เอสซีจี เคมิคอลส์ ร่วมกับ สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (สบทช.1) และกลุ่มประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี สานต่อโครงการบ้านปลาจากท่อ PE100 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ตั้งเป้าสร้างบ้านปลาเพิ่มอีก 400 หลังในปี 2559 มุ่งหวังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มประมงพื้นบ้าน พร้อมต่อยอดสร้างศูนย์การเรียนรู้วิถีประมงพื้นบ้านชุมชนเนินฆ้อ ส่งเสริมประมงพื้นบ้านเติบโตอย่างยั่งยืน
นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวถึงที่มาของนวัตกรรมบ้านปลาจากท่อ PE100 ว่า โดยปกติทีมงานของเอสซีจี เคมิคอลส์ จะลงพื้นที่เพื่อพูดคุยและรับฟังปัญหาต่าง ๆ ของชุมชนอยู่เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีประเด็นปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเอสซีจี เคมิคอลส์ จะออกแบบและจัดทำโครงการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับปัญหาของแต่ละพื้นที่ เพื่อประโยชน์สูงสุดของชุมชนและสังคม
สำหรับการจัดทำบ้านปลาจากท่อ PE100 โดยเอสซีจี เคมิคอลส์ นั้น เริ่มขึ้นในปี 2555 จากการลงพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน ทำให้ทราบปัญหาเรื่องจำนวนปลาบริเวณใกล้ชายหาดลดลง และการรุกล้ำที่ทำกินจากเรืออวนลาก อวนรุน ทำให้การทำประมงแบบดั้งเดิมทำได้ยากขึ้น หนึ่งในทางแก้ปัญหาที่ชุมชนพยายามดำเนินการคือการสร้างบ้านปลาจากวัสดุต่าง ๆ ซึ่งมีตั้งแต่ยางรถยนต์ แท่งปูน ฯลฯ ด้วยความพยายามที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องจำนวนปลาที่ลดลง
ทางทีมวิจัยของบริษัทฯ จึงได้ทดลองนำท่อ PE100 ที่เหลือจากการทดสอบในกระบวนการผลิต ตามนโยบาย Waste to Value มาออกแบบ จนได้เป็นนวัตกรรมบ้านปลาจากท่อ PE100 เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์เล็ก เริ่มทดลองจัดวางในทะเลเมื่อปี 2555 และได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มประมงพื้นบ้าน โดยปัจจุบันมีปริมาณความต้องการบ้านปลาเป็นจำนวนมาก หลายชุมชนให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ ประกอบกับวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตมีน้อยลง จึงทำให้ เอสซีจี เคมิคอลส์นำท่อ PE100 ที่ผลิตใหม่มาสร้างเป็นบ้านปลาให้กับชุมชน
ปัจจุบันได้ติดตั้งบ้านปลาไปแล้วทั้งสิ้น 370 หลัง ในพื้นที่กลุ่มประมงพื้นบ้าน 23 กลุ่ม ในจ.ระยอง และ จ.ชลบุรี และเขตพื้นที่ทหาร 1 แห่ง โดยได้รับความอนุเคราะห์จากสบทช.1 เข้ามาให้คำปรึกษาและทำงานร่วมกันกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน
นายชลณัฐ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี ที่มีการวางบ้านปลาจากท่อ PE100 ในพื้นที่กลุ่มประมงพื้นบ้านที่ร่วมโครงการฯ สามารถสร้างเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลได้มากกว่า 1,000 คนต่อปี สามารถเพิ่มแหล่งทำประมงใกล้ชายฝั่ง และเพิ่มพื้นที่ในการอยู่อาศัย อนุบาล หลบภัยของสิ่งมีชีวิตในทะเล ได้ไม่น้อยกว่า 1,600 ตารางเมตรต่อปี
“ในปี 2559 เอสซีจี เคมิคอลส์ วางแผนจะติดตั้งบ้านปลาเพิ่มอีก 400 หลังใน จ.ระยองและจ.ชลบุรี พร้อมทั้งจะจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้วิถีประมงชุมชนเนินฆ้อ โดยร่วมกับ สบทช.1 และกลุ่มประมงพื้นบ้านเนินฆ้อ เพื่อถ่ายทอดความรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่นไปสู่พื้นที่อื่น ๆ และผู้สนใจทั่วไปต่อไป คาดว่าศูนย์การเรียนรู้ฯ จะสามารถเปิดดำเนินการได้ในกลางเดือนมิถุนายนนี้”
ทั้งนี้การทำงานของเอสซีจี เคมิคอลส์ มุ่งเน้นให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ถือเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเชื่อว่า หากชุมชนช่วยกันดูแลบ้านปลา มีจำนวนปลาเพิ่มขึ้น จะช่วยให้เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้น พึ่งพาตัวเองได้ ชุมชนเนินฆ้อเป็นต้นแบบของชุมชนที่เข้มแข็ง เราเข้ามาร่วมทำงานกับชุมชนตั้งแต่ปี 2556 ปัจจุบันได้วางบ้านปลาในพื้นที่เนินฆ้อไปแล้ว 60 หลัง ซึ่งชุมชนได้เข้ามาร่วมดูแลอย่างเป็นระบบ จนเกิดผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่น่าพึงพอใจ
ด้านนายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (สบทช.1) กล่าวว่า การอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลและชายฝั่งต้องพึ่งพาความร่วมมือจากทั้งประชาชนและภาคเอกชน สบทช.1 ร่วมสนับสนุนโครงการบ้านปลาและเข้ามาให้คำปรึกษากับเอสซีจี เคมิคอลส์ในการพัฒนารูปแบบบ้านปลาจากท่อ PE100 ซึ่งมีข้อดีคือวัสดุทนทานต่อการกัดกร่อน ไม่มีสารปนเปื้อนสู่ท้องทะเล และสามารถจัดวางเป็นกลุ่มได้
นอกจากนั้นสบทช.1 จะทำงานร่วมกับกลุ่มประมง เพื่อหาตำแหน่งการวางบ้านปลาที่เหมาะสม เป็นบริเวณที่ปลาชุกชุม และอยู่ในพื้นที่ที่กลุ่มประมงพื้นบ้านเข้ามาดูแลได้ โดยจัดวางเป็นกลุ่ม ๆละ 20 หลัง สบทช.1 นำผู้เชี่ยวชาญร่วมกับกลุ่มประมงพื้นบ้านลงติดตามและเก็บข้อมูลทุก 3 เดือน
“ลักษณะทางกายภาพที่เปลี่ยนแปลงไปหลังนำบ้านปลาลงไปวางในทะเล ซึ่งพบว่าพื้นผิวของท่อ PE100 มีเพรียงและหอยแมลงภู่เกาะเป็นจำนวนมาก เริ่มมีปะการังอ่อนเกิดในบางจุดไม่พบจุดที่หลุดล่อนระหว่างรอยต่อ นอกจากนั้นยังพบว่ามีสิ่งมีชีวิตมาอยู่อาศัย ทั้งปลาเศรษฐกิจ เช่น ปลาข้างเหลือง ปลาเก๋า ปูจั๊กจั่น ปูหิน หอยแมลงภู่ และปลาสวยงาม เช่น ปลาหูช้าง ปลากระเบน ปลาโฉมงาม” ผอ.สบทช. กล่าว
ขณะที่นายสำออย รัตนวิจิตร ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน ต.เนินฆ้อ หนึ่งในกลุ่มประมงพื้นบ้านที่เข้ามาทำโครงการบ้านปลา กล่าวว่า ชุมชนประสบปัญหาจับปลาได้น้อยลงมาก จึงริเริ่มจัดตั้งกลุ่ม นำปัญหามาหารือร่วมกัน ตั้งแต่ปี 2545 และได้ทดลองทำบ้านปลาจากยางรถยนต์ ก่อนจะได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลเนินฆ้อให้ทุนทำบ้านปลาจากแท่งปูน และเอสซีจี เคมิคอลส์ เข้ามาสนับสนุนการทำบ้านปลาจากท่อ PE100 ในปี 2556 ซึ่งมีประสิทธิภาพดี เพราะนำไปจัดวางเป็นรูปใต้ทะเลได้ และมีพื้นที่ให้ปลาเข้าอยู่ได้ทุกส่วน
“เราตกลงกันในชุมชนที่จะให้พื้นที่ 1 กิโลเมตรจากชายฝั่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ไม่มีการจับปลา ส่วนในบริเวณบ้านปลาก็ไม่มีการไปลอยเรือหรือวางอวนจับปลา เพื่อเพิ่มจำนวนปลาเกิดใหม่และพื้นที่อนุบาลสัตว์เล็ก เครื่องมือประมงที่ทำลายทรัพยากรก็ค่อย ๆ ยกเลิก รวมทั้งดูแลสภาพแวดล้อมชายฝั่ง เช่น ปลูกป่าชายเลน ไม่ทิ้งขยะลงทะเล ภายหลังจากทำโครงการ เราเริ่มได้กุ้ง หอย ปู ปลากลับคืนมา การทำมาหากินก็ดีขึ้น เราตั้งใจให้ชุมชนมีจิตสำนึกร่วมกันรักษาระบบนิเวศน์ การแก้ปัญหาทุกอย่างต้องทำเป็นกลุ่ม เพื่อให้เกิดพลัง จึงอยากจะบอกไปยังกลุ่มอื่นว่าถ้าทำแบบเดียวกันนี้ ก็จะสามารถฟื้นฟูท้องทะเล ต่อไปก็จะมีปลาใกล้บ้าน ไม่ต้องออกไปทำประมงไกลพื้นที่”