ถือเป็นการสร้างเซอร์ไพร์สของ “ซูบารุ” ในเมืองไทยหลังการเปิดตัวโปรดักซ์แชมป์เปี้ยนอย่าง “อิมเพรสซ่า” เมื่อปลายปี 2007 ด้วยเวอร์ชั่น 5 ประตูหรือแฮ็ซท์แบ็คเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีรุ่น ซีดาน แบบ 4 ประตูออกมาทำตลาดควบคู่ไปเหมือนในอดีต (โดยเวอร์ชั่นซีดานจะทำตลาดเฉพาะในตลาดอเมริกาเหนือ ส่วนภูมิภาคอื่นยังไม่ชัดเจนว่าจะทำตลาดด้วยหรือไม่)
สำหรับ อิมเพรสซ่า ใหม่ ทาง “มอเตอร์อิมเมจ” ผู้แทนจำหน่ายในเมืองไทย นำเข้ามาจำหน่าย 3 รุ่นเครื่องยนต์ ได้แก่ 1.5 ลิตร, 2.0 ลิตร และ 2.5 ลิตร โดยเรา “ผู้จัดการมอเตอริ่ง” มีโอกาสทดลองขับรุ่นเล็กสุด 1.5 อาร์ เกียร์อัตโนมัติ สนนราคาค่าตัว 1.17 ล้านบาท
ภายนอก 5 ประตู
อิมเพรสซ่า เจนเนอเรชั่นที่ 3 ได้รับการออกแบบใหม่ ลบภาพของรุ่นเดิมๆ ไปหมดทุกสัดส่วน โดยตัวที่ขายในเอเชีย(รวมถึงไทยด้วย)และยุโรปจะเป็นแบบ 5 ประตู ขณะที่อเมริกาเหนือจะมีขายทั้งแบบ 5 ประตูและ 4 ประตู ซีดาน ด้านหน้าออกแบบไฟเป็นแบบแนวนอนเล็ก ฉีกจากไฟกลมและไฟเหยี่ยวที่ไม่ประสบความสำเร็จในรุ่นก่อนหน้า
ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนค่อนข้างชอบดีไซน์ของรุ่นใหม่ แต่ไม่ชอบตรงความเป็น 5 ประตู เพราะมีภาพฝังใจอยู่ว่า อิมเพรสซ่า ต้องเป็น 4 ประตูซีดาน กับเจ้าของสมญานาม “รถจ่ายกับข้าวที่แรงที่สุดในโลก” ฉะนั้นคงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งกว่าจะคุ้นเคยกับความเป็นแฮ็ชท์แบ็ค หรือไม่ก็รอจนกว่าจะนำตัวซีดานเข้ามาจำหน่าย
ภายใน เน้นประโยชน์
สำหรับภายในเปลี่ยนหมด โดยเน้นถึงอรรถประโยชน์และความสะดวกของการใช้งานมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งช่องปรับแอร์แบบ 3 ปุ่ม, วิทยุ 2 Din และจอแสดงผลข้อมูลพร้อมนาฬิกาฝังในคอนโซลหน้า ทุกอย่างดูลงตัวและสอดคล้องกัน เบาะนั่งในรุ่นที่เราทดสอบเป็นเบาะผ้าธรรมดานั่งสบาย โอบกระชับดี ส่วนรุ่นอื่น (เครื่องยนต์ใหญ่กว่า)จะเป็นแบบบัคเก็ตซีตออกแนวสปอร์ต
จุดเด่นของห้องโดยสารหลัง คือ เรื่องของคุณภาพชิ้นส่วนและการประกอบที่เนี๊ยบมาก สมกับเป็นรถประกอบจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งต้องยอมรับว่า งานโดยรวมดีกว่ารถญี่ปุ่นที่ประกอบในประเทศไทย(CKD) ไม่ใช่ว่ารถckdไม่ดีนะครับ เพียงแต่ว่า รถประกอบจากญี่ปุ่นให้ความรู้สึกดีกว่า
เครื่องยนต์ ไม่แรง
ซูบารุยังคงยึดแนวทาง 4 สูบนอนยันหรือ “บ๊อกเซอร์” ที่สร้างชื่อเสียงไว้อย่างเหนียวแน่น โดยอิมเพรสซ่าตัวใหม่มีให้เลือก 3 ขนาด คือ ตัวแรงสุดในรุ่น ดับบิวอาร์เอ็กซ์ มีขนาดความจุ 2.5 ลิตร กำลังสูงสุด 220 แรงม้า รองลงมาเป็นรุ่น 2.0 อาร์ ขนาดความจุ 2.0 ลิตร กำลังสูงสุด 150 แรงม้า และรุ่นเล็กสุด 1.5 อาร์ ขนาดความจุ 1.5 ลิตร กำลังสูงสุด 107 แรงม้า
สำหรับรุ่น 1.5 อาร์ ตัวที่นำมาขับซูบารุลดขนาดความจุกระบอกสูบจาก 1.6 ลิตรลงเหลือเพียง 1.5 ลิตร ด้วยเหตุผลเพื่อความประหยัด ซึ่งผลเป็นอย่างไร ตามไปดูกัน
สมรรถนะ หนึบๆ
เส้นทางที่เลือกทดลองขับมีหลากหลายทั้งแบบทางยาวและแบบใช้งานในเมืองท่ามกลางการจราจรคับคั่ง รวมระยะทางประมาณ 300 กม. พบว่า เจ้าอิมเพรสซ่าใหม่ ช่วงล่างนุ่มนวลแบบรถยนต์นั่ง คันเร่งน้ำหนักเบา ส่วนแป้นเบรกเบาและหยุดรถมั่นใจและไม่หัวทิ่ม
ความเร็วขณะวิ่งแบบนอกเมืองจะอยู่ระหว่าง 100-120 กม. อัตราเร่ง ตอบสนองช้ากว่าที่คาดไว้ ไม่แรงเหมือนเคย แต่ถ้าจะบอกว่า “อืด” ดูจะใจร้ายเกินไปเนื่องจากเมื่อมองดูตัวเลขกำลังสูงสุดที่มีเพียง 107 แรงม้า (น้อยกว่า โตโยต้า วิออส เสียอีก) และมีน้ำหนักตัวประมาณ 1.3 ตัน วิ่งได้ขนาดนี้ น่าพอใจแล้ว
สำหรับความเร็วสูงสุดของรุ่นนี้ตามการอ้างอิงจากซูบารุคือ 167 กม./ชม. ส่วนความเร็วสูงสุดที่เราลองขับคือ 160 กม./ชม. ซึ่งความรู้สึกของเรา ณ เวลานั้นคือ พวงมาลัยและตัวรถค่อนข้างนิ่ง มีสั่นเล็กน้อยแต่ยังมั่นใจเต็ม100% ด้านเสียงรบกวนจากภายนอก จะเรื่มได้ยินเสียงลมประทะ พร้อมกับเสียงยางบดถนน ดังรบกวนเข้ามาในห้องโดยสารเมื่อวิ่งด้วยความเร็วถึง 130 กม./ชม.
การเข้าโค้งและการเกาะถนนเป็นจุดเด่นและสร้างความประทับใจให้มากสุด ทั้งนี้ต้องขอบคุณระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา(Symmetrical AWD) และช่วงล่างที่เซ็ตมาอย่างดี โดยเจ้าอิมเพรสซ่าจะแสดงสมรรถนะความหนึบที่เหนือกว่ารถอื่นๆ ในระดับเดียวกัน เมื่อวิ่งด้วยความเร็วเกินกว่า 80 กม./ชม.เป็นต้นไป
ด้านการขับในเมือง อิมเพรสซ่า มีรัศมีวงเลี้ยวแคบ ขับง่าย พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นใช้งานสะดวก ม่านบังแดดหน้าใหญ่ดี จังหวะการเปลี่ยนของเกียร์ออโต้ไม่มีกระโชกโฮกฮาก แต่ก็พอจะสัมผัสช่วงเปลี่ยนได้บ้าง ต่างจากฮอนด้า ซีวิค ที่เปลี่ยนนุ่มนวลไร้รอยต่อ ส่วนลูกเล่นเกียร์บวก ลบ ใช้งานได้ดีแต่ความสนุกถูกจำกัดด้วยกำลังของเครื่องยนต์ที่มีน้อยไปหน่อย
สำหรับ ตัวเลขอัตราการบริโภคสุดท้ายตามจอคอมพิวเตอร์แสดงออกมาที่ 9.4 ลิตร/ 100 กม. หรือ ประมาณ 10.63 กม./ลิตร. กับการขับดังที่กล่าวมาทั้งหมด ดูแล้วน่าจะคุ้มค่ากับการลดขนาดความจุลงเพื่อแลกกันระหว่างความแรงกับความประหยัด
สรุป เนื่องจากเจ้าอิมเพรสซ่า 1.5 อาร์ เป็นรถนำเข้าทั้งคัน ส่งผลให้ค่าตัวสูงถึง 1.17 ล้านบาท เมื่อเทียบกับรถของคู่แข่งเซ็กเมนท์คอมแพคคาร์ ที่มีราคาถูกกว่านับแสนบาทจึงยากในการสร้างยอดขายแข่ง แต่หากดูเฉพาะคุณภาพและสมรรถนะโดยไม่เทียบกับใคร “เงินที่เสียไปกับสิ่งที่ได้กลับมาเราว่า สมเหตุสมผล หากคุณพอใจ”