xs
xsm
sm
md
lg

"ซันยอง ไครอน"สงสัยเกิดมาลุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ราว 3 เดือนก่อน “ผู้จัดการมอเตอริ่ง” มีโอกาสจับเข่าคุยกับ “วิรัตน์ ผลประดับ” แห่งค่าย ซันยอง ประเทศไทย ถึงสถานการณ์ของบริษัท และแผนงานในอนาคต ซึ่งการสนทนารวมๆดูบิ๊กบอส ยังมีท่าทีสบายๆ แม้ยอดขายตั้งแต่ต้นปีไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง โดยเป้ารวมปีนี้ถูกปรับลงมาเหลือแค่ 500-600 คัน จากเดิมที่ตั้งไว้ 1,000 คัน

แน่นอนว่าความผันผวนของราคาน้ำมัน ความอึมครึมของเศรษฐกิจ-สถานการณ์บ้านเมือง มีส่วนในการตัดสินใจซื้อรถของผู้บริโภค ขณะเดียวกันซันยองก็มีเพียงยนตรกรรมอเนกประสงค์ล้วนๆในการทำตลาด โดยอาวุธในมือ 5 รุ่น ทั้งพีพีวี สตาวิค แชร์แมน และเอสยูวี แอคยอน ไครอน เร็กซ์ตัน ส่วนใหญ่ไม่ใช้รถยนต์คันแรกของผู้บริโภค พร้อมลักษณะทางกายภาพที่ดูจะเป็นมิตรกับสถานีบริการน้ำมันเป็นพิเศษ ดังนั้นยอดขายที่ลดลงจึงไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายของ “วิรัตน์ ผลประดับ”

ทั้งนี้รถรุ่นที่ได้การตอบรับเป็นอย่างดี สร้างยอดขายให้ซันยอง ประเทศไทย เป็นกอบเป็นกำต้องยกให้ฟูลไซส์พีพีวี “สตาวิค” ที่ต้นปีเพิ่งเสริมรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 3.2 ลิตร ขณะที่เอสยูวี ไครอน ไมเนอร์เชนจ์ ก็ถูกแนะนำสู่ตลาดในเวลาใกล้เคียงกัน และจากการเปิดเผยของวิรัตน์ว่า ปีนี้จะไม่มีโปรดักส์ใหม่ๆเปิดตัวอีกแล้ว

สำหรับสตาวิค เครื่องยนต์เบนซิน 320S “ผู้จัดการมอเตอริ่ง” เคยนำเสนอบททดสอบไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ดังนั้นยังเหลือภาระกับ“ไครอน ไมเนอร์เชนจ์” ที่เราทิ้งระยะไปพอสมควร กว่าจะมีโอกาสนำมาลองขับแบบเป็นเรื่องเป็นราว

รูปลักษณ์ภายนอก

ไครอน เปิดตัวในบ้านเราเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งแรกพบกับเอสยูวีเกาหลี(ตอนนั้น) คิดว่า “รถอะไรทำไมหน้าตามันประหลาดขนาดนี้” หรือคนออกแบบ(เคน กรีนลี ชาวอังกฤษ) กับทีมงาน-ฝ่ายบริหาร มีจินตนาการไปไกลมาก จนเราตามไม่ทัน หรือไปจ้างสำนักวิจัยไหนที่ชี้ว่า ผู้บริโภค(คงจะ)ชอบรถเอสยูวีหน้าตาแบบนี้…?

เอาเถอะครับเรื่องหน้าตาอันเป็นเอกลักษณ์ของซันยอง คงพูดถึงกันมาหลายครั้งแล้ว และที่เกริ่นไปนั้นเป็นความคิดเมื่อสองปีก่อน เพราะเมื่อเห็นรุ่นไมเนอร์เชนจ์ที่เปลี่ยนไป ดูรูปลักษณ์จะเป็นผู้เป็นคนมากขึ้น

รูปลักษณ์ภายนอกของ ไครอน ไมเนอร์เชนจ์ ดูสมดุลกว่ารุ่นเดิม ลงตัวทั้งลายกระจังใหม่ รับกับกันชนและไฟตัดหมอก ส่วนโลโก้ย้ายไปแปะอยู่บนฝากระโปรง ไฟท้ายเปลี่ยนจากทรงโล่อัศวิน(ไม่รู้คิดได้ไง) มาเป็นแนวยาวดูสบายตา พร้อมล้ออัลลอยด์ 5 ก้านลายใหม่ขนาด 18 นิ้ว

ภายใน-ความสะดวกปลอดภัย

ภายในดูจากวัสดุและการประกอบทำได้ดีพอสมควร เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้ง พวงมาลัยมีปุ่มควบคุมเครื่องเสียง-เปลี่ยนเกียร์ แบบเดียวกับสตาวิค รวมถึงครูสคอนโทรล กระจกมองหลังตัดแสงสะท้อนอัตโนมัติ หลังคาซันรูฟ ระบบควบคุมอุณหภูมิอัตโนมัติพร้อมควบคุมคุณภาพอากาศภายนอก ด้านเบาะนั่งคนขับปรับไฟฟ้า 8 ทิศทางพร้อมหน่วยความจำ ส่วนผู้โดยสารตอนหน้าปรับได้ 4 ทิศทาง พร้อมระบบทำความร้อนที่เบาะนั่ง ขณะเดียวกันเบาะ 3 แถว 7 ที่นั่งปรับได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเลือกนั่งหรือขนวางสัมภาระ

สำหรับปุ่มควบคุมการทำงานต่างๆ อาจดูรกตาไปบ้าง แต่ก็ใช้งานง่ายคล่องมือ ไม่ว่าจะเป็นปุ่มเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (2 High-4High-4Low) ปุ่มควบคุมการลงทางลาดชัน(HDC-Hill Descent Control) ไฟจอดฉุกเฉินที่ฝังตรงคอนโซลหน้า เรียกว่าออปชันเยอะใช้งานสะดวก แต่จะติอยู่นิดเดียวคือไม่มีที่วางขวดน้ำหรือแก้วสำหรับคนขับและผู้โดยสารตอนหน้า

ด้านความปลอดภัยระดับดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อม ABS ระบบช่วยเบรก BAS ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESP ถุงลมนิรภัยคู่หน้าและม่านนิรภัยด้านข้าง เข็มขัดนิรภัยดึงกลับอัตโนมัติ คานเหล็กกันลดการกระแทกด้านข้าง และเซ็นเซอร์กะระยะถอยหลัง

สมรรถนะ

ไครอน ไมเนอร์เชนจ์ ไม่ได้ปรับเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง ระบบขับเคลื่อน โดยขุมพลังดีเซล รหัส D20DT ขนาด 2.0 ลิตร พร้อมเทอร์โบแปรผัน ให้พลัง 141 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 310 นิวตันเมตร มาตั้งแต่รอบต่ำ 1,800 ไปจนถึง 2,750 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ T-Tronic เดินหน้า 5 จังหวะ ถอยหลัง 2 จังหวะ ที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเมอร์เซเดส-เบนซ์

ขณะออกตัว-เร่งแซงไม่ถือว่าอุ้ยอ้าย แต่ถ้าอยากให้ถึงอกถึงใจอาจต้องคิกดาวน์บ้าง หรือเล่นเปลี่ยนเกียร์เองบ้าง ซึ่งการเปลี่ยนเกียร์ทำได้ 2 ตำแหน่งคือกดปุ่มตรงพวงมาลัย หรือใช้นิ้วโป้งซ้ายสะกิดที่หัวเกียร์ และแม้การส่งกำลังทำได้ฉับไวจริง แต่ส่วนตัวไม่ชอบกับลักษณะเปลี่ยนเกียร์ทั้งสองรูปแบบ

การกดคันเร่งไล่ความเร็วกลางๆไปจนถึงปลาย 120-140 กม./ชม. ทำได้ไหลลื่น เครื่องยนต์ตอบสนองดีตรงนี้ยกนิ้วให้ครับ เพราะอย่าลืมว่าเครื่องยนต์ต้องแบกน้ำหนักรถ(เปล่า)เกือบๆ 2 ตันเลยทีเดียว ขณะที่ความเร็ว 120 กม./ชม.ที่เกียร์สูงสุด รอบเครื่องยนต์อยู่ที่ 2,500 รอบต่อนาที

รูปแบบการวิ่งปกติ ไครอนจะส่งกำลังไปยัง 2 ล้อหลังเท่านั้น แต่เรามีโอกาสได้ลองหมุนเปลี่ยนเป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ในช่วงเวลาฝนตกและวิ่งทางยาวๆนอกเมือง ซึ่งจะกระจายกำลังไปยังล้อหน้า 40% หลัง 60% เพิ่มความมั่นใจแม้ความเร็วจะพุ่งทะลุ 140 กม./ชม. อย่างไรก็ตามสิ่งที่ลดทอนความมั่นใจ น่าจะเป็น การบังคับควบคุมผ่านพวงมาลัยไฟฟ้า แบบแร็กแอนด์พิเนียน ที่เบามือ ไม่เฉียบคม เรียกว่ามีระยะฟรีพอสมควร รวมถึงเบรกแม้จะเป็นดิสก์ 4 ล้อ แต่ลักษณะการกดแป้นเบาและลึก จึงต้องทำความคุ้นเคยกันสักระยะ

สำหรับช่วงล่างอิสระ 4 ล้อ หน้าแบบปีกนก 2 ชั้น หลังมัลติลิงค์ เกาะถนนดี ทางไกลทรงตัวเยี่ยม แต่การซับแรงกระเทือนจากพื้นถนน ยังรู้สึกถึงการกระดอนดีดพอสมควร (เป็นความรู้สึกในตำแหน่งผู้ขับ) ส่วนการนั่งเป็นผู้โดยสารตอนหลังก็ไม่นุ่มนวลมากมาย ส่วนการเก็บเสียงในห้องโดยสารยังไม่เนียนเมื่อเทียบกับเอสยูวีทั่วไปในท้องตลาด ความเร็ว 90-100 กม./ชม.เสียงลมปะทะเริ่มดัง

ด้านอัตราบริโภคน้ำมันเฉลี่ยซันยองเคลมว่า ทำได้ 11.9 กิโลเมตร./ลิตร ส่วนการขับของเราตลอด 3 วัน กับระยะทางรวม 320 กิโลเมตร ทั้งในเมืองรถติด นองเมืองความเร็วเฉลี่ย 120-140 กม./ชม.น้ำมันหมดไปประมาณครึ่งถังเท่านั้น(เต็มถัง 75 ลิตร)

รวบรัดตัดความ...อย่างที่บอกว่า ไครอน อาจไม่ใช่รถคันแรก และน่าจะเหมาะกับการเป็นรถครอบครัววิ่งทางไกลไปต่างจังหวัด จุดเด่นอยู่ที่พละกำลังเครื่องยนต์ ออปชั่นมากมายอเนกประสงค์ แต่กับนิสัยอื่นๆไม่ว่าจะเป็น ระยะฟรีพวงมาลัย การกดแป้นเบรกเบา-ลึก รวมถึงระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ 4 โลว์ เกียร์ถอยหลัง 2 จังหวะ ระบบควบคุมการลงทางลาดชัน ซึ่งทั้งหมดเหมาะอย่างยิ่งกับการลุยแบบออฟโรด…แต่ด้วยค่าตัว 1.95 ล้านบาท กับหน้าตาน่าทะนุถนอม(ขึ้น)แบบนี้ จะเอาไปลุยไหมครับ?

**ผู้สนใจเข้าชมงาน Motor Expo สามารถมารับบ้ตรได้ท่านละ 5 ใบที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ โทร.02-6294488 ตั้งแต่วันนี้จนกว่าบัตรจะหมด**





กำลังโหลดความคิดเห็น