ฮอนด้ามี “ซีวิค 2.0” ราคา 1.101 ล้านบาท, ฟอร์ดมี “โฟกัส 2.0 TDCI” ราคา 1.099 ล้านบาท,มาสด้า มี “3 2.0MAXX” ราคา 1.029 ล้านบาท และอนาคตมิตซูบิชิ จะมีแลนเซอร์ ใหม่ 2.0 ราคา....? แล้วโตโยต้า “อัลติส”มีอะไร???
คำตอบของคำถามดังกล่าวจบลงเมื่อ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยโตโยต้าเปิดตัว “โคโรลล่า อัลติส 2.0” ที่มาพร้อมเครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตรใหม่ ปรับรูปลักษณ์เพิ่มออปชั่นนิดหน่อย กับทางเลือก 4 รุ่นย่อยราคา 9.49-1.184 ล้านบาท และเพื่อไม่ให้เสียเวลา วานนี้(26 พ.ค.) TMT ก็จัดแจงเชิญสื่อมวลชนไปลองขับแบบพอหอมปากหอมคอที่ สนามทดสอบแห่งใหม่ของ บริดจสโตน แถวๆวังน้อย อยุธยา
แต่ก่อนจะไปถึงการลองขับ เรามาทำความรู้จักกับ “อัลติส 2.0 ลิตรใหม่” กันว่า มีอะไรเสริมเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงไปจากรุ่น 1.6 และ 1.8
ขุมพลัง 3ZR-FE ขนาด 2.0 ลิตร 4 สูบ 16 วาล์ว พร้อมวาล์วแปรผันควบคุมทั้งฝั่งไอดีและไอเสียแบบ Dual VVT-I (Variable Valve Timing-intelligent) โดยจะปรับจังหวะการเปิด-ปิด หรือหน่วงเวลาให้เหมาะสมกับสภาพการขับขี่ เพื่อสมรรถนะสูงสุดและการประหยัดน้ำมัน ให้กำลังสูงสุด 141 แรงม้า (104 กิโลวัตต์) ที่ 5,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 189 นิวตันเมตร ที่ 4,400 รอบต่อนาที ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด
สำหรับเครื่องยนต์บล็อกนี้มีวางในรถอเนกประสงค์อย่าง ว็อกซี่และโนอาร์ ที่เกรย์มาร์เก็ตหลายเจ้านำเข้ามาขาย ส่วนข้อสงสัยของเราว่า เครื่องตระกูล ZR ที่มีความยืดหยุ่นสูง ดังนั้นบล็อก 3ZR-FEมันเป็นการนำเอาพื้นฐานเครื่อง 1.8 ลิตรรหัส 1ZZ-FE มาปรับหรือเปล่า เพราะความกว้างกระบอกสูบ (80.5)และกำลังอัด(10.0 : 1 )เท่ากันเป๊ะ และต่างกันตรงช่วงชัก ที่3ZR ยาวกว่าเท่านั้นซึ่งเราได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าเทคนิคของโตโยต้าว่า
“คงไม่ใช่การนำเครื่อง 1.8 มาปรับ แต่น่าจะใช้คำว่าพัฒนาใหม่ดีกว่า ส่วนเรื่องการใช้ชิ้นส่วนเครื่องยนต์นั่นเป็นธรรมดาที่บางอย่างต้องใช้ร่วมกับบล็อกอื่นๆอยู่แล้ว”
นั่นเป็นคำตอบ(ที่พอจะให้ได้)ของคนโตโยต้า ซึ่งในรายละเอียดเชิงลึกคงลำบากที่จะเข้าถึง แต่เอาเป็นว่าอย่างน้อยเราก็ได้ Dual VVT-I เพิ่มเข้ามา เพราะถ้าเลยไปก็โน้นครับ คัมรี่ วี6 3.5 ลิตร(2.86 ล้านบาท)
สำหรับ Dual VVT-I ที่ปรับจังหวะเปิด-ปิดลิ้นไอดีและไอเสียให้สอดคล้องกับการทำงานของเครื่องยนต์ โดยฝั่งไอดี จะคอยควบคุมปริมาณไอดีให้เหมาะสมต่อการจุดระเบิด ตามแต่ความเร็วและรอบเครื่องยนต์ ส่งผลให้มีอัตราเร่งที่ดี
ส่วนด้านไอเสียนั้นเวลารอบต่ำๆหรือขับช้าๆก็จะมีการหน่วงเวลาให้ไอเสียชะลอออก เพื่อรักษาแรงดันหรือก๊าซร้อนไว้ให้มากที่สุด อันนี้ส่งผลกับการประหยัดน้ำมัน และการปล่อยมลพิษ ขณะเดียวกันการขับในช่วงรอบสูง มีการจุดระเบิดถี่ๆ ลิ้นไอเสียก็จะเปิดกว้าง และปล่อยให้คายไอเสียออกอย่างรวดเร็ว เพื่อการขับเคลื่อนอย่างเต็มสมรรถนะ
อย่างไรก็ตาม อัลติส 2.0 ยังยกออปชั่นหลายอย่างที่อยู่ในตัวท็อปรุ่น 1.8 มาไว้ยังรุ่นนี้ อาทิ ครูสคอนโทรล,ระบบเปิดประตูและสตาร์เครื่องยนต์อัตโนมัติ(Key less) ,มาตรวัดเรืองแสงพร้อมจอแสดงข้อมูลการขับขี่ต่างๆ,เบาะหลังพับได้แบบ 60:40 และในส่วนที่ใหม่ถอดด้าม จะมี ระบบนำทาง สั่งงานแบบทัชสกรีน(แบบเดียวกับ คัมรี่ ฟอร์จูนเนอร์) พร้อมกล้องส่องหลังขณะถอยรถ รวมถึงบลูทูธเชื่อมโทรศัพท์
ด้านพวงมาลัยแบบ 3 ก้านใหม่มาพร้อมปุ่มควบคุมเครื่องเสียง และปุ่มวาง-รับสายโทรศัพท์ และในบริเวณเดียวกันก็เสริมด้วย แพดเดิลชิฟท์ซ้าย-ขวา เพื่อควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ด้วยตนเอง
สำหรับความปลอดภัย สิ่งที่ใส่มาเป็นมาตรฐานทุกรุ่นคือ ระบบเบรก ABS EBD BA ถุงลมคู่หน้า เบาะนั่งซับแรงกระแทกจากการชนด้านหลัง(WIL) ส่วนพวกดิลก์เบรก 4 ล้อ ระบบควบคุมการทรงตัว VSC และระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TRC จะมีในรุ่นท็อป(2.0V)
รูปลักษณ์ภายนอก เฉพาะรุ่นท็อปจะมีกระจังหน้าลายใหม่ พร้อมแอร์โรว์พาร์ทรอบคัน ทั้งสเกิร์ตหน้า ข้างและหลัง รวมถึงสปอยเลอร์หลังมาพร้อมไฟเบรกดวงที่สาม ขณะที่ไฟตัดหมอก และกระจกมองข้างฝังไฟเลี้ยว ล้ออัลลอยด์ลาย 10 ก้าน ขนาด 16 นิ้ว ประกบยาว 205/55R 16 ของมิชชิลิน
แม้จะใช้ยางของ“บีเบนดัม” แต่ทางบริดจสโตนเขาก็ใจกว้างให้นำมาลองขับบนสนามทดสอบแห่งใหม่ ที่ลงทุนไปกว่า 1,000 ล้านบาท และบนเนื้อที่ทั้งหมด 329 ไร่ ทางทีมงานได้จัดสถานีทดสอบเอาไว้ถึง 6 สถานี
“ASTVผู้จัดการมอเตอริ่ง” ได้รุ่นท็อป 2.0V Navi มาเป็นพาหนะ พร้อมผู้ฝึกสอนหนึ่งท่านมานั่งข้างๆ(ตามกฎของสนาม) ซึ่งเขาจะคอยแนะนำว่า ในด่านต่างๆต้องทำอะไรบ้าง
เริ่มจากสถานีแรก ทดสอบอัตราเร่ง ซึ่งพลันสิ้นเสียงว่า “ไป” ของผู้ฝึกสอน เราก็กระทืบคันเร่งออกจากจุดสตาร์ท(หยุดนิ่ง) ที่เกียร์ D ไล่ไปจนถึงความเร็ว 100 กม./ชม. นาฬิกาจับเวลาได้ 11.3 วินาที ซึ่งใกล้เคียงกับหลายคนที่ทำอยู่ระดับ 11 วินาทีเช่นกัน
จากนั้นเข้าด่านทดสอบการควบคุม โดยสลาลมผ่านกรวย 8 ตัว ความเร็วที่ใช้ประมาณ 60 กม./ชม. รู้สึกได้ความเปลี่ยนไปของความหนึบจากพวงมาลัยไฟฟ้า ซึ่งให้อารมณ์สปอร์ตแน่นกว่ารุ่น 1.6 และ 1.8 ลิตร
ถัดมามีโอกาสเข้าโค้งยาวๆ โดยใช้ความเร็ว 100-120 กม./ชม. ตัวรถยังทรงตัวดี ช่วงล่างเฟิร์มกว่ารุ่น 1.6 และ 1.8 เช่นกัน ซึ่งโตโยต้าได้ปรับพวก โช้ค-สปริง ให้แข็งขึ้น เพื่อรองรับน้ำหนักของรถ(เครื่องยนต์) ที่เพิ่มขึ้น และนั่นก็ส่งผลโดยตรงให้ขับสนุกกว่าเดิม
สถานีที่ 4 เราทดสอบการทรงตัว โดยทางโค้งสั้นวนไปวนมาเต็มเปี่ยมไปด้วยน้ำ ใช้ความเร็วประมาณ 60-70 กม./ชม. แล้วถ้าลองทำเป็นหักพวงมาลัยแรงๆหรือเกินๆเวลาเลี้ยวโค้ง เจ้าระบบ VSC จะทำงานทันที โดยจะมีเสียงร้อง ปี้ดๆๆ แจ้งให้ทราบ ซึ่งในชีวิตจริง ถ้ามีระบบนี้ติดรถไว้อุ่นใจแน่นอน
อีก 2 สถานีที่เหลือเป็นการ ลองเล่นเกียร์แพดเดิ้ลชิฟท์ โดยมือขวาจะเป็นด้านเพิ่มเกียร์ และกลับกันมือซ้ายลดเกียร์ (ใครอยากสลับมือขับก็ได้) ซึ่งเราผลักเป็นเกียร์โหมดสปอร์ต จากนั้นออกตัวโดยทีมงานให้วิ่งทางตรงยาว พร้อมลากรอบไปแถวๆ 5,000 จึงสั่งเปลี่ยนเกียร์เพื่อความเร้าใจ ขณะเดียวกันเวลาเข้าโค้งแรงๆลองกดชิฟท์ดาวน์เพื่อเชนเกียร์ หรือตอนออกโค้งคอยเพิ่มส่ง ซึ่งระบบเกียร์ ECT พร้อมแพดเดิ้ลชิฟท์ชุดนี้สั่งงานทันอกทันใจดีที่เดียว
รวบรัดตัดความ...อัลติส 2.0 พยายามอัดออปชันให้มากสุดเท่าที่พอจะหาได้ ที่สำคัญโตโยต้าเริ่มคายเทคโนโลยีอย่าง Dual VVT-I หวังชูเป็นจุดขายสู้คู่แข่ง ขณะเดียวกันต้องสร้างความต่างจากรุ่นย่อยอื่นๆ(อัลติส,คัมรี่)
ในส่วนความรู้สึกหลังขับ นับเป็นความสนุกที่ต่างไป โดยรวมๆขับมันกว่ารุ่น1.6 และ 1.8 ทั้งอัตราเร่ง การควบคุม ช่วงล่าง เน้นความสปอร์ตมากขึ้น แต่กระนั้นยังมีจุดที่ไม่ไปตาม คือการตกแต่งภายในยังขาดความเร้าอารมณ์ รวมถึงระบบส่งกำลังเดิมแต่เพิ่มลูกเล่นอย่างแพดเดิ้ลชิฟท์ ซึ่งส่วนตัวคิดว่ายังไม่ซะใจเพราะมีแค่ 4 สปีด
…การลองครั้งนี้เป็นเพียงสัมผัสแรกที่น้อยนิด ขับ 1 รอบ 6 สถานี วิ่งไปประมาณ 6 กิโลเมตร ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที แต่ถ้าคราวหน้ามีโอกาสได้ลองยาวกว่านี้ เราจะนำมาเสนอเต็มๆอีกครั้ง