xs
xsm
sm
md
lg

วอลโว่ เอส80 ดี5 ดีเซลนุ่ม-เงียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่ามกลางสถานการณ์น้ำมันราคาแพงหูดับตับไหม้เช่นนี้ส่งผลให่ค่ายรถต่างเร่งปรับตัว โดยเฉพาะค่ายรถหรูดูจะรับผลกระทบหนักสุด สังเกตุจากยอดขายของตลาดรวมรถยนต์หรูช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีการหดตัวอย่างต่อเนื่องและหลายค่ายต่างคาดการไปในทิศทางเดียวกันว่า ปีนี้อัตราการเติบโตจะลดลง

“วอลโว่” เป็นหนึ่งในค่ายรถหรูที่พร้อมเปิดแนวรุกอย่างครบครัน หลังจากที่เปิดตัวรถ เอส80 รุ่นใหม่ ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ล่าสุดกับการเพิ่มทางเลือกให้กับเจ้า เอส80 ด้วยการบรรจุเครื่องยนต์ ดีเซล เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า แม้ดูเหมือนว่าจะสวนทางกับกระแสของน้ำมันดีเซลราคาแพงในเวลานี้

แต่นั่นเป็นเพราะ การวางแผนผลิตรถแต่ละรุ่นเครื่องยนต์จะทำกันล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ฉะนั้น ปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันดีเซลถีบตัวสูงกว่าเบนซิน จึงอยู่นอกเหนือการควบคุมและคาดเดาตอนที่เริ่มไลน์ผลิตได้ วอลโว่ จึงต้องรับเคราะห์หรือ ซวยซ้ำสองไปตามระเบียบ เนื่องจากคราวก่อนตอน วอลโว่เปิดตัวรถใช้เครื่องยนต์ดีเซลครั้งแรก รัฐประกาศลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลก่อนหน้าแถลงเพียง 3 วัน หลังอุดหนุนมาเป็นเวลานาน

สำหรับวอลโว่ เอส80 เครื่องยนต์ดีเซลใช้ชื่อต่อท้ายในการทำตลาดว่า “ดี5” เหมือนเช่นรุ่นอื่นๆ โดย “ผู้จัดการมอเตอริ่ง” มีโอกาสทดลองขับแบบเป็นเรื่องเป็นราวอยู่ประมาณ 3 วัน และได้เรื่องดังนี้

ภายนอก ปราดเปรียว
ตามความเห็นคิดว่าวอลโว่ปรับโฉม เอส80 ดูปราดเปรียวและหนุ่มขึ้นเพื่อหวังเจาะกลุ่มลูกค้าอายุน้อยลง โดยการปรับเปลี่ยนไฟหน้ามีขนาดเล็กและยาวขึ้น ส่วนไฟท้ายลดขนาดให้เล็กเช่นกัน แต่ทั้งหมดยังคงรูปแบบการดีไซน์ในสไตล์เดิมเอาไว้ไม่เสื่อมคลาย รวมถึงรูปทรงเส้นสายต่างๆ ของตัวถังรถ

ที่สำคัญดูไป ดูมา การออกแบบ เป็นแนวเดียวกับรุ่น เอส60 แต่มีขนาดตัวถังใหญ่กว่า หากใครไม่ชอบรถรูปทรงแบบนี้ คงจะยากให้เขาหันมามอง เนื่องจากวอลโว่ เอส80 ยังไม่ฉีกสไตล์การออกแบบไป ตรงข้ามรุ่น ซี30 ที่รูปทรงภายนอก ฉีกแนวของวอลโว่ไปจนเกิดกระแสวิภาควิจารณ์ ในเชิงบวกค่อนข้างมาก ทั้งยังกวาดรางวัลรถยนต์ออกแบบยอดเยี่ยมจากหลายสำนัก

อย่างไรก็ตาม เรามีโอกาสขับตามและเคียงคู่ไปกับเอส80 อีกคัน พบว่า เมื่อวิ่งอยู่บนถนน เจ้าเอส80 ดูดีมีสง่าราศรี ทั้งด้านข้างและด้านหลัง เหมาะกับบุคคลระดับผู้บริหารอย่างไม่ต้องสงสัย

ภายใน หรูหรา ทันสมัย
สัมผัสแรกหลังเข้าไปนั่งในห้องโดยสาร รู้สึกว่า การออกแบบโดยรวมทันสมัยขึ้นกว่ารุ่นเดิม แต่เมื่อหากเปรียบเทียบกับคู่แข่งอย่างบีเอ็มดับเบิลยู ซีรี่ส์ 5 และเมอร์เซเดส เบนซ์ อี-คลาส แล้ว เจ้าเอส 80 ยังคงดูเอาใจคนสูงอายุมากกว่าคนหนุ่มสาว
ด้านการใช้งานมีระบบแฮนด์สฟรีผ่านบลูทูธ คุยโทรศัพท์โดยไม่ต้องถือ, ปุ่มควบคุมฟังก์ชั่นต่างๆอยู่ในตำแหน่งที่สวยงามลงตัวใช้งานง่าย, เบาะนั่งนุ่มปรับด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบปกป้องการบาดเจ็บของกระดูกต้นคอและหลังที่เกิดจากการสะบัดของศรีษะ (WHIPS) ทั้งกรณีถูกชนจากด้านหน้าและด้านหลัง

จุดเด่นของห้องโดยสารของเจ้าเอส80 คงอยู่ที่ ระบบจัดการห้องโดยสารที่ปราศจากสิ่งกระตุ้นภูมิแพ้ หรือ CZIP (Clean Zone Interior Package) ซึ่งได้รับการรับรองคุณภาพจากสถาบันโรคหอบหืดและภูมิแพ้แห่งประเทศสวีเดน ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผู้มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและโรคภูมิแพ้ โดยองค์ประกอบภายในรถและระบบกรองอากาศทุกชิ้นใช้วัสดุคุณภาพสูง ง่ายต่อการทำความสะอาด

สำหรับส่วนตัวผู้เขียนเองไม่สามารถนำเสนออย่างเป็นรูปธรรมได้ เป็นแต่เพียงความรู้สึกเท่านั้นว่า ในรถสะอาด หายใจได้เต็มปอดกว่านอกรถ (ฮา)

เครื่องยนต์ แรงได้ใจ
วอลโว่เลือกเอาเครื่องยนต์ตัว เทอร์โบดีเซล คอมมอนเรล แบบ 5 สูบ ปริมาตรความจุกระบอกสูบ 2,401 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 185 แรงม้า ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร ที่ 2,000-2,750 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติเดินหน้า 6 สปีด พร้อมทริปทรอนิก ความเร็วสูงสุดเคลมไว้ที่ 210 กม./ชม.

ความปลอดภัย ทุกชิวิตปลอดภัยในวอลโว่
เป็นสิ่งที่ไม่เอ่ยถึง ไม่ได้ เนื่อง ด้วยหลักการของ อัสสาร์ กาเบียลส์สัน และ กุสตาฟ ลาร์สัน ผู้ก่อตั้งวอลโว่ ที่ว่า “ยานยนต์บังคับโดยคน” ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ การปกป้องและให้ความปลอดภัยกับทุกชีวิตของทุกคน

เริ่มจากโครงสร้างตัวถังด้านหน้าออกแบบตามหลักเลขาคณิต ช่วยหักเหแรงกระแทกไม่ให้เข้าถึงห้องโดยสาร ฝากระโปรงหน้าหยุ่นตัวได้เพื่อช่วยซับแรงกระแทก ลดการบาดเจ็บหากขับชนคนเดินถนน ระบบถุงลมนิรภัยคู่หน้าที่ระดับการพองตัวแปรผันตามความรุนแรงของการชน ถุงลมนิรภัยและม่านนิรภัยด้านข้าง ระบบกระจายแรงกระแทกจากการชนด้านข้าง(SIPS)

ส่วนทีเด็ดซึ่งวอลโว่ใช้ในการโฆษณาคือ ระบบเตือนก่อนการชนพร้อมฟังก์ชั่นหยุดรถกระทันหัน และกล้องพร้อมสัญญาณไฟเตือนมุมอับของสายตา มีเฉพาะในรุ่นท๊อปตัว 3.2 ลิตรเท่านั้น รุ่น ดี5 ที่เราขับไม่มี

สมรรถนะ นุ่มแบบวอลโว่
แค่เราเลี้ยวออกจากที่รับรถศูนย์วอลโว่หัวหมาก ก็มีโอกาสทดลองรัศมีวงเลี้ยว 11.2 เมตร ใช้วงกว้างขนาดถนน 3 เลนเลี้ยวกลับรถได้พอดี ทัศนวิสัยด้านหน้าชัดเจนดี มุมมองกระจกหลังคลอบคลุมวงกว้าง พวงมาลัยเบามือกระชับแม่นยำ การเปลี่ยนเลนช่วงรถติดคล่องตัว เรียกว่าขับใช้งานในเมืองสบายๆ ไม่เป็นปัญหาแม้ตัวถังรถจะใหญ่

จากนั้นเราวิ่งขึ้นทางด่วนลองขับทางยาว ความเร็วที่ใช้ 120 กม./ชม. เอส80 ดี5 วิ่งนิ่ง นุ่มนวลตามสไตล์ช่วงล่างของวอลโว่ ซึ่งเลือกคบหากับ ระบบแมคเฟอร์สันปริงสตรัท ที่ด้านหน้าและแบบมัลติลิงก์ ด้านหลัง แต่ความหนึบและการทรงตัวเวลาเข้าโค้ง อาจจะยังเป็นรองคู่แข่งอยู่เล็กน้อย ก็ไม่ทราบว่าเกี่ยวกับการที่เอส80 เป็นรถขับหน้าด้วยหรือไม่

ส่วนอัตราเร่ง เอส80 ดี5 สร้างความอุ่นใจให้กับเราทุกย่านความเร็ว กดคันเร่งเมื่อไหร่ รถพุ่งแรงไปข้างหน้าแบบไม่มีอาการรอรอบหรือรอลุ้นแต่อย่างใด ขณะที่เสียงรบกวน มีบ้างในจังหวะที่เรากดคันเร่งแรง อย่างไรก็ตามโดยรวมถือว่า เงียบมาก ยิ่งถ้าวิ่งเรื่อยๆ 90-100 กม./ชม. ความเงียบแทบไม่แตกต่างจากเครื่องเบนซินเลย
ใช้ความเร็วสูงสุด 180 กม./ชม. เอส80 ให้ความรู้สึกสบายแก่ผู้ขับขี่ไม่แตกต่างจากการขับด้วยความเร็ว 120 กม./ชม. บางช่วงมีฝนตกลงมาอย่างหนัก น้ำท่วมถนน เอส80 ก็ยังสร้างความอุ่นใจได้เต็มร้อย เก็บเสียงฝนประทะตัวถังได้เป็นอย่างดี

ด้านอัตราการบริโภคน้ำมันเฉลี่ย ตัวเลขสุดท้ายตามการแสดงผลของจอคอมพิวเตอร์ในรถอยู่ที่ 8.4 ลิตรต่อ 100 กม. หรือเท่ากับ 11.9 กม./ลิตร ดูดีทีเดียวกับการใช้งานทั้งในเมืองและนอกเมืองเป็นระยะทางรวมกันประมาณ 270 กม.

สรุป วอลโว่ เอส80 ดี5 โดยรวมการใช้งานแทบไม่แตกต่างจากรถเครื่องยนต์เบนซิน จะมีก็เพียงอัตราการบริโภคน้ำมันที่ตัวเลขดูสวยงามกว่า แม้ขณะนี้ราคาน้ำมันดีเซลจะพุ่งแรงแซงหน้าเบนซินไปแล้ว แต่หากคำนวณกลับมาเป็นจำนวนเงินบาทต่อกม.ตามอัตราการบริโภคข้างต้น รถเครื่องยนต์ดีเซลก็ยังคงน่าสนใจอยู่ไม่น้อย


เครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล เทอร์โบ กำลังสูงสุด 185 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร



แผงคอนโซลกลางดีไซน์ใหม่เจาะใจคนวัยหนุ่มสาว

ที่เสียบกุญแจและปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์
กำลังโหลดความคิดเห็น