xs
xsm
sm
md
lg

วีโก้ สมาร์ท แค๊บ เพิ่มขีดขั้นความสะดวก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จาการเงินลงทุนมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาทภายใต้โปรเจคชื่อ “ไอเอ็มวี” โตโยต้าทำคลอด “ไฮลักซ์ วีโก้” ออกมา ซึ่งผลตอบรับหากนับตั้งแต่วันเปิดตัวเมื่อ 25 ส.ค. 2547 วีโก้มียอดจำหน่ายในประเทศรวมทั้งสิ้น 615,897 คัน (ถึงสิ้น ส.ค.08) และยอดส่งออก 503,217 คัน (ถึงสิ้นเดือน ก.ค.08) โดยมีสถิติยอดจองสูงสุด 22,000 คัน ภายในเวลา 3 วันช่วงเปิดตัว

ตัวเลขนี้ต้องถือประสบความสำเร็จตามความคาดหมายพร้อมกับสร้างประวัติศาสตร์ให้กับโตโยต้าด้วยการก้าวขึ้นมาเป็น เจ้ารถปิกอัพที่มียอดขายเป็นอันดับ 1 แบบไร้ข้อกังขาเมื่อปีที่แล้ว และต่อเนื่องด้วยความหวังในการรักษายอดขายอันดับ 1 เอาไว้ให้ได้ในปีนี้ ฉะนั้นโตโยต้าจึงจัดแจงแต่งตัวใหม่ให้กับ ปิกอัพตระกูล “ไฮลักซ์ วีโก้” หลังจากทำตลาดมาเป็นเวลานานถึง 4 ปีเต็ม โดยเดินหน้าเปิดตัวไปเมื่อต้นเดือน ก.ย. ท่ามกลางวิกฤตการเมืองคุกรุ่น

สำหรับ “วีโก้” ไมเนอร์เชนจ์ ภายนอกมีการปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อย กระจังหน้า กันชนหน้า โคมไฟคู่หน้า และ ล้อแม็กซ์ลายใหม่ ส่วนภายในเปลี่ยนสีจากสีไอวอรี่ เป็นสี แซนด์ เบจ (Sand Beige) และรายระเอียดปลีกย่อยตามแต่ละรุ่นเปลี่ยนแปลงตามข่าวที่เราเคยนำเสนอไปแล้ว

ขณะที่จุดใหญ่ใจความของการปรับครั้งนี้อยู่ตรงรุ่น “แค็บเปิดได้” นับเป็นเรื่องใหม่ของวีโก้ และหลังจากการเปิดตัวไม่นานก็เป็นคิวของการทดสอบ ซึ่งโตโยต้า ตระเตรียม “วีโก้” เฉพาะตัวสมาร์ทแค็บรวมทุกรุ่นทั้ง 4x2(ขับเคลื่อน 2 ล้อ), 4x4 (ขับเคลื่อน 4 ล้อ) และพรีรันเนอร์ เอาไว้ให้ถึง 15 คัน พร้อมแหวกแนวการทดสอบเดิมด้วยการเล่น “เกมส์อัจฉริยะข้ามคืน” ควบคู่กันไป

เริ่มต้นการขับกันที่สตูดิโอของเวิร์ค พ็อยซ์ เล่นเกมส์อัจฉริยะหนึ่งเกมส์แล้ว เราจึงเข้าไปประจำการในวีโก้ตัวเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ขับเคลื่อน 2 ล้อ เกรด G จุดหมายที่โรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์ แหล่งทำคลอดวีโก้ สมาร์ทแค็บ

การขับช่วงนี้ใช้เส้นทางด่วนเกือบตลอด เรายังคงประทับใจกับความแรงของเครื่อง 2KD-FTV 2.5 ลิตร เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ กำลังสูงสุด 120แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 325 นิวตัน-เมตร ที่ 2,000 รอบ /นาที ที่ตอบสนองทันใจทุกย่านความเร็ว ไม่ต่างจากของเดิม

เราขับแบบเหยียบเต็มสปีดตลอดระยะทางตามแต่การจราจรจะเอื้ออำนวย เราทำความเร็วสูงสุดได้ประมาณ 170 กม./ชม. เสียงลมประทะกระจกหน้าเริ่มดังให้ได้ยินที่ความเร็วประมาณ 100 กม./ชม. และดังรบกวนเสียงวิทยุที่ราว 160 กม./ชม.

เมื่อมาถึงจุดหมาย เราเข้าไปฟังบรรยายเกี่ยวกับโครงสร้างแค็บเปิดได้ของวีโก้ใหม่ โดยมี ทีมวิศวกรคนไทยที่เรียกว่า “ดอกเตอร์ วีโก้” จำนวน 3 คน มาให้ข้อมูลดังนี้

ในส่วนของโครงสร้างห้องโดยสารช่วงประตูบานหน้าและแค็บเปิดได้ มีการปรับเพิ่มขนาดเสริมความหนาของเหล็กตัวถังบริเวณเสาหลังจากเดิม 0.8 มม. เป็น 1.2 มม. ด้านข้างประตูจาก 0.65 และ 1.2 มม. เป็น 1.4 มม. และคานเสริมความแข็งหนา 2.3 มม. พร้อมกับยืนยันว่า “ผ่านการทดสอบการชนตามมาตรฐานโครงสร้างตัวถัง GOA” แต่ยังไม่มีรูปภาพใดๆ แสดงออกมาให้เห็น รวมถึงทีมดร.วิโก้ ก็ยังไม่เห็นเช่นกัน

สำหรับตัวถังที่หนาขึ้น สังเกตุง่ายๆ แบบลูกทุ่ง ด้วยการเดินไปเคาะตัวถังเปรียบเทียบกันระหว่างชิ้นส่วนประตูหน้า บานแค็บ กับกระบะท้ายและซุ้มโป่งล้อหน้า รู้สึกได้อย่างชัดเจนถึงความหนาบางที่แตกต่างกัน ส่วนตัวเก่าเสียงแทบไม่ต่าง และใครที่ห่วงเรื่องความปลอดภัยของการเปิด-ปิด ทีมดร.วีโก้ กล่าวว่า เรามีกลไกยกเลิกการเปิดแค็บหากประตูหน้าปิดอยู่ ทำให้หากประตูหน้าปิดอยู่แค็บจะไม่มีทางเปิดได้ ตัดปัญหาดังกล่าวทิ้งไป

ด้านเครื่องยนต์เฉพาะตัว 2 KD แม้จะเป็นตัวเดิมแต่โตโยต้าได้เพิ่มแอร์โฟมิเตอร์ และทุกเครื่องปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนในระบบทางเดินน้ำมันและปรับจูนกล่องเพื่อให้สามารถรองรับเชื้อเพลิงไบโอดีเซลชนิด บี5(B5) พร้อมกับการออกปากการันตีอย่างเป็นทางการครั้งแรกว่า “ใช้บี 5 ได้” รวมถึงการขยายผ้าคลัทช์ใหญ่ขึ้น

หลังจากทราบข้อมูลเรียบร้อยเราก็มาเล่นเกมส์อัจฉริยะข้ามคืนกันต่อ โดยคราวนี้มีโจทย์เป็นการเลือกสิ่งของจำนวน 6 ชิ้น เพื่อใส่เข้าไปในรถวีโก้ สมาร์ท แค็บ ซึ่งเรามี สระว่ายน้ำยางเส้นผ่าศูนย์กลางราว 1 เมตร, คอมพิวเตอร์จอ 15”1 ชุด, หุ่นโชว์เสื้อพร้อมขาตั้ง, เก้าอี้สำนักงานพร้อมโทรโข่ง, แบ็ตเตอร์รี่ และโต๊ะรีดผ้า

เราใช้เวลาไม่ถึง 1 นาทีใส่ของทั้งหมดเข้าไปในสมาร์ท แค็บได้ พร้อมคนขับและผู้โดยสารเบาะหน้า1คน เช่นเดียวกับทีมอื่นที่มีข้าวของไม่ยิ่งหน่อยไปกว่ากัน แสดงถึงความจุและความสะดวกของการมีเจ้า แค็บเปิดได้หรือสมาร์ท แค็บ ได้เป็นอย่างดี

ต่อจากนั้นก็ไปเล่นเกมส์ทดสอบความนุ่มนวลของวีโก้กันเล็กน้อย แล้วไปทดสอบเรื่องของเบรกที่ได้รับการเปลี่ยนขนาดดิสก์เบรกจาก 14” เป็น 15” กันต่อ ณ สนามบินของเครือสหพัฒน์ มีนักแข่งมืออาชีพ “ณัฐวุฒิ เจริญสุขะวัฒนะ” มาเป็นผู้นำการทดสอบ

เริ่มด้วยการขับแบบสลาลมที่ความเร็ว 70 กม./ชม. เจ้าวีโก้ ควบคุมได้ดั่งใจ ไม่เสียอาการ แล้วขับเร่งความเร็วจนถึง 100 กม./ชม. เมื่อถึงจุดกำหนดให้เหยียบเบรกเต็มแรงเพื่อทดลองหาระยะเบรก เราทำได้ที่ประมาณ 30 เมตร หยุดสนิทดีไม่มีอาการเซซ้าย-ขวาหรือท้ายปัดแต่อย่างใด

ขณะที่ตัวเลขอ้างอิงของโตโยต้าอยู่ราว 33 เมตร ทั้งนี้ตัวเลขอาจจะคลาดเคลื่อนได้ขึ้นกับจังหวะในการเหยียบเบรกและจุดเริ่มต้นการเหยียบไม่ตรงกัน

สิ้นสุดการทดสอบด้วยการหาตัวเลขอัตราการบริโภคน้ำมันที่พัทยาเหนือ โดยให้แต่ละทีมเลือกรถมา 1 คันสำหรับเติมน้ำมันหาความประหยัด ทีมเราเลือกคันของรุ่นน้องที่ขับแบบเรื่อยๆ วิ่งเกาะขบวนวีโก้ที่ความเร็วประมาณ 80-100 กม./ชม. เปิดแอร์ตลอด แถมกินข้าวระหว่างขับด้วย ใช้น้ำมันไป 9.43 ลิตร ดีที่สุดกับระยะทางตามเลขไมล์ของรถราว 200 กม. ส่วนคันอื่นๆ วิ่งระยะเท่าๆ กันแต่เติมน้ำมันกันประมาณ 10 ลิตรนิดหน่อย หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยทุกคันที่เติมเกือบ 20 กม./ลิตร

ส่วนคันที่ผู้เขียนขับสลับกับผู้ขับอีกท่าน แบบฮ้อเต็มเยียดตามสไตล์การขับของแต่ละคนดังที่กล่าวมา แถมจอดรถนั่งรอไม่ดับเครื่อง ตัวเลขตามการแสดงผลของจอคอมพิวเตอร์ในรถมีค่าเฉลี่ยราว 9.8 กม./ลิตร

ขากลับเราเลือกขับตัวพรีรันเนอร์ ที่บรรจุขุมพลัง 1 KD-FTV (I/C) 3.0 ลิตร ไดเร็คอินเจคชั่น 16 วาล์ว เทอร์โบแปรผัน อินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 163 แรงม้า (120 กิโลวัตต์) ที่ 3,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 343นิวตัน-เมตร ที่ 1,400-3,200 รอบ/นาที

สารภาพตามตรงแทบไม่รู้สึกถึงความแตกต่างในด้านของการตอบสนองจากสมรรถนะของเครื่องยนต์ทั้งรุ่น 3.0 และ 2.5(I/C) ทันใจเหมือนกัน มีเพียงความต่างของการยกสูงจากตัวพรีรันเนอร์ที่รู้สึกว่า นั่งนุ่มกว่ารุ่นธรรมดา แต่กระเทือนและโยนตัวมากกว่า

ซึ่งเรื่องนี้เรามีโอกาสคุยกับ “ทาเคฮิโกะ นากานูมะ” ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายพัฒนายานยนต์ โตโยต้า เทคนิคคอล เซ็นเตอร์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (TMAP) ในฐานะวิศวกรผู้ดูแลและรวบรวมข้อมูลเพื่อพัฒนารถ “ไฮลักซ์ วีโก้” เจนเนอเรชั่นต่อไป

โดยนากานูมะ ตอบว่า เป็นเรื่องเชิงวิศวกรรมมาก ให้นึกถึงรถที่เตี้ยกว่าการโคลงย่อมน้อยกว่า เหตุจากระยะการเคลื่อนที่หรือไหวตัวของสปริงมีน้อยกว่านั่นเอง และเราถามต่อถึงเรื่องของเหตุใดจึงคิดทำรุ่นแค็บเปิดได้ขึ้นมา

คำตอบคือ จากการสำรวจตลาดของทีมงานวิศวกรโตโยต้าที่เป็นคนไทย ซึ่งวีโก้ สมาร์ท แค็บเป็นรถยนต์รุ่นแรกที่เปิดโอกาสให้กับทีมวิศวกรไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการคิดและพัฒนารถตั้งแต่ยังเป็นรูปวาดในกระดาษ ทำให้ทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของตลาดรถในเมืองไทย และสามารถพัฒนาปรับแต่งผลิตรถให้ตรงใจคนไทยที่สุด

ต่อคำถามที่ว่า เหตุใด ตัวถังด้านหน้าและกระบะท้ายของวีโก้ จึงบางลงกว่ารุ่นเดิม(ไทเกอร์) และบางกว่าประตู แค็บเปิดได้ด้วย

นากานูมะ ให้เหตุผลว่า ที่กระบะท้ายและโป่งล้อหน้าบางกว่าประตูนั้น จุดประสงค์แรกคือเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารในห้องโดยสาร เหล็กบางเพื่อให้เกิดการยุบตัวง่ายขึ้นมีผลช่วยซับแรงกระแทก ทำให้มีแรงกระแทกไปถึงผู้ขับและผู้โดยสารน้อยลง โดยมีการเพิ่มความแข็งให้กับโครงสร้างของห้องโดยสารตามมาตรฐาน GOA แทน

จุดประสงค์ที่สองคือ เพื่อลดน้ำหนักโดยรวมของตัวรถ ซึ่งมีผลต่อเรื่องของการประหยัดน้ำมันโดยตรง หลังจากไปเพิ่มความแข็งแกร่งให้ส่วนอื่น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องลดน้ำหนักบางส่วนลง และผลก็มาลงเอยที่เหล็กตัวถังภายนอก

และจุดประสงค์ที่สามคือ เพื่อช่วยโลก หากเราสามารถผลิตสินค้า โดยใช้ทรัพยากรของโลกน้อยลง แต่คงประสิทธิภาพการใช้งานเท่าเดิมหรือดีกว่า นั่นย่อมหมายถึงการลดการใช้ทรัพยากรซึ่งจะช่วยลดปัญหาของโลกได้อย่างเห็นผลชัดที่สุด

สรุป วีโก้ ไมเนอร์เชนจ์ แค็บเปิดได้ อัพราคาขึ้นประมาณ 2 หมื่นบาทต่อรุ่น แลกกับความสะดวกในการใช้งานได้อย่างไม่ต้องสงสัยและส่วนหนึ่งถูกจุดประกายและสร้างสรรค์ขึ้นจากมันสมองของคนไทย ด้วยความมุ่งหวังตอบสนองวิถีชีวิตของคนไทยผู้ใช้ปิกอัพเป็นรถอเนกประสงค์ ส่วนจะตรงใจหรือไม่ ยอดขายรถปิกอัพสิ้นปีนี้จะบอกผลออกมา




ภายในเปลี่ยนสีใหม่ เข้มขึ้นกว่าเดิม
แค็บเปิดได้กว้าง 92 องศา
คนเข้าไปได้สบายๆ
ของเต็ม กล่องทีวีขนาด 21 นิ้วใส่ได้สบายเช่นกัน
ตัวยึดแค็บเปิดได้ด้านล่าง
ตัวยึดแค็บด้านบนหลังคา
บานพับยึดแค็บ โดยมีลำโพงฝังอยู่ในแค็บ
ดร.วีโก้ กำลังบรรยายถึงโครงสร้างตัวถังใหม่
ด้านบน(กระดาษสีเหลืองแปะ)คือชิ้นส่วนเดิมที่ปรับปรุงใหม่ ส่วนด้านล่าง(กระดาษสีเขียว)เป็นชิ้นส่วนที่ออกแบบใหม่หมดเพื่อเพิ่มความหนา
บานแค็บออกแบบใหม่ทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น