“พิพิธภัณฑ์ปลาหิน” ใน อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนทางหลวงสาย 4142 มีปลานับพันตัว แต่ล้วนแล้วแต่เป็นปลาไม่มีชีวิต เพราะทำมาจาก “หิน” ทั้งสิ้น
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ริเริ่มขึ้นโดยคุณลุงกิตติ สินอุดม ชาวประมงซึ่งมีพื้นเพเดิมอยู่ที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ก่อนจะย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อทำกิจการ “แพปลาสินอุดม” เป็นชาวประมงและรับซื้อสัตว์ทะเลทุกชนิด โดยคุณลุงเล่าว่า คลองดอนสักเมื่อ 60 ปีที่แล้วนั้นแสนอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำ จนลุงกิตติถึงกับบันทึกไว้ว่า “ปลาในอ่าวไทย ผมคิดว่าอ่าวที่ไหนก็ไม่เหมือนอ่าวสุราษฎร์ มีปลาเกือบทุกชนิดพันธุ์ปลา แต่ละอย่างล้วนมีปริมาณมากทีเดียว...” แต่คุณลุงบอกว่า หลังจากปี 2546 เป็นต้นมา ความอุดมสมบูรณ์เหล่านี้แทบไม่เหลืออยู่เลย
ปัจจุบันลุงกิตติเกษียณตัวเองจากกิจการแพปลาแล้วให้ลูกๆ รับช่วงต่อ แต่ด้วยความผูกพัน ความรักและหลงใหลในสัตว์ทะเลทุกชนิด เมื่อเลิกจับปลาเป็นๆ แล้ว คุณลุงจึงไม่วางมือจากสิ่งที่รัก แต่เลือกหันมาแกะสลัก “ปลาหิน” แทนการจับปลาที่มีชีวิต โดยปลาหินที่ว่านี้เป็นปลาที่แกะสลักขึ้นจากก้อนหิน ไม่ว่าจะเป็นหินอ่อน หินทราย หินปูน และหินฟันม้า แกะสลักขึ้นเป็นปลานานาชนิดในทะเลอ่าวไทย
เหตุที่ลุงกิตติเลือกแกะสลักปลาหินขึ้นมาก็ด้วยความคิดที่ว่า “ความผูกพันผมกับปลามีมาช้านานแล้ว และมากๆ ด้วย ผมจึงลืมไม่ได้ เพราะปลานี่แหละทำให้ผมสบายมาทุกวันนี้ก็ว่าได้ ผมจึงได้ตอบแทนบุญคุณของปลา จึงได้สลักปลาไว้ในหิน นี่คือเหตุผลที่เป็นแรงบันดาลใจให้ทำ”
อีกทั้งความตั้งใจของคุณลุงอีกอย่างหนึ่งคือ จะทำอย่างไรให้คนรุ่นหลังได้รู้จักสัตว์ทะเลทุกชนิดให้มากขึ้น จึงเลือกที่จะใช้ก้อนหินซึ่งเป็นวัสดุที่คงทนถาวรมากที่สุด จึงได้เริ่มแกะสลักหินเป็นรูปปลาแต่ละชนิด โดยอาศัยความจำลักษณะของปลาแต่ละตัวจากสมัยทำประมง
แม้ไม่มีพื้นฐานการเรียนด้านศิลปะหรือการแกะสลักจากที่ใดๆ แต่ลุงกิตติก็ใช้ฝีมือและแรงใจแกะสลักปลาแต่ละตัวขึ้นด้วยความรัก โดยจากปลาตัวแรกที่ลุงกิตติเริ่มแกะสลักในปี 2533 เป็น “ปลาในฝัน” หรือปลาที่ไม่มีอยู่จริง ตามมาด้วยปลาหินตัวที่สอง...สาม...สี่ จวบจน 25 ปี ผ่านไป ปลาหินนับพันๆ ตัวจึงได้ถูกสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปลาเก๋า ปลากะพง ปลาโอ ปลากระเบน ปลาฉลาม กุ้ง หอย ปูต่างๆ ก็มีครบ รวมไปถึงปลาที่สูญพันธุ์ไปแล้วหรือเหลือน้อยมากอย่าง ปลาแก้ว ปลาโคบมัน ปลาจวดเทียน ฯลฯ คุณลุงบอกว่าอย่างเดียวที่ไม่มีก็เหลือแต่วาฬเท่านั้น บางตัวใช้เวลาแกะถึง 3 เดือน บางตัวใช้เวลาแค่ 1 วัน ตัวที่แกะสลักยากที่สุดเป็นพวกกุ้ง ปู ที่มีขามีหนวดเยอะๆ จะแกะยาก
และต่อมาลุงกิตติก็มีความคิดว่า ถ้าทำคนเดียวชมคนเดียวก็ไม่มีประโยชน์มากนัก จึงได้รวบรวมปลาหินแกะสลัก จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนได้ชม โดยสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์แบบเรียบง่าย จัดแสดงปลาหินไว้ทั่วบริเวณ บ้างวางเรียงเป็นกลุ่มๆ คล้ายฝูงปลากำลังแหวกว่ายอยู่ในท้องทะเล บ้างจัดวางเรียงบนพื้นทรายคล้ายปลาที่กำลังว่ายอยู่ใกล้ผืนทรายใต้ทะเล บ้างจัดเป็นโต๊ะอาหารเสิร์ฟด้วยเมนูปลานานาชนิด ดูน่ารักน่ากินไม่น้อย
หากเปลี่ยนปลาหินที่ลุงกิตติแกะสลักขึ้นกว่า 3,000 ตัว ให้เป็นปลาจริงๆ ที่มีชีวิต ที่นี่คงจะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหรืออะควาเรียมที่น่าตื่นตาไม่น้อยเลย แต่แม้จะเป็น “ปลาหิน” ก็เรียกได้ว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน เรียกว่าเป็นหนึ่งเดียวในเมืองไทยก็ว่าได้ โดยแม้ฝีมือการแกะสลักอาจไม่ได้นิ้งเนี้ยบเหมือนผลงานของศิลปินรุ่นใหญ่ แต่ที่เห็นได้ชัดคือความตั้งใจของคุณลุงกิตติ สินอุดม ผู้สร้าง “พิพิธภัณฑ์ปลาหิน” ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดของ อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานีแห่งนี้
คุณลุงกิตติยังขอฝากไว้ในฐานะชาวประมงเก่า และคนที่รักและชื่นชอบสัตว์ทะเลทุกชนิดว่า
"ผมนักวิชาเกิน ขอให้ความคิด ถ้าจะคิดรักษาสัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา ให้อยู่ได้นานๆ ควรกำจัดสิ่งต่อไปนี้ คือ 1.เรืออวนรุน โซ่หน้าที่ใช้น้ำตื้นอย่างน้อย 5 วาขึ้นไป 2.ระเบิดปลา 3.ยาเบื่อและกากชา 4. อวนลากคู่ น้ำลึกอย่างน้อย 5 วา ขึ้นไป และ 5.ลอบปูม้า ให้ใช้ตาอวนที่ท้องลอบใหญ่ 4 นิ้ว ถ้าวันใดยังกำจัดสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ อย่าหวังเลยที่จะให้กุ้ง หอย ปู ปลา นั้นอยู่ต่อไป..."
* * * * * * * * * * * * * * * * *
พิพิธภัณฑ์ปลาหิน ตั้งอยู่ที่ 34/15 หมู่ 5 ตำบลดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่ริมถนนทางหลวงหมายเลข 4142 ดอนสัก-ขนอม เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่ 08.00-17.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (แล้วแต่จะสนับสนุน) สอบถามรายละเอียดโทร. 0 7737 1197
* * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com