วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผย “ร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้าน” ดาวรุ่งมาแรงในวงการธุรกิจร้านอาหารปัจจุบันที่เติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา พร้อมแนะกลยุทธ์เพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ 7 ข้อ ได้แก่ 1. ออกแบบการสืบค้น 2. เพิ่มมูลค่าทางความรู้สึก 3. สื่อสารเชิงกลยุทธ์4. ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ 5. ใช้เครื่องมือการตลาดดิจิทัลเข้ามาช่วย 6. บริหารคนอย่างเหมาะสม 7. บริการสร้างความประทับใจ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “SECRETS” เสริมแกร่งร้านอาหารออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ พร้อมจัดงานสัมมนาการตลาดภายใต้หัวข้อ “FOOD ONLINE MARKETING เผยสูตรลับจับเงินล้าน”
อาจารย์สุพรรณี วาทยะกร อาจารย์สาขาการตลาด CMMU กล่าวว่าตลาดธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงอย่างต่อเนื่องแม้ว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะชะลอตัวลงโดยจากผลการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยถึงมูลค่ารวมของตลาดธุรกิจร้านอาหารในปี 2559 ที่น่าจะสร้างมูลค่าได้ถึง 382,000 - 385,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2558 อยู่ในช่วง 1.9 - 2.7 เปอร์เซ็นต์ โดยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่ารวมดังกล่าวนั้น มาจากมูลค่าตลาดของร้านอาหารทั่วไปและอีกกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือเป็นมูลค่าจากตลาดของเชนร้านอาหาร
ทั้งนี้ รูปแบบของธุรกิจร้านอาหารได้มีการปรับเปลี่ยนให้สามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคของคนเมือง ที่ปัจจุบันอยู่อาศัยบนอพาร์ทเม้นท์และคอนโดมากขึ้น ประกอบอาหารเพื่อรับประทานเองลดลง และการไปใช้บริการร้านอาหารอาจไม่สะดวกเท่าที่ควรด้วยปัจจัยต่างๆ อาทิ การเดินทาง ความหนาแน่นของผู้คน ฯลฯ ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ทำให้บริการจัดส่งอาหารเข้ามามีบทบาทสำคัญกับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
อาจารย์สุพรรณี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีเทรนด์ใหม่ของการธุรกิจอาหาร ได้แก่ “ธุรกิจร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้าน” ที่ได้รับความนิยมและเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอย่างมากในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมาสอดรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์ อีกทั้งการเริ่มธุรกิจดังกล่าวใช้เงินทุนเริ่มต้นต่ำ และไม่จำเป็นต้องหาทำเลในการเปิดร้านตลอดจนยังสามารถเจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ใช้โซเชียลมีเดียได้อย่างตรงจุดแต่อย่างไรก็ตามการเติบโตดังกล่าวมาพร้อมความท้าทาย และความเสี่ยงในด้านต่างๆ ที่ผู้ประกอบการต้องเจอ อาทิ การสร้างความแตกต่างของสินค้า การควบคุมคุณภาพสินค้า การบริหารการผลิต ฯลฯ ฉะนั้นผู้ประกอบการต้องศึกษาและทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สามารถลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจมากที่สุด
อาจารย์สุพรรณี กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางการพัฒนาสู่ความสำเร็จของร้านอาหารออนไลน์ที่ไม่มีหน้าร้านว่า เหล่าผู้ประกอบการซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ อายุ 20 - 35 ปี ต้องมีความเข้มแข็งในการต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ที่ผู้ประกอบการทุกคนพึงประสบพบเจอ โดยบางรายเมื่อพบกับความยากลำบากก็ท้อแท้และหยุดธุรกิจลง ตลอดจนผู้ประกอบการต้องอย่าหยุดพัฒนาตัวเอง พยายามคิดค้นสินค้าและบริการที่แปลกใหม่เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคให้มากที่สุด ผู้ประกอบการควรปิดช่องโหว่ของธุรกิจร้านอาหารออนไลน์ และต้องเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ออนไลน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งหากเหล่าผู้ประกอบการร้านอาหารออนไลน์สามารถปรับตัวตามแบบที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ในปี 2560 และในช่วงอีก2 - 3ปีข้างหน้า ตลาดธุรกิจร้านอาหารออนไลน์ที่ไม่มีหน้าร้านจะมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยม และยิ่งมีอัตราการแข่งขันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายไชยโรจน์ พิณทุกานนท์ นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาการตลาดวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU)และตัวแทนโครงการวิจัย “FOOD ONLINE MARKETING เผยสูตรลับ จับเงินล้าน”กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ทำการศึกษาสำรวจผู้ใช้บริการร้านอาหารออนไลน์พบว่า เหตุผลอันดับ 1 ของการเลือกใช้บริการร้านอาหารออนไลน์ คือ ประหยัดเวลาในการเดินทาง โดยมีอัตราส่วนมากถึง 63 เปอร์เซ็นต์ส่วนเหตุผลอื่นๆรองลงมา ได้แก่ หาซื้อได้สะดวก อยากทดลอง สินค้าหายาก มีเอกลักษณ์ และเพื่อนบอกต่อ ตามลำดับ
สำหรับเรื่องสิ่งที่ดึงดูดใจผู้บริโภคมากที่สุดคือ รูปภาพประกอบ โดยกว่า 58 เปอร์เซ็นต์ชอบรูปถ่ายอาหารจริงที่น่ารับประทาน ฉะนั้นเทคนิคการถ่ายภาพอาหาร (Food Shot) จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารออนไลน์ ส่วนอีกหนึ่งมุมที่น่าสนใจคือ กว่า 62 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคชอบการชำระเงินปลายทาง ด้วยเหตุผลที่ว่า สะดวก และอุ่นใจว่าได้รับสินค้าแน่นอน โดยมีช่วงเวลารอรับอาหาร ไม่เกิน 10 นาทีนับจากเวลานัดส่ง
นายไชยโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาชิกในกลุ่มได้ทำการวิเคราะห์ผลสำรวจดังกล่าว และสามารถวิจัยสรุปออกมาเป็นกลยุทธ์ 7 ข้อเพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “SECRETS” เสริมแกร่งร้านอาหารออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ดังนี้
1.S - Search :ออกแบบด้านการสืบค้นบนอินเทอร์เน็ต เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างผ่านการใช้การเพิ่มประสิทธิภาพของการค้นหา (SEO)และการแพร่กระจายบนโซเชียลเน็ทเวิร์ค
2.E - Emotional Value :เพิ่มจุดเด่นของสินค้า ด้วยการเพิ่มมูลค่าทางอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปในสินค้ายกตัวอย่างจากกรณีศึกษา เช่น ให้นักโภชนาการจัดสรรอาหารที่สามารถ คำนวณตามหลักการและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละคนได้
3.C - Communication :ใช้การสื่อสารเชิงกลยุทธ์ สามารถบรรยายให้ผู้อ่านสามารถจินตนาการถึงภาพอาหารได้ไปพร้อมกันกับข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
4.R - Raw Material :ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ดึงจุดเด่นของวัตถุดิบออกมาเพื่อให้ผู้บริโภคสัมผัสได้ถึงความมีคุณภาพ ที่คุ้มค่ากับราคาของอาหารดังกล่าว
5.E - Essential Tools :ใช้เครื่องมือการตลาดดิจิทัลเข้ามาช่วย ทำให้การใช้งานมีความครอบคลุม ง่าย และสะดวกรวดเร็วเลือกใช้ระบบช่วยจัดการร้าน บริการส่งสินค้า และพื้นที่ตลาดออนไลน์ให้เหมาะสม
6.T - Team : บริหารจัดการแรงงานคนในทีมอย่างเหมาะสม ให้หน้าที่ความรับผิดชอบตามความถนัด เพื่อให้สามารถบริการลูกค้าในทุกขั้นตอนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
7.S - Service :บริการลูกค้าอย่างเต็มความสามารถ ให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ อาทิ ตอบกลับปัญหาข้อสงสัยอย่างรวดเร็ว จัดส่งตรงตามเวลาที่นัดหมาย และให้คำแนะนำอย่างจริงใจ