xs
xsm
sm
md
lg

ปั้นเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปีที่ 8 ดีแทค ชูแนวทางสร้าง “เกษตรกรครบวงจร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความพิเศษกว่าทุกปี สำหรับการคัดเลือกรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดประจำปี 2559 คือได้น้อมนำพระราชดำริเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง และการเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นแนวทางสรรหา “เกษตรกรแบบอย่างที่ดี”

หมายความว่า เกษตรกรรุ่นใหม่สามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรไปต่อยอด สร้างประโยชน์ทั้งกับตนเอง และยังเป็นที่พึ่งพาแก่เพื่อนเกษตรกรและชุมชนได้อย่างดี
เกษตรกรคนรุ่นใหม่ 10 คนที่เข้ารอบสุดท้าย
บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด และกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศผลรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2559 นับเป็นการจัดมอบรางวัลเป็นครั้งที่ 8 ซึ่งแต่ละปีจะให้แนวคิดหลักเพื่อพิจารณาคัดเลือกแตกต่างกันไป แต่เป้าหมายสำคัญ คือส่งเสริมให้เกษตรกรไทยเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีภูมิรู้ และสามารถเป็นที่พึ่งพาแก่เพื่อนเกษตรกรและชุมชน
บุญชัย เบญจรงคกุล
บุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวว่า “ด้วยแนวคิดหลัก “เกษตรครบวงจร” ในปีนี้ เราสร้างเกณฑ์ และตัวชี้วัดเข้มข้นเป็นพิเศษ มีการพิจารณาตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการเกษตร คือการคิดวิเคราะห์ วางแผนการจัดการ การเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพิ่มจำนวน และคุณภาพของการผลิต ลดต้นทุน ลดเวลา ลดการสูญเสียทรัพยากร จนไปสู่การจำหน่ายให้กับผู้บริโภคด้วยตัวเกษตรกรเอง หรือเรียกว่า จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ”
เกษตรกรที่ผ่านการคัดเลือกจนเข้ารอบสุดท้าย 10 คนในปีนี้ ต้องผ่านการคัดสรรอย่างเข้มข้น ซึ่งมูลนิธิฯ คาดหวังจะให้เป็นต้นแบบของรุ่นน้องในการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรที่ยั่งยืน
เกษตรครบวงจร จะเป็นวิถีของเกษตรกรรุ่นใหม่ หมายถึงตัวเกษตรกรได้ยกระดับตนเองสู่ Smart Farmer ซึ่งต้องรอบรู้ในระบบการผลิต มีความสามารถในการวิเคราะห์ เชื่อมโยงและบริหารจัดการการผลิตและการตลาด โดยใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ คำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม
“เราคาดหวัง “เกษตรกรไทย” จะเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีภูมิรู้ และสามารถดูแลคนบนโลกใบนี้ ซึ่งต่อไป ข้าวของไทยไม่ใช่จะขายกันในราคาถูกๆ ถ้าเราทำข้าวให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น อย่างในประเทศนอร์เวย์ เกษตรกรได้รับการช่วยเหลือทุกอย่างจากภาครัฐ มีหน้าที่เพียงรับโควต้าจำนวน และปลูกส่งสินค้าตามปริมาณที่รับเท่านั้น แต่วันนี้ เราไม่ต้องรอให้ภาครัฐมาช่วยทางเดียว เรายังมีช่องทางการจำหน่ายผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีผู้บริโภครอเราอยู่มากมาย ขอเพียงให้เราผลิตข้าวที่มีคุณภาพให้ได้เท่านั้น” บุญชัย กล่าวเสริม
มร.ลาร์ส นอร์ลิ่ง
หนุนเกษตรกรไทยยุคใหม่
เชื่อมโยงนวัตกรรมและเทคโนโลยี
สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ความร่วมมือกับดีแทค และมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ช่วยให้เกิดการพัฒนา และเชิดชูเกษตรกรเป็นต้นแบบที่มีความภาคภูมิใจในอาชีพ สอดคล้องกับภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตรที่มุ่งให้ระบบการผลิตทางเกษตรมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่เหมาะสม เรียกว่าช่วยผลักดันให้เกิดเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer และทำการผลิตในลักษณะ Smart Agriculture เป็นการสร้างอนาคตเกษตรกรรมไทยให้สามารถเชื่อมโยงภาคเกษตรเข้ากับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่
ขณะเดียวกัน มร.ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวถึง การนำเทคโนโลยีของดีแทคมาพัฒนาให้เกษตรกรไทยก้าวเข้าสู่ Smart Farmer ว่าด้วยพื้นฐานของประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตเกษตรกรรมของโลก ที่ผ่านมา มีความร่วมมือกับภาครัฐสนับสนุนให้เกษตรกรนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ เสมือนเป็นการติดอาวุธให้เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพ อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร จัดอบรมเชิงพาณิชย์ให้กับ “Young Smart Farmer” จากทั่วประเทศมาแล้วกว่า 3,000 คน ช่วยให้เกิดช่องทางรอดพ้นจากภาวะราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำด้วยแอปพลิเคชั่นแสดงราคาจากดีแทค
“ในเร็วๆ นี้ ดีแทคยังวางเป้าหมายเน้นการทำเกษตรแบบแม่นยำ และสนับสนุนสตาร์ทอัปด้านการเกษตร หรือ Agri Tech โดยการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการแก้ปัญหาการเกษตร หรือสร้างธุรกิจใหม่ทางด้านการเกษตรโดยใช้อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things หรือ IoT)
โดยจะมีการนำโซลูชั่นการวัดค่าความชื้นที่สามารถอ่านค่าได้จากสมาร์ทโฟนมาควบคุมการผลิตพืชผลทางการเกษตร ทดสอบการใช้งานใน 50 ฟาร์มทั่วประเทศ โดยเริ่มทดลองจากพืชเศรษฐกิจที่มีราคาสูง 5 ชนิด คือ ข้าว มะเขือเทศ กุหลาบ เมล่อน และ.เห็ด โดยหวังว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงราคาพืชผลได้อย่างยั่งยืน ด้วยการศึกษาข้อมูลของเกษตรกรที่มากขึ้น จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติ และความเข้าใจแบบดั้งเดิมที่บ่อยครั้งสร้างความเสียเปรียบต่อการแข่งขันการผลิต และท้ายที่สุดการเสนอขายสู่ช่องทางออนไลน์จะทำให้เกษตรกรมีความมั่งคั่งมากขึ้น"
กล่าวได้ว่า Agri Tech จะช่วยผลักดันโมเดล “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมในที่สุด
เกษตรกรผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองอันดับ 1-2
“อายุ จือปา” หนุ่มชาวเขาเผ่าอาข่าวัย 31 ปี จากจังหวัดเชียงราย ปลูกและพัฒนากาแฟ แบรนด์ “อาข่า อ่ามา” เป็นเกษตรกรผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ
ผลรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2559
เกษตรกรผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ “อายุ จือปา” หนุ่มชาวเขาเผ่าอาข่าวัย 31 ปี จากจังหวัดเชียงราย ปลูกและพัฒนากาแฟ แบรนด์ “อาข่า อ่ามา” จากดอยสูงที่มีรสชาติดี มุ่งเน้นการทำเกษตรแบบครบวงจร ใช้เครื่อง After burner ลดมลภาวะทางอากาศ และยังใช้ระบบธุรกรรมการเงินออนไลน์ เขาตั้งปณิธานน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดผลประโยชน์มากที่สุด
รองชนะเลิศอันดับ 1 “พงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์” จากจังหวัดมหาสารคาม ปลูกและจำหน่ายผักอินทรีย์ แบรนด์“แก้วพะเนาว์ ออร์กานิก ฟาร์ม” เขาคือเกษตรกรอีกคนหนึ่งที่หยิบยกปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม
รองชนะเลิศอันดับ 2 “ศิริวิมล กิตะพาณิชย์” จากจังหวัดเชียงราย ปลูกผักและข้าวอินทรีย์ แบรนด์“ไร่รื่นรมย์” เธอมุ่งเดินหน้าทำเกษตรครบวงจรเพื่อเป็นแบบอย่างของการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับชาวบ้านและผืนแผ่นดินไทย
ส่วนเกษตรกรรุ่นใหม่อีก 7 คน ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรวม 10 คน ได้แก่
1.สุจิตรา จันทะศิลา จาก จ.ศรีสะเกษ ปลูกพริก หอมแดง และกระเทียม และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปหลายชนิด ภายใต้แบรนด์ “สุจิตรา”
2.ศุภชัย เณรมณี จาก จ.อ่างทอง ฟาร์มผักศุภัสสร บนพื้นที่ 25 ไร่ พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องเพื่อผลิตสินค้าคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ทำให้สามารถกำหนดราคาผลผลิตได้เอง
3.โอภาส หรดี จาก จ.ลพบุรี ทำไร่ดอกทานตะวันให้นักท่องเที่ยวได้มาชมความงดงาม เมื่อดอกแห้งก็เก็บเกี่ยว คัดเมล็ดเพื่อนำไปเพาะเป็นต้นอ่อนทานตะวันโดยใช้กระบวนการผลิตที่ใส่ใจถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
4.ศิวกร โอ่โดเชา จาก จ.เชียงใหม่ ปลูกพลับ สาลี่ และอโวคาโด้อินทรีย์ ผลิตกาแฟคั่ว และกาแฟคั่วทำมือในชุมชนดั้งเดิมเผ่าปกาเกอะญอ
5.ศรัณยา กิตติคุณไพศาล จาก จ.เชียงใหม่ ปลูกข้าว ผักออร์กานิก ณ เชิงดอยหลวง เชียงดาว สร้างเครือข่ายตลาดผู้บริโภคผ่านโครงการผูกปิ่นโตข้าว
6.ประกิต โพธิ์ศรี จาก จ.ระยอง เพาะพันธุ์หม้อข้าวหม้อแกงลิง สร้างสายพันธุ์ใหม่โดยการผสมเอง พร้อมแสวงหาข้อมูลและใช้สื่อออนไลน์เพื่อเข้าถึงลูกค้า
7.อรณี สำราญชื่น จาก จ.กาฬสินธุ์ ปลูกหญ้าเพื่อจำหน่ายทั้งแบบสด ท่อนพันธุ์ หญ้าสับ หญ้าหมักพร้อมสร้างแหล่งเรียนรู้สาธารณะการปลูกหญ้าเป็นเสบียงอาหารสัตว์
กำลังโหลดความคิดเห็น