นอกจากการจัดงานประกวดออกแบบของเปอโยต์ที่จัดเป็นประจำทุก 2 ปีก่อนจะนำผลงานที่ชนะเลิศมาผลิตเป็นคันจริงสำหรับจัดแสดงแล้ว ดูเหมือนว่าการจัดงานประกวดออกแบบในชื่อ Design Challenge ของผู้จัดงานแอลเอ มอเตอร์โชว์ถือเป็นอีกเวทีที่ได้รับความสนใจในแวดวงของนักออกแบบ เพียงแต่อาจจะไม่ดังเปรี้ยงปร้างมากเหมือนกับงานแรก เพราะข้อจำกัดของงานที่ต้องการจำกัดวงของผู้เข้าประกวดเอาไว้แค่ดีไซเนอร์จากบริษัทรถยนต์ที่มีศูนย์ออกแบบอยู่ในแอลเอ หรือมลรัฐแคลิฟอร์เนียเท่านั้น
Design Challenge ถือเป็นส่วนหนึ่งของงานแอลเอ มอเตอร์โชว์ รวมปีนี้ด้วยก็เข้าสู่ปีที่ 5 แล้วและใช้ชื่อว่า Design Challenge 2009 ซึ่งผู้จัดงานเปิดตัวงานประกวดนี้ขึ้นมาก็เพื่อกระตุ้นต่อมจินตนาการของบรรดานักออกแบบรุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงานที่สุดล้ำภายใต้หัวข้อที่มีการเปลี่ยนแปลงไปทุกปี แต่อย่างที่บอกว่าข้อจำกัดของงานนี้ยังมีเพราะว่าคนที่จะส่งผลงานเข้าร่วมได้จะต้องเป็นทีมออกแบบของบริษัทรถยนต์ที่มีสำนักงานอยู่ในพื้นที่เมืองแอลเอ หรือบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น
จริงอยู่ว่าในแอลเอ มีศูนย์ออกแบบของบริษัทรถยนต์หลายแห่ง แต่ผลงานที่ปรากฏในงานก็เลยอยู่แค่ไม่เกิน 10 ชิ้นมาตลอด และส่วนใหญ่ก็เป็นจะเป็นหน้าเดิมๆ หมุนเวียนกันเข้ามาสร้างสีสัน เช่น โตโยต้า, ฮอนด้า, มิตซูบิชิ, เมอร์เซเดส-เบนซ์, เกีย, บีเอ็มดับเบิลยู หรือโฟล์คสวาเกน/ออดี้ ไม่มีความหลากหลายเหมือนกับงานประกวดของเปอโยต์ที่เปิดกว้างรับทุกผลงานจากนักออกแบบรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่าแต่มีไฟแรง
สิ่งที่น่าสนใจของงานประกวดในลักษณะนี้คือ ทำให้เราได้เห็นพลังแห่งจินตนาการแบบไร้ขีดจำกัด แล้วก็ควรลืมเรื่องความสมจริงไปชั่วครู่ เพราะงานออกแบบรายการนี้ทำให้ดีไซเนอร์ทั้งหลายได้ปลดปล่อยพลังแห่งการสร้างสรรค์ออกมาอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นจริงได้หรือไม่ไม่มีใครรู้ และก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญด้วย
ปีนี้งานประกวดมากับหัวข้อในปีนี้ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงของมอเตอร์สปอร์ตอย่าง Motorsport 2025 หรือ การแข่งขันความเร็วปี 2025 ซึ่งบรรดานักออกแบบเค้นจินตนาการเพื่อวาดภาพของโลกแห่งความเร็วในอีก 17 ปีข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร
สำหรับผลงานที่เข้ามาประกวดปีนี้มีทั้งหมด 9 ชิ้น และก็รวมถึงค่ายโฟล์คสวาเกนซึ่งเป็นผู้ชนะเลิศการแข่งขันปีที่แล้วในหัวข้อ RoboCar of 2057 หรือรถหุ่นยนต์แห่งปี 2057 โดยปีนี้ ศูนย์ออกแบบของโฟล์คฯ ในชื่อ Volkswagen/Audi Design Center California ส่งผลงานเข้าประกวดถึง 2 ชิ้นโดยแปะแบรนด์ออดี้ และโฟล์คสวาเกน
ทั้ง 2 ยี่ห้อนี้มีประวัติการแข่งขันในโลกมอเตอร์สปอร์ตมาพอสมควร โดยเฉพาะออดี้ซึ่งยึดเอาความสำเร็จอย่างไร้เทียมทานในเลอมังส์ 24 ชั่วโมงยุคมิลเลเนียมของตัวเองมาดัดแปลงเป็นรถแข่งในชื่อ R25 ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาสำหรับใช้ในการแข่งขัน ALMS หรือที่รู้จักกันในชื่อ American Le Mans Series ปี 2025 โดยมีจุดเด่นอยู่ที่โครงสร้างตัวถังแบบ DSF หรือ Dynamic Space Frame ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูงสุดและรองรับกับการขับด้วยความเร็วที่เหนือระดับจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมกับขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งแตกต่างจากมอเตอร์สปอร์ตยุคปัจจุบันที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นขุมพลัง
ขณะที่โฟล์คฯ หันมาเจาะโลกความเร็วทางฝุ่นที่ตัวเองคุ้นเคยหลังจากเข้าร่วมการแข่งขันดาการ์มาหลายสมัย เพียงแต่รถแข่งรุ่นนี้ไม่ใช่สำหรับดาการ์ แต่เป็นรายการที่มีลักษณะคล้ายกันอย่าง Baja1000 ซึ่งรถแข่งรุ่นนี้มีชื่อว่า Bio Runner แม้ว่ามีรูปทรงเหมือนรถมี 4 ล้อ แต่การบังคับควบคุมกลับเหมือนมอเตอร์ไซค์ เพราะว่าในค็อกพิตจะมีอานมอเตอร์ไซค์วางอยู่ และการบังคับควบคุมรถทั้งทิศทาง ความเร็ว และเบรกต้องอาศัยมือและเท้าเหมือนกัน ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ Dual-Turbine ที่สามารถเร่งได้ถึง 500,000 รอบต่อนาที และใช้น้ำมัน Bio-Synthetic Jet เป็นเชื้อเพลิง
ที่แปลกกว่าเพื่อนเห็นจะเป็นค่ายจีเอ็ม ซึ่งไม่ได้นำความสำเร็จในการแข่งขันเลอมังส์ของตัวแข่งคอร์เว็ตต์ C6 มาต่อยอด แต่กลับเลือกสร้างความสนใจด้วยการนำเชฟโรเลต โวลต์มาสร้างความสนใจ ซึ่ง General Motors Advanced Design ออกแบบตัวแข่งที่เรียกว่า Chaparral Volt ขึ้นมาด้วยการนำเทคโนโลยีขับเคลื่อนที่เรียกว่า EREV หรือ Extended-Range Electric Vehicle มาใช้ ซึ่งแนวคิดในการขับเคลื่อนรูปแบบนี้ถูกใช้อยู่ในโวลต์รุ่นจำหน่ายจริงที่จะเริ่มวางขายในปี 2010
จีเอ็มเผยว่า Chaparral Volt เป็นรถแข่งที่อาศัยแห่งพลังงานธรรมชาติที่มีอยู่ในแคลิฟอร์เนีย คือ ดินซึ่งเป็นการเก็บพลังงานจากแรงโน้มถ่วงและโมเมนตัม, ลมสำหรับปั่นใบพัดเพื่อใช้ในการระบายความร้อนของระบบขับเคลื่อน การสร้างแรงกดบนตัวถัง หรือการเบรก ส่วนไฟมาจากแสงอาทิตย์ด้วยการเคลือบแผงฟิล์มที่เรียกว่า PV เอาไว้บนตัวถังในการทำหน้าที่เป็น Solar Cell ทำให้สามารถรับแสงอาทิตย์เพื่อเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้า และถือเป็นแหล่งพลังงานหลักในการขับเคลื่อนของตัวรถ
ขณะที่บีเอ็มดับเบิลยู และเมอร์เซเดส-เบนซ์ 2 แบรนด์หรูแห่งเยอรมนีก็เปิดโลกมอเตอร์สปอร์ตแบบใหม่ ด้วยตัวแข่งสุดล้ำ ซึ่งชาวบิมเมอร์ถึงกับอ้าปากค้างกับแนวคิดในการสร้างรถแข่งจากของเหลือใช้ที่มีอยู่ในโลกด้วยแนวคิด Reuse ซึ่งผิดวิสัยสำหรับแบรนด์หรู แต่ทีมงานใน BMW Group DesignworksUSA เผยโฉมรถแข่งพลังไฮโดรเจนสำหรับแล่นทำความเร็วสูงสุดบนที่ราบเกลือในเมือง Bonneville มลรัฐยูท่าห์
ตัวถังและดิสก์เบรกทำมาจากถังน้ำมันเก่าๆ พร้อมกับให้ความมั่นใจในความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการออกแบบตัวถังด้านท้ายให้เป็นตู้ปลา และมีปลาทองรับหน้าที่เป็นเพื่อนในการทะยานด้วยความเร็ว
ส่วนค่ายดาว 3 แฉกเปิดโลกมอเตอร์สปอร์ตที่ต่อเนื่องมาจากฟอร์มูลา วันเพียงแต่คราวนี้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ FZR หรือ Formula Zero Racer ซึ่งการแข่งขันรายการนี้ ผู้ชนะนอกจากจะต้องเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 หลังจากแล่นครบตามจำนวนรอบที่กำหนดแล้ว ยังจะต้องเป็นผู้ที่มีจำนวนกระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่เหลือมากกว่าคู่แข่งอื่นๆ ด้วย ส่วนจะวัดกันอย่างไรหรือด้วยวิธีไหนนั้น ทางทีมออกแบบไม่ได้บอกมา
ไม่ได้มีเฉพาะแบรนด์ยุโรปเท่านั้น สำหรับกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นซึ่งเฮโลกันมายึดเมืองแอลเอเป็นทำเลในการก่อตั้งศูนย์ออกแบบก็ส่งผลงานเข้าร่วมกันเป็นประจำ และที่ไม่เคยขาดหายไปไหนเห็นจะเป็นฮอนด้า และโตโยต้า 2 บิ๊กในอุตสาหกรรมรถยนต์แดนปลาดิบ
ฮอนด้าเปิดโลกการแข่งขันความเร็วครั้งใหม่ด้วยการอิงประวัติศาสตร์ของการแข่งขันที่ได้รับการขนานนามว่าโหดที่สุดในโลกอย่าง The Great Race ซึ่งจัดขึ้นในปี 1908 เพียงแต่ในโลก 2025 การแข่งขันมีความไฮเทคและทันสมัยมากขึ้น โดยที่ยังอิงรูปแบบเดิม
ใน 100 ปีที่แล้วการแข่งขันรายการนี้มีชายหนุ่มจำนวน 17 คนเข้าร่วมการแข่งขันรอบโลกรวมระยะทาง 22,000 ไมล์และใช้เวลา 16 เดือนในการแข่งขัน แต่สำหรับอีก 17 ปีข้างหน้า The Great Race จะแข่งขันโดยใช้ยานอเนกประสงค์ที่สามารถใช้งานได้ทั้งภาคพื้นดิน, อากาศ และน้ำ บนเส้นทางที่แล่นผ่านประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะมุดลงทะเลเพื่อมุ่งหน้าไปยังทวีปเอเชีย และบินจากเอเชียไปยังยุโรป
ขณะที่โตโยต้าไม่สนใจฟอร์มูลา วันที่ตัวเองทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในปีนี้ แต่กลับมาอิงอยู่กับการแข่งขันเลอมังส์ 24 ชั่วโมง ด้วยตัวแข่งที่เรียกว่า Lemans Racer ที่มาพร้อมกับการขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า และมี 2 โหมดการขับเคลื่อน
แบบแรกคือ Speed Mode ตัวถังและล้อจะถูกปรับให้มีลักษณะแคบเพื่อลดแรงต้านทานอากาศ และทำให้ตัวรถสามารถแล่นทำความเร็วได้ถึง 350 ไมล์/ชั่วโมง หรือ 563 กิโลเมตร/ชั่วโมง และแบบที่ 2 คือ Cornering Mode ตัวถังจะถูกปรับให้แบนราบเพื่อลดจุดศูนย์ถ่วง สร้างการยึดเกาะและการทรงตัวที่ดีโดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าโค้งที่มีลักษณะแคบใช้ความเร็วต่ำ
ทางด้านมิตซูบิชิเปิดตัวรถแข่งรุ่นใหม่ที่เรียกว่า MMR25 ที่พัฒนาด้วยส่วนผสมอันลงตัวระหว่างรถแข่ง WRC หรือแรลลี่ชิงแชมป์โลกที่มิตซูบิชิสร้างชื่อเสียงอย่างมากในยุคของทอมมี่ มาคิเนนกลางทศวรรษที่ 1990 เข้ากับตัวแข่งดาการ์ ขณะที่มาสด้าเผยโฉมรถแข่งในชื่อ KAAN พร้อมกับการแข่งรูปแบบใหม่
ความคิดของทีมออกแบบมาสด้า มอเตอร์สปอร์ตใหม่มีชื่อว่า E1 ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อสอดคล้องกับโลกยุคอนาคตที่หันมาใช้พลังไฟฟ้าเป็นทางเลือกหลักในการขับเคลื่อน และปี 2025 บนฟรีเวย์ทั่วมลรัฐแคลิฟอร์เนียจะมีการเคลือบด้วยสารที่เรียกว่า Sub-level electro-conductive polymer ในการให้พลังงานในการขับเคลื่อนกับรถยนต์พลังไฟฟ้า และจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะดัดแปลงฟรีเวย์เหล่านี้ให้กลายเป็นสังเวียนการแข่งขันสำหรับตัวแข่งพลังไฟฟ้า
ทั้งหมดคือ 9 ผลงานจากสตูดิโอออกแบบของ 9 แบรนด์ดังที่มีสตูดิโอออกแบบอยู่ในเมืองแอลเอ และบริเวณใกล้เคียง ส่วนใครจะเป็นผู้ชนะในปีนี้ การตัดสินผลและมอบรางวัลจะมีขึ้นภายในงานแอลเอ มอเตอร์โชว์ ซึ่งจะเริ่มขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างวันที่ 21-30 พฤศจิกายนนี้
โลกแห่งความเป็นจริงจีเอ็มและโฟล์คสวาเกนอาจไม่ประสบความสำเร็จในด้านการทำตลาดที่นี่มากมายแต่สำหรับโลกในจินตนาการ ยังไม่มีผู้ผลิตรถยนต์รายใดพิชิตทั้งคู่ลงได้ เพราะ 4 ครั้งที่ผ่านมา รายชื่อผู้ชนะมีแค่จีเอ็มและโฟล์คสวาเกนเท่านั้น โดยที่จีเอ็มครองแชมป์มากที่สุด 3 ครั้ง ส่วนโฟล์คสวาเกน 2 ครั้ง ซึ่งในปีแรก หรือ 2005 ที่มีการจัดงาน ทั้งคู่ครองแชมป์