xs
xsm
sm
md
lg

โปรตอน เจน-2 แฮทช์แบ็กพันธุ์นุ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


น้องใหม่ของวงการรถยนต์เมืองไทย “โปรตอน” รถจากแดนเสือเหลืองมาเลยเซีย เพื่อนบ้านที่แสนดีของเรา ภายใต้การทำตลาดของกลุ่ม “พระนครยนตการ” ที่เคยสร้างชื่อไว้กับการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์หลากหลายยี่ห้อเช่น ไดฮัทสุ, ฮุนได, โอเปิล และอัลฟ่า โรมีโอ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคชาวไทยชอบความแตกต่าง

ผลงานในอดีตของตัวแทนรายนี้เป็นอย่างไรคงไม่ต้องเอ่ย เพราะลูกค้าเดิมทุกรายสามารถจดจำชนิดขึ้นใจ สำหรับการทำตลาดแบรนด์ โปรตอน ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันมียอดจองทะลุเป้ากว่า 2,000 คัน และส่งมอบรถไปแล้วประมาณ 1,500 คัน ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย

โดยมีรถรุ่นเล็ก “แซฟวี่” ครองสัดส่วนมากที่สุดกว่า 50% และอันดับ 2 เป็นรุ่น “เจน-2” ประมาณ 30% และท้ายสุดรุ่น “นีโอ” ประมาณ 20% ซึ่ง แซฟวี่และนีโอ เราเคยนำเสนอบททดสอบไปแล้ว ดังนั้นจึงคิวของ “เจน-2” รถแบบแฮทซ์แบ็ค ตัวท๊อปสุดของโปรตอนที่นำเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย

ก่อนเข้าเรื่องเรามาทำความรู้จัก “เจน-2” กันสักเล็กน้อย เจ้า เจน-2 โฉมนี้เป็นตัวไมเนอร์เชนจ์ เปิดตัวครั้งแรกในโลกที่เมืองไทย เมื่อปลายปี 2007 (ก่อนจะเปิดตัวที่มาเลเซียอีก 3 เดือนต่อมา)

โดยโปรตอนจับเอาเครื่องยนต์ รหัส S4PH ขนาด 1.6 ลิตร มาใส่ประจำการ เป็นเครื่องแบบ 4 สูบ 16 วาล์ว DOHC พ่วงด้วยเทคโนโลยีใหม่ แคมโปร ซีพีเอส (Campro CPS) ที่โปรตอนพัฒนาร่วมกับโลตัส ให้กำลังสูงสุด 125 แรงม้า เฉพาะในรุ่น 1.6 highlineเพียงตัวเดียว ขณะที่รุ่น1.6 ตัวอื่นยังคงเป็นเครื่องแคมโป รุ่นเดิมที่ให้กำลัง 110 แรงม้า (วางอยู่ในรุ่นนีโอและเจน-2 รุ่น Medium line)

สำหรับ การทดสอบคราวนี้ โปรตอนจัดให้เราชนิดครบเครื่องทั้งแบบวิ่งในเมืองและนอกเมือง เริ่มต้นจากโชว์รูมโปรตอน ถ.วิภาวดี ขับผ่านใจกลางเมืองเป็นวงกลม (ใช้ถนนรัชดาภิเษกซึ่งมีลักษณะเป็นวงแหวนรอบกรุงเทพฯ) โดยมีจุดหมายไปหยุดพักที่พัทยา แล้วจึงขับกลับมายังกรุงเทพฯ อีกครั้ง รวมระยะการเดินทางกว่า 200 กม.

ส่วนรถที่โปรตอนจัดไว้เป็นตัวท๊อปรุ่น “1.6 highline” ความรู้สึกแรกเมื่อเราเข้านั่งประจำการหลังพวงมาลัย ประทับใจกับคุณภาพของวัสดุและอุปกรณ์ภายในของเจน-2 ที่ดูดีผิดแผกแตกต่างจากอีก 2 รุ่นของโปรตอนซึ่งเราเคยทดสอบ ไม่ว่าจะเป็น พวงมาลัยหนังทรงสปอร์ตสีดำขลิบด้ายแดง, เบาะหนังลายสลับดำ-แดงพร้อมดิ้นด้ายสีแดง คงคอนเซ็ปต์สปอร์ตตามสมัยนิยมและคอนโซลหน้าเรียบง่าย

จากนั้นปรับเบาะ ปรับพวงมาลัยให้พอเหมาะกับตัว พร้อมเดินทาง ใส่เกียร์เดินหน้าเข้าถนนวิภาวดีเพื่อมุ่งสู่พัทยาอันเป็นสถานที่เป้าหมายหลัก ขับผ่านอโศกเวลาประมาณ 10 โมงเช้า ท่ามกลางสภาพการจราจรแน่นขนัดเต็มทุกช่องทาง เจ้า เจน-2 มีความคล่องตัวไม่แตกต่างจากรถซีดานทั่วไป ทัศนวิสัยชัดเจนดี จังหวะเบียดเลน หักเลี้ยวง่ายดาย

เมื่อหลุดวิกฤตจราจรจากอโศกมา วิ่งเข้าถนนรัชดาภิเษกช่วงพระราม 3 มีสะพานและคอสะพานค่อนข้างเยอะ ด้วยความเร็วการวิ่งประมาณ 60-70 กม./ชม. พบว่า ระบบช่วงล่างของเจน-2 เกาะถนนดี นุ่มสบาย ไม่แกว่งหรือยวบยาบ ให้เสียเชื่อ “โลตัส” ในฐานะผู้พัฒนาช่วงล่างให้โปรตอน

ขับต่อเนื่องข้ามสะพานพระราม 3 สู่ถนนจรัญสนิทวงค์ ไปเรื่อยๆ จนวิ่งเข้าถนนรามอินทรา แล้วจึงเลี้ยวไปเส้นวงแหวนตะวันออก ก่อนจะใช้เส้นมอเตอร์เวย์ มุ่งหน้าสู่พัทยา โดยตลอดการเดินทางช่วงนี้เราสัมผัสถึงจังหวะเปลี่ยนเกียร์นุ่มนวล ส่วนอัตราเร่งไม่จัดจ้านสมกับตัวเลขกำลัง 125 แรงม้า เข้าข่ายเป็น “รถขับง่าย นั่งสบาย ”อีกหนึ่งคันในตลาดเมืองไทย

สำหรับความเร็วส่วนใหญ่ช่วงนอกเมืองเราวิ่งอยู่ประมาณ 100-120 กม./ชม. รถนิ่ง ให้ความรู้สึกเกาะถนนดี ส่วนเมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูงเกินกว่า 140 กม./ชม. อาการลอยลมมีให้รู้สึกอยู่บ้าง ความเร็วสูงสุดที่ขับคือ 150 กม./ชม. สรุปโดยรวมช่วงล่างหนึบใกล้เคียงคู่แข่งอย่าง “โตโยต้า อัลติส”

ด้านความรู้สึกขณะเบรก เมื่อวิ่งด้วยความเร็วเกิน 100 กม./ชม. บางครั้งเหมือนเบรกไม่อยู่ในจังหวะแรก ต้องกระแทกเบรกให้ลึกจึงจะเบรกอยู่ ส่วนการเก็บเสียงภายในห้องโดยสาร ทำได้ดีกว่าอีก 2 รุ่นของแบรนด์โปรตอน โดย เสียงลม, เสียงเครื่องยนต์ และยางบดถนน จะเริ่มดังถึงระดับรบกวนความรู้สึกของผู้ขับเมื่อวิ่งด้วยความเร็วประมาณ 130 กม./ชม.

จุดเด่นสุดของเจ้าเจน-2 เรายกให้กับ ความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคาค่าตัว ซึ่งโปรตอนตั้งไว้เพียง 629,000 บาท เท่านั้น แลกกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมายไล่เลียงมาตั้งแต่ ถุงลมนิรภัยคู่หน้า, เบรก เอบีเอส พร้อม ระบบกระจายแรงเบรก (EBD), วิทยุ-ซีดี เอ็มพี3 ยี่ห้อ เบลาฟุ้งค์, พวงมาลัย มัลติฟังก์ชั่น, ไฟตัดหมอกหน้า, กระจกมองข้างปรับไฟฟ้า, ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (Cruise Control)และ กุญแจนิรภัย Immobilizer พร้อมสัญญาณกันขโมย เป็นต้น เรียกว่าถ้าจะซื้อรถที่มีอุปกรณ์ครบภายใต้แบรนด์อื่นของค่ายญี่ปุ่นต้องดูรุ่นท๊อป ซึ่งขายกันราคาเฉียดล้านบาท

สรุป ถ้ามองเฉพาะตัวรถ สมรรถนะโดยรวมของ โปรตอน เจน-2 จัดว่าเป็นรถขับง่าย นั่งสบาย ช่วงล่างเกาะถนนดี ไม่แข็งเกินไป ออพชั่นเพียบ คุ้มค่าเกินราคาค่าตัว 6 แสนกว่าบาท แต่สิ่งสำคัญคือ ความเป็นแบรนด์น้องใหม่ ต้องรอเวลาพิสูจน์คุณภาพของสินค้า และการยอมรับจากผู้บริโภค รวมถึงการบริการหลังการขายที่ต้องพิสูจน์ใจตัวแทนกันในระยะยาว

















กำลังโหลดความคิดเห็น