xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจตกสะเก็ด! รายได้ภาคเกษตรทรุด ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคใต้หดตัวต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สินค้าเกษตรหลายชนิดรวมทั้งยางพารามีราคาลดลง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคใต้หดตัวต่อเนื่อง (แฟ้มภาพ)
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ ม.หาดใหญ่ สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคใต้เดือนที่ผ่านมา พบปรับตัวลดลง เหตุจากรายได้ภาคเกษตรดิ่งหนัก ราคาผลผลิตหดตัวต่อเนื่อง ประกอบกับท่องเที่ยวอยู่ในช่วงโลว์ซีซัน คาดอีก 3 เดือนข้างหน้าภาวะเศรษฐกิจและรายได้จากการทำงานมีแนวโน้มจะลดลงอีก

วันนี้ (3 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกันยายน 2559 โดยเก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนภาคครัวเรือน ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่า เป็นเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 46.10 เพศหญิง ร้อยละ 53.90 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี คิดเป็นร้อยละ 28.30 และมีระดับการศึกษาปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 43.20
 

 
ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ เดือนกันยายน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลงเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม ส่วนหนึ่งมาจากรายได้เกษตรกรที่ลดลงจากสัญญาณราคาสินค้าเกษตรหดตัวอย่างต่อเนื่อง และประกอบกับการท่องเที่ยวภาคใต้โดยรวมที่ลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงโลว์ซีซัน

ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกด้าน โดยเฉพาะรายจ่ายในด้านต่างๆ ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน เนื่องจากรายได้จากภาคเกษตรที่ลดลง อันเนื่องจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรที่ไม่แน่นอน ประกอบกับแนวโน้มการปรับตัวที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก รวมทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวของภาคใต้ฝั่งตะวันตกที่ลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงโลว์ซีซัน และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ที่เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝน
 

 
ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานลดลงคิดเป็นร้อยละ 32.30 และ 37.70 ตามลำดับ มีเพียงร้อยละ 7.50 และ 8.40 ที่คาดการณ์ว่า ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายด้านต่างๆ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดการณ์ว่าจะยังคงทรงตัว และอาจจะเพิ่มสูงขึ้นหากมีปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐ ดังนั้น ภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องจึงควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน และเพิ่มการหมุนเวียนของรายจ่ายในระบบเศรษฐกิจภาคใต้ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในภาคใต้

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากที่สุด คือ หนี้สินครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 29.20 รองลงมา คือ ค่าครองชีพ และค่าจ้างแรงงาน คิดเป็นร้อยละ 25.30 และ 17.10 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ หนี้สินครัวเรือน และค่าจ้างแรงงาน ตามลำดับ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น