเป้ อีกครั้งในเมืองไทยของค่ายใบพัดฟ้าขาว “บีเอ็มดับเบิ้ลยู” กับการเผยโฉม 325i คูเป้ เมื่อปี 2008 หลังเคยสร้างชื่อเสียงเป็นอย่างมากทั้งจากรุ่น รหัสตัวถัง อี30 เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว ต่อเนื่องความนิยมมาในรหัส อี36 ก่อนที่จะโดนพิษเศรษฐกิจทำให้ต้องหยุดทำตลาดอย่างเป็นจริงเป็นจังไป โดยรหัส อี46 มีเข้ามาน้อยมากแทบจะนับคันได้

ล่าสุด ซีรี่ส์3 คูเป้ มาแปลกกว่าทุกครั้งด้วยการแยกทำตลาดกับรหัสตัวถังแบบ 4 ประตู (รหัส อี90) โดยจะมากับรหัส อี92 ซึ่งในตลาดโลกเผยโฉมไปเมื่อปี 2007 และแม้ว่าตลาดนี้สำหรับเมืองไทยจะกลายเป็นตลาดนิช มาร์เก็ต แตกต่างจากเมื่อก่อน แต่บีเอ็มฯ ก็ให้ความสำคัญไม่แพ้กันกับรถโมเดลอื่นๆ

ด้วยการนำเข้ามาให้ลูกค้าได้เลือกคบหาถึง 5 รุ่นย่อยทั้งเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล ไล่เลียง เบนซินขนาด 2.0, 2.5 และ 3.0 ลิตร ในรุ่น 320i, 325i se, 325i sport, 335i ตามลำดับและดีเซล 2.0 ลิตรในรุ่น 320d หลังจากที่เคยนำรุ่น 330d คูเป้ดีเซล เข้ามาทดลองวิ่งและดูแนวโน้มตลาด ด้วยการขายแบบพิเศษจำเพาะเจาะจง ซึ่งได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี จึงทำให้บีเอ็มฯ ออกอาการมั่นใจและนำเข้ามาทำตลาดเต็มตัว

ซึ่งงานนี้ เรา “ASTVผู้จัดการมอเตอริ่ง” มีโอกาสสัมผัสกับเจ้าซีรี่ส์ 3 คูเป้ทั้งเบนซินและดีเซล ในรุ่น 325i และ320d แบบเต็มอิ่มทั้งการวิ่งในเมืองและนอกเมือง ส่วนใหญ่รถทั้ง 2 คันมีความแตกต่างกันที่เครื่องยนต์เป็นหลัก ขณะที่โครงสร้าง, อุปกรณ์และเทคโนโลยีอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเหมือนกันหมด

ภายนอก หล่อสุด

สำหรับการออกแบบตกอยู่ภายใต้ฝีมือของ คริส เบงเกิล นักออกแบบมือหนึ่งแห่งค่ายบีเอ็มดับเบิลยู ซึ่งก็มีทั้งผู้ที่ชื่นชอบและไม่ชอบผลงานของนายคนนี้ ถือว่าเป็นเรื่องนานาจิตตัง

ส่วนความเห็นเรา อยู่ทางฝากฝั่งชื่นชมด้วยความรู้สึกที่ว่า เส้นสายรูปทรงของตัวถังรถออกแบบได้อย่างลงตัว ดูสมส่วน ไม่ว่าจะมองมุมไหน เราก็รู้สึกว่า “มันหล่อจริงๆ” (เหมือนกับความรู้สึกของตัวเองเวลาเปิดประตูแล้วก้าวลงจากเจ้า 3 คูเป้) แถมด้วยคำยืนยันจากสายตาคนรอบข้าง ไม่ว่าคุณจะไปที่ไหนจะมีคนมองเจ้า 3 คูเป้ ชนิดเหลียงหลังอยู่เสมอ

ด้านการดีไซน์ ไฟหน้าจะคล้ายกับรุ่นซีดานต่างเพียงเล็กน้อยพอสังเกตุได้หากคุ้นเคย แต่ไฟท้ายจะมีความแตกต่างจากรุ่น 4 ประตูให้เห็นอย่างชัดเจน ดูยาวสวยและลงตัว ส่วนจุดเด่นสุดอยู่ตรงประตูเป็นแบบไม่มีกรอบกระจก พร้อมระบบ “กระจกหล่น” เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานของยางรองรอบกระจก

ภายใน ดุดัน ร้อนแรง

การออกแบบภายในเน้นโทนสีดำเป็นหลักทั้งคอนโซลหน้าและคอนโซลกลาง แซมด้วยวัสดุสีเงินหลายจุด เช่นที่หัวเกียร์และพวงมาลัย พร้อมกับเลือกใช้เบาะและแผงข้างเป็นสีแดงเพื่อให้ความรู้สึกโดดเด่น ช่วยสร้างอารมณ์แบบรถสปอร์ตในยุคนี้ (จะว่าไปเบาะแดงกับรถสปอร์ตนั้นค่ายดาวสามแฉกเขาใช้มานานหลายปีแล้ว)

ขณะที่จุดขายที่ทางเจ้าหน้าที่ของค่ายใบพัดฟ้าขาวภูมิใจนำเสนอคือ ระบบแขนอัตโนมัติที่จะยื่นเข็มขัดนิรภัยมาให้เราคาด(Seatbelt Handover) และจะเก็บกลับที่หลังจากเราคาดเสร็จ ซึ่งหากใครไม่คุ้นเคยก็คงจะคิดว่า นี่เป็นระบบใหม่สุดล้ำ แต่ทว่าความจริงแล้วระบบลักษณะนี้ ค่ายดาวสามแฉกเขาใช้มาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 90 แล้วในรถตัวคูเป้เช่นรุ่น ce เป็นต้น

ส่วนระบบ ไอ-ไดร์ฟ (i-Drive) พร้อมจอมอนิเตอร์ (ดูฟรีทีวีได้ด้วย) ก็ยังคงเป็นอะไรที่เชิดหน้าชูตาให้กับค่ายบีเอ็มได้เป็นอย่างดี และการใช้งานของเจ้าปุ่ม ไอ-ไดร์ฟ ใน 3 คูเป้นั้นก็ไม่แตกต่างจากการใช้งานในรุ่นซีดาน ซึ่งง่าย เพียบพร้อมครบทุกฟังก์ชั่นที่จำเป็น ไม่เข้าใจตรงไหนหรืองง ก็แค่กดปุ่ม menu ทุกอย่างก็จะกลับมาเริ่มต้นใหม่ สบายใจได้

และสิ่งที่ประทับใจสุดในความรู้สึกของเราคือ เมื่อเลือกอยู่ในโหมดวิทยุ เพียงเรานำมือไปแตะหรือใกล้กับปุ่มเลือกช่องสัญญาณ เซ็นเซอร์จะทำงานโดยแสดงผลบนหน้าจอว่า ปุ่มที่เราจะกดนั้นเป็นคลื่นใด นับเป็นฟังก์ชั่นที่ เจ๋งโคตร

สำหรับเบาะนั่งสีแดง ปรับด้วยไฟฟ้า โอบกระชับนั่งสบาย ส่วนเบาะนั่งหลังก็กว้างขวาง พื้นที่เหลือเฟือ ทำให้คนนั่งไม่รู้สึกอึดอัดแต่อย่างใด พร้อมกับระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกอีกหลายรายการอาทิ ระบบcomfort access ให้ผู้ขับขี่เพียงไม่ต้องนำกุญแจออกจากกระเป๋าก็สามารถเปิด-ปิดรถได้ โดยใช้งานร่วมกับปุ่ม start/stop เท่านี้ก็ขับไปไหนมาไหนได้โดยไม่ต้องหยิบกุญแจออกมาเลย

เครื่องยนต์ แรงเหลือพอ

เครื่องยนต์เบนซิน ตัวที่เราขับเป็นขนาด 2.5 ลิตร แบบ 6 สูบแถวเรียง ขับเคลื่อนล้อหลัง พร้อมระบบ Variable Valvetronic ที่ให้กำลังสูงสุด 218 แรงม้า ที่ 6500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตัน-เมตร ที่รอบกว้างตั้งแต่ 2750-4000 รอบ/นาที

ส่วนรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล จะเป็นขนาด 2.0 ลิตร แบบ 4 สูบ ให้กำลังสูงสุด 177 แรงม้า ที่ 4000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตัน-เมตรที่ 2000 รอบ/นาที ซึ่งเครื่องยนต์ทั้งคู่ผ่านมาตรฐานไอเสียยูโร 4 และส่งกำลังด้วยระบบเกียร์อัตโนมัติแบบ 6 สปีด

สมรรถนะ สปอร์ตสไตล์บิมเมอร์

เราขอเริ่มจากการขับขี่แบบในเมือง เจ้า 3 คูเป้ ทัศนวิสัยชัดทุกมุมมอง ซึ่งถือเป็นข้อดีของรถแบบคูเป้ที่แตกต่างจากรถสปอร์ตพันธ์แท้ทั่วไปที่มักจะมีมุมมองจำกัด โดยเฉพาะการอยู่บนถนนที่มีจราจรคับคั่ง การเปลี่ยนเลนทำได้สะดวกไม่แตกต่างจากรถซีดาน

เมื่อได้ลองวิ่งทางยาวจะสามารถสัมผัสได้ถึงความหนึบอย่างชัดเจนของช่วงล่าง ยิ่งหากวิ่งด้วยความเร็วสูงเกิน 120 กม./ชม. ขึ้นคุณจะแทบไม่รู้สึกเลยว่า วิ่งเร็วแล้วหรือนี่

สำหรับพละกำลังของเครื่องยนต์เบนซินรุ่น 325i นั้นตอบสนองสไตล์รถสปอร์ต ทันใจทุกย่านความเร็ว และเด่นกว่าเล็กน้อยในจังหวะออกตัว แต่อาจจะเป็นรองดีเซลรุ่น 320d ในช่วงเร่งแซงหรือจังหวะคิกดาวน์ย่านความเร็ว 40-120 กม./ชม. เนื่องจากแรงบิดของดีเซลที่มากและมาในรอบต่ำกว่าจึงตอบสนองอย่างรวดเร็ว

ซึ่งประเด็นนี้ยืนยันด้วยตัวเลขอัตราเร่งตามการอ้างอิงของบีเอ็มฯ ที่ 0-100 กม./ชม. 325i ทำได้ในเวลา 7.6 วินาที ขณะที่ 320d ทำได้ในเวลา 7.8 วินาที ขณะที่อัตราเร่งช่วงเกียร์ 4 จากความเร็ว 80-120 กม./ชม. 325i ทำได้ในเวลา 7.4 วินาที ส่วน 320d เร็วกว่าในเวลาเพียง 6.5 วินาที

ส่วนความเร็วปลายนั้น 325i อ้างอิงไว้ที่ 246 กม./ชม. 320d อยู่ระดับ 232 กม./ชม. แต่ทว่าในการขับเราเหยียบอย่างมากก็แค่ 180 กม./ชม. ในจังหวะถนนโล่งเท่านั้น โดยที่ตัวรถก็ยังทรงตัวนิ่ง และขับขี่แบบอุ่นใจได้เต็ม100%

ส่วนความต่างของตัวเครื่องยนต์ดีเซลจะมีเรื่องของ เสียงเครื่องยนต์ดังมาก เมื่อเรายืนอยู่ภายนอกห้องโดยสารหรือเปิดกระจกเอาไว้ แต่หากปิดกระจกและขับปกติก็จะไม่พบความแตกต่าง ด้านอัตราการบริโภคน้ำมันเฉลี่ยทั้งแบบในและนอกเมืองกับระยะทางประมาณ 400 กม. คือ 13.8 กม.ลิตรในรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล ขณะที่รุ่นเครื่องยนต์เบนซินมีอัตราการบริโภคตามการแสดงผลอยู่ที่ 10 กม./ลิตร

ทั้งนี้โดยรวมแล้วทั้งสองเครื่องยนต์สามารถตอบสนองความรู้สึกการขับขี่แบบรถสปอร์ตได้ครบถ้วนเต็มอารมณ์ ไม่ขาดตกบกพร่องให้เสียชื่อ บิมเมอร์

สรุป เป็นอันว่า บีเอ็มฯ กำลังสร้างสรรค์รถสปอร์ตขึ้นมาอีกหนึ่งรุ่นโดยพยายามฉีกหนีความจำเจเดิม เพื่อหวังตอบโจกย์ ให้ตรงใจกลุ่มคนที่กว้างขึ้น และแน่นอนว่าหากใครที่มีใจเป็นสาวกบิมเมอร์อยู่แล้วเกิดจับพัดจับผลูได้ทดลองขับดู เรารับรองว่าเขาเหล่านั้นยากที่จะต้านทานแรงดึงดูดจากเจ้า 3 คูเป้ได้ สุดท้ายคงต้องแงะกระปุกควักเงินราว 4.9 ล้านบาท หรือ 4.299 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าตัวของ 325i และ 320d ตามลำดับ





เครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 177 แรงม้า
เครื่องยนต์เบนซิน 2.5 ลิตร กำลังสูงสุด 218 แรงม้า

ปุ่มสตาร์ท-สต๊อป
ระบบไอ-ไดร์ฟ ยังคงเชิดหน้าชูตาให้กับบีเอ็มดับเบิลยูได้อีกนาน
เบาะนั่งด้านหลังมีพื้นที่กว้างขวางนั่งสบายไม่แพ้ซีดานบางรุ่น



 ระบบแขนอัตโนมัติที่จะยื่นเข็มขัดนิรภัยมาให้เราคาด(Seatbelt Handover)
จังหวะที่ระบบนี้ทำงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น