xs
xsm
sm
md
lg

บริดจสโตนซื้อเชลล์อออโต้เซิร์ฟ..เกมแย่งพื้นที่สกัดคู่แข่ง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวในประเทศ - เปิดจิ๊กซอว์ล่าสุดของค่ายยาง “บริดจสโตน” จากการทุ่มเงินไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท ซื้อกิจการบำรุงและดูแลรักษารถยนต์ “เชลล์ออโตเซิร์ฟ” เพื่อรองรับแผนขยายกำลังการผลิตยางรถยนต์ในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ได้ประกาศลงทุนมูลค่า 3 พันล้านบาท เพิ่มการผลิตยางเรเดียลสำหรับรถยนต์นั่งบุคคล จากที่ก่อนหน้านี้ลงทุน 1.2 พันล้านบาท สร้างสนามทดสอบยางรถยนต์ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ไปแล้ว ที่สำคัญถือเป็นเกมปักธงชิงพิ้นที่การขายที่มีศักยภาพ จากคู่แข่งหน้าเก่าและใหม่ที่แห่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย เนื่องจากที่ผ่านมายอดสั่งซื้อยางบริดจสโตนของเชลล์ออโตเซิร์ฟ มีปริมาณมากเท่ากับยอดขายของบริดจสโตนทั่วทั้งภาคกลางของไทยเลยทีเดียว ทำให้บริดจสโตนต้องรีบโดดฮุบทันที

ประเทศไทยถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของอุตสาหกรรมยางรถยนต์ เพราะมีความพร้อมทั้งในเรื่องของแหล่งวัตถุดิบ ที่ไทยเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก และมีตลาดขนาดใหญ่รองรับ เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของหลายบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ชั้นนำ ทั้งเพื่อทำตลาดในและส่งออกต่างประเทศทั่วโลก

ดังนั้นบรรดาบริษัทยางรถยนต์ยักษ์ใหญ่ อย่างบริดจสโตน มิชลิน และกู๊ดเยียร์ จึงได้ลงทุนขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทยางรถยนต์อื่นๆ ก็เริ่มเข้ามาลงทุนมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงที่กำลังขอรับการส่งเสริมอีกหลายรายในปัจจุบัน

แม้อุตสาหกรรมรถยนต์ในไทย จะเติบโตและมีการลงทุนโครงการใหม่ๆ จากบริษัทรถยนต์ต่อเนื่อง แต่การที่มีผู้เล่นมากขึ้นในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ทำให้ยักษ์ใหญ่ที่เคยครองตลาดอย่างมั่นคง จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถรักษาส่วนแบ่งของตัวเองไว้ ทั้งตลาดยางส่งให้กับโรงงานประกอบรถยนต์ (OEM) และโดยเฉพาะตลาดยางรถยนต์อะไหล่ทดแทน (REM) ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีแนวโน้มจะถูกเจาะได้ง่ายที่สุด!!

เหตุนี้จึงเริ่มเห็นการเดินเกมสกัดคู่แข่งของค่ายยางรถยนต์ยักษ์ใหญ่ “บริดจสโตน” ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะที่เพิ่งสร้างความฮือฮาล่าสุด เมื่อบริดจสโตน คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้ประกาศซื้อกิจการศูนย์บริการดูแลและบำรุงรักษารถยนต์ หรือศูนย์ฟาสต์ฟิตชื่อดัง “เชลล์ออโตเซิร์ฟ” จากบริษัทน้ำมันเชลล์ ไปเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้การเซ็นสัญญาซื้อขายกิจการเชลล์ออโตเซิร์ฟครั้งนี้ บริดจสโตนได้ซื้อเครือข่ายทั้งหมด 64 สาขาในประเทศไทย และอีก 8 สาขาในมาเลเซีย โดยเฉพาะในไทยที่ได้มีการตกลงซื้อหมด ทั้งทรัพย์สิน โนว์ฮาว และตัวบริษัทไป เพียงแต่มีข้อตกลงที่จะให้บริษัทเชลล์ยังเป็นผู้จัดหาน้ำมันเครื่อง ให้กับเชลล์ออโตเซิร์ฟที่บริดจสโตนซื้อในระยะยาวต่อไป

ส่วนจำนวนเงินที่บริดจสโตนตกลงซื้อเชลล์ออโตเซิร์ฟเป็นมูลค่าเท่าไหร่นั้น ขณะนี้ก็ยังไม่มีการเปิดเผยความชัดเจนให้ทราบ แม้แต่ผู้บริหารของบริดจสโตนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับดีลนี้ แต่คาดว่ารวมสองแห่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาจากการที่บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เข้าไปซื้อกิจการบริษัท แม็กซ์ ออโต้ เอ็กซ์เพรส ศูนย์บริการฟาสต์ฟิตภายใต้ชื่อ “Max Auto” ของแม็คโคร เป็นจำนวนเงินมากถึง 643 ล้านบาท เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นเชลล์ออโตเซิร์ฟในปัจจุบัน

จนล่าสุดบริดจสโตนได้เข้ามาซื้อกิจการต่อไป จากระยะเวลาที่ผ่านมาและการพัฒนาขยายสาขามากต่อเนื่องของเชลล์ออโตเซิร์ฟ ย่อมทำให้มูลค่าการซื้อขายครั้งนี้น่าจะเป็นพันล้านบาทแน่นอน

สำหรับสาเหตุที่บริดจสโตนตัดสินใจซื้อเชลล์ออโตเซิร์ฟ ทั้งที่บริดจสโตนเองก็มีศูนย์บำรุงและดูแลรักษารถยนต์ “ค็อกพิท” และ “ออโต้ บอย” อยู่แล้ว เนื่องจากศักยภาพของเชลล์ออโตเซิร์ฟค่อนข้างจะหลากหลาย และครอบคลุมกลุ่มลูกค้าได้ดีกว่า ซึ่งจะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาเชลล์ออโตเซิร์ฟสั่งซื้อยางจากบริดจสโตนในแต่ละเดือน มีปริมาณเท่ากับยอดขายส่งยางของบริดจสโตน ให้กับตัวแทนจำหน่ายทั่วทั้งภาคกลางของไทยเลยทีเดียว

ดังนั้นเชลล์ออโตเซิร์ฟจึงถือเป็นช่องทางการขายยางรถยนต์ทดแทนที่มีขนาดใหญ่ มีฐานลูกค้าที่เหนียวแน่นและมีจำนวนมาก การที่บริดจสโตนเข้าไปซื้อเชลล์ออโตเซิร์ฟ จึงเป็นการเข้าไปควบคุมพื้นที่การขายได้ดีที่สุด โดยเฉพาะสถานการณ์การแข่งขันที่นับวันจะรุนแรง และมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยเกี่ยวกับการเปิดเกมรุกของบริษัทยางรถยนต์คู่แข่งนี้ บริดจสโตนได้เฝ้าจับตาดูมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทุ่มลงทุนตั้งโรงงานในไทย ของบริษัทยางรถยนต์หลายยี่ห้อในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อาทิ “โยโกฮามา” ยางรถยนต์ยี่ห้อ “แม็กซิส” และล่าสุดการตั้งโรงงานของ “ดันล็อป” เมื่อปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมียางรถยนต์แบรนด์ใหม่ๆ ที่เตรียมจะเข้ามารุกตลาดไทย ซึ่งขณะนี้กำลังขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ และกำลังก่อสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมแถบภาคตะวันออกอีกด้วย

จากการทยอยเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย ของบรรดาผู้ผลิตยางรถยนต์ทั้งหน้าเก่าและใหม่ ทำให้บริดจสโตนจำเป็นต้องรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันเอาไว้ โดยเฉพาะช่องทางการขายที่มีศักยภาพอย่างเชลล์ออโตเซิร์ฟ

นอกจากนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด ผู้ผลิตยางบริดจสโตนในประเทศไทย ได้มีการลงทุนขยายโรงงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาและวิจัยยางรถยนต์ในไทย ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาบริดจสโตนได้ลงทุนประมาณ 1,200 ล้านบาท เพื่อสร้างสนามทดสอบยางรถยนต์แห่งใหม่ ในบริเวณใกล้เคียงกับโรงงานที่หนองแค จังหวัดสระบุรี โดยสนามทดสอบยางรถยนต์แห่งใหม่ ถือว่ามีขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคนี้

ล่าสุดเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ไทยบริดจสโตนได้รับการอนุมัติจากบริษัทแม่ บริดจสโตน คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ให้เพิ่มกำลังการผลิตยางเรเดียลสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ที่โรงงานหนองแค เป็นมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 1 หมื่นล้านเยน หรือประมาณ 3 พันล้านบาท โดยเพิ่มกำลังการผลิตวันละ 6,000 เส้น ภายในปี 2553 หรือส่งผลให้โรงานหนองแคมีกำลังการผลิตรวม 36,500 เส้นต่อวัน เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ผลจากการขยายกำลังการผลิตในไทยอย่างมาก ทำให้บริดจสโตนจำเป็นต้องมีช่องทางการขาย ที่สามารถสนองตอบกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น นี่จึงเป็นอีกเหตุผลทำให้บริดจสโตนขอเจรจาซื้อศูนย์บริการบำรุงและรักษารถยนต์จากเชลล์ ประกอบกับทางบริษัทแม่ของเชลล์เองก็มีนโยบายขายกิจการขนาดเล็กในเครือออกไป เพื่อมุ่งไปที่ธุรกิจหลักของเชลล์อย่างน้ำมันมากกว่า ส่งผลให้การเจรจาซื้อขายเชลล์ออโตเซิร์ฟบรรลุไปได้ด้วยดี

ขณะที่โครงสร้างการบริหารเชลล์ออโตเซิร์ฟ เนื่องจากทีมบริหารชุดเดิมได้มีการลาออกไป บริดจสโตนจึงต้องส่งทีมงานของตัวเองเข้าไปดูแล โดยค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าจะเป็น “วินิจ ปรุงพาณิช” ผู้จัดการฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์และส่งเสริมการขาย บริษัท บริดจสโตนเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด มาเป็นผู้ดูแลเชลล์ออโตเซิร์ฟ พร้อมกับดึงทีมงานจากโรงงานที่รังสิต และฝ่ายขายของบริดจสโตนเซลส์มาร่วมกันทำงาน โดยบริดจสโตนได้ตั้งบริษัทใหม่เข้ามาดูแล หรือที่เรียกว่าบริดจสโตน เอทีซี (ATC)

การเข้าไปซื้อกิจการ “เชลล์ออโตเซิรฟ” ของค่ายยางรถยนต์ยักษ์ใหญ่ “บริดจสโตน” จึงนับเป็นแผนแย่งชิงพื้นที่ขาย สกัดคู่แข่งที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย เพื่อเปิดศึกชิงตลาดยางรถยนต์ของไทย ที่มีมูลค่านับหมื่นล้านบาทต่อปี!!
กำลังโหลดความคิดเห็น