เหมือนอย่างที่คิดไว้ หลังจาก “บางจาก” เปิดตัวน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ ภายใต้มาตรฐาน ยูโร4 ในชื่อ “เพาเวอร์ดี B5 ยูโร4” ไม่นานบางจากก็จัดทริปเพื่อให้สื่อมวลชนได้ทดสอบและเก็บรวบรวมผลด้านการลดมลพิษของน้ำมันชนิดนี้ โดยมีผู้ใช้รถตัวจริงนำรถยนต์ส่วนตัวเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย
สำหรับจุดมุ่งหมายของการทดสอบครั้งนี้ เพื่อพิสูจน์ให้ทราบว่า น้ำมัน “เพาเวอร์ดี B5 ยูโร4” มีประสิทธิภาพไม่แตกต่างจากน้ำมันดีเซลธรรมดา แต่จะเหนือกว่าด้วยประสิทธิภาพด้านการลดมลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษในการนำเครื่องมือมาวัดค่าเขม่าไอเสีย
การทดสอบได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานรถยนต์จริง นำรถมาเข้าร่วมทดสอบกว่า 20 คัน รวมกับรถของทีมงานที่ยืมมาจากค่ายรถยนต์และจัดให้กับสื่อมวลชน มีทั้งสิ้น 30 คัน โดยรถปิกอัพมีครบทุกยี่ห้อ หลายรุ่นเครื่องยนต์ (ยกเว้นทาทา) และรถยุโรป มีเมอร์เซเดส-เบนซ์ และ วอลโว่
ก่อนเริ่มต้นการเดินทางมีการวัดค่าไอเสียเดิม แล้วเก็บตัวเลขไว้เป็น% จากนั้นจึงเติม “เพาเวอร์เวอร์ดี B5 ยูโร4” จนเต็มถังทุกคัน ขณะที่บางคันมีการถ่ายน้ำมันเก่าออกก่อนจะใส่เฉพาะเพาเวอร์ดี เท่านั้น
เส้นทางการขับเริ่มจากปั๊มของบางจากแถวๆ ม.กรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่จุดหมาย ไร่พีบีวัลเล่ย์ เขาใหญ่ รวมระยะทางประมาณ 250 กม. มีแวะพักกลางทางบ้าง การขับเป็นแบบฟรีรัน ตามสบาย ส่วนรถของเราทีมงานบางจากจัด วอลโว่ เอส80 ดี5 ไว้ให้ ซึ่งผลของการวัดค่าเขม่าไอเสียก่อนเดินทางอยู่ที่ 7% (เลขไมล์รถวิ่งมาแล้ว 2 หมื่นกว่ากิโลเมตร) น้ำมันครึ่งถัง และเมื่อถึงจุดหมายวัดค่าไอเสียได้ 3% ถือว่าลดลง
แต่รถวอลโว่อีกหนึ่งคันคือ เอ็กซ์ซี90 แรกวัดค่าไอเสียได้ 0% (ศูนย์เปอร์เซ็นต์) ภายหลังวัดค่าได้ 1% ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า รถคันดังกล่าวเพิ่งมีเลขไมล์สะสมมาเพียง 1,200 กว่าก.ม. เท่านั้น ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ค่าไอเสียจะเป็นศูนย์ และเมื่อวิ่งแล้วไอเสียเพิ่มขึ้น ส่วนรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ รุ่นซี220 ซีดีไอ ซึ่งเป็นของผู้ใช้งานจริงมีค่าไอเสียลดลงจาก 39% เหลือ 31%
สำหรับรถทั้งหมด มี 6 คันที่ตัวเลขเพิ่มขึ้น ที่เหลือส่วนใหญ่ทั้งหมดลดลงมากบ้างน้อยบ้างไม่แน่นอน ขณะที่รถซึ่งทำสถิติลดค่าไอเสียได้มากที่สุดคือ อีซูซุดีแมคซ์ 2.5 ดีดีไอ ปี2006 จาก 63% เหลือเพียง 12%
ทั้งนี้เมื่อสอบถามเจ้าของรถจึงทราบว่า รถวิ่งมาแล้วประมาณ 8 หมื่นกว่าก.ม. ลักษณะการใช้รถ ปกติจะใช้รถทุกวัน วันละ 50-60 ก.ม. ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. ดังนั้นคราบเขม่าจึงสะสมค่อนข้างมาก และเมื่อมาวิ่งแบบเกาะกลุ่มกับรถหลายคันด้วยความเร็วกว่า 100 กม./ชม. จึงมีความเป็นไปได้ว่า คราบเขม่าเดิมที่สะสมอยู่จะลดลงไปมาก
ขณะเดียวกันในทริปนี้มีรถรุ่นเดียวกันอยู่อีกหนึ่งคัน ก่อนเติมวัดค่าไอเสียได้ 68% และหลังเติมวัดแล้วเหลือ 48% ถือว่าลดลงเช่นกัน ส่วนรถที่มีเยอะที่สุดในงานนี้คือ โตโยต้า ไฮลักษ์ วีโก้ จำนวน 6 คัน โดยมี 5 คันที่วัดค่าไอเสียลดลงเช่นจาก 25% เหลือ 6% และ 54% เหลือ 36% มีเพียง 1 คันเท่านั้นที่เพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 21%
ดังนั้นจากการเดินทางทดสอบครั้งนี้ เราคงไม่อาจจะสรุปแบบฟันธง 100% อะไรได้ เพราะเงื่อนไขและตัวแปรหลายๆ ประการ ไม่ได้รับการควบคุม อย่างไรก็ตามการทดสอบหนนี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้ในระดับหนึ่งว่า เพาเวอร์ดี บี5 ยูโร4 สามารถใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาและแสดงให้เห็นถึงการช่วยลดมลพิษได้มากบ้างน้อยบ้างขึ้นกับลักษณะของการใช้งาน และแน่นอนที่สุด หากมลพิษลดลง ปัญหาโลกร้อนก็จะทุเลาลงด้วยเช่นกัน
สำหรับผลการทดสอบบางจาก “เพาเวอร์ดี B5 ยูโร4” ของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ช่วยลดก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ลง 73%, ลดไฮโดรคาร์บอน 67% และลดฝุ่นละอองลง 19% ทั้งนี้เพราะ เพาเวอร์ดี บี5 ยูโร4 ลดปริมาณกำมะถันลงถึง 7 เท่า (จาก 350 เหลือ 50 พีพีเอ็ม)
อนึ่ง มาตรฐานยูโร (EURO) หรือ European Emission Standards คือมาตรฐานควบคุมการปล่อยมลภาวะของรถยนต์ที่จำหน่ายในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งเริ่มมีตั้งแต่ ยูโร1 ปัจจุมีประเทศที่ใช้มาตรฐาน ยูโร4 แล้ว เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และเกาหลีใต้ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2555