xs
xsm
sm
md
lg

“SCG ธุรกิจพอเพียง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักคิดหลักปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนอันเปี่ยมล้นคุณค่าที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชทานแก่สังคมไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 แต่ไม่ได้มีการนำมาปฏิบัติอย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเอสซีจีเป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า ขณะที่ประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง เอสซีจีได้เร่งลงทุนเพิ่มโดยกู้เงินจากต่างประเทศมาขยายกิจการเช่นเดียวกับหลายบริษัท เวลานั้นเอสซีจีจึงมีกลุ่มธุรกิจมากถึง 10 กลุ่ม และมีบริษัทในเครือกว่า 200 แห่ง ต่อมาเมื่อวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ปะทุขึ้น รัฐบาลประกาศอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ทำให้เอสซีมียอดเงินกู้สุทธิสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ยอดรวม 246,700 ล้านบาท และขาดทุนกว่า 52,000 ล้านบาทในปีนั้น นอกจากนี้เรายังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานอีกจำนวนหนึ่งมูลค่าเท่าๆ กับหนี้สิน ส่วนยอดขายในกลุ่มธุรกิจกลับลดลงเพราะพิษเศรษฐกิจ
เพื่อนำพาองค์กรให้ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจไปให้ได้ เอสซีจีจึงน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ โดยเริ่มจากประเมินสถานการณ์และปรับโครงสร้างองค์กรจากเดิมที่มี 10 กลุ่มธุรกิจ ให้เหลือ 3 กลุ่มธุรกิจที่องค์กรมีความชำนาญ จากนั้นจึงระงับโครงการใหม่ทั้งหมดไว้ก่อน และเข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้ทุกคนอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงเพิ่มภูมิคุ้มกันแก่องค์กรด้วยการใส่ใจกับนโยบายบริหารความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น เวลานั้นเอสซีจีมองว่าวิกฤติคงอยู่ต่อไปอีกนานพอสมควร เราจึงคิดโดยเน้นการแก้ปัญหาระยะยาว จนกระทั่งเข้าสู่ปีที่ห้าเอสซีจีจึงเริ่มกลับมามีกำไรและสามารถจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นได้อีกครั้ง
ปัจจุบันการลงทุนของเอสซีจี 60% คือธุรกิจในประเทศไทย ส่วนอีก 40% คือธุรกิจในต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงตามแนวทางธุรกิจพอเพียง การขยายธุรกิจไปต่างประเทศ เอสซีจีจะเริ่มจากสิ่งที่เรามีความรู้ก่อนเสมอ ในเบื้องต้นเราจะนำสินค้าไปขายและสร้างระบบการจัดจำหน่ายเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคท้องถิ่นก่อน จากนั้นจึงศึกษามาตรฐานสิ่งแวดล้อมและวางแผนเข้าไปลงทุนในประเทศนั้นๆ ต่อไป
นายยุทธนา เจียมตระการ
ด้านนายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ - การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าวเสริมในส่วนของนวัตกรรมและทรัพยากรบุคคลว่า ทุกวันนี้การแข่งขันจากภายในและภายนอกมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการผลิตคิดค้นสินค้าใหม่ขึ้นตลอดเวลา หากจะแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงคิดแค่เรื่องการลดต้นทุนแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แต่ต้องคำนึงถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อต่อยอดธุรกิจและตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญด้วย ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เอสซีจีได้มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งไม่ได้มีกลุ่มลูกค้าแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่สินค้าของเรามีศักยภาพที่จะส่งขายไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย โดยกระบวนการพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) จะต้องเริ่มจากการทบทวนตัวเอง จากนั้นจึงมองหาโอกาสทางธุรกิจ สำรวจสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก ด้วยกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบนี้เอง ทำให้ปัจจุบันเอสซีจีมียอดขายสินค้า HVA ใน 9 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2559 สูงถึง 120,000 ล้านบาท คิดเป็น 38% ของยอดขายทั้งหมด
ส่วนในเรื่องทรัพยากรบุคคลนั้น เอสซีจีจะเริ่มจากวัตถุประสงค์หลักทางธุรกิจก่อน หากต้องการพัฒนาสินค้า HVA หรือขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ เราก็ต้องย้อนกลับมาดูว่าเราต้องการคนจำนวนเท่าไร คนเหล่านั้นต้องมีประสบการณ์และพื้นฐานการศึกษาอย่างไร หลังจากรับพนักงานใหม่เข้ามาแล้วก็ต้องมีกระบวนการพัฒนาทรัพยาบุคคล ซึ่งเราจะถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งความสำเร็จและผิดพลาด วัฒนธรรมองค์กรของเราคือพี่สอนน้อง เพื่อให้เกิดความผูกพันระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง และปลูกฝังกระบวนการทำงานร่วมกันเป็นทีม รวมถึงมีนโยบายหมุนเวียนให้พนักงานได้เรียนรู้งานที่แตกต่างจากสิ่งที่เคยทำด้วย
ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์
ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ อาจารย์ภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และที่ปรึกษาศูนย์สถานศึกษาพอเพียง มูลนิธิยุวสถิรคุณ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แบ่งปันแนวคิดเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจพอเพียงว่า การน้อมนำแนวพระราชดำริมาใช้ในเชิงธุรกิจต้องเริ่มจากสองเงื่อนไขพื้นฐานสำคัญ คือ ความรู้ และ คุณธรรม ความรู้ไม่ใช่แค่สิ่งที่อยู่ในตำรา แต่ต้องมีความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง มีสติตลอดเวลาในการใช้ความรู้ และต้องมีคุณธรรม ซื่อสัตย์ สุจริตเป็นเครื่องนำทาง ต่อมาคือการปฏิบัติตามหลักสามประการ หนึ่ง เริ่มที่พอประมาณและทำความรู้จักตัวเองเยอะๆ เรามีทรัพยากรอะไรบ้างและเราจะสร้างความสมดุลได้อย่างไร ธุรกิจจะอยู่ยั่งยืนได้ถึงร้อยปี ถ้าไม่รู้จักตัวเองคงมาได้ไม่ไกลขนาดนี้ สอง มีเหตุมีผล ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าเราทำสิ่งนี้เพื่ออะไร และมองเป้าหมายระยะยาวเป็นสำคัญ สาม มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี สามารถยืนหยัดอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงได้ หากทำตามนี้พื้นฐานธุรกิจเราจะแน่น จากนั้นความสมดุลอย่างยั่งยืนในสี่มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ
การวัดความสำเร็จของธุรกิจพอเพียง อันดับแรกเลยคือธุรกิจต้องอยู่รอด แต่ไม่ใช่เรื่องของการสร้างกำไรสูงสุดหรือสร้างความมั่งคั่งให้แก่ผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียว เป้าหมายของธุรกิจพอเพียงต้องทำเพื่อทุกคนที่มีส่วนได้เสียกับองค์กร เช่น ชุมชนอยู่ได้โดยไม่ประท้วงขับไล่โรงงาน องค์กรสามารถกลมกลืนกับตลาดท้องถิ่นในต่างประเทศได้ อย่างนี้เป็นต้น
บรรยายขณะสัมมนา
นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า องค์กรจะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้พนักงานต้องมีความยั่งยืนด้วย ทั้งหมดนี้คือเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร ในด้านหนึ่งองค์กรต้องหาวิธีดึงศักยภาพของพนักงานออกมาใช้อย่างเต็มที่ ส่วนอีกด้านหนึ่งเราก็ต้องดึงคุณธรรมความดีของเขาให้แสดงออกมาด้วย และต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าหลายๆ ธุรกิจของเอสซีจีเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีความล่อแหลมอาจทำให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้ หากชุมชนไม่ต้อนรับเอสซีจีจะไม่สามารถขยายธุรกิจออกไปได้เลยและคงไม่มีใครอยากมาทำงานกับเรา เราจึงเน้นเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นอย่างมาก เรามีอุดมการณ์ 4 ประการที่ยึดถือมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท คือ ตั้งมั่นในความเป็นธรรม มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ เชื่อมั่นในคุณค่าของคน และถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม อีกทั้งเรายังเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็นและลงมือทำสิ่งที่ท้าทายอยู่เสมอ ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้องค์กรของเราพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสืบต่อไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น