"มะเขือเทศเชอรี่่" มะเขือเทศลูกเล็กๆ มีทั้งแบบเรียวยาว กลม เนื้อแน่น รสชาติหวาน กรอบ นิยมรับประทานสดๆ ต้นกำเนิดมาจากประเทศแถบทะเลทวีปตะวันตก เป็นไม้เมืองหนาว มีหลายสายพันธุ์ แยกตามลักษณะของผล และสี เช่น สีเหลือง ชมพู ม่วง น้ำตาล ม่วง และสีแดง ข้อดีของมะเขือเทศเชอรี่ไม่มีกลิ่น ทำให้สามารถรับประทานสดได้ง่าย
การปลูกมะเขือเทศเชอรี่ของไทย เริ่มจากพื้นที่ภาคเหนือเพราะมีอากาศเอื้ออำนวย แต่เนื่องจากมะเขือเทศปลูกไม่ยาก และผู้บริโภคนิยมรับประทาน จึงได้มีเกษตรกรหลายรายให้ความสนใจ และได้พยายามนำมะเขือเทศเชอรี่สีแดง มาปลูกในพื้นที่อื่นๆ โดยพบการปลูกมะเขือเทศเชอรี่ หรือ มะเชือเทศราชินี (หนึ่งในสายพันธุ์ของมะเขือเทศเชอรี่) ทางจังหวัดในภาคเหนือของไทย ส่วนภาคกลางที่พบขณะนี้ ที่จังหวัดนครปฐม และสุพรรณบุรี
หนึ่งในเกษตรกรที่สามารถนำมะเขือเทศเชอรี่ มาปลูกที่พื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีได้ผลสำเร็จ คือ เกษตรกร Young Smart Farmer จาก อ.ศรีประจัน จ.สุพรรณบุรี ชื่อ “ปิยะ กิจประสงค์” โดยเขาได้นำมะเขือเทศเชอรี่มาปลูกยังพื้นที่แห่งนี้ ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ด้วยการใช้เทคนิคการปลูกในโรงเรือน และใช้วัสดุปลูกแทนการปลูกในดิน และใช้เทคนิคการปรุงแต่งรสชาติด้วยฮอร์โมน
ปัจจุบันมะเขือเทศเชอรี่ที่ไร่ ของหนุ่ม Young Smart Farmer มีรสชาติหวานกรอบ ต่างจากมะเขือเทศเชอรี่ จากไร่อื่นๆ ที่ปลูกในประเทศไทย ทำให้สามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละ 100บาท ในขณะที่มะเขือเทศเชอรี่ จากไร่อื่นๆ ขายได้ในราคากิโลกรัมละ60 บาท และเขาไม่ต้องเดินทางไปขายมะเขือเทศยังพื้นที่ห่างไกล เพราะมีลูกค้าประจำในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี พอถึงสัปดาห์ ก็นำมะเขือเทศ ไปส่งให้กับลูกค้าที่สั่งไว้ และบางส่วนลูกค้ามาซื้อที่บ้าน และการที่มีลูกค้าประจำให้ เก็บมะเขือเทศไปส่งลูกค้าแบบสดๆ ช่วยให้ลูกค้าได้กินมะเขือที่ใหม่สดเสมอ
เขาเล่าว่า สำหรับผลผลิตที่ได้ ในหนึ่งสัปดาห์ มีผลผลิตออกไปส่งให้ลูกค้าจำนวน 100 กิโลกรัม บนพื้นที่การปลูก 300 ตารางเมตร มะเขือเทศ จำนวน 600 ต้น ซึ่งถ้าเป็นช่วงฤดูร้อน ผลผลิตก็จะหายไปครึ่งหนึ่ง เพราะมะเขือเทศเชอรี่เป็นไม้เมืองหนาว ไม่ชอบอากาศร้อน ปกติช่วงฤดูร้อน เกษตรกรทั่วไป ไม่มีผลผลิตออกมาแลย แต่ของเราสามารถทำให้ออกได้ครึ่งหนึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ต้องการผลผลิตที่ออกได้ทุกฤดู เพราะต้องมีผลผลิตส่งลูกค้าทุกวัน ในขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลอง ร่วมกับ ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการหาวิธี ช่วยเพิ่มผลผลิตมะเขือเทศ ในช่วงฤดูร้อน
ปิยะ เล่าว่า ปลูกมะเขือเทศเชอรี่ มาได้ประมาณ 3 ปี เดิมทำงานประจำมาได้ประมาณ 6 ปี เงินเดือนเกือบ 3 หมื่นบาท ลาออกจากงานประจำ เพราะอยากทำอาชีพอิสระ และที่เลือกปลูกมะเขือเทศเชอรี่ เนื่องจากพื้นที่ จังหวัดสุพรรณ ยังไม่มีใครปลูกมาก่อน เพราะเป็นไม้เมืองหนาว แต่ช่วงนั้นมีพื้นที่ใกล้เคียงจังหวัดนครปฐมมีการปลูกกันบ้าง แต่ผลที่ได้ เนื้อยังไม่แน่น และรสชาติ หวานกรอบ ขายเป็นผลสด ไม่ค่อยได้ราคา ส่วนใหญ่นำไปแปรรูป ซึ่งพอเราทำประสบความสำเร็จ คือ สามารถปลูกมะเขือเทศเชอรี่ เนื้อแน่น ไร้เมล็ด รสชาติหวานกรอบ ทำให้เราสามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่ามะเขือเทศเชอรี่ จากไร่อื่นๆ
"ผมและภรรยา เรียนจบด้านการเกษตร ซึ่งนำความรู้จากที่เรียนมาปรับใช้กับการปลูกมะเขือเทศ ของเรา โดยภรรยาของผมเขาเรียนจบด้านเกษตร เกี่ยวกับดิน ซึ่งเขาจะมีความรู้เรื่องของดินอยู่บ้าง เราก็นำมาใช้ นอกจากนี้อาศัยการค้นคว้าหาความรู้จากที่อื่นๆ รวมถึงความรู้จากทางอินเตอร์เน็ตมาช่วย จนได้มาถึงทุกวันนี้ ก็ไม่ได้หยุดนิ่ง พยายามพัฒนาเพื่อให้สายพันธุ์ใหม่ หนีปัญหาการแข่งขัน และทำให้สินค้าของเราถูกใจลูกค้าให้ได้มากที่สุด เพราะด้วยพื้นที่ของเรามีจำกัด การปลูกอะไรก็ต้องคิดว่าคุ้มไหม และสามารถทำรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ไหม กับพื้นที่จำกัดเพียงแค่ 300 ตารางเมตร เราทั้งสองคนได้ลองผิดลองถูก ด้วยตัวเอง การลงทุนครั้งแรกใช้ไปกับการทำโรงเรือนที่ใช้เงินหลักแสนบาท แต่ภายในระยะเวลา 2-3 เดือน ที่เก็บผลผลิตได้ สามารถคืนทุนได้แล้ว” ปิยะ กล่าว
การปลูกมะเขือเทศเชอรี่ โดยใช้เทคนิคการปลูกระบบปิด ในโรงเรือน ช่วยให้การควบคุมดูแลคุณภาพของผลผลิตง่ายขึ้น เช่น เราใช้เทคนิคการปรุงแต่งดิน การปรุงแต่งรสชาติของมะเขือเทศด้วยฮอร์โมน การให้น้ำ เพื่อควบคุมอุณหภูมิ การป้องกันแมลง ศัตรูของพืช ทุกอย่างทำได้ผลดี สำหรับการปลูกในโรงเรือน ที่สำคัญ ทำให้เราได้มะเขือเทศที่ปลอดภัยผู้บริโภค เพราะไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง แต่ไม่ปลอดเคมี เนื่องจากฮอร์โมนที่เราใช้ เป็นเคมีอยุู่
เขา เผยต่อว่า ต้องใช้เวลาในการปลูกมะเขือเทศ ตั้งแต่เพาะเมล็ด จนถึงเก็บผลผลิตได้ประมาณ 2-3 เดือน และหลังจากนั้น เก็บผลผลิตมะเขือเทศไปได้อีก 3 เดือน รวมระยะเวลา 6 เดือน ก่อนที่จะต้องลงต้นไม้ ซึ่งเมล็ดพันธุ์สามารถหาซื้อได้จากบริษัทเอกชนจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ซึ่งมีอยู่หลายบริษัท และที่สำคัญมีสายพันธุ์ มะเขือเทศ ให้เลือกมาเพาะหลายสายพันธุ์ ซึ่งที่ไร่ของเรา ทำอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ สีแดง และ สีเหลือง ราคาสีเหลืองจะแพงกว่า กิโลกรัมละ 150 บาท สีเหลือง ของที่ไร่ จะออกกลม แต่สีแดง จะออกเรียวและเล็ก และที่สีเหลือง แพง เพราะมีน้อย และผลผลิตออกน้อยกว่าสีแดง โดยมะเขือเทศเชอรี่ ขนาดใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 80 ผลต่อ 1 กิโลกรัม
ทั้งนี้ เขาเป็นหนึ่งในเกษตรกร Young Smart Farmer จังหวัดสุพรรณบุรี และยังได้เข้าร่วมโครงการกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในการไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น โดยได้มีโอกาสไปศึกษาการทำการเกษตร กับเกษตรกรญี่ปุ่น เป็นเวลา 25 วัน ได้เรียนรู้เทคนิคหลายอย่าง นำมาใช้กับการปลูกมะเขือเทศเชอรี่ สายพันธุ์ใหม่ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ด้วย
นับเป็นอีกต้นแบบเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ใช้ความรู้มายกระดับอาชีพเกษตรได้อย่างลงตัว...
สนใจ โทร. 08-3447-0319 ,www.facebook.com/ Piya Kitprasong
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *