xs
xsm
sm
md
lg

ดีแทคจับมือพาร์ตเนอร์ ชูเกษตรครบวงจรลุยนำร่องด้วย IoT 50 ฟาร์ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดีแทคจับมือสำนึกรักบ้านเกิดและกรมส่งเสริมการเกษตร ประกาศรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดประจำปี 2559 ชูเกษตรแบบครบวงจรทางรอดที่ยั่งยืนของเกษตรกรไทย พร้อมนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง หรือ IoT สนับสนุนคนไทยสู่ Smart Farmer นำร่องส่งโซลูชั่นตรวจวัดความชื้นผ่านแอปพลิเคชั่นสู่ 50 ฟาร์มตัวอย่างทั่วประเทศ

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า เป้าหมายที่สำคัญของดีแทค คือ การนำเทคโนโลยีมาพัฒนาให้เกษตรกรไทยก้าวเข้าสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ด้วยพื้นฐานของประเทศไทยที่เป็นแหล่งผลิตเกษตรกรรมของโลก โดยที่ผ่านมา มีความร่วมมือกับภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ เสมือนเป็นการติดอาวุธให้เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพ อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดอบรมเชิงพาณิชย์ให้กับ “Young Smart Farmer” จากทั่วประเทศมาแล้วกว่า 3,000 คน ช่วยให้เกิดช่องทางรอดพ้นจากภาวะราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำด้วยแอปพลิเคชั่นแสดงราคาจากดีแทค ได้

“ปีนี้นับเป็นปีที่ 8 ต่อเนื่องที่ดีแทค ได้นำเทคโนโลยีที่มีมาสนับสนุนเกษตรกรทั่วประเทศ ซึ่งเราพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรควบคู่กับเกษตรกรมาอย่างยาวนาน เพื่อหวังให้กลุ่มคนสมาร์ทฟาร์มมิ่งทั่วประเทศได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม”

นอกจากนี้ ดีแทคยังได้วางเป้าหมายเน้นการทำเกษตรแบบแม่นยำ และสนับสนุนสตาร์ทอัปด้านการเกษตร หรือ Agri Tech โดยการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการแก้ปัญหาการเกษตร หรือสร้างธุรกิจใหม่ทางด้านการเกษตรโดยใช้อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things หรือ IoT) ซึ่งจะเป็นการช่วยผลักดันโมเดล “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมในที่สุด

นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดีแทค กล่าวเสริมว่า การนำอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง หรือ IoT เข้ามาใช้ จะเริ่มเห็นผลอย่างจริงจังในอนาคตอันใกล้นี้ โดยจะมีการนำโซลูชั่นการวัดค่าความชื้นที่สามารถอ่านค่าได้จากสมาร์ทโฟนมาควบคุมการผลิตพืชผลทางการเกษตร ทดสอบการใช้งานใน 50 ฟาร์มทั่วประเทศ โดยการทดลองจะเน้นที่พืชเศรษฐกิจ และราคาสูง 5 ชนิดหลัก คือ 1.ข้าว 2.มะเขือเทศ 3.กุหลาบ 4.เมล่อน และ 5.เห็ด โดยหวังว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงราคาพืชผลได้อย่างยั่งยืน ด้วยการศึกษาข้อมูลของเกษตรกรที่มากขึ้น จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติ และความเข้าใจแบบดั้งเดิมที่บ่อยครั้งสร้างความเสียเปรียบต่อการแข่งขันการผลิต และท้ายที่สุดการเสนอขายสู่ช่องทางออนไลน์จะทำให้เกษตรกรมีความมั่งคั่งมากขึ้น

ด้าน นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวว่า มูลนิธิขอแสดงความยินดีกับเกษตรกรทั้ง 10 คนที่ผ่านการคัดสรรอย่างเข้มข้นเข้ามาได้ และหวังว่าจะเป็นต้นแบบของรุ่นน้องในการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรได้อย่างเต็มที่ต่อไป ด้วยแนวคิดเกษตรครบวงจรมีเกณฑ์ และตัวชี้วัดเข้มข้นเป็นพิเศษ โดยจะพิจารณาตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการเกษตร คือการคิดวิเคราะห์ วางแผนการจัดการ การเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพิ่มจำนวน และคุณภาพของการผลิต ลดต้นทุน ลดเวลา ลดการสูญเสียทรัพยากร ไปสู่การจำหน่ายให้กับผู้บริโภคด้วยตัวเกษตรกรเอง

“ต่อไปนี้ ข้าวไม่ใช่จะขายในราคาถูกๆ ถ้าเราทำข้าวให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น อย่างในประเทศนอร์เวย์ เกษตรกรได้รับการช่วยเหลือทุกอย่างจากภาครัฐ มีหน้าที่เพียงรับโควต้าจำนวน และปลูกส่งสินค้าตามปริมาณที่รับเท่านั้น แต่วันนี้ เราไม่ต้องรอให้รัฐมาช่วยเพียงอย่างเดียว เรามีช่องทางการจำหน่ายผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีผู้บริโภครอเราอยู่มากมาย ขอเพียงให้เราทำข้าวคุณภาพให้ได้เท่านั้น”

ทั้งนี้ ผลรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2559 โดยเกษตรกรผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ที่มุ่งเน้นการทำเกษตรแบบครบวงจร คือ นายอายุ จือปา วัย 31 ปี ชาวเขาเผ่าอาข่าจากจังหวัดเชียงราย ผู้ตั้งปณิธานน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดผลประโยชน์มากที่สุด และรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายพงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ จากจังหวัดมหาสารคาม เกษตรกรผู้หยิบยกปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม “แก้วพะเนาว์ ยัง สมาร์ท ฟาร์เมอร์” และรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ นางสาวศิริวิมล กิตะพาณิชย์ จากจังหวัดเชียงราย เกษตรครบวงจร ปลูกข้าว และผักอินทรีย์ “ไร่รื่นรมย์”
กำลังโหลดความคิดเห็น