xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าวิถีเกษตรอินทรีย์ตามรอยพ่อ “เงินทุนแอ๊ดวานซ์”วางแผนซีเอสอาร์ 3 ปีต่อเนื่อง มุ่งสู่ความยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางดารณี หัวใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเงินทุน แอ็ดวานซ์ จำกัด (มหาชน) (ซ้าย) นิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท (กลาง) ปรีดาธพันธุ์  จันทร์เรือง ผู้นำกลุ่มเกษตรอินทรีย์แห่งเดียวในจังหวัดชัยนาท (ขวา)
มุ่งหน้าสนับสนุนวิถีเกษตรอินทรีย์ตามหลักเศรฐกิจพอเพียง “เงินทุนแอ๊ดวานซ์”วางแผนซีเอสอาร์ เผยแนวทาง 3 ปีต่อเนื่อง ปีแรก สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ปี 2 สนับสนุนการพัฒนาไร่ของผู้นำเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ตามรอยเท้าพ่อหลวง ให้กับกลุ่ม Young Smart Farmer Thailand ปี 3 สนับสนุนการพัฒนาให้นาข้าวกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดชัยนาท “กลุ่มเกษตรอินทรีย์ชัยนาท”ชูธงข้าวอินทรีย์ เดินหน้าสร้างแบรนด์ เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร “ผู้ว่าฯ ชัยนาท”ขานรับนโยบายรัฐบาลหนุนทำนาแปลงใหญ่ เร่งช่วยแก้ปัญหาข้าวราคาตกต่ำ เตรียมรณรงค์”คนชัยนาทกินข้าวชัยนาท”

นางดารณี หัวใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเงินทุน แอ็ดวานซ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ของบริษัทให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของชุมชนเป็นหลัก โดยในช่วง 3 ปีของการดำเนินงาน คือ ปี2559 -2561 บริษัทได้ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์แบบพึ่งตนเอง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9

บริษัทฯ วางแผนว่าในปีแรก เริ่มด้วยการสนับสนุนสินค้าของกลุ่มเกษตรกร คือ ข้าวกล้องอินทรีย์ 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวสินเหล็ก และข้าวกล้องหอมมะลิ ปีละ 3,000 กิโลกรัมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี พร้อมสมทบทุนสนับสนุน การสร้างโรงเรือนบรรจุผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดมาตรฐาน อย ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้ได้รับตรา OTOP 5 ดาว ซึ่งจะทำให้สามารถกระจายสินค้าและมีรายได้เข้ามายังชุมชนมากขึ้น

ปีที่ 2 จะสนับสนุนผ่านผู้นำชุมชน ด้วยการพัฒนาไร่ของปรีดาธพันธุ์ จันทร์เรือง ผู้นำกลุ่มเกษตรอินทรีย์แห่งเดียวในจังหวัดชัยนาท เป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ตามรอยเท้าพ่อหลวง ให้กับกลุ่ม Young Smart Farmer Thailand และปีที่ 3 จะสนับสนุนการพัฒนาให้นาข้าวกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดชัยนาท (Homestay) เพื่อกระจายรายได้มายังชุมชน และสนับสนุนการท่องเทียวแบบ อีโค่ทัวริสซึ่ม (Ecotourism) หรือการท่องเที่ยวเชิงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงการอนุรักษ์พลังงานต่อไป

“การทำซีเอสอาร์เป็นนโยบายของบริษัทที่ต้องการช่วยเหลือสังคม ขณะเดียวกันกับการชื่นชอบในโครงการพระราชดำริโดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เพราะสิ่งที่ในหลวงทำเป็นสิ่งมหัศจรรย์จริงๆ กว่า 4,000 โครงการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พิสูจน์ได้ว่าใครที่ทำตามแนวทางของท่านจะเห็นผลสำเร็จได้ย่างแท้จริง สำหรับการเลือกทำซีเอสอาร์ในเรื่องข้าว เพราะข้าวเป็นหัวใจหลักของประเทศไทย และการสร้างเกษตรกรให้มีความสุขและมีรายได้พอเพียงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ผ่านมาจะเห็นว่าชาวนามีความลำบากมาก เงินที่รัฐบาลช่วยเหลือไม่เพียงพอ ต้องติดหนี้กันอย่างมาก”

“อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเราเป็นบริษัทเอกชน มีระบบ มีขั้นตอน และการติดตามผล อยากแบ่งปันองค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการให้กับสตาร์ทอัพซึ่งมีฝีมือในการผลิต เพราะการคิดว่าอยากจะทำเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีระบบและการจัดการที่ดีจะไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากการบริหารจัดการที่ดีเป็นพื้นฐานของความสำเร็จ เช่น การจัดทำระบบบัญชี ระบบการจัดการ เพราะหากมีการเขียนเป็นแนวปฏิบัติให้เอสเอ็มอีนำไปทำเชื่อว่าประสิทธิภาพที่ได้จะเพิ่มมากขึ้น เมื่อการผลิตแข็งแรงการตลาดจะทำได้ง่ายขึ้น และจะเป็นการวางระบบพื้นฐานการใช้จ่ายอย่างถูกต้องซึ่งเป็นส่วนที่เอสเอ็มอีส่วนมากต้องการ การจัดการอย่างเป็นระบบมีความสำคัญ จะทำได้มากน้อยก็ต้องทำ และถ้าทุกคนเข้าใจในหลักการจะทำให้ทำงานได้เร็ว”

“สำหรับการเลือกมาชัยนาท ด้วยเหตุบังเอิญจากการอ่านบทความเรื่องเกษตรอินทรีย์ทำให้ได้รู้ถึงความคิดและแนวทางของคุณที่ทำตามแนวทางพระราชดำริของในหลวง สำหรับเราไม่ใช่เกษตรกรเราทำไม่ได้ แต่มีคนๆ หนึ่งที่ตั้งใจทำด้วยความมุ่งมั่นและทำอย่างมีความสุข ก็เชื่อว่าจะสำเร็จได้” นางดารณี กล่าว

ปรีดาธพันธุ์ จันทร์เรือง ผู้นำกลุ่มเกษตรอินทรีย์แห่งเดียวในจังหวัดชัยนาท ซึ่งปัจจุบันเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรุ่นใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมการเกษตรจัดทำโครงการสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า ผมพยายามทำให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน เช่น ที่หันคา และเริ่มขยายไป ด้วยการที่คนที่มาอบรมแล้วไปสอนใหักับสมาชิกคนอื่นๆ กระจายกันไป ซึ่งในกลุ่ม young smart farmer ที่ทำอยู่มีพื้นที่รวมกันเป็นพันไร่ โดยมีตลาดของตัวเองเพราะทุกคนที่ทำข้าวเริ่มมีแบรนด์

“ในเรื่องรายได้จากเมื่อก่อนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ในตอนแรกมีความแตกต่างกันมาก แต่ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน แต่สิ่งสำคัญที่ได้คือความสุข ทั้งการที่ไม่ต้องใช้สารเคมีซึ่งมีอันตรายทั้งต่อร่างกายและธรรมชาติ ส่วนการวางระบบบริหารจัดการ ตอนเป็นผู้จัดการโรงงานทุกอย่างมีการเตรียมไว้ให้เราทำตามและแต่ละแผนกทำให้เราหมดเราแค่ดูภาพรวม แต่เมื่อมาเป็นผู้ประกอบการทุกอย่างต้องทำเอง ดังนั้น การที่จะมีที่เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการมาช่วยจัดระบบจะเป็นเรื่องที่ดีมาก”

“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือการปลูกข้าวอินทรีย์ที่ชัยนาท เพราะที่นี่เป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของประเทศไทย เมื่อเกษตรกรขายเมล็ดพันธุ์ซึ่งได้ราคาสูงอยู่แล้ว การจะทำให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์จึงเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้ มักจะเชื่อกันว่าพื้นที่นี้ทำเกษตรอินทรีย์ไม่ได้ แต่ขอยืนยันว่าทำได้ถ้าต้องการทำจริงๆ ส่วนการจะทำให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลง ต้องเริ่มจากตลาด ถ้าเราทำให้เขาเห็นได้ชัดเจนว่ามีตลาดที่ดี ก็จะทำให้เขาเปลี่ยนได้ ยิ่งราคาข้าวปัจจุบันเหลือเกวียนละห้าบาท ถือว่านี่คือโอกาสถ้าผมมีตลาด สำหรับตลาดในประเทศตอนนี้ผมขายกิโลกรัมละแปดสิบบาทเท่ากับราคาส่งออกข้าวสารตันละประมาณเจ็ดหมื่นเทียบของผมแปดหมื่นบาท ตอนนี้ตลาดส่งออกมีความต้องการมาก แต่เราผลิตไม่พอ ข้าวเราดีตรงที่นุ่มหอมหวานกว่าที่อื่น เราใช้ชื่อ Origi Rice ขายในออนไลน์”

นิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า แนวทางในการสนับสนุนเกษตรกรหรือชาวนาของจังหวัดชัยนาทเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลคือการทำนาหรือเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาศัตรูพืชก็จะสามารถทำไปในคราวเดียวกันได้เลย และเป็นการรวมพลังเพื่อต่อรองกับพ่อค้าหรือโรงสี นอกจากนี้ ในเรื่องของการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำคือการพยายามสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น เกษตรกรกลุ่มนี้ซึ่งรวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชนที่เน้นในเรื่องเกษตรอินทรีย์ รวมทั้ง การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี การใช้สื่อออนไลน์ทุกช่องทางที่สามารถทำได้เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้จักผลผลิตของเขา โดยมีเรื่องราวของผลผลิตหรือสินค้าที่สื่อออกไปทำให้ข้าวของเขามีราคาสูงขึ้น

ในการต่อยอดจะทำอย่างไรเพื่อให้ชาวนาอื่นๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ในศูนย์เรืยนรู้แห่งนี้ ซึ่งมีการสร้างแบรนด์ของผลผลิตให้เป็นที่รู้จัก นอกจากนี้ ในเรื่องการขายข้าวออนไลน์จะทำอย่างไร เพราะคงไม่ใช่การขายข้าวแค่ในพื้นที่หรือในประเทศไทยเท่านั้น แต่เราต้องมองไปให้ไกลกว่านี้อย่างเออีซี และทั่วโลก เพราะเมื่อเราสามารถทำให้ข้าวของเรามีคุณค่าหรือมีแบรนด์ในตัวเองแล้วเราสามารถจะเติบโตไปได้อีกมาก ในด้านการตลาด ที่เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้เพราะชาวนาเน้นขายข้าวสดคือเกี่ยวมาก็ขายทันที ไม่ได้มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือความต้องการของตลาดใหม่ๆ เช่น เกษตรอินทรีย์
พนักงานของบริษัทฯ ร่วมทำกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย
สำหรับแนวคิดเรื่อง”คนชัยนาทกินข้าวชัยนาท” เนื่องจากชัยนาทมีข้าวหอมมะลิที่คุณภาพดีพอสมควรสามารถผลิตมาขายในราคาถูกได้ ขณะนี้ หน่วยงานการเกษตรกำลังคิดเรื่องต้นทุนน่าจะสามารถขายได้กิโลกรัมละ 25-30 บาท ซึ่งข้าวมีแบรนด์ขายในราคา 40-80 บาท และเมื่อเราผลิตเองและจำหน่ายกันเอง ไม่ว่าจะเป็นช่องทางของข้าราชการที่ช่วยกันซื้อ ยังสามารถหาตลาดทั่วทั้งจังหวัด โดยไม่ต้องมีแบรนด์เพื่อประหยัดต้นทุน เพราะเราขายกันเอง อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของแบรนด์ ซึ่งจะทำเพื่อขายไปตลาดโลก มองว่าความต้องการข้าวปลอดสารหรือข้าวอินทรีย์น่าจะไปได้ดี และเป็นส่วนที่ต้องขยายผลต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น